ปริศนาหลังฉาก: ภาพ-เจรจา ของการพูดคุยสันติภาพ
ดอน ปาทาน Patani Forum
หลังจากที่ประสบความล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง รัฐบาลไทยได้ตกลงใจว่าจะทำให้การลงนาม “ข้อตกลงสันติภาพ”ที่ทำกับกลุ่มผู้อ้างตัวว่าเป็นผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต(Barisan Revolusi Nasional- Coordinate)เป็นจริงให้จงได้
กลุ่มดังกล่าวนำโดย ฮัสซัน ตอยิบ (Hasan Toib) ที่ตั้งตัวเองเป็น “ผู้ประสานงาน” (Liaison) ซึ่งแปลว่าผู้ที่จะต้องไปโน้มน้าวกลุ่มบีอาร์เอ็นให้เข้าร่วมในกระบวนการพูดคุยต่อไป
รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มอบหมายให้ พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้รับผิดชอบในกระบวนการครั้งนี้ และมีจุดมุ่งหมายในการโน้มน้าวกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มอื่นๆให้เข้าสู่โต๊ะเจรจา
บทบาทของทหารเองยังไม่เป็นที่ประจักษ์ ยังจะต้องมีการดำเนินการต่อไปเพื่อให้กองทัพ เห็นด้วยกับกระบวนการนี้
การลงนามในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตัวแทนจากทั้งรัฐบาลไทยและกลุ่มคนที่อ้างตัวเป็นผู้นำของกลุ่มบีอาร์เอ็นได้มานั่งพูดคุยกัน การเจรจาคล้ายๆกันนี้ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วที่เกาะลังกาวี (Langkawi) ประเทศมาเลเซีย ด้วยการสนับสนุนของนพ.มหาธีร์ มูฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย และ ในปี ๒๕๕๒ ยูซุฟ คัลล่า รองประธานาธิบดีประเทศอินโดนีเซียในขณะนั้นก็ได้ร่วมสนับสนุนในการจัดการเจรจาที่เมืองโบกอร์ (Bogor) ด้วย
ปี ๒๕๔๙ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ร้องขอองค์กรระหว่างประเทศองค์กรหนึ่งให้จัดกระบวนการพูดคุยระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ กับกลุ่ม พูโล ปีกของ กัสตูรี มะโกตา (Kasturi Mahkota) หนึ่งในบุคคลสามคนที่อ้างตัวว่าเป็นประธานกลุ่มพูโล
ในความพยายามทั้งหมดนี้ ผู้มีส่วนต่างก็อ้างว่าได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม บีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนตไม่มากก็น้อย
ในวันนี้ ความเคลือบแคลงใจกับประเด็นการเป็นผู้นำกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนตยังมีอยู่ โดยทั่วไป หลายฝ่ายเห็นพ้องกันว่ากลุ่ม บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต อยู่ภายใต้การนำไม่ใช่ของบุคคลคนเดียวแต่ของสภาที่ปรึกษาที่รู้จักกันในนาม ดีพีพี (Dewan Penilian Party: DPP)
แหล่งข่าวจากBRNและรัฐบาลมาเลเซียเปิดเผยว่า ฮัสซัน ตอยิบไม่ได้รับฉันทานุมัติจากสภาที่ปรึกษาหรือดีพีพี ในการลงนามในข้อตกลงเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การลงนามหนนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่าเป็นผลงานของฝ่ายไทยแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีใครอื่นเกี่ยวข้อง
แต่รัฐบาลไทยเชื่อจริงหรือว่า ฮัสซัน ตอยิบ สามารถโน้มน้าวให้ผู้นำกลุ่มคนอื่นๆมาเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยด้วยได้ เพราะถึงที่สุดแล้วเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่มันบอกเล่าอีกอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เพื่ออธิบายความสำคัญของปัญหาภาคใต้ที่มีต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เราอาจจะต้องย้อนไปดูการรัฐประหารในปี ๒๕๔๙
เป็นที่ชัดเจนว่าหนึ่งในเหตุผลที่พลเอกสนธิ บุญญรัตกลิน อ้างในการทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ คือ วิธีที่ทักษิณจัดการกับปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉะนั้นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ทักษิณลดข้อครหาดังกล่าวหรือสามารถกลับบ้านได้เร็วขึ้นก็คือการทำให้สันติภาพบังเกิดขึ้นในสามจังหวัด หรือ อย่างน้อยที่สุดคือทำให้ดูประหนึ่งว่าตัวเองกำลังทำให้สถานการณ์ในสามจังหวัดนั้นคลี่คลายลง
หน้าฉาก ดูเหมือนว่ารัฐบาลแสดงทีท่าอย่างสำคัญโดยการใช้ชื่อประเทศไทยและตราของรัฐบาลประทับในข้อตกลง แต่หากสถานการณ์ในพื้นที่ไม่ดีขึ้น ฝ่ายทักษิณก็สามารถจะอ้างได้ว่าได้ริเริ่มในเรื่องนี้แล้ว แต่กลุ่มขบวนการต่างหากที่ไม่ขานรับ
ส่วนรัฐบาลมาเลเซียก็กระโดดเข้าร่วมวงกับการริเริ่มของฝ่ายไทย เพราะว่าฝ่ายนำของมาเลเซียเองก็ต้องการให้ภาพว่าตนกำลังทำในสิ่งที่เหมาะสมถูกต้อง อีกประการหนึ่ง เรื่องนี้ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปในมาเลเซียกำลังจะมาถึง
หากพิจารณาเปรียบเทียบก็เหมือนกับที่ผ่านๆมาในการเมืองไทย คือ พรรคการเมืองไทยทุกพรรคได้ทำให้เรื่องภาคใต้เป็นประโยชน์ทางการเมืองแก่พรรคของตนและใช้โจมตีพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม โดยเห็นความผลประโยชน์ของพรรคมากกว่าความสงบในพื้นที่
การทำข้อตกลงที่เปิดเผยต่อสาธารณะทำให้บรรดากลุ่มบุคคลที่ไปลงนามรวมทั้งเป็นสักขีพยานในงานวันที่ 28 กพ.ต้องแสดงความเชื่อมั่นในสิ่งที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่
ฮัสซันได้พบกับทักษิณเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในการพบปะกันครั้งนั้นมีหัวหน้ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนอีก ๑๕ คนรวมอยู่ด้วย เขานั่งถัดจากทักษิณซึ่งโดยพฤตินัยแล้วก็คือหัวหน้าของพรรคเพื่อไทย และผู้ที่อยู่ในการประชุมระบุว่าพวกเขาทั้งสองคนพูดคุยกันถูกคอเป็นเรื่องเป็นราว
ขณะที่ตัวแทนหนุ่มของบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนตที่สภาที่ปรึกษาหรือดีพีพี (DPP)ส่งไปร่วมด้วยกลับนิ่งเฉยและไม่ได้เข้าร่วมในการพูดคุยวงย่อยกับทักษิณและคนอื่นๆแต่อย่างใด
ผู้ที่เข้าร่วมในการพบปะดังกล่าวบอกว่า ฮัสซันเริ่มขยับเข้าไปอยู่ในวงโคจรของ “ทีมทักษิณ” แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมากนัก “เรารู้ว่าฮัสซันกำลังคิดทำอะไรบางอย่าง แต่ไม่มีใครสนใจจริงจังเพราะเขาไม่ได้มีอิทธิพลต่อพวกญูแว (juwae) ที่อยู่ในพื้นที่” ผู้นำพลัดถิ่นคนหนึ่งกล่าว “แต่ไม่มีใครคิดว่าเขาจะไปไกลถึงขั้นทำข้อตกลงกับฝ่ายไทย”
ในมุมมองของหัวหน้ากลุ่มต่อสู้แบ่งแยกดินแดน ประเด็นที่สำคัญไม่ใช่ว่ารัฐบาลกำลังคุยผิดคนเท่านั้น แต่บรรดาผู้นำตัวจริงของกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนตยังไม่พร้อมที่เข้าสู่กระบวนการสันติภาพในตอนนี้
ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลไทยเองก็ยังไม่มีท่าทีที่จะไม่เอาผิดคู่เจรจา จากแหล่งข่าวในมาเลเซีย และกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่างก็ยืนยันว่า หากรัฐบาลไทยไม่ดำเนินการในเรื่องให้ความคุ้มกันทางการทูต (diplomatic immunity) ก็เป็นเรื่องยาก ที่กลุ่มผู้นำตัวจริงของกลุ่ม บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนตที่คุมการปฏิบัติการในพื้นที่ได้ จะออกมาพูดคุยในเรื่องสันติภาพ
อีกอย่าง ถ้อยคำภาษาที่คลุมเครือในข้อตกลงทั่วไปของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในเรื่องที่ว่า “จะมีการจัดหามาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับสมาชิกของคณะทำงานร่วมทุกคนและตลอดระยะเวลาของกระบวนการ” ก็ถือว่ายังไม่ดีพอ
กลุ่มนักรบญูแว (juwae) ในพื้นที่ได้แสดงท่าทีไม่ใส่ใจกับการทำข้อตกลงที่เกิดขึ้นในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ด้วยการก่อเหตุต่อในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่ารัฐบาลไทยจะอ้างว่ามันยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ตาม และความเสียหน้าจากการที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นโดยเฉพาะเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ได้เกิดเหตุย่อยๆร่วมสี่สิบครั้งในอำเภอต่างๆเจ็ดอำเภอของยะลาทำให้ “ทีมประเทศไทย” หรือจะพูดให้ถูกก็คือ “ทีมทักษิณ” ต้องออกมาหาทางกู้หน้า
สภาความมั่นคงแห่งชาติต้องออกแรงหนักขึ้นเพื่อให้มีการรับรองการเจรจาและหาทางให้ “สะแปอิง บาซอ” เข้ามาร่วมวงด้วย สะแปอิง เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณคนสำคัญในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นอดีตครูใหญ่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามชื่อดังในจังหวัดยะลา สะแปอิงได้หลบหนีออกนอกประเทศ หลังจากมีหมายจับที่ออกโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษในปี ๒๕๔๘ ซึ่งหมายจับดังกล่าวลงนามโดย พ.ต.อ. ทวีสอดส่องนั่นเอง อุสตาสอีกเจ็ดคนจากโรงเรียนก็ถูกข้อกล่าวหาด้วยและทั้งหมดล้วนแต่กำลังหลบหนี
การที่มีนักเรียนจากโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิจำนวนหนึ่งเข้าร่วมในขบวนการแบ่งแยกดินแดนทำให้สะแปอิงอยู่ในฐานะที่อ่อนไหว ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงข้อเท็จจริงที่ว่า สะแปอิง เป็นตัวแทนของเรื่องเล่าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่ต่างออกไป มันเป็นเรื่องเล่าที่ทำให้คนมลายูปาตานีแตกต่างไปจากคนไทยในส่วนอื่นๆของประเทศ
แม้ว่าสะแปอิงจะถูกกล่าวหาโดยรัฐไทยว่าเป็นผู้ร้ายมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่เจ้าหน้าที่ของทางการไทยหลายคนเชื่อว่าถ้าหากสะแปอิงยอมเข้ามาสู่กระบวนการสันติภาพ เขาจะเป็นบุคคลที่สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ความขัดแย้งได้ พวกเขาชี้ถึงสถานะของเขาต่อคนในชุมชนและข้อเท็จจริงที่ว่าเขาเป็นผู้เดียวที่รัฐไทยมองว่าเป็นหัวหน้าขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับโรงเรียนธรรมาวิทยาตกต่ำในช่วงระหว่างปี ๒๕๔๗-๒๕๕๐ เมื่อครูโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิจำนวน ๘ คนถูกยิงเสียชีวิตในระยะเผาขน
ภายหลังการรัฐประหารในปี ๒๕๔๙ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ก็เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและภายในปีเดียวหลังจากเข้ารับตำแหน่งเขาก็ได้ประกาศยกเลิกการใช้ “บัญชีดำ” อันเป็นสิ่งที่ผู้คนเอาไปเชื่อมโยงเข้ากับการสังหารอย่างเจาะจงตัวที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้
ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น แต่สะแปอิงก็ยังคงไม่ยอมเข้ามาสู่การเจรจาของฝ่ายไทย เจ้าหน้าที่ทางการไทยคนหนึ่งที่ได้อ่านแฟ้มคดีของสะแปอิงบอกว่าหากเรื่องไปถึงชั้นศาล สะแปอิงก็มีโอกาสสูงที่จะชนะคดี แต่ปัญหาก็คือคดีของสะแปอิงตอนนี้ยังคงค้างอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ
แม้ว่าในท้ายที่สุดจะมีการดำเนินกระบวนการยุติธรรมจนผ่านพ้นและข้อกล่าวหาต่อสะแปอิงตกไป แต่ก็ยังไม่มีสิ่งใดยืนยันได้ว่าผู้นำจิตวิญญาณอาวุโสคนนี้จะยอมเข้าสู่โต๊ะเจรจา ผู้นำของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลายคนบอกว่า ถึงแม้สะแปอิง บาซอ จะยอมเข้าโต๊ะเจรจา แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า กลุ่มญูแว (juwae) ในพื้นที่จะเห็นด้วย พูดอีกอย่างก็คือว่า ไม่มีทางลัดสำหรับสันติภาพในพื้นที่แห่งนี้
ซ้ำร้ายกว่านั้น ละครฉากนี้ยังดูแปลกเมื่อ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ไม่เคยขอให้ กลุ่มที่พวกเขาเจรจาด้วยนั้น พิสูจน์ว่าพวกเขามีสายบังคับบัญชาที่เชื่อมโยงกับกลุ่มญูแวในพื้นที่ และอาจจะดีกว่านี้ถ้ารัฐบาลแสดงความจริงใจว่า แท้ที่จริงแล้วรัฐบาลกำลังขอร้องแกมบังคับให้ฮัสซัน ตอยิบ ทำหน้าที่ผู้ประสานงานที่ดีเพื่อโน้มน้าวให้สมาชิกของกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต ซึ่งมีอิทธิพลในพื้นที่จริงๆหันมาสนใจกระบวนการนี้ และรัฐบาลก็น่าจะออกตัวกับประชาชนเสียแต่เนิ่นๆว่าละครเรื่องนี้มันมีความเสี่ยงที่อาจจะไม่จบลงด้วยฉากสันติสุข เพื่อที่ว่ารัฐบาลจะได้ไม่ต้องเสียหน้าเมื่อถูกนักข่าวถามว่า ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐจึงยังโดนโจมตีจากกลุ่มญูแวอยู่
Note: For more articles by Don Pathan on the conflict in Southern Thailand in English, please visit: http://seasiaconflict.com/