การเมืองของการเสวนาสันติภาพ

 

การลงนามในเอกสารแสดงเจตจำนงเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ (General Consensus on Peace Dialogue Process) ที่ตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นลงนามร่วมกับเลขาธิการสภาความมั่นคง (สมช.) ของไทย เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ สร้างความฮือฮาให้กับสังคมไทยไม่น้อย แต่สำหรับเราคนที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในสามจชต. ก็เห็นเป็นเพียงก้าวหนึ่งในการกระบวนการสร้างสันติภาพ และยังต้องใช้เวลาอีกยาวไกล กับบาดแผลที่รัฐสร้างไว้ในช่วง ๙ ปีที่ผ่านมา ยังไม่นับหมายรวมถึงช่วงก่อนหน้านั้น จึงไม่ง่ายนักที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ซับซ้อนและยืดเยื้อ เราจึงไม่ควรติดกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จนลืมที่จะหันหลังกลับไปดูประวัติศาสตร์ความหลังที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ก่อนจะมาถึงวันที่มีการลงนาม และมองไปข้างหน้าหลังจากที่มีการลงนามกันแล้ว รวมไปถึงการการอ่านสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ เพราะในพื้นที่ความขัดแย้งที่รุนแรงไม่ได้มีแค่คู่กรณีสองฝ่ายเท่านั้น

 

ก่อนจะไปถึงสิ่งที่ตั้งใจจะเขียนถึงในวันนี้ ขอแวะระหว่างทาง ฟังความเห็นเกี่ยวกับคำว่า General Consensus จากอ.วีระ สมบูรณ์ ที่ได้เขียนในเฟสบุ๊คถึงคำนี้ และอาจารย์ยังได้ตั้งคำถามกับอำนาจของเลขาธิการความมั่นคงแห่งชาติ

ข้อตกลงนี้ใช้คำใหญ่มาก -- "General Consensus" และผู้ที่ให้ฉันทามติอันครอบคลุมเป็นการทั่วไปนี้ คือ รัฐบาลไทยฝ่ายหนึ่ง กับอีกฝ่าย ซึ่งใช้คำว่า "people who have different opinions and ideologies from the state" โดยมี อุสตาซ ฮัสซัน ตาอิบ เป็นผู้ลงนามแทนฝ่ายนี้ทั้งหมด -- อันนี้อันตรายมาก ต่อให้จริงใจก็ไม่น่าใช้คำอวดอ้างเช่นนี้ เพราะฝ่ายอื่นๆ คงต้องแสดงให้เห็นชัดเจนว่า การอ้างความเป็นตัวแทนดังกล่าวไม่เป็นความจริง... ถ้าข้อตกลงนี้จำกัดอยู่เพียงเฉพาะ "กลุ่มเฉพาะ" กลุ่มหนึ่งของ BRN ซึ่งเข้าใจว่า เป็นกลุ่มที่เรียกว่า BRN Coordinates ก็ว่าไปอย่าง...

น่าคิดครับ ว่าเลขาธิการ สมช. มีอำนาจอะไรในการลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศที่ "Malaysia would act as facilitator"

แรงขับที่มาของความอยากเขียนก็คือ การพาดหัวข่าวของข่าวสดวันนี้ (๒ มีค.๕๖) ว่า “ไฟใต้ใกล้สงบแล้ว” คำถามที่ผุดขึ้นมาคือ “จริงเหรอ” ทำให้ครุ่นคิดต่อไปว่า อะไรทำให้เราคิดกันอย่างนี้ เราเข้าใจกระบวนการสันติภาพ (Peace Process) กันมากน้อยแค่ไหน หรือแม้แต่คำว่า สันติภาพ (Peace) การสานเสวนา (dialogue) ฉันทามติ (consensus) คนกลาง (mediator) ผู้เอื้ออำนวย (facilitator) เพราะหากไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ อาจจะทำให้เราต้องพบกับความผิดหวังได้ และหมดความเชื่อต่อกระบวนการสันติภาพ ซึ่งแนวคิดของศาสตราจารย์ดร.รณพีร์ ซามัดดาร์ นักวิชาการชาวอินเดีย ที่ว่าด้วยเรื่องตรวจบัญชีสันติภาพ อาจจะเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยนำเราไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน อาจารย์เป็นผู้มีประสบการณ์นับสิบปีในการหาทางแก้ไขข้อพิพาทขัดแย้งรุนแรงทางเชื้อชาติ-ศาสนาด้วยสันติวิธี ทั้งในอินเดียและประเทศข้างเคียงแถบเอเชียใต้ ทุกอักษรที่นำมาถ่ายทอดมาจากการสนทนาและสดับฟังอย่างเงียบๆ ระหว่างตัวเองกับอาจารย์ผ่าน“คำบรรยายพิเศษเรื่อง ตรวจบัญชีสันติภาพ:แนวคิดและประสบการณ์จากเอเชียใต้”

สิ่งที่ได้จากการสนทนาและสดับฟังดร.รณพีร์ ซามัดดารร์:

การตรวจบัญชีสันติภาพ (Peace Audit)

แนวคิดนี้มาจาก Social Audit หรือการตรวจบัญชีทางสังคม เพื่อหาสถาบันหรือบุคคลที่จะร่วมรับผิดชอบแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น แล้วดึงเอาชุมชนต่างๆ ในสังคมให้เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการนี้เพื่อบรรลุเป้หาหมายร่วมกัน คือ จะทำอย่างไรให้มีสันติภาพที่ยั่งยืน

สันติภาพที่ยั่งยืนมีหน้าต่างอย่างไร

จากประสบการณ์ของอาจารย์ในการเข้าร่วมแก้ไขข้อพิพาทขัดแย้งและสร้างสันติภาพภาคสนามได้ค้นพบว่าบรรดาข้อตกลงหรือสนธิสัญญาหยุดยิงทั้งหลายนั้น แม้จะทำสำเร็จ ลงนามกัน และมีผลบังคับใช้กฏหมาย แตบ่อยครั้งก็หาได้นำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนไม่ เพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพที่ยั่งยืน จำต้องเปิดกว้างขยายวงกระบวนการสันติภาพให้ผู้คนหลากกลุ่มหลายฝ่ายที่ต่างปรารถนาและมีเดิมพันในสันติภาพมาเข้าร่วม ส่วนคำนิยามและเนื้อหาของสันติภาพนั้นก็จักต้องปิดปลายขยายความออกไปให้กว้างขวางครอบคลุมหลากประเด็นหลายระดับตามแต่ความห่วงกังวลของกลุ่มฝ่ายต่างๆ ที่เข้าร่วมกระบวนการสันติภาพเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน หรือการเข้าถึงและใช้ทรัพยากร เป็นต้น

สันติภาพไม่ใช่คู่ตรงข้ามของสงคราม

สันติภาพเป็นความสัมพันธ์ทางพลังอำนาจแบบเฉพาะเจาะจงหนึ่งๆ และพลังอำนาจชุดเดียวกันนี้นี่แหละที่ครองรูปแบบความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่งในยามที่เราเรียกว่าภาวะสงคราม ในความหมายนั้นจึงจะกล่าวได้ว่าการเมืองคือสันติภาพ และเป็นอื่นต่างหากจากสงคราม ฉะนั้นเวลาเราพูดว่า ให้โอกาสสันติภาพบ้าง จริงๆแล้วเรากำลังพูดว่า ให้โอกาสทางการเมืองบ้าง หรือพูดอีกอย่างก็คือภาวะสงครามกับภาวะสันติภาพไม่ได้แตกต่างกันแบบดำหรือขาวหรือหน้ามือกับหลังมือ แต่เป็นประดุจเฉดสีที่เหลี่ยมต่างกันในแถบสีที่ต่อเนื่องกันไป คล้ายกับอยู่บนระนาบเดียวกัน วิ่งไปทางนี้นิดหนึ่งเป็นภาวะสันติภาพ แต่พอวิ่งย้อนไปทางนั้นหน่อยกลับกลายเป็นภาวะสงครามไปเสียฉิบ อย่าไปมองว่าสงครามกับสันติภาพต่างกันสุดกู่

การประเมินกระบวนการสันติภาพและวินิจฉัยสันติภาพที่ยั่งยืน

กระบวนการสร้างสันติภาพแบบรัฐต่อรัฐล้วนๆ โดยตัดขาดจากประเด็นที่กว้างออกไปเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมนั้น ไม่อาจผดุงสันติภาพให้ยั่งยืนได้ การตั้งคำถามว่า สันติภาพเพื่อใคร? สันติภาพมาตรฐานใด? และ สันติภาพที่ปลอดพ้นจากอะไร? ช่วยให้นักวิจัยกับนักกิจกรรมเพื่อสันติภาพสามารถนำบรรทัดฐานและวิธีการที่วัดได้เพื่อใช้ดำเนินนโยบายผดุงสันติภาพที่ยั่งยืน

ธาตุแท้ของปัญหาสันติภาพ

เราต้องเข้าใจความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองที่กำหนดธาตุแท้ของปัญหาสันติภาพ เข้าใจภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของปัญหาสันติภาพ เข้าใจวิธีที่ฝ่ายต่างๆ ที่ช่วงชิงกันต่างมองประวัติศาสตร์ที่ว่านี้ และท้ายที่สุดต้องเข้าใจรูปแบบที่ประเด็นความยุติธรรมซ้อนทับก่ายเกยกับปัญหาสันติภาพให้จงดี โดยมีนัยถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่ทั้งไม่รบแต่ก็ไม่สงบสันติซึ่งเป็นลักษณะของการเมืองของเรา

ความแตกต่างระหว่างสภาวะสงครามกับสภาวะสันติภาพ

แม้ว่าสภาวะสงครามกับสภาวะสันติภาพมีจุดร่วมกันอยู่ตั้งมากมาย แต่อะไรคือความแตกต่างระหว่างสภาวะทั้งสองเล่า? ประเด็นปัญหาที่ชี้บอกความแตกต่างคือเรื่องความยุติธรรม ซึ่งหมายถึงความยุติธรรมที่ถูกนิยาม ณ ขั้นตอนที่จำเพาะเจาะจงหนึ่งทางประวัติศาสตร์ ความยุติธรรมที่ถือเป็นหลักการแห่งความยุติธรรมขั้นต่ำสุด และเป็นความยุติธรรมที่หยิบยกทั้งเรื่องสิทธิและการประนีประนอมกันขึ้นมาอ้างอิง

การวิพากษ์วิจารณ์ความคิดความเข้าใจสันติภาพ

มี ๒ ประเด็นที่เป็นเรื่องใหญ่ ประเด็นแรกคือเราพึงใส่ใจกระบวนการสันติภาพอย่างที่มันเกิดขึ้นจริง ต้องดูว่าฝ่ายต่างๆ เข้ามาปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร และอยากได้สันติภาพในความหมายที่ตัวเองเข้าใจอย่างไร และประเด็นที่สองคือ เราต้องคำนึงอยู่เสมอว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในกระบวนการสันติภาพก็คือความขัดแย้งนั่นแหละ เพียงแต่เป็นความขัดแย้งที่ถูกเล่นไปอีกแบบต่างจากในภาวะสงคราม และฉะนั้นจึงแสดงออกเป็นความขัดแย้งแบบเฉพาะของภาวะสันติภาพ สรุปรวมความแล้วสันติภาพจึงไม่ใช่ภาวะปลอดความขัดแย้งอย่างแน่นอน สิ่งที่น่าสนใจที่สุดจึงอยู่ที่ว่า ในภาวะสันติภาพ ความขัดแย้งถูกเล่นแบบไหน?

CEO สันติภาพ หรือ ผู้พยายามจัดการให้เกิดสันติภาพ

มักจะสนใจแต่ในแง่การจัดการ เอะอะก็คิดว่าจะจัดการอย่างไร จะวิศวกรรมสังคมอย่างไรให้เกิดสันติภาพ สิ่งที่พวกเขามักมองข้ามก็คือความขัดแย้งนั้นยังดำรงอยู่ ด้านหนึ่งมันถูกผลิดซ้ำ แต่ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งมันก็แสดงออกมาในรูปแบบใหม่ มีแต่กุมความขัดแย้งและลักษณะเฉพาะของความขัดแย้งที่เปลี่ยนแปลงไปใหม่ให้มั่นเท่านั้นจึงจะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าสันติภาพ

การเมืองของการจำทางประวัติศาสตร์

สำคัญต่อ กระบวนการสันติภาพอย่างไร ๑) รัฐซึ่งขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์-ศาสนา มักอาศัยกลไกทางกฏหมายเพื่อยัดเยียดฉันทามติอันหนึ่งให้ชาวบ้านที่อยู่ในปมความขัดแย้งว่าจริงๆ แล้วมันขัดแย้งกันเรื่องอะไร? บรรดาผู้จัดการสันติภาพโดยทั่วไปมักยอมรับข้อมูลความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ที่รัฐตีความ มาอย่างเซื่องๆ แล้วก็กลายเป็นอุปสรรคทำให้กระบวนการสันติภาพเดินไปไม่ได้

เพื่อแก้ไขเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องย้อนรอยประวัติศาสตร์จัดให้มีการทะเลาะถกเถียงกันเกี่ยวกับกับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์จากมวลชนข้างล่างขึ้นมา โดยจะต้องแตกหักกับฉันทามติที่มาจากการตีความของรัฐเกี่ยวกับความขัดแย้งในอดีตให้ได้ เพราะการมัวยึดติดและปกปักรัษาฉันทามตินั้นไว้ กลับจะทำให้กระบวนการสันติภาพไม่ยั่งยืน ฉะนั้นจึงต้องเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้พูดอภิปราย ทะเลาะถกเถียงกันมาจากเบื้องล่างขึ้นมาเพื่อท้าทายข้อวินิจฉันทางการนั้นๆ ๒) ทำไมกระบวนการสันติภาพจึงต้องให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ถึงเพียงนี้? ก็เพราะมีแต่ย้อนรอยรื้อสร้างประวัติศาสตร์จากข้างล่างขึ้นมาเสียใหม่เท่านั้น กระบวนการสันติภาพหรือการตรวจบัญชีสันติภาพจึงจะซื่อตรงต่อความเป็นจริง พูดง่ายๆคือรับความจริงซะว่าอะไรเป็นอะไร อย่าพยายามสร้างกระบวนการสันติภาพบนพื้นฐานการผูกขาดรับเหมาตีความประวัติศาสตร์ของรัฐเลย เพราะมันเป็นเท็จหรือเป็นความจริงที่ไม่รอบด้าน ซึ่งในที่สุดกระบวนการสันติภาพที่สร้างขึ้นมาบนพื้นฐานอสัตย์อธรรมนั้นก็จะไม่ยั่งยืน

การเมืองของการเสวนาสันติภาพ

การเสวนาสันติภาพที่จะนำไปสู่ระเบียบวาระที่เป็นเรื่องเป็นราวได้ต้องเป็นแบบพหุภาคี มีหลายฝ่ายหลายกลุ่มเข้าร่วม ทั้งนี้หมายรวมถึงร่วมคุยกันหลายฝ่ายหลายกลุ่ม หลายระดับ และหลายประเด็นปัญหา พูดให้ถึงที่สุดแล้ว การเสวนากันเรื่องสันติภาพที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Dialogue (แปลงตรงตัวตามศัพท์ว่า “สองฝ่ายคุยกัน) นั้นจริงๆ แล้วมันต้แองเป็น Multilogue (หรือ “หลายฝ่ายคุยกัน”) กระบวนการสันติภาพที่ยั่งยืนต้องดึงคนหลายกลุ่มหลายฝ่ายเข้ามาร่วมคุยกันบนพื้นฐานความเข้าใจร่วมกันว่า กระบวนการสันติภาพนั้นเป็นของสาธารณะ (Public) และจะสำเร็จได้ก็ต้องคุยกันในหลายระดับและหลายเรื่อง

การเมืองเป็นเรื่องของมิตรภาพ

ปัญหาสันติภาพเป็นปัญหาการเมืองที่สลับซับซ้อน และการเสวนาเรื่องสันติภาพก็เป็นการวิวาทวาทาหรือคุยกันไปทะเลาะกันไป ฉะนั้น เวลาสเสวนาสันติภาพจึงเป็นธรรมดาที่จะต้องทะเลาะถกเถียงกันยกใหญ่ ประชันความคิดความเห็นกันครั้งใหญ่ แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นการสนทนาไปพร้อมกันด้วย อย่าไปหลงมีมโนภาพผิดๆ ว่าคุยกันเรื่องสันติภาพจะเป็นการสนทนาที่หน่อมแน้ม เพราะมันย่อมรวมเอาความขัดแย้งและการทะเลาะถกเถียงเข้าไปอยู่ในตัวมันเองด้วย ขณะเดียวกัน การสนทนาที่เกิดขึ้นขึ้นนั้นต้องมีหลายระดับและหลายเรื่องพร้อมกัน เปรียบไปแล้วกระบวนการเสวนาสันติภาพจึงเหมือนมีหลายแถบหรือหลายเฉดสีหลากเลื่อมแพรวพรายร้อยรัดพัวกันอยู่ในนั้น

หวังว่าประสบการณ์ทั้งหมดทั้งมวลข้างต้นของดร.รณพีร์ จะช่วยให้เรากลับมาทบทวน และไตร่ตรองกับกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ ที่เราอยากเดินไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน