สันติภาพชายแดนใต้จะเกิดขึ้นได้...“ต้องเข้าใจ”
พิศิษฐ์ วิริยสกุล
สถาบันส่งเสริมการจัดการประโยชน์สังคม
พลันที่รัฐบาลเริ่มมีการพูดคุยสันติภาพ (dialogue) กับฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ (BRN) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา แทนที่เสียงปืนและเสียงระเบิดจะเบาลงแต่กลับมีให้ได้ยินติดตามมา ตามมาด้วยป้ายผ้าร้อยกว่าผืนขึงพรึ่บเต็มไปหมดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยข้อความเขียนด้วยภาษารูมี “สันติภาพจะไม่เกิดขึ้นหากเจ้าของพื้นที่ไม่ยอมรับ” เมื่อสมทบกับเหตุการณ์รายวัน จึงมีการคาดเดารวมกันไปว่าเป็นการ “ต่อต้านกระบวนการพูดคุย” ตามที่เป็นข่าวขึ้นหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วไป แต่นักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่า “ต้องการสะท้อนสิทธิของคนมลายูพื้นที่ที่ยังถูกจำกัดอยู่”
การพูดคุยครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 นั้น เราก็ได้ยินเสียงสะท้อนแบบตรงไปตรงมาของฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ (BRN) ที่กล่าวถึงการยึดครองเมืองปัตตานีไป ขณะที่แต่ฝ่ายรัฐบาลไทยไม่ได้ตอบอะไรไป พร้อมกับระบายความทุกข์และความเจ็บปวดในอดีต และสาเหตุที่ต้องลุกขึ้นต่อสู้ พร้อมยกถึงเหตุการณ์ความไม่เป็นธรรมในอดีตหลายเหตุการณ์ไล่เรียงมา เช่น กรณีหะยีสุหลง (ผู้นำทางจิตวิญญาณ เคยเสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อต่อรัฐบาลไทย และเชื่อว่าถูกอุ้มฆ่าเมื่อปี 2497) เหตุสังหาร 6 ศพที่สะพานกอตอ เมื่อปี 2518 กระทั่งถึงเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ ในปี 2547
ทั้งนี้ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐไม่ได้เรียกร้องอะไรอย่างชัดเจน เพียงแต่ให้ฝ่ายรัฐไทยไปหาวิธีสร้างความเป็นธรรมอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก็ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการกระทำของขบวนการแบ่งแยกดินแดนเท่านั้น แต่ยังมีเหตุการณ์ที่รัฐทำเอง และกลุ่มอื่นทำเพื่อแก้แค้นด้วย ฉะนั้นพื้นฐานของการแก้ไขปัญหา รัฐต้องให้ความเป็นธรรมก่อน[1]
ทุกวันนี้เราคงเห็นแต่ผลกระทบจากความรุนแรง หรือ อาการของโรคที่เกิดจากความไม่สงบในพื้นที่มามากแล้ว จึงอยากเชิญชวนกันมาร่วมวินิจฉัยสาเหตุของโรคกันบ้าง สิ่งแรกที่จะต้องทำ คือ เราต้อง Dialogue ความคิดตัวเองกันก่อน ด้วยการตั้งสติฟังกันให้มากขึ้น ฟังทั้งน้ำเสียงและหัวใจของคนอื่น ขณะนี้เรามีปมใหญ่ให้เราช่วยกันวินิจฉัย 3 ปมด้วยกัน คือ 1) ความทรงจำที่สูญเสียบ้างเมืองในอดีต 2) ความขมขื่นที่ศักดิ์ศรีตัวตนถูกลดทำลายไป และ 3) ความเสียดสีหมิ่นหยามจากสังคมใหญ่
ปมแรกความทรงจำที่สูญเสียบ้างเมืองในอดีต ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ (BRN) กล่าวถึงรัฐบาลสยามตีเมืองปัตตานีเป็นเมืองขึ้น หมายถึงยกทัพมาตีและกระทำต่อเชลยมลายู เมื่อศึกษาข้อมูลหลายด้านทำให้รู้ถึงธรรมชาติของการทำสงครามในสมัยนั้น การล่าเมืองประเทศราช การกอบกู้เพื่อเอกราช และการเกิดกบฏ สามารถเกิดขึ้นได้กับหัวเมืองต่างๆในอดีต การที่รัฐสยามในอดีตยกทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราช เมืองฝาง เมืองเวียงจันทน์ ฯลฯ เช่นเดียวกับที่พม่า และสุลต่าน มาดฟาร์ชาฮ์ แห่งปัตตานีเคยนำกองทัพเมืองปัตตานีเข้าไปตีกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น สงครามในอดีตการเผาเมือง การกวาดต้อนเชลยไปใช้เป็นทาสแรงงาน หรือรบกับข้าศึกของประเทศ จึงเป็นเงื่อนไขตามบริบทของสงครามสมัยนั้น
สมัยผู้เขียนยังเป็นเด็กคุณตาทวด (จำได้ว่ามีรอยสักที่ข้อมือขึ้นทะเบียนแสดงสังกัดมูลนาย) ท่านเล่าถึงความลำบากของบรรพบุรุษในฐานะเชลยทาสปัตตานี ถูกบังคับให้ถางป่าเพื่อทำนาส่งผลผลิตข้าวให้กับนายที่ตนสังกัด จนมีเรื่องเล่ากันว่า “บางคนแอบย้ายหลักเขตที่ถูกบังคับให้ถางป่า โดยย่นหลักเขตให้ตัวเองมีพื้นที่ถางป่าน้อยลง ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 มีการเลิกทาส มูลนายซึ่งไม่เคยทำนาทำสวนมาก่อน และไม่รู้ว่าจะทำอะไรให้เกิดประโยชน์ จึงยกที่นาให้อดีตทาสเหล่านั้น ผู้ที่ถูกเอาเปรียบกินแรงจึงได้รับที่ดินมากกว่า”
ถึงวันนี้ลูกหลานเชลยปัตตานีเป็นเศรษฐีใหม่จากมรดกที่ดินที่บรรพบุรุษถากถางป่าด้วยความยากลำบากชนิดพลิกฝ่ามือ อดีตเศรษฐีใหม่บางคนปรับตัวไม่ทัน ใช้เงินไม่เป็น ได้กลับไปเศรษฐีตกยากในที่สุด บางคนต้องไปของานทำเป็นยามบ้าง เป็นคนขับรถให้กับเจ้าของที่ดินใหม่ที่ซื้อที่ดินไปจากตัวบ้าง แต่มุสลิมส่วนใหญ่ที่ดำเนินชีวิตตามครรลองของศาสนา รักษาทรัพย์สินที่ปู่ ย่า ตา ยาย ได้มาด้วยความยากลำบาก ไม่ยอมขายที่ดิน สร้างอาคารพานิช อพาตเม้นให้เช่า ส่งลูกเรียนสูงได้ดิบได้ดีไปก็นัก
สำหรับคนมลายูมุสลิมที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีตัวตนทั้งด้านเชื้อชาติ ภาษา และศาสนาใกล้เคียงกับ คนมลายูในประเทศเพื่อนบ้านเป็นส่วนใหญ่ จึงมีสามัญสำนึก ที่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากการเป็นประเทศราชของเมืองสยามอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งมีการจัดเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2440 โดยมีการส่งพนักงานสรรพากรลงไปเก็บภาษีอากร ส่งผู้พิพากษาไปตัดสินคดี โดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเรื่องของศาสนา ขนบธรรมเนียม และรักษาอำนาจของผู้นำศาสนาในท้องถิ่น ในคดีที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเป็นอันขาด และต่อมาในปีพ.ศ. 2466 รัชกาลที่ 6 ทรงกำหนดพระบรมราโชบายสำหรับมณฑลปัตตานีไว้เป็นการเฉพาะ เช่น ข้อที่หนึ่ง “ระเบียบหรือข้อปฏิบัติที่เป็นการเบียดเบียน กดขี่ ศาสนาอิสลาม ต้องยกเลิกแก้ไขเสียทันที การใดยิ่งทำให้เห็นเป็นการอุดหนุนศาสดามูฮัมหมัดได้ยิ่งดี” และอื่นๆ (ค้นหาเพิ่มเติม จากพระบรมราโชบาย ข้างต้น) ถือได้ว่าเป็นการสร้างความรู้สึกเชิงบวกให้กับคนมุสลิมทั้งในพื้นที่และทั่วประเทศ จึงพบว่าหลังจากนั้นไม่มีเหตุการณ์กบฏสำคัญๆ จวบจบสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช
ปมที่สองความขมขื่นที่ศักดิ์ศรีตัวตนถูกลดทำลายไป ประเด็นที่ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ (BRN) หยิบยกขึ้นมาพูดถึงความทุกข์และความเจ็บปวดในอดีต และสาเหตุที่ต้องลุกขึ้นต่อสู้ พร้อมยกถึงเหตุการณ์ความไม่เป็นธรรมในอดีตหลายเหตุการณ์ไล่เรียงมา นับตั้งแต่กรณีหะยีสุหลง เป็นต้นมา
หากมองบริบทแวดล้อมการเมืองการปกครองยุคปลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ประเทศเพื่อนบ้านรอบประเทศสยามล้วนตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจตะวันตกด้วยเหตุข้ออ้างเป็นประเทศล้าหลัง ขาดความเจริญ ประเทศสยามจึงมีการปรับปรุงครั้งยิ่งใหญ่ มีถนนหนทาง มีการก่อตั้งโรงพยาบาลแห่งแรก ได้จัดให้มีการสอนวิชาแพทย์แผนปัจจุบันขึ้น ฯลฯ เพื่อไม่ให้ประเทศมหาอำนาจใช้เป็นข้ออ้างและหาโอกาสยึดครองเป็นเมืองขึ้น เมื่อการเมืองเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปี พ.ศ.2475 คณะราษฏรซึ่งผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองส่วนใหญ่ล้วนแต่ได้รับการศึกษาตามแบบตะวันตก นอกจากจะนำการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ประเทศแล้ว กระแสวัฒนธรรมตะวันตกยังได้แผ่คลุมประเทศสยามเวลานั้น เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก (พ.ศ.2481-2487) ประเทศไทยได้เกิดการสู้รบกับฝรั่งเศสในปัญหาดินแดนอินโดจีน ซึ่งไทยถูกบีบบังคับให้ยกให้ฝรั่งเศสไปในสมัยรัชกาลที่ 5 และไทยได้ขอคืนแต่ฝรั่งเศสเพิกเฉย จอมพล ป.จึงจำเป็นที่จะปลุกนโยบายชาตินิยมเร่งเร้าให้คนไทยเกิดความรักชาติอย่างรุนแรง โดยถือหลัก “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” พร้อมกับมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่ ให้เป็นไปตามวัฒนธรรมตะวันตกทั้งหมด วิถีชีวิตของคนไทยในเมืองสมัยนั้นเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเป็นครั้งแรก อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นคนชั้นกลางมากขึ้น เท่ากับเป็นการป้องกันไม่ให้ประเทศมหาอำนาจอ้างเหตุเพื่อก่อสงคราม ถือได้ว่าท่านได้สร้างคุณประโยชน์ของประเทศไว้อย่างมากในสมัยนั้น
แต่ชาตินิยมหัวก้าวหน้าแบบข้ามกระโดด ก็มีจุดเปราะบางที่ทำลายความรู้สึกของคนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับความเชื่อทางศาสนา และมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง เมื่อถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมใหม่ ที่ตรงข้ามกับวัฒนธรรมมลายูมุสลิมอย่างดั่งเดิม เช่น สั่งห้ามแต่งกายมุสลิม ห้ามใช้ภาษามลายู จำกัดวิถีชีวิตประจำวันตามศาสนาอิสลาม ล้มเลิกพระราโชบายที่รัชกาลที่ 6 ทรงเคยกำหนดไว้ ทำให้คนมลายูมุสลิมกังวลว่าอัตลักษณ์ตัวตนความเป็นมลายู และศาสนาอิสลามที่ตนเองนับถือจะสูญหายไป
ดังนั้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง กลุ่มมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในปัญหาความเดือดร้อนจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ นำไปสู่การเจรจาและต่อรองกับผู้แทนรัฐบาลไทย จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า คำร้องขอ 7 ข้อ โดยคำร้องขอดังกล่าว ผ่านการพูดคุยกันตามร้านน้ำชา สัมมนาระดมความคิด หาทางออกลดความกดดันทางสังคม รวบรวมเป็นมติที่ประชุม สำนักงานคณะกรรมการอิสลามปัตตานี (1 เมษายน พ.ศ.2490) ซึ่งมอบหมายให้ที่ฮัจญีสุหลง ซึ่งเป็นเพียงผู้เดียวที่มีความสัมพันธ์และติดต่อกับทางการสยามมากที่สุด เป็นผู้เสนอตามขั้นตอนของระบอบประชาธิปไตย ไปยังรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น และต่อมาได้กลายมาเป็นหลักฐานเอกสารชิ้นสำคัญจากการตีความของรัฐบาลชุดต่อมาในการจับกุมคือฮัจญีสุหลง ในที่สุด
คนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเกิดความรู้สึกถูกผลักเข้าไปสู่ “ภาวะความแปลกแยก”
(Alienation) เป็นคนชายขอบจากสังคมใหญ่ตั้งแต่นั้นมา ซึ่งเป็นความแปลกแยกที่เกิดจากการทำให้แปลกแยก (making alien) การไม่ได้รับการยอมรับและความเหลื่อมล้ำ เมื่อถูทับถม หรือเก็บกดมากเข้า จึงเกิดความรู้สึกเกลียดชังและเป็นศัตรูกับส่วนต่างๆ และก่อให้เกิดเป็นแรงขับผลักดันให้มนุษย์แสวงหาการยอมรับจากสังคม (Social Needs) ด้วยวิธีการต่างๆนาๆ รวมไปถึงการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วย เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ (BRN) ก่อตั้งยุคแรก ในปี พ.ศ. 2503 ซึ่งกว่าที่จะมีการก่อตัวกันได้ย่อมมีเหตุการณ์ต่างๆ สะสมมาก่อนหน้านั้น
เราจึงควรศึกษาบทเรียนในอดีตอย่างจริงจังให้ลึกลงไปในรายละเอียด โดยเฉพาะอารมณ์และความรู้สึกของเพื่อนร่วมชาติมากกว่าที่ผ่านมา หวังว่าการพูดคุยสันติภาพจะช่วยสะกิดเตือนกันและกันให้หาทางลดเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จนเป็นเหตุให้เกิดภาวะความแปลกแยกเกาะกินจิตใจฝังลึกอีกต่อไป
ปมที่สาม ความเสียดสีหมิ่นหยามที่ได้รับจากสังคมใหญ่ มีวลีอยู่สองคำ คือ ก่อความไม่สงบ กับ ไม่ได้รับความยุติธรรม เป็นชนวนให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ด้วยเหตุที่มีความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนมานับศตวรรษ ทำให้เกิดการเก็บกดความรู้สึกร้ายกับฝ่ายตรงข้ามอย่างต่อเนื่องในหมู่ประชาชน เพิ่มความชิงชังต่อกัน เพิ่มสมัครพรรคพวกและกองเชียร์แต่ละฝ่ายกันมากขึ้น และแสดงออกเมื่อมีโอกาส
เคยมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นที่หมู่บ้านบือนังกือเปาะ หมู่ที่ 5 ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ก่อนหน้านั้นมีข่าวลือ เรื่องคนน้ำมัน หรือโจรนินจา แอบเข้าไปบ้านชาวบ้านยามวิกาล ทั้งในหมู่บ้านนั้น และหมู่บ้านใกล้เคียง เมื่อชาวบ้านรู้ตัวและจับตัวได้ก็ลื่นหลุดมือหนีไปได้ จนเช้าตรู่ วันที่ 26 เมษายน 2546 ตชด.จากค่ายนเรศวรที่ไปประจำฐานปฏิบัติการละแวกนั้น 2 นาย ถูกจับโดยชาวบ้าน และต้อง เสียชีวิตอย่างอเนจอนาถทั้ง 2 นาย จากการถูกประชาทัณฑ์ของชาวบ้าน หรือเหตุการณ์ทหารพรานลาพักกลับบ้าน เกิดความเครียดกราดยิงนักศึกษาพยาบาลที่พูดคุยกันด้วยภาษามลายูเสียชีวิตไปหลายศพ ทั้งสองเหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้เกิดจากการสะสมความโกรธแค้นชิงชังไว้ในจิตใต้สำนึกมากขึ้น เมื่อมีเหตุการณ์ใดกระตุ้นขึ้นมาก็จะแสดงออกตอบกลับทันที
หรือเหตุการณ์เล็กๆ เกิดบนรถไฟ เมื่อเร็วนี้ ผู้เขียนมีความจำเป็นที่จะต้องส่งลูกชาย 2 คนไปเข้าค่ายฤดูร้อนที่กรุงเทพฯ เป็นช่วงใกล้วันสงกรานต์ ได้ตั๋วชั้นสองนั่ง ในโบกี้เดียวกันมีครอบครัวมุสลิมประกอบด้วยสามี ภรรยา ลูกสาวอายุประมาณ5-6 ขวบ และหลาน(ลูกของลูกสาว) อายุประมาณ 2 ขวบ มีที่นั่งใกล้กับที่นั่งของผู้เขียน เราไม่รู้จักกันมาก่อนจึงไม่ได้คุยอะไรมากนักตลอดเวลาเกือบ 20 ชั่วโมงบนรถไฟ ช่วงเช้าวันใหม่มีชายแปลกหน้าวัยกลางคนท่าทางเมาเล็กน้อย เดินมาจากโบกี้อื่น เมื่อเดินมาถึงตรงที่ครอบครัวนี้นั่งอยู่ ก็หยุดพูดคุยกับครอบครัวดังกล่าวด้วยท่าทีไม่สู้จะมีไมตรีนัก ทำให้ฝ่ายภรรยาต้องอุ้มหลานที่กำลังหลับหนีไปยืนข้างๆ ในขณะที่ผู้เป็นสามีต้องสงบอารมณ์ฟังคนขี้เมาเทศนา จนกระทั่งมีการพูด “อัลลาอฺ” (ออกเสียงไม่ชัด) สอนไว้อย่างไร...ผู้เขียนเห็นว่าจะเลยเถิดไปกันใหญ่ จึงบอกให้กลับไปนั่งที่โต๊ะตัวเองได้แล้ว ชายผู้นั้นโกรธและหันกลับมาคุยโอ่อ้างว่าเป็นทหาร ผู้เขียนคิดว่าน่าจะแอบอ้างใช้บารมีข่มและเห็นว่าเมาจึงไม่อยากซักไซ้ต่อ แต่ได้ตัดบทว่าเด็กกำลังหลับและชี้ให้ดู แม้จะเป็นเหตุการณ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นโดยที่ครอบครัวนั้นไม่อยู่ในฐานะต่อกรอะไรได้ แต่ชายขี้เมาก็ได้ประทับความไม่พอใจหรือเกลียดชังลงไปสะสมในจิตใต้สำนึกของครอบครัวนี้แล้ว และเมื่อเขากลับภูมิลำเนาเดิม เหตุการณ์เหล่านี้จะถูกถ่ายทอดไปสู่ญาติมิตรแบบปากต่อปาก ขยายความต่อไปรวมกับอีกหลายๆเรื่องที่แต่ละคนสะสมกันมาต่อไป เช่นเดียวกับคนเมาบนรถไฟที่จิตใต้สำนึกเขาสะสมทัศนคติเชิงลบกับมุสลิมมาก่อนอย่างไร เขาก็จะระบายออกมาอย่างไม่รั้งสติอย่างนั้น เมื่อต่างฝ่ายต่างสะสมภาพเชิงลบต่อกันลงไปในจิตใต้สำนึก จึงเสมือนเป็นการเร่งรอยปริแยกในสังคมให้ขยายเป็นรอยแตกแยกที่ใหญ่โตขึ้นไม่รู้จบ
คงไม่แปลกใจที่ 9 ปีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ แทนที่แนวร่วมของฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ (BRN) จะลดลงแต่ตรงกันข้ามกลับเพิ่มมากขึ้น ด้วยสิ่งที่พวกขาสัมผัสและที่เขาพบเห็น เช่นเดียวกับฝ่ายรัฐบาลก็มีผู้สนับสนุนทั่วประเทศโดยชอบธรรม ทั้งจากการที่ลูกหลานของเขาต้องมาเสียชีวิตและบาดเจ็บต่างบ้านต่างเมืองที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือจากข่าวสารทั่วไป ประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับจะถูกสะสมเข้าไปในจิตใต้สำนึก (Subconscious Mind) ของแต่คนและพร้อมที่จะแสดงออกทันทีที่มีโอกาสโดยไม่ต้องผ่านการควบคุมของเหตุผล ความรุนแรงที่เกิดขึ้นและขยายตัวได้ทั่วไปจึงหนีไม่พ้นไปจากภาวะเช่นนี้
ทางออกของปมที่หนึ่งคือต้องทำความเข้าใจถึงมิติแห่งเวลาเปลี่ยนแปลง และสถานการณ์โลกได้เปลี่ยนไปด้วย เมื่ออีกสองปีข้างหน้าก็จะเปิดพื้นที่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 การแบ่งพื้นที่เขตแดนของแต่ละประเทศแทบจะไม่มีความหมาย คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจจะได้เปรียบกว่าภูมิภาคอื่นๆในแง่ที่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงส่วนใหญ่มีภาษาและวัฒนธรรมคล้ายกัน ทำให้ชาวบ้านกันเองมีปฏิสัมพันธ์ข้ามประเทศง่ายขึ้น การเปิดเสรีทางการค้าทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่เติบโตได้ตามกลไกตลาด แต่สิ่งที่ตามมาคือความล่มสลายทางสังคม ปัญหายาเสพติด ปัญหาชู้สาวที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบ ปัญหาการตัดแยกความสัมพันธ์ทางเครือญาติและสังคม และอื่นๆ กำลังเป็นความ “ท้าทาย” ของคนในพื้นที่ เราจะตั้งรับสถานการณ์ดังกล่าวที่จะรุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ได้อย่างไร
ทางออกของปมที่สองคือต้องหาทางยุติความรุนแรงให้ได้ทุกระดับ ด้วยความ “เข้าใจ” ความรู้สึกนึกคิดของผู้สูญเสียทั้งสองฝ่าย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ด้วยความพยายามเข้าถึง “รากเหง้า” ของปัญหาจริง ในที่นี้คือความจำเป็นที่รัฐบาลสมัยนั้นจะต้องปฏิวัติวัฒนธรรมใหม่ของประเทศ แต่ด้วยการขาดความละเอียดอ่อนในความรู้สึกของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มชนที่มีศาสนา และวัฒนธรรมแตกต่างกัน
และทางออกของปมที่สามคือหาทางยุติความรู้สึกรังเกียจเดียดฉันเพื่อนร่วมชาติด้วยกัน สร้างกิจกรรมด้วยกันโดยปราศจากการครอบงำต่อกันภายใต้การ “พัฒนา” ที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ และการจัดสรรผลประโยชน์ที่เป็นธรรมต่อกันและกัน
สงครามความรู้สึกสงบไม่ได้ด้วยกำลังอาวุธ แม้นคาบเลือด คาบน้ำตา งบประมาณ และชีวิตคนที่สูญเสียไปจะมีค่ารวมแล้วมหาศาล แต่ก็ยังไม่เลวร้ายไปกว่าความหายนะทางสังคม และกำลังทำลายล้างความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาของแต่ละคน ทุกวันนี้อาชญากรเด็กมีสถิติจำนวนมากขึ้น และอายุน้อยลงระดับนักเรียนประถมก็มีมานัก “เรามาจับมือกันสร้างสังคมดีๆ ให้ลูกหลานเราเติบโตจะดีไหม...”
บทความที่เกี่ยวข้อง :- เมื่อสงครามความรู้สึกยิ่งลุกลาม ไฟใต้จะดับอย่างไรหากรัฐยังใช้วิธีการเดิม โต๊ะข่าวภาคใต้ ศูนย์ข่าวอิศรา 27 กรกฎาคม 2009
พิศิษฐ์ วิริยสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดบ้านชีวิตใหม่ หมู่ที่ 4 ตำบลโฆษิต อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส 96110 โทรศัพท์ 083-1713050, 089-7370574