แนะนำหนังสือ : นอกนิยามความเป็นไทย ไทย-ปัตตานี: เมื่อเราไม่อยู่ร่วมและแบ่งแยกจากกัน"

 

หนังสือ นอกนิยามความเป็นไทย ไทย-ปัตตานี: เมื่อเราไม่อยู่ร่วมและแบ่งแยกจากกัน จัดพิมพ์โดย "สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์ทะเลสาบศึกษา" เป็นผลงานชิ้นสำคัญ ชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือเป็นการสร้าง องค์ความรู้ ที่รอบด้านและเกี่ยวข้องกับภูมิภาคนี้ในแง่มุมต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่างหลากหลายและรอบด้าน ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้าใจและแสวงหาทางออกในการแก้ไขปัญหาในจังหัวดชายแดนภาคใต้

นอกนิยามความเป็นไทย ไทย-ปัตตานี: เมื่อเราไม่อยู่ร่วมและแบ่งแยกจากกัน เสมือนเป็นการสร้าง “รอยต่อ” ระหว่างนักวิชาการทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะนักวิชาการชาวมลายูทั้งที่เป็นคนในและนอกพื้นที่ นำเสนอผลงานเพื่อที่จะตอบโจทย์ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทย ซึ่งบางประเด็นอาจดูเหมือนประเด็นเดิมๆ แต่ถูกนำเสนอผ่านมุมใหม่ อันจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในการ “เข้าถึง” ความรู้และความจริงของการนิยามความเป็นไทยในมุมมองที่มาจากคนในและคนนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยหนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมบทความจากนักเขียนทั้งสิ้น 11 บทความ คือ ความเป็น “ไทย” และ “มลายู” กับการเมืองของการทำให้กลายเป็นอื่น โดย ปริญญา นวลเปียน, ปัญหาของปาตานีและไทย : เมื่อเราไม่อาจจะอยู่ร่วมและแบ่งแยกจากกันได้ โดย รศ.ดร. วัน กาเดร์ เจ๊ะมาน, จาก “มลายู” สู่ “มุสลิม” ภาพหลอนแห่งอัตลักษณ์ทางชาติพันธ์ในภาคใต้ของไทย โดย ดร. แพทริค โจรี, ผจญภัยในแดนมหัศจรรย์ ภารกิจของ “ความเป็นไทย” ในวรรณกรรมว่าด้วยมลายูมุสลิม โดย พิเชฐ แสงทอง, คนไทยหรือเปล่า? เชื้อชาติและสัญชาติกับความเข้าใจใน “ความเป็นไทย” โดย อภิชาติ จันทร์แดง

วัฒนธรรมมลายูมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับการละเมิดสิทธิการอยู่ร่วมในนามของเสรีภาพ โดย โชคชัย วงษ์ตานี, ปัญหาการต่อสู้ของขบวนการปลดปล่อยปาตานี โดย รศ.ดร. วัน กาเดร์ เจ๊ะมาน, กระบวนการสร้างประชาธิปไตยกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย รศ.ดร. วัน กาเดร์ เจ๊ะมาน, ประชาธิปไตยการพัฒนา : ประสบการณ์และความคาดหวังจากโลกมุสลิม โดย ศ.ดร. อับดุล ราชิด โมเต็ล, ทัศนะของอิสลามต่อความรุนแรง : ความท้าทาย โดย ซากีย์ พิทักษ์คุมพล และอิสลามานุวัตรและอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ : บริบทของมุสลิมในประเทศไทย โดย นิพนธ์ โซะเฮง

ความเป็น “ไทย” และ “มลายู” กับการเมืองของการทำให้กลายเป็นอื่น โดย ปริญญา นวลเปียน เป็นบทนำที่เข้าสู่เนื้อหาภายในหนังสือเล่มนี้ งานชิ้นนี้ได้นำเสนอถึง สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็น “ความรุนแรงทางการเมือง” ที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ผลพวงที่เกิดขึ้นจากปัจจุบันเทานั้น แต่ยังคงเป็นปัญหาทางการเมืองที่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยและสังคมมลายู ที่สืบเนื่องยาวนานนับศตวรรษมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่ลงตัวของจินตนาการเกี่ยวกับรัฐและชาติสมัยใหม่ ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการกำหนดกรอบความคิดและตัวตน ให้กับหน่วยทางการเมืองที่เรียกว่ารัฐประชาชาติหรือรัฐชาติ ซึ่งรัฐไทยได้เน้นการสร้างความเป็นไทย ผ่านกระบวนการบูรณาการแห่งชาติ ที่มีการบีบบังคับชาติพันธ์กลุ่มต่างๆ ให้ยอมรับการผสมกลมกลืนทางชาติพันธ์ วิธีดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ การตื่นตัวและการฟื้นฟูวัฒนธรรม

ปัญหาของปาตานีและไทย : เมื่อเราไม่อาจจะอยู่ร่วมและแบ่งแยกจากกันได้ โดย รศ.ดร. วัน กาเดร์ เจ๊ะมาน แปลโดย ปริญญา นวลเปียน งานชิ้นนี้ได้นำเสนอถึงปัญหาของทางด้านประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ ศาสนาและภาษาที่แตกต่างกันระหว่างคนไทยและคนมลายู คือสาเหตุสำคัญของความรุนแรงในช่วงเวลานี้ ซึ่งคนมลายูเป็นสิ่งที่อยู่ “นอกนิยามความเป็นไทย” ตลอดมา งานชิ้นนี้ยังได้กล่าวถึง แนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่แท้จริงควรร่วมจากการเจรจากัน และตัวแทนจากฝ่ายไทยจะต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล ไม่ใช่เป็นเพียงตัวแทนจากกองทัพหรือตำรวจในพื้นที่ เพื่อเจรจาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

นอกจากนั้นงานชิ้นนี้ยังคงได้นำเสนอถึงหลักเกณฑ์ที่จะต้องปฏิบัติเพื่อลดความขัดแย้งและส่งเสริมให้เกิดความสงบในพื้นที่ คือ การสถาปนาหลักนิติรัฐ ความเสมอภาคทางการศึกษา เสรีภาพในการนับถือศาสนาและการปฏิบัติทางวัฒนธรรม

จาก “มลายู” สู่ “มุสลิม” ภาพหลอนแห่งอัตลักษณ์ทางชาติพันธ์ในภาคใต้ของไทย โดย ดร. แพทริค โจรี แปลโดย ดร.นิพนธ์ โซะเฮงและปริญญา นวลเปียน งานชิ้นนี้นำเสนอถึง ความลื่นไหลของอัตลักษณ์ที่ระบุตัวตนของชาวมลายูในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ว่าได้ถูกกระทำภายใต้บริบทของสังคมภายในพื้นที่และสถานการณ์จากภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกมุสลิมนั้นได้สร้างผลกระทบต่อสังคมมลายู โดยงานชิ้นนี้จึงเป็นงานที่อธิบายภาพของความขัดแย้งที่เปลี่ยนแปลงจาก “มลายู” ไปสู่ความเป็น “มุสลิม” และในท่ามกลางความเป็นไทยนี้ถึงแม้จะมีพื้นที่ให้กับชาวมุสลิม แต่ย่อมที่จะไม่มีพื้นที่ให้กับชาวมลายูแต่อย่างใด

ผจญภัยในแดนมหัศจรรย์ ภารกิจของ “ความเป็นไทย” ในวรรณกรรมว่าด้วยมลายูมุสลิม โดย พิเชฐ แสงทอง งานชิ้นนี้ได้บอกเล่าถึงเรื่องราวของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านมุมมองของวรรณกรรม ซึ่งในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ วรรณกรรมจังหวัดชายแดนใต้ สามารถเปิดพื้นที่ในเวทีรางวัลวรรณกรรมมากยิ่งขึ้น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 รวมเรื่องสั้นชุด อุทกภัย ของรัตนชัย มานะบุตร เข้ารอบสุดท้ายของรางวัลซีไรต์ เช่นเดียวกับ เรื่องสั้นชุด อุบัติการณ์ ของวรภ วรภา สามารถเข้ารอบสุดท้ายรางวัลเดียวกันในปี 2548 โดยเรื่องสั้นทั้งสองชุดนี้ไกสำแดงถึงการประสานทางวัฒนธรรมชาวไทยมุสลิม ไทยพุทธ และไทยเชื้อสายจีนอย่างลงรอย

นอกเหนือจากนั้นยังคงมีงานชิ้นสำคัญที่ได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนใต้โดยตรงอย่างเช่น กรณีฆาตรกรรมอิหม่ามสะตอปาร์ การ์เด ของ ศิริวรณ์ แก้วกาญจน์ ที่ได้เล่าเรื่องราวของความซับซ้อนต่อเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้[1]

คนไทยหรือเปล่า? เชื้อชาติและสัญชาติกับความเข้าใจใน “ความเป็นไทย” โดย อภิชาติ จันทร์แดง งานชิ้นนี้ได้นำเสนอถึงวาทกรรมที่ว่า คนไทยหรือเปล่า? ซึ่งคำดังกล่าวนี้จะถูกใช้ออกมา จนกลายเป็นการแบ่งแยก เขาและเราออกจากกัน การตั้งคำถามว่า คนไทยหรือเปล่า? และพยายามยัดเยียดความเป็นคนไทยโดยเชื้อชาติให้ผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตลอดมานั้นสำหรับประชาชนในพื้นที่นี้ พวกเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงก็คือ การสูญเสียอัตลักษณ์เฉพาะตนที่มีความดีงามอยู่แล้ว ให้ไปตกอยู่ภายใต้ความเป็นอื่น และ เป็นคนอื่น ซึ่งไม่ได้น่าภาคภูมิใจไปกว่าสิ่งที่พวกเขาเป็นอยู่ มิหนำซ้ำพวกเขากลับรู้สึกได้ถึง การกดขี่ทางวัฒนธรรม เพราะต้องตกอยู่ภายใต้ “ความเป็นชาติไทย” ที่พยายามกลืนกิน “ความเป็นชาติพันธ์มลายู” ทั้งนี้จึงเป็นความขัดแย้งทางความรู้สึกอันเป็นส่วนสำคัญในการเกิดพลังต่อต้าน

วัฒนธรรมมลายูมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับการละเมิดสิทธิการอยู่ร่วมในนามของเสรีภาพ โดย โชคชัย วงษ์ตานี งานชิ้นนี้ได้นำเสนอถึงวัฒนธรรมมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลักการและที่มาของวัฒนธรรมอิสลาม รวมถึงการทำความเข้าใจต่อวัฒนธรรมมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้  นอกจากนั้นงานชิ้นนี้ยังคงได้นำเสนอการละเมิดทางวัฒนธรรม ซึ่งสื่อมีส่วนสำคัญในอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้ความหลากหลายของผู้คนในสังคม

ปัญหาการต่อสู้ของขบวนการปลดปล่อยปาตานี โดย รศ.ดร. วัน กาเดร์ เจ๊ะมาน แปลโดย ดร.นิพนธ์ โซะเฮงและปริญญา นวลเปียน งานชิ้นนี้ได้นำเสนอถึงพัฒนาการของปัญหาที่นำมาสู่การเกิดขึ้นของขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่างๆ  และยังคงได้สะท้อนถึงปัญหาของขบวนการ ต่อมาในงานของ รศ.ดร. วัน กาเดร์ เจ๊ะมาน อีกหนึ่งชิ้น คือ กระบวนการสร้างประชาธิปไตยกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นงานที่กล่าวถึงผลกระทบของพัฒนาการของนโยบายประชาธิปไตยของรัฐไทยต่อชาวมลายูมุสลิม

ประชาธิปไตยการพัฒนา : ประสบการณ์และความคาดหวังจากโลกมุสลิม โดย ศ.ดร. อับดุล ราชิด โมเต็ล แปลโดย ดร.นิพนธ์ โซะเฮงและปริญญา นวลเปียน งานชิ้นนี้ได้นำเสนอถึงปัญหาอุปสรรคและแนวทางประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับอุดมการณ์และค่านิยมของสังคมมุสลิมในหลายๆ ประเทศ

ทัศนะของอิสลามต่อความรุนแรง : ความท้าทาย โดย ซากีย์ พิทักษ์คุมพล งานชิ้นนี้ได้นำเสนอให้เห็นถึงความแตกต่างทางความคิดและแนวการปฏิบัติตนของมุสลิม และสามารถให้คำตอบถึงหลักการที่แท้จริงของศาสนาอิสลามในเรื่องของความรุนแรง อิสลามานุวัตรและอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ : บริบทของมุสลิมในประเทศไทย โดย นิพนธ์ โซะเฮง งานชิ้นนี้ได้นำเสนอถึง ทัศนะจากมุสลิมแบบสมัยใหม่ที่ยังคงให้ความสำคัญต่อคุณค่าและวิถีดั้งเดิมของศาสนา ซึ่งเป็นแนวความคิดสำคัญต่อสังคมมุสลิมในภาวะปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สังคมมุสลิมไม่ได้หยุดนิ่งหรือถูกแช่แข็งเอาไว้ หากเป็นสังคมที่มีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นพลวัตรตลอดมา

 



[1] อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับนวนิยายเล่มนี้ได้ที่ http://www.pataniforum.com/news_detail.php?news_id=136