สื่อในความรุนแรงชายแดนใต้
07/03/2013 20:49:22 ผู้เขียน:บัณฑิต ไกรวิจิตร
..(จำนวนครั้งที่อ่าน) 3591 ครั้ง
ถอดคำบรรยายในเวทีเสวนา "บทเรียนการสื่อสารและการเปิดพื้นที่ทางการเมือง: กรณีไทยพีบีเอสกับกิจกรรมนักศึกษาที่ชายแดนใต้" จัดโดย คณะรัฐศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และสถานีโทรทัศน์ Thai PBS เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2556 อันตรงกับ "วันนักข่าว" เชิญสื่อมวลชนและไม่ใช่สื่อมวลชนอ่านระหว่างบรรทัดต่อบรรทัด
บัณฑิต ไกรวิจิตร นักมนุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (รูสะมิแล) พูดถึงสื่อกับความรุนแรง อันเป็นสัญญะของอำนาจรัฐที่แพร่กระจายควบคุมสำนึกการรับรู้ของผู้คนในสังคมทำให้เกิด "ตราประทับ" ( Stigma ) ต่อผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่วนหนึ่งของปัญหาก็คือ "การรับรู้" และ "ความเข้าใจ" ที่มีต่อเหตุการณ์ ซึ่งถูกจำกัดผ่าน "การสื่อสารมวลชน" อันมีความนิ่งในระดับหนึ่ง ประชาชนไม่ได้ขาดการรับรู้ แต่อัดแน่นด้วยข่าวสารในชีวิตประจำวันจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เกิดความเคยชินกับคำต่างๆที่ถูกนำมาใช้ และสามารถเข้าใจตามตรรกที่มาจากการรับรู้อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น "ความไม่สงบ" "โจรใต้" "ผู้ก่อการร้าย" "การแบ่งแยกดินแดน" "ผู้หลงผิด" และ "แนวร่วม" ฯลฯ
คำต่างๆเหล่านี้ แผ่บรรยายกาศอันน่าสะพรึงกลัว และทำให้เกิดความหวาดระแวง และเมื่อแผ่ขยายปกคลุมอาณาเขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เราผู้อาศัยในพื้นที่สามารถรับรู้ได้ถึงความรู้สึกว่าถูกคุกคาม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสลดหดหู่มากๆ เมื่อเรามองรอบตัว เราพบว่าทุกสิ่งรอบตัวสามารถคุกคามเราได้ ไม่ว่าจะหน้าตา การแต่งกาย ศาสนาที่นับถือ ขึ้นอยู่กับว่า "เรายืนอยู่ใกล้กับใคร"
ในพื้นที่สามจังหวัดถูกปกคลุมด้วยบรรยากาศลักษณะนี้ ผมคิดว่าพื้นที่มหาวิทยาลัย จากตัวอย่างของมหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ บรรยากาศดีกว่าภายนอกมากนัก และเรามีความสัมพันธ์กันภายใน เช่น ระหว่างนักศึกษากับนักศึกษา และนักศึกษากับอาจารย์ เราได้เห็นการเติบโตพัฒนาการของสภาพแวดล้อมและเราที่ต่างมีพัฒนาการไปด้วยกัน ที่อยู่บนเงื่อนไขที่ว่ารู้สึกว่าปลอดภัยเมื่ออยู่ภายในมหาวิทยาลัย
การรายงานข่าวของไทยพีบีเอส คือ อะไร ?
ประการแรก ที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดคือการอธิบายแบบเหมารวมจากการนำเสนอข้อมูลด้านเดียว ข้อมูลด้านเดียวคืออะไร ก็คือ ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่มา จากการมองผ่านคำต่างๆ เช่น คำว่า "ความไม่สงบ" "โจรใต้" "ผู้ก่อการร้าย" "การแบ่งแยกดินแดน" "ผู้หลงผิด" และ "แนวร่วม" ซึ่งถูกส่งออกมาเพื่อจัดประเภทคนต่างๆ ทีนี้ ไทยพีบีเอส ทำหน้าที่ขยายเขตแดนจากภายนอกมหาวิทยาลัยแผ่คลุมเข้ามาในมหาวิทยาลัยฯ จากข้อมูลที่วาดภาพเป็นผัง "....." ทำให้เกิด "ภาพตัวแทน" ว่ากิจกรรมนักศึกษามีความสัมพันธ์ ตามแผนผังแนวร่วม ผู้หลงผิด ก่อการร้าย เพื่อแบ่งแยกดินแดน และเป็นโจรใต้ นักศึกษากลายเป็น "สิ่ง" ที่ถูก "เฝ้าระวัง" และ "ถูกระแวง" เสียเอง จากแต่เดิมการเข้ามาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยสามารถแสดงความคิดเห็นได้อิสระกว่าอยู่ภายนอก สามารถอภิปรายทางการเมือง แสดงความคิดเห็น เรียนรู้จากการปฏิบัติ หรือปลดโซ่ตรวนของตัวเองจากความกังวลทำให้กลายมาเป็น เสรีภาพ กลับกลายเป็นว่า สถานที่นี้กลายเป็น ตราประทับ "โจรใต้" และลามไปถึง ประเพณีปฏิบัติของมหาวิทยาลัย การรับน้อง การจัดพิธีการส่งรุ่นพี่ซึ่งสำเร็จการศึกษา และทางศาสนา. สิ่งที่ช่วยปลดปล่อยกลับกลายเป็นสิ่งคุมขังพวกเขาไว้ภายใต้คำ "ความไม่สงบ" "โจรใต้" "ผู้ก่อการร้าย" "การแบ่งแยกดินแดน" "ผู้หลงผิด" และ "แนวร่วม"
ที่มาจากการนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเพียงไม่กี่นาที
หากผมพูดไม่ผิด ยังไม่เคยมีการเสนอข่าวที่รุกล้ำและสร้างผลกระทบกับสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของสามจังหวัดภาคใต้ เท่าที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสกระทำมาก่อน
ประการที่สอง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นเครื่องมือให้แก่ยุทธศาสตร์การใช้กำลังทางทหารที่จะเข้า มาจัดการกับพื้นที่มหาวิทยาลัย ซึ่งด่วนสรุปว่า นักศึกษา คือ แนวร่วม/ผู้กระทำการ ซึ่งเป็นภัย คือ "ผู้ก่อความไม่สงบ" "โจรใต้" "ผู้ก่อการร้าย" "ผู้แบ่งแยกดินแดน" "ผู้หลงผิด"
สำหรับประเด็นนี้ ในวันนี้ไม่มีข้อมูล และผมก็ยังไม่สรุป แต่หากพิจารณาจากการกระทำก็คือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ใช้ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่อ้างให้ประชาชนทั้งประเทศโน้มเอียงไปเช่นนั้น หากได้ชมข่าว ก็จะเห็นได้ถึงความตั้งใจที่จะชี้นำเช่นนั้น ทำไม? ไทยพีบีเอส จึงนำเสนอเช่นนั้น หากไม่ใช่กระทำการเป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่น่าหวาดหวั่น หากตัดเหตุผลข้อดังกล่าวไปเนื่องจากมีแต่ผู้บริหารข่าวไทยพีบีเอสเท่านั้นที่ทราบ ผมไม่ทราบจึงขอเสนอว่า เนื่องจากเนื้อหาข่าวไม่มีการเสนอจากฝ่ายที่ถูกพาดพิงและถูกกล่าวหา ทั้งหมดมาจากเจตนาของกองบรรณาธิการข่าว และผู้ผลิตข่าว ซึ่ง เป็นเรื่องที่น่าสงสัยถึง ประสบการณ์ในการทำข่าวมาตลอดระยะเวลาหนึ่งไม่ได้ช่วยให้ไทยพีบีเอส ดีกว่าหรือแตกต่างจากสำนักข่าวที่ด้อยคุณภาพ ไม่เป็นมืออาชีพ ขาดความรับผิดชอบต่อผลกระทบจากการนำเสนอ และไม่สามารถดึงความรู้ความสามารถขององกรค์ของตนเอง เพื่อนำเสนอข่าวที่เป็นมืออาชีพได้ และขาดจรรยาบรรณ จึงมีผลให้การเสนอข่าวของไทยพีบีเอสคือการกระทำซ้ำเติมสถานการณ์ความรุนแรงให้เลวร้ายไปกว่าเดิม เช่น การสร้างความรู้สึกหวาดระแวงและหวาดกลัว ในรั้วมหาวิทยาลัย
การนำเทคโนโลยีการควบคุมประชาชน เช่น การสร้างสภาวะกระอักกระอ่วน จากภายนอกเข้าสู่มหาวิทยาลัย การสร้างตราบาปติดตัวว่า "นักศึกษาคือโจรใต้" และ พวกผม ก็คงเป็น "อาจารย์ของโจร" ที่ผมพูดนั้นไม่ใช่โวหารพาไปและ ไม่ได้เล่นคำจนเกินเลยกว่าประสบการณ์ที่ได้รับรู้และให้คำปรึกษา เมื่อนักศึกษาฝึกงานหรือเดินทางไปทำกิจกรรมนอกพื้นที่สามจังหวัด หลายคนถูกเรียกว่า "ลูกโจร" ภาพตัวแทนที่ทำงานผ่านสื่อมวลชนหลายสำนักผลิตซ้ำ ตอกย้ำ ความหมายแสดงแทนเยาวชนที่มีที่มาจากสามจังหวัดภาคใต้ จนพวกเขาเองไม่สามารถอธิบายแทนตัวเองอย่างที่เขาเป็น มีแต่เสียงที่พูดออกมาได้น้อยนิดว่า "เขาไม่ได้อย่างที่พวกคุณคิด" "เราแค่คิดแตกต่างออกไป" สิ่งที่ไม่สามารถสร้างให้เกิดความหมายแทนตัวเองสู่สาธารณะได้ก็คือ พวกเขาต้องการสันติภาพ ต้องการความสงบปลอดภัย ต้องการให้เกิดความยุติธรรมสำหรับประชาชน ซึ่งพวกเขาเชื่อมั่นว่า หากมีความยุติธรรมเกิดขึ้น สิ่งที่หวังก็จะตามมา
ประการที่สาม ภายหลังจากมีการร้องเรียนและนำเสนอกับสื่อมวลชนทางเลือก อื่นๆ เช่น โดยอาจารย์เอกรินทร์ ต่วนศิริ และตัวแทนนักศึกษา ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึง ผอ. สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และเผยแพร่ในสำนักข่าวประชาไท ปาตานี ฟอรั่ม ได้เกิดการเผยแพร่ส่งต่อกันในวงกว้าง และการให้สัมภาษณ์จากอาจารย์คณบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา จึงมีการติดต่อกลับมาโดยนัยว่า เป็นการเสนอข่าวที่ผิดพลาด แต่ข่าวที่เสนอต่อมาโดยสัมภาษณ์นักศึกษาซึ่งมีเสียงเล็กน้อยมาก ออกมาภายใต้สภาพแวดล้อมของข่าวที่ตอกย้ำการเสนอไปแล้วว่า "นักศึกษาคือแนวร่วม" และตัวแทนนักศึกษาได้ออกมาเรียกร้องถึงความเสียหายจากการถูกเปิดเผย และเหมือนเป็นการแก้ตัวว่า "นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคิด" ไม่มีคำขอโทษ และสรุปยังอ้างอิงข่าวไทยพีบีเอสที่ได้เสนอไปแล้วเป็นการตอกย้ำ
ประการที่สี่ เราได้เรียนรู้อะไรบ้างที่เรียกว่าความฉลาดหลังจากเหตุการณ์
ผมเห็นการกระทำที่เป็นการคุกคามต่อเสถียรภาพของชีวิตคน การกดทับจากการสื่อสารที่นอกเหนือจากอำนาจรัฐ เป็นการกระทำโดยเอกชนซึ่งเสริมภาพที่แช่แข็งของชีวิตชายแดนใต้ เห็นการเสริมอำนาจให้แก่ความน่าสะพลึงกลัว และองคาพยพ เช่น เครื่องมือสำหรับลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ติดตามมากับ คำว่า แนวร่วม โจรใต้และลูก การสร้างสภาวะและการตอกย้ำจากสื่อ ทำให้เกิดเผด็จการของสัญญะ ซึ่งไม่ได้แยกแยะ ซึ่งก็คือ "ตราประทับ"
Tags: Patani Forum News Interview Deep South