ตำแหน่งแห่งที่ของมานุษยวิทยาในสามจังหวัดภาคใต้ ?

ผมมีความรู้ค่อนข้างน้อยเกี่ยวกับสามจังหวัดภาคใต้รวมไปถึงมาเลเซียจึงพยายามอ่านและติดตามข่าวสารและงานเขียนต่างๆ ในระยะหลังให้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เริ่มมีการเจรจาสันติภาพ ผมคิดว่าการเจรจาดังกล่าวน่าจะมีผลอยู่บ้างในทางการเมืองและคงต้องใช้ความอดทนอดกลั้นพอสมควรจากแรงกดดันจากฝ่ายค้านและการเพิ่มสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ระหว่างนี้ผมคิดว่าการเตรียมความพร้อมทางวิชาการน่าจะมีส่วนก่อประโยชน์ให้กับคนในพื้นที่บ้าง

ทบทวนไปสักพัก ผมรู้สึกว่าสามจังหวัดภาคใต้กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมการวิจัยไปแล้ว และในนิคมแห่งนั้น งานศึกษาทางมานุษยวิทยามีบทบาทน้อยมาก ทั้งในแง่จำนวน ปฏิบัติการณ์ในพื้นที่ และนัยทางนโยบาย แน่นอน ผมไม่ได้ทวงคืนพื้นที่ของมานุษยวิทยาและไม่ได้คิดว่ามานุษยวิทยาเป็นสาขาวิชาวิเศษไปกว่าสาขาอื่น มานุษยวิทยามิได้เป็นพื้นที่แห่งความหวังขนาดนั้น ผมแค่คิดถึงสิ่งที่ตกหล่นไปในพื้นที่วิชาการสามจังหวัดภาคใต้และตระหนักในคุณสมบัติบางด้านของมานุษยวิทยาซึ่งก็คือการสะท้อนเรื่องราวจากข้างในและวิเคราะห์มันอย่างคมคาย

แต่ทั้งหมดนี้ ผมก็รู้มันน้อยเกินกว่าจะหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง ผมมีแต่คำถามดังนี้ครับ

ข้อแรก หากสืบย้อนไปในประวัติศาสตร์งานวิจัยของภาคใต้ ภาคใต้น่าจะเป็นที่เดียวซึ่งไม่มีสำนักวิจัยทางมานุษยวิทยาเฉกเช่น ภาคเหนือและอีสาน หรือแม้กระทั่งในพื้นที่ภาคกลาง ภาคใต้โดดเดี่ยวตัวเองมานาน ทั้งที่มีวิทยานิพนธระดับป.เอกทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีคุณภาพสูง งานศึกษาทางมานุษยวิทยาในภาคใต้รวมไปถึงบางส่วนของมาเลเซียสามารถสืบย้อนไปได้ไกลถึงงานบุกเบิกทางมานุษยวิทยายุคปลายๆ อาณานิคมอังกฤษเสียด้วยซ้ำ อะไรทำเกิดภาวะขาดแคลนงานวิชาการ ขาดความสืบเนื่องและถกเถียงทางภูมิปัญญา โดยเฉพาะช่วงหลัง 1980 จนมาถึงต้น 2000 นั้น แทบจะเรียกได้ว่าเป็นบรรยากาศที่สงบเงียบ คล้ายลมทะเลแผ่วพัด ชวนหลับฝัน ทั้งที่ในความเป็นจริงช่วงเวลาดังกล่าวคุกรุ่นไปด้วยบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมือง ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมการพัฒนา

ข้อสอง น่าสนใจมากที่บรรยากาศของภาคใต้และสามจังหวัดภาคใต้นั้นคือ ความขัดแย้งระหว่างรัฐและท้องถิ่น (กรณีใต้บน) และรัฐกับชาติพันธุ์ (กรณีสามจังหวัดภาคใต้) ภาคใต้มีเสน่ห์แรงจัดอย่างหนึ่งคือค่อนข้างแข็งข้อและตั้งคำถามกับอำนาจรัฐสูงและเป็นปฏิกริยาที่รวดเร็ว ไม่ต้องอาศัยองค์กรจัดตั้งอย่างเป็นทางการมากนัก ผมอาจคิดเกินเลยไปสักนิดว่า ภาคใต้และคนมลายูคือกลุ่มคนที่มีปัญหากับความเป็นไทยและอำนาจรัฐมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ แต่เหตุใด งานวิชาการด้านมานุษยวิทยาจึงแทบไม่ปรากฏให้เห็นหรือมีน้อยชิ้นมาก ผมเผลอคิดไม่ได้ว่ามานุษยวิทยาไทยมีข้อจำกัดในการศึกษาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาติพันธุ์แบบถึงรากถึงโคนและเข้มข้น (แน่นอน งานศึกษาในรูปแบบนี้ปรากฏในภูมิภาคอื่นบ้าง แต่ก็มักเป็นความขัดแย้งชนิดไม่ถึงตายอย่างภาคใต้ และมักเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิที่ไม่ค่อยแตะหรือวิพากษ์ความเป็นไทยเท่าไรนัก)

ข้อสาม หรืออาจเป็นปัญหาด้านวิธีการและวิธีวิทยาในวงการมานุษยวิทยาไทยซึ่งไม่คุ้นเคยกับการทำงานภาคสนามในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมไปถึงประเด็นที่ล่อแหลม เปราะบางต่อความมั่นคงของตนเอง ต่อประเด็นนี้ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องใหม่มาก เราจึงตั้งหลักกันไม่ถูกว่าจะดำเนินงานวิจัยกันอย่างไร สุดท้ายก็มักเอาคำกว้างๆ มาใส่ อาทิ การต่อรอง อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ เรื่องเล่า ฯลฯ ราวกับเป็นเรื่องครอบจักรวาล พวกเราแทบไม่ได้ย่นระยะห่างระหว่างงานวิจัยกับปรากฏการณ์ภาคสนามกันเลย แต่กลับเพิ่มความแนบชิดกับมายาคติเดิมๆ ที่ผู้คนมีต่อสามจังหวัดมากกว่า 

ข้อสี่ หลังจากปี 2000 เป็นต้นมา ผมคิดว่าเริ่มมีทั้งงานระดับปริญญาโทและเอกทั้งในและนอกประเทศ แต่เหตุใดเราไม่เคยมีวงสัมมนาถกเถียงเรื่องพวกนี้อย่างจริงจังถึงการประเมินสถานะภาพทางความรู้ทางมานุษยวิทยาว่าเชื่อมโยงอย่างไรต่อคำอธิบายปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ หรือมานุษยวิทยาล้อมกรอบตัวเองมากไป (คล้ายกับล้อมกรอบพื้นที่ศึกษาแบบตายตัว) พอมีคำถามเกี่ยวกับอำนาจรัฐ ความมั่นคง ความขัดแย้ง ก็ยกให้เป็นหน้าที่ของนักรัฐศาสตร์ พอจะพิจารณาถึงเรื่องความรู้สึกอารมณ์ของผู้คน และความทุกข์ทางสังคมก็ให้เป็นหน้าที่นักสันติวิธี(เยียวยา?) ส่วนการสื่อสารกับสาธารณะก็ให้เป็นหน้าที่ของนักข่าว ผมรู้สึกวูบๆ ว่า ตกลงบทบาทหน้าที่ของนักมานุษยวิทยาในสามจังหวัดนี่อยู่ตรงไหนกันแน่ พวกเราทุ่มเวลาเป็นปีไปเสี่ยงอันตรายไปลงภาคสนาม หัดภาษามลายูบ้าง อาหรับบ้างและใช้มันอย่างผิดๆถูกๆ ไปนอนในชุมชน (ไม่ได้นอนโรงแรมนะจ๊ะ อย่างน้อยก็ตอนเก็บข้อมูลภาคสนาม) เพื่อดึงข้อมูลชีวิตประจำวัน ความรู้สึก ความคิดเห็นของผู้คนออกมาสนทนากับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ข้อมูลพวกนี้น่าจะช่วยก่อประโยชน์อย่างมากต่อความเข้าใจในพื้นที่สาธารณะ ตอนนี้เค้าเริ่มต้นเจรจาสันติภาพกัน เหตุใดเราจะไม่สามารถจัดเวทีคู่ขนานเพื่ออธิบายความซับซ้อนในชีวิตคน สันติภาพจะเกิดขึ้นได้มิใช่บนเงื่อนไขการเจรจาทางการเมืองอย่างเดียว แต่จำต้องอาศัยความเข้าใจและการ “สบตา” กับความหวาดกลัว ความสบสัน และความหวังของผู้คนด้วย

สุดท้าย ผมลองสำรวจเบื้องต้นพบว่าในรอบสิบปีที่ผ่านมา เริ่มปรากฏงานวิชาการในสามจังหวัดภาคใต้อีกครั้ง เฉพาะที่เขียนโดยนักวิชาการไทยต่างก็มีความหลากหลายและครอบคลุมพอสมควร อาทิ งานศึกษาอำนาจเหนือชีวิตในชีวิตคนมลายู นิเวศวิทยา อัตลักษณ์มลายู ชีวิตประจำวัน ความรุนแรง ผู้หญิงมลายูกับความรัก และหากเราขยายพรมแดนไปสู่เพื่อนบ้านใกล้ชิดอย่างสังคมวิทยาหรือสหวิทยาการก็จะพบงานศึกษาความคิดของปัญญชนผู้นำทางศาสนา คาทอลิคในโลกมลายู และไทยพุทธในโลกมลายู เป็นต้น เท่าที่ผมทราบ ยังไม่เคยมีการ “รวมศิษย์เก่าสามจังหวัด” กันอย่างจริงจังเพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ รวมไปถึงการประเมินสถานภาพการศึกษาในสามจังหวัดกันอย่างจริงจัง

ทุกวันนี้ งานวิชาการจำนวนมากมักถูกปิดปากด้วยอุดมคติด้านการแก้ไขความขัดแย้งและการมุ่งความสมานฉันท์จนเกินงาม ประเด็นพวกนี้น่าจะมีส่วนช่วยในการเปิดพื้นที่ให้กับเรื่องราวที่ถูกซุกไว้ใต้พรม เรื่องที่มิอาจพูด และเรื่องที่ถูกมองข้ามในสามจังหวัด 

ใช่ ที่ผ่านมาสามจังหวัดภาคใต้มิได้ตกอยู่ท่ามกลางความรุนแรงอย่างเดียว แต่ยังตกอยู่ท่ามกลางการขาดการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในเชิงปรากฏการณ์ ผลการศึกษา รวมไปถึงเรื่องอ่อนไหวต่างๆ ความเห็นดังกล่าวคือจุดเริ่มต้นในปฏฺบัติการณ์ทางวิชาการที่น่าจะมีส่วนช่วยในการสร้างนโยบายทางวัฒนธรรมที่ละเอียดอ่อนเพียงพอในการปฏิบัติจริงต่อผู้คนในพื้นที่