แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเข้าพบนายกยิ่งลักษณ์ เน้นยกระดับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลหารือนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ในประเด็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยเฉพาะการเคารพต่อหลักการไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา  ย้ำยกเลิกโทษประหารชีวิตเพื่อแสดงถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการให้คุณค่ากับชีวิตมนุษย์ทุกคน พร้อมเรียกร้องให้สนับสนุนการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในอาเซียน

วานนี้ (11 มิถุนายน 2556) นายซาลิล เช็ตติ (SalilShetty) เลขาธิการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล นายสมชายหอมลออ ประธานกรรมการ และนางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล และผู้อำนวยการ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เข้าพบนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ณ ห้องสีม่วงตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เวลา 13.30 น.เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยพร้อมทั้งมอบรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2556 ของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลต่อนายกรัฐมนตรี

นายซาลิล เช็ตติเปิดเผยว่าการหารือกับนายกรัฐมนตรีในวันนี้มีหลากหลายประเด็น ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนในอาเซียน แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ขอให้ไทยเป็นผู้นำในการผลักดันให้อาเซียนมีการทำงานด้านการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้นนอกเหนือจากการทำงานด้านการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนรวมทั้งหวังว่าจะมีการทบทวนปรับปรุงปฎิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอาเซียนให้สอดคล้องตามหลักการ และมาตราฐานสิทธิมนุษยชนสากล

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล สนับสนุนการถอดตรวนผู้ต้องขัง ยืนยันเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศพักการประหารชีวิตอย่างเป็นทางการอีกทั้งเสนอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทลงโทษประหารชีวิตเพื่อแสดงถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการให้คุณค่ากับชีวิตมนุษย์ทุกคน

ในประเด็นผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าเมืองทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายสุรพงษ์  โตวิจักษณ์ชัยกุลรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556โดยมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลให้คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้เข้าเมืองโดยเฉพาะผู้ที่ขึ้นฝั่งโดยทางเรือ

"ในกรณีของชาวโรฮิงญาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสนับสนุนรัฐบาลไทยกับอาเซียนร่วมมือกับรัฐบาลพม่าในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งซึ่งเป็นสาเหตุการลี้ภัยของชาวโรฮิงญาและเรียกร้องให้รัฐบาลเคารพต่อหลักการไม่ส่งกลับซึ่งไม่ให้มีการส่งกลับบุคคลไปยังประเทศที่เสี่ยงจะเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงให้ยุตินโยบายการกักและผลักดันเรือของผู้อพยพให้ออกสู่ทะเล ปล่อยตัวผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้เข้าเมืองทุกคนที่ถูกควบคุมตัวโดยขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 (Conventionrelating to the Status of Refugees) และพิธีสาร พ.ศ. 2510และกำหนดให้มีระบบการแสวงหาที่พักพิงที่เป็นธรรมและเป็นผล สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ"

สำหรับการขัดแย้งกันด้วยอาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้นแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลมีความกังวลที่พลเรือนและผู้บริสุทธิ์รวมทั้งผู้หญิงและเด็กตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมากยิ่งขึ้นรวมทั้งการใช้กฎหมายพิเศษ อาทิเช่น พรก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก เป็นต้น  การลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง การซ้อมทรมาน และเรียกร้องรัฐบาลให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย

สำหรับประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกได้เรียกร้องให้ปฏิรูปหรือยกเลิกการออกกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนโดยยึดหลักมาตรฐานสากลและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(International Covenant on Civil and Political Rights(ICCPR) ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้และเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางความคิดทุกคนโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข

ด้านนางสาวยิ่งลักษณ์ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าทางรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในประเด็นสิทธิมนุษยชนและพร้อมที่จะยกระดับให้สอดคล้องตามหลักการและมาตราฐานสิทธิมนุษยชนสากล.