การเลือกตั้งปี 2008 สีนามิทางการเมืองมาเลเซีย
ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาเลเซียที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงนั้นก็คือ ผลจากการเลือกตั้งในปี 2008 ที่ถูกเรียกขานไว้ว่า สึนามิทางการเมือง
อับดุลเลาะห์ อะหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นประกาศยุบสภาในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2008 และได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งวันที่ 8 มีนาคม 2008 ดูเหมือนว่าเส้นทางของการหาเสียงอย่างจริงจัง หลังยุบสภามีเวลาไม่ถึง 30 วัน
การเลือกตั้งในปีนั้น แบ่งออกเป็น 2 สภากล่าวคือ
1. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศเป็นจำนวน 222 ที่นั่ง
2. เลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ใน 12 รัฐ เป็นจำนวน 505 ที่นั่ง โดยจำนวนดังกล่าวนี้ไม่ได้รวมกับซาราวักที่ได้มีการเลือกตั้งไปแล้วก่อนหน้านี้
โดยผลของการเลือกตั้งครั้งนี้ จากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 222 ที่นั่ง โดย Barisan National[1] ได้ที่นั่งทั้งสิ้น 140 ที่นั่ง และทางแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านได้ที่นั่งทั้งสิ้น 82 ที่นั่ง
โดยการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวได้แตกต่างกันมากจากการเลือกตั้งในปี 2004 โดยที่กลุ่มสนธิสัญญาประชาชน (Pakatan Rakyat) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านประกอบด้วยพรรค DAP (Democratic Action Party) พรรค PAS (Parti Islam Se-Malaysia) และพรรค PKR (Parti Keadilan Rakyat) เป็นต้นสามารถชนะการเลือกตั้งต่อแนวร่วมแห่งชาติในหลายพื้นที่ กระทั่งได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นถึง 62 ที่นั่ง
ตารางเปรียบเทียบจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งในปี 2004 และ 2008
ทางด้านสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ จากการเลือกตั้งในปี 2008 ปรากว่า BN ซึ่งนำโดย UMNO สามารถชนะการเลือกตั้งในท้องถิ่นทั้งสิ้น 10 รัฐคือ เปอลิส ตรังกานู เปรัก ปาหัง เซอลังงอ เนกรีซัมบีลัน มะละกา ยะโฮร์ และซาบาห์ (และอีก 1 รัฐคือ ซาราวักที่มีการเลือกตั้งก่อนหน้านั้นซึ่ง BN ได้ที่นั่งทั้งสิ้น 62 ที่นั่งจาก 71 ที่นั่ง ในส่วนของรัฐที่เหลือเป็นของพรรค PAS คือ เคดาห์และกลันตัน พรรค DAP ในรัฐปีนัง โดยภาพรวมของการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติแห่งรัฐจำนวน 505 ที่นั่งเป็นของ BN จำนวน 307 ที่นั่ง พรรค PAS จำนวน 83 ที่นั่ง พรรค DAP จำนวน 73 ที่นั่ง พรรค จำนวน PKR 40 ที่นั่ง และผู้สมัครอิสระอีกจำนวน 2 ที่นั่ง
ผลจากการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สามารถจำแนกได้ตามตารางดังต่อไปนี้
จากผลการเลือกตั้งในแต่ละรัฐ โดยเริ่มตั้งแต่รัฐซาราวัก ซึ่งถือเป็นหนูลองยาของทางรัฐบาล ที่มีการจัดตั้งการเลือกตั้งล่วงหน้าก่อนใครในสหพันธ์นั้น เพื่อที่จะตรวจสอบฐานเสียงของพรรครัฐบาล และผลปรากฏว่าคะแนะที่เกิดขึ้นในรัฐดังกล่าวนี้ สามารถที่จะสร้างความมั่นใจต่อฐานเสียงของรัฐบาลเอง กระทั่งได้นำไปสู่การยุบสภา และเลือกตั้งก่อนครบเทอม
ในส่วนของรัฐเซอลังงอร์ พรรค PKR (People's Justice Party or KeADILan) ร่วมกับพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย (Parti Islam Se-Malaysia) หรือพรรคปาส สามารถรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นในสลังงอร์ได้ อันเป็นรัฐใจกลางเมือง ของมาเลเซีย
ทางด้านกรณีรัฐเคดาห์ ถือเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่สำคัญ โดยเห็นว่าในการเลือกตั้งก่อนหน้าการเลือกตั้งในปี 2008 พรรคการเมืองที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งจะเป็นพรรค UMNO อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งของปี 2008 พรรค PAS มีคะแนนเสียงมากกว่าพรรค UMNO ซึ่งในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงจะเป็นการเลือกตั้งที่สูสี
ข้อสังเกตุบางประการจากการที่ PAS สามารถจะชนะ UMNO ได้นั้น สามารถระบุถึงอุดมการณ์ทางการเมืองของประชาชนของรัฐที่ได้ลงคะแนนเสียงเลือกพรรค PAS ที่มีนโยบายชูอิสลามในการปกครองประเทศ จากผลการเลือกตั้งของรัฐเคดาห์ในปี 2008 พรรคแนวร่วมแห่งชาติและพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ที่นั่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติในจำนวนที่ไล่เลี่ยกัน
โดยจำนวนของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐของเคดาห์มีทั้งสิ้น 36 ที่นั่ง พรรค PAS ได้รับคะแนนมาเป็นอันดับ 1 คือ 16 ที่นั่ง พรรค UMNO ได้ 14 ที่นั่ง พรรคยุติธรรมประชาชนได้ 4 ที่นั่ง พรรคกิจประชาธิปไตย 1 ที่นั่งและผู้สมัครอิสระได้ 1 ที่นั่ง ถือเป็นครั้งแรกที่ UMNO แพ้ในการเลือกตั้งของพื้นที่ในรัฐนี้
ในส่วนของรัฐเปรัก แม้ว่าพรรคที่ทำคะแนนมาเป็นอันดับ 1 คือพรรคอัมโนที่ได้จำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐไป 28 ที่นั่ง แต่กลับพ่ายแพ้ในการรวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นของพรรค PAS พรรค PKR และพรรค DAP รวมเสียงกันได้ทั้งสิ้น 31 ที่นั่ง จัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นในเปรักได้อย่างฉิวเฉียด
รัฐต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น ถือเป็นพื้นที่ทางการเมืองค่อนข้างที่จะมีความสำคัญ เป็นบางส่วนจากสนามการเมืองมาเลเซีย ซึ่งมีการต่อสู้กันอย่างเข้มข้นในทุกพื้นที่ จากการเลือกตั้งในปี 2008 ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่สร้างความนิยมในพรรคการเมืองฝ่ายค้าน กระทั่งได้จำนวนที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้นเป็นปรากฏการณ์ โดยจากการเลือกตั้งในปี 2008 เป็นการเลือกตั้งที่ถูกกล่าวขานว่าเป็น สึนามิทางการเมืองของมาเลเซีย
[1] Barisan Nasional ประกอบด้วยพรรคการเมืองสำคัญ ได้แก่พรรค UMNO (United Malays National Organization) พรรค MCA (Malaysian Chinese Association) , พรรค MIC (Malaysian Indian Congress) , พรรค PPBB (Parti Pesaka Bumiputera Bersatu) , พรรค SNP (Sarawak National Party- SNP) เป็นต้น