อ่าน “กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่าม สะตอปา การ์เด” ความซับซ้อนของความรุนแรง
นิยายขนาดสั้นเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่าม สะตอปา การ์เด ถือเป็นงานชิ้นสำคัญที่สะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ บนความซับซ้อน ลับ ลวง พลาง ผ่านการเล่าเรื่องโดยใช้ ปากคำ ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้พบเห็น ผู้ได้สัมผัสต่อคดีประหลาด คือ คดีที่เกิดจากการฆาตกรรมอิหม่าม สะตอปา การ์เด
นิยายเรื่องนี้เป็นผลงานการประพันธ์ของศิริวร แก้วกาจญ์ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2549 หลังจากเหตุการณ์ไฟใต้รอบใหม่ได้ปะทุขึ้นไม่นาน อย่างไรก็ตาม แม้นเวลาจะล่วงเลยมานานกว่า 6 ปีหลังจากที่ครั้งแรกของนวนิยายเล่มนี้ ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ความซับซ้อน และปริศนาอยากที่จะเข้าใจต่อสถานการณ์ชายแดนใต้ก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป
กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่าม สะตอปา การ์เด เป็นนิยายที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์เมื่อปี 2549 และที่สำคัญนิยายชิ้นดังกล่าวนี้ยังคงถูกประทับตราว่าเป็น ผลงานที่ถูกกล่าวหาว่าทำลายความมั่นคงของรัฐ
เรื่องของนิยายชิ้นนี้เริ่มต้นที่ เหตุการณ์ที่ตันหยงบารู ซึ่งสถานการณ์ในตอนนั้น อยู่ท่ามกลางความเศร้าสลด ภายหลังจากการเสียชีวิตของอิหม่ามสะตอปาร์ การ์เด ซึ่งถูกฆาตกรรม โดยที่ไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าเป็นฝีมือของใคร
ภายในงานชิ้นนี้ได้ดำเนินเรื่องราวผ่าน ปากคำ ของกลุ่มคนต่างๆ ทั้งคนของรัฐ ชาวบ้านทั่วไป ผู้นำศาสนา เรื่องราวจากปากคำถูกเรียงร้อยขึ้นมา เพื่อเล่าถึงเหตุการณ์การตายของอิหม่ามสะตอปาร์ ซึ่งดูแล้วปากคำของคนเหล่านั้น ได้สะท้อนถึงปัญหาดังกล่าวอย่างชัดเจน
โดยเริ่มต้นที่ปากคำของประชา วงศ์โกสินทร์ ในฐานะของผู้ว่าราชการจังหวัด เดิมทีเขาผู้นี้มีความสัมพันธ์อันดีกับชาวบ้าน ตันหยงบารู แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมอิหม่าม ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับชาวบ้านได้ผันเปลี่ยนไป กลับกลายเป็นความหวาดระแวง และไม่ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านเช่นเดิม ได้กลายเป็น คนแปลกหน้า สำหรับชาวบ้านตันหยงบารู
ปากคำของประชา วงศ์โกสินทร์ ยังคงได้สะท้อนถึง สิ่งที่เป็นไปในสถานการณ์ภาคใต้ ได้หลายมิติทั้ง ความหวาดระแวงจากชาวบ้านที่มีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งในแง่ของการนำเสนอของสื่อหลังจากเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรม เรื่องราวทั้งหมดนี้ได้ถูกถ่ายทอดผ่านบทสนทนาบทหนึ่งระหว่างประชา วงศ์โกสินทร์ กับ สตรีมุสลิมท่านหนึ่ง ซึ่งได้ปรากฏตัวจากความเงียบสงบในตันหยงบารู
สตรีมุสลิม ผู้ซึ่งเป็นครูสอนศาสนาในหมู่บ้าน ได้เปล่งวาจาผ่านผ้าคลุมหน้าอย่างยืนหยัดว่า ชาวบ้านตันหยงบารู ยังคงดำเนินชีวิตเช่นนี้ต่อไป คือ ไม่ให้ความร่วมมือใดๆ ทั้งสิ้นกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตราบใดที่รัฐยังไม่สามารถที่จะให้ความกระจ่างต่อกรณีฆาตกรรมอิหม่าม แต่เมื่อรัฐช่วยอะไรไม่ได้ เราก็จะปิดหมู่บ้านเช่นนี้ต่อไป
เพียงเหตุการณ์เดียวที่เกิดขึ้น สัมพันธ์ระหว่างผู้คนแปรเปลี่ยนไป เพราะภาพของตัวแทนรัฐ จึงถูกทำให้เป็นผู้ต้องหาจากปริศนาความรุนแรงที่เกิดขึ้น
ความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ถูกฉายซ้ำอีกครั้ง ผ่านปากคำองการิม มะลาเต๊ะ ผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านในตำบลตันหยงบารู จากปากคำของการิม มะลาเต๊ะได้กล่าวไว้ว่า “สาเหตุที่พวกปิดหมู่บ้านและไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง ไม่ว่าทหารหรือตำรวจเข้ามานั้น เพราะเราไม่พอใจการกระทำของพวกเขา เราอดทนมานานแล้ว แต่ครั้งนี้มันหนักหนาสาหัสเกินไป มันลบหลู่ดูหมิ่นกันมากเกินไป ที่สำคัญ จะให้เราแน่ใจได้อย่างไรว่า เมื่อเปิดหมู่บ้านแล้ว คนของเราจะไม่ถูกอุ้ม หรือถูกฆาตกรรมอย่างเลือดเย็นเช่นนี้อีก”
การฆาตกรรมอิหม่ามสะตอปา การ์เด ยังได้แสดงถึงการจัดการปัญหาของภาครัฐ โดยมีการกล่าวสรุปเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่าเป็น การฆาตกรรมที่เกิดขึ้นโดยฝีมือของชาวบ้านเอง อันเนื่องมาจากการขัดผลประโยชน์ ทั้งจากผลประโยชน์ยาเสพติด รวมไปถึงการแบ่งแยกดินแดน
ชีวิตอิหม่ามสะตอปา การ์เด จึงกลายเป็นจำเลยต่อเหตุการณ์ความไม่สงบเสียเอง
อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวหาเช่นนี้ ถูกท้าทายจากปากคำของมูหัมหมัด การ์เด บุตรชายอิหม่าม ผู้ซึ่งอยู่กับอิหม่ามกระทั่งลมหายใจสุดท้าย ได้ให้ปากคำโดยอ้างมาจากคำของอิหม่ามสะตอปา การ์เดไว้ว่า
“คนร้ายมากันห้าคน สามในห้าแต่งชุดลายพรางแบบทหาร และคนเหล่านั้นได้ทิ้งหลักฐานจากรอยรองเท้าบู๊ตเกลื่อนกลาด”
ปากคำของมูหัมหมัด การ์เด จึงสรุปว่า บิดาของเขาถูกฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
เรื่องราวในกรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่าม สะตอปา การ์เด ซึ่งแฝงไปด้วย ความเป็นจริงของความซับซ้อน ของสถานการณ์ชายแดนใต้ได้เป็นอย่างดี
กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่าม สะตอปา การ์เด ปริศนาต่างๆ ได้ถูกกุมไว้ที่เด็กชายวัย 12 ปีเศษ ผู้ซึ่งมีแพะนามว่า อาดัม เป็นเพื่อนคู่ใจ เขาเลือกที่จะไม่พูดกับใคร เว้นเสียแต่แพะอาดัมตัวนี้ ซึ่งเด็กชายวัย 12 ปีเศษนี้คือ อาลี โต๊ะอิลชา
ก่อนหน้านี้อาลี มีเพื่อนสนิทคือ ซะการีย์ยา
จากปากคำของอาลี ซะการีย์ยา คือ เพื่อนสนิทของเขา ก่อนที่มิตรภาพของทั้งสองนั้นจะผันเปลี่ยนไป หลังจากที่ซะการีย์ยา เจอเพื่อนใหม่ และซะการีย์ยา ก็หายไปจากมิตรภาพของเขา และหายไปจากตันหยงบารู
แต่ซะการีย์ยาก็กลับมา ด้วยท่าทีที่แปลกไปกว่าเดิม การกลับมาของซะการีย์ยาเพียงแค่สามวัน ครูในโรงเรียนถูกยิงตายหน้าบ้านพัก และหลังจากนั้นไม่นานโรงเรียนของเราก็ถูกลอบวางเพลิง
ซะการีย์ยาเปิดเผยเหตุการณ์เหล่านี้กับอาลีว่าเป็นฝีมือของเขา ซะการีย์ยาเป็นผู้ลอบเผาโรงเรียนของเรา แต่หลังจากนั้นสามวัน ซะการีย์ยาได้จากอาลีไปอย่างไม่หวนกลับ เขาถูกยิงตายที่ร้านน้ำชา ไม่มีใครเลยในตันหยงบารูที่จะล่วงรู้ได้ว่า ใครฆ่าซะการีย์ยา
นี้เป็นเพียงแค่บางส่วน บางตอน จากนิยายที่อยากจะชวนให้อ่าน เพื่อที่จะสัมผัสถึงเรื่องราวของเป็นไปของความซับซ้อนในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งนิยายเล่มนี้ได้สร้างความฉงนใจเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าจะทำความเข้าใจต่อเรื่องราวของปากคำที่เกิดขึ้นในนิยายเล่มนี้ ก็มิอาจที่จะรับรู้ได้ว่า ปากคำ ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นปากคำที่เล่าให้ใครฟัง