กระบวนการชูรอกุญแจสู่ความเป็นพลเมือง

โดย :  อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)


   ฝ่ายวิชาการโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้





 

ด้วยพระนามของอัลลอฮ.ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมูฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

โครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (คจต.) ได้จัดประชุมและแสดงนิทรรศการในเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการก้าวต่อไปสู่นโยบายสาธารณะที่ยั่งยืนสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้  เมื่อวันที่ 10 - 12  เมษายน  2556  ณ ลีลารีสอร์ท ตำบลสะกอม  อำเภอเทพา  จังหวัดสงขลาโดยมี เพื่อนสื่อมวลชนในพื้นที่   นักวิชาการทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่  สถาบันวิจัย  องค์กรพัฒนาเอกชน  สภาประชาสังคม  มหาวิทยาลัยต่างๆ  องค์การบริหารส่วนตำบลในเครือข่ายและนอกเครือข่ายตำบลสุขภาวะซึ่งได้รับงบสนับสนุนจาก (สสส) นักพัฒนาชุมชนในส่วนบริหารส่วนภูมิภาค แกนนำสี่เสาหลักในแต่ละตำบล  หมู่บ้าน  เข้าร่วมการประชุมและแสดงนิทรรศการในเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จำนวน 300คน ซึ่งงานนี้ ได้รับงบสนับสนุน จาก สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ  (สสส.)

การประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ได้ ให้ความสำคัญกับคำว่า  กระบวนการชูรอกับคำว่าพลเมือง  โดยใช้สโลแกนร่วมกันภายใต้คำว่า  “ ชูรอ กุญแจสู่ความเป็นพลเมือง”

โครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นโครงการพัฒนาชุมชนด้วยการใช้กระบวนการชูรอในการออกแบบพัฒนาชุมชนโดยมีเครือข่ายจังหวัดชายแดนใต้เป็นเจ้าภาพในการดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2552 

คำว่า  ชูรอ เป็นคำภาษาอาหรับ มาจากคำเต็มว่า อัช-ชูรอ (al-Shura )  ในหลักภาษาอาหรับ  ซึ่งแปลว่า การปรึกษาหารือ ดังที่อัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอฺาลา)  ได้ตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน

وأمرهم شورى بينهم

ความว่า ...และกิจการของพวกเขามีการปรึกษาหารือกันระหว่างพวกเขา ( อัชชูรอ  : 38 )

สำหรับความหมายทางด้านศานบัญญัติหมายถึง การประชุมหรือปรึกษาหารือตามรูปแบบอิสลามจนได้ข้อสรุปหรือมติเพื่อนำไปปฏิบัติ





 

แต่คำนิยามปฏิบัติสำหรับโครงการนี้นั้น กระบวนการชูรอ  หมายถึง  การประชุมปรึกษาหารือเพื่อหามติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับศาสนบัญญัติ

ในแต่ละตำบลที่เข้าร่วมโครงการจะมีคณะทำงานชุดหนึ่งเรียกว่าสภาชูรอตำบลสุขภาวะ โดย  คณะทำงานชุดนี้จะได้รับการสรรหาจากหลากหลายองค์กร ในตำบลของตนเอง (ผู้นำศาสนา ท้องถิ่น  ท้องที่   สตรี  เยาวชน  ข้าราชการและอื่นๆ ) โดยใช้กระบวนการชูรอในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังนี้

1  เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเรียนรู้ที่ตอบสนอง   ขบวนการพัฒนาของชุมชนท้องถิ่น

2  เพื่อสนับสนุนให้เกิดระบบการจัดการสุขภาวะชุมชนโดยชุมชน

3  เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเครือข่ายตำบลสุขภาวะด้วยวิถีศาสนธรรมกับการพัฒนา

4  เพื่อสร้างองค์ความรู้การสร้างเสริมสุขภาวะที่เกิดจากการปฏิบัติการในพื้นที่

5  เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะชุมชนท้องถิ่นที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน


จากการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ทั่วประเทศ พบว่า ถ้าสามารถพัฒนาให้ประชาชนทั่วประเทศไทยมีจิตสำนึกเป็นพลเมืองได้ก็จะทำให้ ประชาชนจะสามารถพัฒนาชุมชนของตนเองได้อย่างยั่งยืนถึงแม้รัฐบาลกลางหรือท้องถิ่นจะไม่สนับสนุนงบประมาณ

สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนก็น่าจะต้องสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองผ่าน กระบวนการชูรอ

นายสมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ  (สสส.)ได้ให้ทัศนะและบรรยายพิเศษ เรื่อง “สภาชูรอกับการสร้างพลเมือง” ไว้อย่างน่าสนใจว่า

การพัฒนาคนจะมีความยั่งยืนได้นั้น จำเป็นต้องทำให้ประชาชนเป็นพลเมือง การสร้างความเป็นพลเมือง หมายถึง สร้างการมีส่วนร่วม สร้างความเป็นเจ้าของ สร้างศักยภาพ  ทั้งนี้นายสมพร ได้นำเสนอแผนภาพ สภาชูรอกับการสร้างพลเมือง ดังรูป


 


 















จากนั้น เวลา ๑๐.๐๕-๑๒.๐๐ น. มีการเสวนา ประเด็น ชูรอคือวิถีอิสลาม ผู้ร่วมเสวนาคือประธานสภาชูรอตำบลสะกอม อำเภอจะนะ  จังหวัดสงขลา  ตำบลสะดาวา อำเภอเมือง  จังหวัดปัตตานี  ตำบลมะรือโบออก อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส  ตำบลอาซ่อง อำเภอรามันจังหวัดยะลา ดำเนินรายการโดย นางปัณจรีย์  ช่างพูด เทศบาลตำบลปริก




 

เสวนา “ชูรอคือวิถีอิสลาม

ได้ผลสรุปว่า กระบวนการชูรอ นั้นโดยความเป็นจริงชาวบ้านและชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้นำมาใช้แก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนมายาวนานนับร้อยปี จนเป็นวิถีชีวิต และเมื่อแต่ละตำบลได้เข้าร่วมโครงการเครือข่ายตำบลสุขภาวะจังหวัดชายแดนใต้ทำให้  สามารถนำแนวคิดสู่การปฏิบัติ ผ่านการหนุนเสริมทางวิชาการของคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ จนเกิดการถอดบทเรียนเพื่อจะก้าวต่อไปในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

 


 



                           


                           

 

จากการถอดบทเรียนในแต่ละตำบล พบว่า เงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้การดำเนินงานของสภาชูรอตำบลสุขภาวะ แต่ละตำบล  ที่สามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้นั้น ปรากฏว่าองค์ประกอบที่สำคัญของการดำเนินต้องมีส่วนประกอบทั้งหมด 5 ส่วนด้วยกัน คือ องค์กรที่ทำงานร่วมประเด็นสภาชูรอตำบลสุขภาวะ กิจกรรมขับเคลื่อนการดำเนินงาน เครื่องมือและกลไกในการทำงาน กระบวนการทำงาน พื้นที่หรือกลุ่มเป้าหมาย สุดท้ายจึงจะ เกิดผลลัพธ์ที่กลายเป็นความภาคภูมิใจในการดำเนินงานของสภาชูรอตำบลสุขภาวะ   โดยองค์กรร่วมขับเคลื่อนจะเป็นตัวหลักที่จะขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมการดำเนินงานของสภาชูรอตำบลสุขภาวะ

แต่ปัจจัยต่างๆเหล่านี้จะไม่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้หากประชาชนยังขาดจิตสำนึกความเป็นพลเมือง กระบวนการชูรอ  ก็จะหมดความหมายเมื่องบประมาณของโครงการหยุดการหนุนเสริม  แต่ถ้ากระบวนการชูรอสามารถพัฒนาให้ประชาชนเป็นจิตสำนึกความเป็นพลเมืองได้ก็จะเป็นกุญแจสำคัญสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนอย่างยืน จากรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งนโยบายสาธารณะที่ภาคีเครือข่ายได้ประกาศปฏิญญาในวันสุดท้ายของการประชุม


หมายเหตุ

ปฏิญญาเทพา2556 ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

เราสมาชิกสภาชูรอ คณะกรรมการ คณะดำเนินงาน ของตำบลสุขภาวะ ตามโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้(คจต.) สถาบันการศึกษา และภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ได้มีความเห็นพ้องต้องกันในการนำเสนอนโยบายสาธารณะจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ได้จากการทำงานร่วมกันอย่างหนักในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีมติร่วมกันในการเสนอนโยบายสาธารณะ ดังนี้

1. นโยบายสาธารณะระดับชาติ 7+1 ดังนี้

(1).  ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อการบริหารจัดการและการมีส่วนร่วม

(2).  ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อการจัดสวัสดิการสังคมโดยชุมชน

(3).  ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อเด็กและเยาวชน

(4).  ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

(5).  ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อเกษตรกรรมยั่งยืน

(6).  ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อระบบการดูแลสุขภาพชุมชน

(7).  ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อการจัดการภัยพิบัติ

(8).  การลงทุนด้านสุขภาพโดยชุมชน


2. นโยบายสาธารณะในระดับจังหวัดชายแดนภาคใต้ 6+1 ดังนี้

(1).  ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อการบริหารจัดการแบบการมีส่วนร่วมด้วยกระบวนการชูรอ

(2).  การศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้และภาษามลายูสู่ประชาคมอาเซียน

(3).  ศาสนทานและซะกาต  : สวัสดิการสังคม โดยชุมชน

(4).  อาชีพที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน

(5).  การป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดด้วยวิถีศาสนธรรมโดยชุมชน

(6).  พลังงานทางเลือกและการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยชุมชน

(7).  การหนุนเสริมการกระบวนการสร้างบรรยากาศการพูดคุยเพื่อสันติภาพด้วยกระบวนการชูรอ


ตามปฏิญญานี้ สมาชิกสภาชูรอ คณะกรรมการ คณะดำเนินงาน ของตำบลสุขภาวะ ตามโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่ตำบลจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คจต.) สถาบันการศึกษา และภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ตามรายชื่อแนบท้ายนี้ (300 ชื่อ) จะร่วมกันผลักดันข้อเสนอนโยบายสาธารณะนี้ ให้มีการนำใช้เพื่อเกิดผลเชิงประจักษ์และร่วมกันสร้างสรรค์ชุมชนและสังคมน่าอยู่ มีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการตนเองด้วยกระบวนการชูรอตามวิถีศาสนธรรม จึงได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ                         

ปฏิญญานี้จัดทำประกาศและลงนาม ณ วันที่ 12เมษายน 2556