ปาตานี: “การก่อความไม่สงบ” หรือ “สงคราม” และสิ่งที่เรียกว่า “สันติภาพ”?

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ตลอดระเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดมุมมองต่อรากเหง้าของปัญหานำไปสู่ทางออกหลักๆ สองทัศนะด้วยกัน บางทัศนะมองว่าเป็นปัญหา “การก่อความไม่สงบ” และบางทัศนะก็มองว่าเป็น “สงคราม”

โดยความหมายที่มีนัยซ่อนเร้นของคำว่า “การก่อความไม่สงบ” กับ “สงคราม” นั้น แน่นอนย่อมมีความแตกต่าง แล้วอะไรเล่าที่เป็นตัวชี้วัดความต่างของสองคำนี้ได้อย่างชัดเจนมากไปกว่าคำว่า  “อุดมการณ์”

ความไม่สงบนั้น หากจะตีความหมายตรงๆ ก็คือเหตุการณ์ที่สร้างความรูสึกไม่ปลอดภัยและสร้างความเดือดร้อนจนสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งมาจากการกระทำของบุคคลหรือกลุ่ม องค์กรใดๆ ที่หวังหรือต้องการผลประโยชน์ต่อตนเองหรือกลุ่ม องค์กรของตัวเอง แน่นอน สังคมส่วนรวมหรือประชาชน ไม่มีหุ้นส่วนด้วยกับผลประโยชน์เหล่านั้น ไม่ว่าจะทางอ้อมหรือทางตรง ซึ่งแปลว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่ถูกสร้างขึ้นจะไม่ถูกรองรับด้วยอุดมการณ์ใดๆ และสุดท้ายจุดจบของบุคคล หรือกลุ่ม องค์กร ที่ก่อความไม่สงบนั้น จะลงเอยด้วยการถูกปราบปรามหรือลี้ภัยตามที่ต่างๆ ตัวอย่างเช่น กรณีของเสือใบ และตี๋ใหญ่ เป็นต้น

ส่วนคำว่าสงครามนั้นคือ  ความขัดแย้งเป็นวงกว้าง และก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรง สงครามนั้นเกิดขึ้นเมื่อเกิดความขัดแย้งและไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีสันติ สุดท้ายจึงลงเอยด้วยการทำสงครามหรือการใช้กำลัง เพื่อลิดรอนหรือกำจัดบทบาททางการเมืองของรัฐอื่น สงครามนั้นเกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มีตั้งแต่ระดับรัฐชาติและจักรวรรดิ

 

องค์การสหประชาชาติ ได้เรียกสงครามว่าเป็น "ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มติดอาวุธ" "การรุกรานรัฐ" และ "อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ" ถ้าตามทัศนะของเหมาเจ๋อตุง ซึ่งได้นิยามคำว่าสงครามว่า “สงคราม คือ การเมืองที่หลั่งเลือด การเมืองคือสงครามที่ไม่หลั่งเลือด” และถ้าสังเกตดูจากสงครามในที่ต่างๆ ของโลก ที่เกิดขึ้นในอดีตและในปัจจุบันนั้น ล้วนแต่ก่อเกิดจากคำว่าอุดมการณ์เป็นตัวจุดชนวนทั้งนั้น และสุดท้ายจุดจบของคู่สงครามนั้นจะลงเอยด้วยคำว่า แพ้-ชนะ เสมอ ไม่สำคัญว่าจะผ่านการเจรจาหรือไม่

 

สงครามไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป้าหมายและผลประโยชน์ที่ได้รับจากสงครามสามารถเรียงเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้

 

  1. เพื่อปกป้องเกียรติภูมิของชาติจากการรุกรานของต่างชาติ
  2. เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ด้วยการยึดครองทรัพยากรธรรมชาติ หรือการประกาศอิสรภาพ
  3. เพื่อลงโทษแนวคิดที่เห็นว่าผิดหรือเห็นว่าไม่เหมาะสม

 

สงครามนั้นเกิดขึ้นหลังจากการ "ประกาศสงคราม" อย่างเป็นทางการ แต่ว่าสงครามโดยทั่วไปนั้นไม่จำเป็นต้องประกาศก็ได้ เพราะสงครามอาจเกิดขึ้นในระบบหรือนอกระบบก็ได้

 

สงครามในระบบ คือ ภาวะที่มีคู่สงครามที่เป็นกองกำลังติดอาวุธที่ไม่รวมพลเรือนอย่างชัดเจน และมียุทธบริเวณที่ชัดเจนแน่นอน ไม่ทับซ้อนกับบริเวณที่พักอาศัยของประชาชนหรือย่านชุมชน ตัวอย่างเช่น สงครามโลก1 และ 2 สงครามอ่าวเปอร์เซีย เป็นต้น

 

สงครามนอกระบบ หรือ สงครามจรยุทธ์ คือ ภาวะที่มีคู่สงครามที่เป็นกองกำลังติดอาวุธไม่ชัดเจนเพราะมีพลเรือนติดอาวุธรวมอยู่ด้วย และมียุทธบริเวณไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน ที่ไหนก็ได้ แม้ว่าจะเป็นบริเวณที่พักอาศัยของประชาชนหรือย่านชุมชนก็ตาม ตัวอย่างเช่น สงครามปลดแอกจีน สงครามเวียดนาม เป็นต้น

ทฤษฎีทั่วไปว่าด้วยการทำสงครามนั้นมิได้อธิบายถึงการทำสงครามแต่เพียงประการเดียวเท่านั้น  แต่ว่ายังกล่าวถึงภาวะสันติภาพด้วย มันจะต้องอธิบายไม่เพียงเฉพาะว่าสงครามนั้นเกิดขึ้นในหลายชั่วอายุคนและเกิดขึ้นในเกือบทุกพื้นที่บนโลก และนอกจากนั้น ยังต้องกล่าวถึงตัวอย่างของสันติภาพที่เกิดขึ้นภายหลังสงครามด้วย เช่น สันติภาพโรมัน และสันติภาพของทวีปยุโรปภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

 

สันติภาพ ที่แปลว่า ยุติการสู้รบ ยุติสงคราม แล้วก็ต่างคนต่างมุ่งสู่หนทางการแสวงหาความสุขตามอุดมการณ์ของตัวเองและสัมพันธ์กันแบบมิตรสหายย่อมไม่เกิดขึ้น หากความจริงของรากเหง้าหรือประเด็นของปัญหาที่หล่อเลี้ยงความขัดแย้งจนเกิดการต่อสู้ด้วยความรุนแรงไม่ถูกยอมรับอย่างจริงใจของคู่สงคราม

 

แล้วจะรู้ได้อย่างไรเล่าว่า “อะไรคือความจริง อะไรคือความเท็จ” เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในภาวะสงครามนั้นมี “การโฆษณาชวนเชื่อ” ที่คอยเบี่ยงเบนเป้าหมาย และบิดเบือนความจริงอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ เพื่อบั่นทอนการสนับสนุนจากมวลชนและนานาชาติ

 

มีเครื่องมืออย่างหนึ่งเรียกว่า “หลักเกณฑ์การวิเคราะห์ความขัดแย้ง” ที่เป็นที่ยอมรับของเหล่านักสันติภาพร่วมสมัย ซึ่งมูลนิธิสนับสนุนสันติภาพเบิร์คฮอฟได้นำเสนอ ผู้เขียนคิดว่าคงจะสามารถใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบความจริงความเท็จท่ามกลางการโฆษณาชวนเชื่อได้ ซึ่งประกอบด้วย 8 หลักเกณฑ์ด้วยกัน

 

  1. ว่าด้วยประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง (Conflict History)
  2. ว่าด้วยบริบทความขัดแย้ง (Conflict Context)
  3. ว่าด้วยคู่ขัดแย้งและความสัมพันธ์ (Conflict Parties/Relationships)
  4. ว่าด้วยประเด็นความขัดแย้ง/ระดับ/ทัศนคติ (Conflict Issues/Levels/Altitudes)
  5. ว่าด้วยตัวขับเคลื่อนความขัดแย้ง/พลวัตร (Conflict Drivers/Dynamics)
  6. ว่าด้วยพฤติกรรมความขัดแย้ง/ผลกระทบ (Conflict Behavior/Impact)
  7. ว่าด้วยข้อเสนอต่างๆในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง (Proposals for Conflict Resolution)
  8. ว่าด้วยศักยภาพในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง (Potential for Conflict Resolution)

 

มาถึงตอนนี้ ก่อนที่จะสรุปว่า “จังหวัดชายแดนภาคใต้” ของประเทศไทยหรือ “ปาตานี” ที่ฝ่ายขบวนการอุดมการณ์กำลังต่อสู้กับรัฐไทยในขณะนี้เรียก ต้องมีกระบวนการสันติภาพในแบบใดแบบหนึ่งหรือต้องมีการเจรจาหรือไม่ คงต้องตอบตัวเองให้ชัดเจนเสียก่อนว่า ที่นี่...กำลังอยู่ในภาวะความไม่สงบหรือสงคราม?