มองผ่านม่านกระบวนการพูดคุยสันติภาพปาตานี
คนที่มีสติย่อมไม่คาดหวังว่าจะได้เห็นการเจรจาสันติภาพเมื่อเร็วๆนี้ระหว่างทีมของสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือสมช. กับกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเป็นสมาชิกของ บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนท(Barisan Revolusi Nasional-Coordinate) บรรลุผลอย่างจริงจัง
ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันทำ “ข้อตกลง” ครั้งประวัติศาสตร์ไปเมื่อ28กพ.ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ คนที่เป็นตัวแทนของฝ่ายขบวนการก็คือฮัสซัน ตอยิบ ซึ่งอาศัยอยู่ในต่างประเทศและเรียกตัวเองว่าเป็น เจ้าหน้าที่ “ผู้ประสานงาน”(liaison)ให้กับบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนท(BRN-C)
เลขาธิการสมช.คือ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงที่พูดกันว่าเป็นย่างก้าวที่น่าประทับใจ เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยยอมรับในความชอบธรรมของขบวนการแบ่งแยกดินแดนมลายูมุสลิมในระดับนี้
แต่สำหรับคนอื่นๆ ในขบวนการแบ่งแยกดินแดน ข้อตกลงนี้เป็นเรื่องของการแสดงความเชื่อมั่นในสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เพราะว่าฮัสซัน ตอยิบไม่ได้มีบารมีในหมู่สมาชิกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมากนัก ยิ่งมีความสามารถในการคุมนักสู้(juwae)ที่ปฏิบัติการในพื้นที่และไม่ยอมหยุดยั้งความรุนแรงลงได้น้อยยิ่งกว่า
ฮัสซันไม่มีอะไรจะให้มากนักนอกจากคำสัญญาที่ว่าจะไปพูดคุยกับสมาชิกคนอื่นๆ อย่างเช่นกับคนวงในของบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนทที่เป็นที่รู้จักกันในนามDewan Pimpinan PartiหรือDPPเพื่อให้มาเข้าร่วมการเจรจา จนถึงขณะนี้ ดีพีพีก็ยังมีท่าทีไม่ใส่ใจกับทั้งฮัสซันกับฝ่ายไทย
ในฐานะเป็น “ผู้ประสานงาน” ฮัสซันอยู่ในภาวะโดดเดี่ยว พวกผู้นำ บีอาร์เอ็นไม่ให้ความสนใจอย่างจริงจัง แต่กลับทดสอบด้วยการขอให้ไปหยิบยกเรื่องที่อ่อนไหวขึ้นต่อรองทั้งๆที่รู้ว่าฝ่ายไทยไม่มีทางที่จะทำได้ เรื่องที่ขอไปรวมไปถึงการเสนอให้ไทยให้การคุ้มกันทางการทูต(immunity)กับทั้งปีกการเมืองทั้งหมดของบีอาร์เอ็นเพื่อที่จะได้ไม่ต้องโดนดำเนินคดีอาญา แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ในรัฐบาลมาเลเซียยืนยันว่ามีการเรียกร้องดังกล่าวจริง
อีกประเด็นที่บีอาร์เอ็นต้องการให้ฝ่ายไทยจัดการ ก็คือให้ยอมรับอย่างเป็นทางการและต่อสาธารณะว่า ปาตานี ซึ่งประกอบไปด้วยดินแดนสามจังหวัดภาคใต้ของไทยนั้น เป็นแผ่นดินแม่ของมลายูมุสลิม ที่ถูกยึดโดยสยาม พูดอีกอย่างก็คือ ชาวมลายูในปาตานีมีสถานะเท่าเทียมกับไทยและไม่ด้อยไปกว่าเมื่อพวกเขานั่งลงที่โต๊ะเจรจา
ผู้นำคนหนึ่งของบีอาร์เอ็น คองเกรส(BRN-Congress)อันเป็นสาขาหนึ่งภายในกลุ่มของบีอาร์เอ็นบอกว่า สำหรับกลุ่มของเขา การยอมรับเช่นนี้ถือว่าสำคัญมากเพราะฝ่ายไทยจะต้องเข้าใจว่า ความขัดแย้งหนนี้มีรากเหง้ามาจากเรื่องราวด้านประวัติศาสตร์ด้วย “มันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีของเรา เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงจับอาวุธขึ้นสู้แต่แรก” เขาว่า
อีกประเด็นที่ยังคาราคาซัง ตามที่สมาชิกคนหนึ่งของบีอาร์เอ็น(BRN-Coordinate)ระบุ ก็คือเรื่องที่ว่า ขบวนการเองและรัฐบาลมาเลเซียยังมีเรื่องที่จะต้องสะสางระหว่างกัน มาเลเซียสะบั้นความสัมพันธ์ที่มีกับกลุ่มผู้นำในต่างประเทศของฝ่ายขบวนการลงเมื่อตัดสินใจส่งตัวคนในกลุ่มนี้บางคนให้กับฝ่ายไทยเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว และยังช่วยสนับสนุนให้ไทยได้สถานภาพการเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวร(Permanent Observer Status)ในโอไอซี(Organisation of Islamic Cooperation - OIC)สถานะดังกล่าวของไทยนี่เองที่มีผลปิดหนทางของกลุ่มองค์กรแบ่งแยกดินแดนต่างๆของมลายูปาตานีในอันที่จะผลักดันประเด็นของพวกเขาในกลุ่มโอไอซีที่มีสมาชิกรวม57ประเทศ
ด้านสมช.และเลขาธิการศอ.บต.คือพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ที่ต้องการการยอมรับจากสาธารณะอย่างหนักได้เปิดรายชื่อคนจำนวนหนึ่งออกมาทั้งส่วนตัวและต่อคนอื่นๆ ในที่ประชุมลับของเจ้าหน้าที่ ว่าจะให้คนอย่างมะแซ อุเซ็งและสะแปอิง บาซอจะเข้าร่วมการประชุมวันที่28มีค.หรือว่าให้พวกเขาส่งคนของตนเข้าร่วมได้อย่างไร แน่นอนที่สุดว่า คนทั้งสองต่างก็ไม่ปรากฏตัว
จากคำพูดของพล.ท.ภราดร ในบรรดากลุ่มต่างๆที่จะไปร่วมการหารือในวันที่28มีค.นั้นจะมีทั้งพูโล(Patani United Liberation Organisation - PULO)บีไอพีพี(Barisan Islam Pembangunan Pattani - BIPP)เบอร์ซาตู(Bersatu)รวมอยู่ด้วย
แต่ผู้นำของกลุ่มบีไอพีพียืนยันกับเดอะเนชั่นว่า พวกเขาไม่ได้รับคำเชิญแต่อย่างใด
“น่าจะเป็นไปได้ว่าพวกเขาไปหาคนที่อยู่เมืองนอกบางคนที่พูดคุยด้วยได้ คนที่เคยเป็นสมาชิกของบีไอพีพีเมื่อสามสิบปีที่แล้ว แล้วก็ไปเชิญมาเข้าร่วม” ผู้นำ คนหนึ่งของกลุ่มบอก
ยิ่งกว่านั้น ดูเหมือนว่าทั้งเลขาธิการสมช.และศอ.บต.ไม่ได้ตระหนักว่า เบอร์ซาตู องค์กรที่เป็นเสมือนร่มเงาให้กับบรรดากลุ่มอื่นๆตอนนี้ไม่ดำรงอยู่แล้ว หลังจากที่แตกตัวกันไปเมื่อประมาณยี่สิบปีที่แล้ว นอกจากนั้นพล.ท.ภราดรยังดูจะไม่ตระหนักว่า มีบุคคลถึงสามคนที่อ้างตัวเป็นประธานที่ชอบธรรมของกลุ่มพูโล นี่แหละงานโฆษณาของไทย
“รัฐบาลจำเป็นจะต้องแสดงออกมากกว่านี้ว่าจริงใจ ถ้าจะปั่นข่าวให้สาธารณะได้เสพ อย่างน้อยก็ต้องมีฐานความจริงอยู่บ้าง เบอร์ซาตูมันเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว” อาเต็ฟ โซะโก ผู้นำยุวชนจากนราธิวาสกล่าว
ปัญหาของเลขาธิการสมช.กับศอ.บต.ก็คือเวทีที่พวกเขาทำงานให้นั้นมีขึ้นเพื่อที่จะล้างความผิดที่ถูกกล่าวหาให้กับทักษิณซึ่งถูกโค่นจากอำนาจจากการปฏิบัติเมื่อปี2549ด้วยเหตุผลหลายประการ หนึ่งในนั้นคือสาเหตุจากวิธีที่ทักษิณจัดการเรื่องปัญหาภาคใต้
นอกจากจะประชาสัมพันธ์ไม่ค่อยได้เรื่องแล้ว ฝ่ายไทยยังมีปัญหาในการหาพันธมิตร – ในกลุ่มคนที่มีสิทธิมีเสียงในพื้นที่ – ให้แสดงความเห็นชอบกับการริเริ่มของตนเอง หรือแม้แต่ให้ไปร่วมวงในโต๊ะเจรจา
สภาอูลามะ ซึ่งประกอบไปด้วยอิหม่ามสายชาฟีอีย์หรือสายดั้งเดิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ปฏิเสธคำเชิญจากรัฐบาลให้เข้าร่วมในการเจรจา ในพื้นที่นี้มลายูมุสลิมร่วม90%ยึดแนวคิดแบบชาฟีอีย์
อีกกลุ่มที่เมินเฉยรัฐก็คือซาดารอ(Saudara)กลุ่มนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ที่รณรงค์สนับสนุนวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของมลายูปาตานี
การเมินเฉยต่อสิ่งที่รัฐทำสำหรับคนกลุ่มนี้นับเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะว่าพวกเขามีเรื่องที่จะต้องเสียค่อนข้างมาก ว่ากันว่าพวกเขาอยู่ห่างจากการเข้าร่วมกับการก่อความไม่สงบแค่ก้าวเดียวเท่านั้น เนื่องจากว่าญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงถ้าไม่อยู่ในห้องขังเพราะเจอคดีในข้อหากบฏ ก็อยู่ระหว่างการหลบหนีเนื่องจากมีชื่ออยู่ใน “บัญชีดำ” นอกจากนี้ ผู้นำนักศึกษาและอิหม่ามต่างบอกว่า ที่มาของการทำ “ข้อตกลงสานสันติภาพ” ครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันที่28กพ.นั้นเกิดมาจากความจำเป็นทางการเมืองของรัฐบาลไทยและมาเลเซีย ไม่ได้มาจากการเอาความจำเป็นของคนเชื้อสายมลายูปาตานีเป็นที่ตั้ง
ส่วนคนอีกกลุ่มที่ไม่สนใจ “กระบวนการสันติภาพ” ก็คือกลุ่มนักสู้ในพื้นที่(juwae)ที่ยังคงเดินหน้าโจมตีและอย่างหนักหน่วงยิ่งกว่าเดิม
สิ่งที่อาจจะถือเป็นความก้าวหน้าที่น่าสนใจที่สุด ก็คือการที่พรรคเพื่อไทยมีแผนการที่จะส่งบรรดานักวางแผนยุทธศาสตร์ออกไปพบปะเพื่อทำความตกลงกับสมาชิกอาวุโสของบีอาร์เอ็นนอกประเทศแบบเงียบๆ แต่จนถึงขณะนี้คนเหล่านี้ก็ยังไม่ได้อะไรมากนัก เพราะสมาชิกของดีพีพีของกลุ่มบีอาร์เอ็นยังไม่อยู่ในอารมณ์จะพบใครในตอนนี้
บีอาร์เอ็นบอกว่า รัฐบาลไทยใช้การหารือเรื่องสันติภาพเมื่อ28กพ.เป็นการแผ้วถางทางเพื่อล้างมลทินให้กับทักษิณ ดังนั้นรัฐบาลจะทอดสะพานให้ใครจึงไม่เป็นเรื่องสำคัญ
แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าพรรคเพื่อไทยส่งนักวางแผนของตนออกไปก็ทำให้เห็นว่า พรรคเองก็เข้าใจเช่นกันว่าการเจรจาในวงที่เป็นทางการนี้เป็นแค่การจัดแสดง และคนอย่างพล.ท.ภราดรและฮัสซัน ตอยิบต่อให้พยายามอย่างไรในฐานะของหัวหน้าทีมเจรจาและ “ผู้ประสานงาน” ก็คงทำได้อย่างมากเท่าที่เห็น
หากรัฐบาลไทยไม่เข้าใจว่า ผลประโยชน์ทางการเมืองนั้นต่างจากผลประโยชน์ของชาติ ความคิดที่จะสร้างสันติภาพขึ้นในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งรุนแรงอย่างพื้นที่นี้ก็คงจะเป็นเรื่องของอนาคตอีกยาวไกล