เปิดพื้นที่ทางการเมือง : บทบาทที่สื่ออย่างไทยพีบีเอสควรขานรับ
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ เว็บไซต์มูลนิธิทนายความมุสลิม
จากกรณีสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสนำเสนอรายงาน กรณีสหพันธ์นิสิตนักศึกษาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนนท.จชต.) มีลักษณะเป็นปีกการเมือง (political wing) ของขบวนการบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนท โดยนำเสนอแผนผังโครงสร้างที่แสดงถึงความเชื่อมโยงของขบวนการกับกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้งในและนอกพื้นที่ การเสนอรายงานดังกล่าว เป็นผลพวงสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์การปะทะที่ค่ายทหาร บ้านยือลอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ที่กลุ่มผู้ติดอาวุธที่เข้าโจมตีค่ายทหารเสียชีวิตลง ๑๖ ศพ โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิตเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
แม้รายงานข่าวของไทยพีบีเอสจะไม่ได้ระบุถึงแหล่งที่มาของแผนผังและโครงสร้างดังกล่าว แต่ก็พอจะคาดเดาได้ว่ามาจากการวิเคราะห์ข้อมูลของทางฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากสอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่มีต่อปฏิบัติการและรูปแบบองค์กรของกลุ่มก่อการในพื้นที่จากที่ได้มีการเปิดเผยกันมาก่อนหน้านี้ในหลายโอกาส รวมทั้งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เห็นได้จากการวางผังโครงสร้างกลุ่มก่อความไม่สงบที่ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีความมั่นคงที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ให้ความช่วยเหลือรวมทั้งการปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นจับกุมกลุ่มนักศึกษา การเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ที่มีต่อกลุ่มนักศึกษาในพื้นที่ที่เฝ้ามองด้วยสายตาแห่งความสงสัยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการแสดงกิจกรรมเชิงรณรงค์กับเหตุการณ์ตากใบ การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษอย่างพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) ซึ่งเป็นการรณรงค์ร่วมกันระหว่างกลุ่มนักศึกษากับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม รวมทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียกร้องความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในหลายเหตุการณ์ นอกจากนั้นนักศึกษาและปัญญาชนหลายคนในกลุ่มนี้ยังได้ใช้พื้นที่ของสื่อสาธารณะอย่างเช่นโซเชียลมีเดียเผยแพร่ข้อมูลและรณรงค์ในประเด็นต่างๆที่กล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยความรู้ความสามารถและพลังของคนรุ่นใหม่ไฟแรง การที่รายงานข่าวเรื่องนี้ได้โยงเข้ากับเหตุการณ์ ๑๖ ศพที่บาเจาะ ทำให้สายตาคนทั่วไปพุ่งเป้าไปที่กลุ่มนักศึกษากับบทบาทการเข้าไปเจาะลึกเบื้องหลังการเสียชีวิตของนายมะรอโซ จันทราวดีและบุคคลที่เสียชีวิตพร้อมกันอีกหลายคน ที่มีข้อมูลว่าเหตุที่ต้องจับอาวุธเพราะความคับแค้นใจจากเหตุการณ์ตากใบ จนนำไปสู่การจัดกิจกรรมเสวนาซึ่งส่งผลให้มีการพูดคุยด้วยน้ำเสียงที่ที่มีลักษณะยกย่องเสมือนผู้เสียชีวิตเป็นวีรบุรุษของคนในพื้นที่
เหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนทั่วไปรู้ว่าเป็นการต่อสู้ของฝ่ายรัฐโดยเฉพาะความมั่นคงที่ กอ.รมน. เป็นผู้นำ กับฝ่ายขบวนการ ใจกลางของปัญหาคือการต่อสู้กับบุคคลที่มีความเห็นต่างกับรัฐ ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเองโดยเฉพาะแม่ทัพกองทัพภาคทื่ ๔ คือพลโทอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ เคยเสนอแนวความคิดอย่างชัดเจนว่า รัฐไม่ได้มองผู้ก่อเหตุรุนแรงเป็นโจร หากแต่เป็นคนที่หลงผิดเพราะถูกชักจูงจากกลุ่มคนที่ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง รวมทั้งพูดมาโดยตลอดว่าท่านกลับเห็นว่าบุคคลเหล่านี้คือวีรบุรุษของคนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่จึงพร้อมที่จะเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับคนที่เห็นต่าง ด้วยการเปิดพื้นที่ทางการเมือง เพียงแต่ขออย่าให้พวกเขาใช้ความรุนแรง มิฉะนั้นต้องมีการตอบโต้ เพราะนั่นคือสัญชาตญาณของทหาร จำเป็นต้องกระทำ
นอกจากคำพูดของผู้นำกองทัพในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ยังมีการยอมรับจากทางฝ่ายรัฐบาลเองที่บอกว่าการแก้ปัญหาสามจังหวัดนั้นรัฐไม่สามารถแก้ไขได้โดยลำพัง แต่จะต้องอาศัยคนในพื้นที่ช่วยสนับสนุน การวางโครงสร้างการบริหารจัดการในพื้นที่ใหม่ ก็เพื่อจะให้การทำงานครอบคลุมและตอบสนองความต้องการของประชากรหลักในพื้นที่อย่างรอบด้านมากขึ้น นอกจากนี้รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ก็ได้แต่งตั้งอดีตนักการเมืองที่เคยถูกกล่าวหาจากฝ่ายรัฐเองว่าเป็นแกนนำในการแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัด ให้เป็นที่ปรึกษา อีกทั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็ได้นำเสนอนโยบายในการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง และการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการสันติภาพ โดยเน้นย้ำการส่งเสริมการพูดคุยกับบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังในการลดเงื่อนไขและสร้างบรรยากาศที่ดีในพื้นที่และเอื้อต่อการเปิดให้มีการพูดคุยกับผู้ที่เห็นต่าง ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นได้ว่า นี่คือแนวทางของรัฐไม่ว่าจะมาจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และรัฐบาลเองที่ยอมรับการมีความคิดที่แตกต่างของคนในพื้นที่
เจ้าหน้าที่รัฐหลายส่วนส่งสัญญาณว่าฝ่ายความมั่นคงมีนโยบายที่จะสร้างพื้นที่ของการแสดงออกเพื่อเคลื่อนไปสู่การแก้ไข เปิดทางให้การใช้วิธีการที่สันติขณะเดียวกันบีบพื้นที่ของกลุ่มที่ก่อเหตุรุนแรงให้หมดข้ออ้างในการต่อสู้ด้วยวิถีรุนแรง ทั้งหมดนี้ทำให้คนในพื้นที่ต่างมีความยินดีว่า เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง มีเจตนาและแนวทางที่สร้างสรรค์ในอันที่จะเปิดเวทีและพื้นที่การแสดงออกทางการเมืองรองรับทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาให้ยั่งยืน แนวทางการทำงานเช่นนี้ได้เริ่มเปิดทางให้คนในพื้นที่สนองตอบ จึงไม่น่าสงสัยว่า เมื่อเกิดกรณีมะรอโซ จันทรวดีและเพื่อนขึ้นจะเกิดปรากฏการณ์การขุดคุ้ยหาความจริงอย่างตรงไปตรงมาจากคนกลุ่มที่ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในพื้นที่อย่างจากกลุ่มนักศึกษาเพราะความเชื่อที่ว่าพื้นที่ของการพูดคุยอย่างเปิดกว้างกำลังเกิดขึ้น
ในแง่ของภาพข่าวและการอธิบายปรากฏการณ์ที่ออกมานั้น หลังเกิดเหตุการณ์ปะทะที่บาเจาะใหม่ๆ เจ้าหน้าที่ทหารได้รับคำชมเชยจากคนทั่วไปว่า สามารถป้องกันตนเอง เพราะข้อมูลการข่าวดีขึ้น ชาวบ้านให้ความร่วมมือมากขึ้น เป็นวีรบุรุษต่อสู้กับโจรก่อการร้าย แต่ภายหลังที่สื่อได้ให้ความสนใจต่อกลุ่มผู้ก่อเหตุที่เสียชีวิต รวมถึงภูมิหลังและแรงจูงใจที่ต้องจับอาวุธต่อสู้กับรัฐ ประกอบกับมีการจัดเวทีสาธารณะในมหาวิทยาลัยและเผยแพร่ทางสื่อสาธารณะ (โซเชียลมีเดิย) ดูเหมือนว่านี่จะเป็นจุดที่ทำให้เห็นอาการจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐส่วนหนึ่งที่ไม่ยอมรับคนที่มีความเห็นต่าง อาการไม่ยอมรับนี้เริ่มพุ่งเป้าไปที่นักศึกษาอันเป็นกลุ่มคนที่ออกมานำเสนอข้อมูลที่แตกต่างดังกล่าว สัญญาณอันหลังนี้ทำให้เริ่มเกิดความสับสนว่า เจ้าหน้าที่จะเปิดกว้าง หรือว่าจะทำในลักษณะตรงกันข้ามกัน ซึ่งความสับสนดังกล่าวได้มาพร้อมกับบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ปกคลุมไปด้วยอาณาจักรแห่งความหวาดกลัว
ในสงครามที่มีการต่อสู้ทางการเมืองมักเต็มไปด้วยการช่วงชิงความได้เปรียบและเสียเปรียบเพื่อเรียกหาความชอบธรรม เครื่องมือหนึ่งที่ใช้กันก็คือสื่อ ในยุคเสรีประชาธิปไตยนั้นสื่อมีบทบาทและอิทธิพลต่อทัศนะและความคิดของบุคคลซึ่งสิ่งเหล่านี้รัฐต้องยอมรับว่าไม่สามารถปิดกั้นได้ และเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย เป็นวัฒนธรรมซึ่งรัฐจะต้องทำใจยอมรับถ้าจะเดินไปตามแนวทางและนโยบายที่ได้ประกาศไว้ มิเช่นนั้นก็ปล่อยให้มีการตอบโต้ของคู่ขัดแย้งในพื้นที่ ไม่ต้องนำเสนอแนวคิดหรือประกาศนโยบายให้เสียเวลา การใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการกล่าวหาและใส่ร้ายต่อบุคคลหรือองค์กรใด จะทำให้สังคมมีความสับสนต่อจุดยืน ส่งผลต่อความลำบากใจในการวางตัวของนักศึกษาในสถาบัน ในขณะเดียวกันเป็นการบั่นทอนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้สังคมมีทัศนะการมองแบบเหมารวมต่อกลุ่มนักศึกษา การนำเสนอผังโครงสร้างการจัดตั้งและความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการ ดูไปแล้วไม่ต่างไปจากการนำเสนอแผนผังเครือข่ายกลุ่มบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าต้องการทำลายสถาบัน (ผังล้มเจ้า) ที่จนทุกวันนี้ก็ยังไม่ปรากฏความชัดเจนว่ามีเหตุและผลหรือหลักฐานที่จริงจังสนับสนุน แม้แต่เจ้าภาพที่จะรับผิดชอบต่อผังดังกล่าวก็ไม่ปรากฏตัว แต่ทว่าได้มีการนำเสนอโดยสื่อและได้สร้างความเสียหายแก่คนจำนวนมากที่ถูกกล่าวหาเหล่านั้นไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย
การจัดกิจกรรมสาธารณะที่นำไปสู่การแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาโดยเปิดเผยแสดงตนอยู่ในที่สว่างของกลุ่มปัญญาชนนั้น แม้การแสดงออกของพวกเขาจะไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ แต่ก็เป็นการแสดงออกที่อยู่ในกฎ ในเกม และในกติกา อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันทางวิชาการ อาจจะมองได้ว่า กลุ่มนักศึกษาในพื้นเป็นกุญแจอีกดอกหนึ่งที่จะไขเปิดพื้นที่ทางการเมือง ร่วมสะท้อนปัญหาแทนชาวบ้านในพื้นที่ที่มีความอึดอัดและอยู่ในความมืดหลายชั้นจนยากในการจะเข้าถึง ทั้งเป็นการลดความกดดันในพื้นที่พร้อมกับร่วมแสวงหาเส้นทางสู่การแก้ปัญหาร่วมกับภาคส่วนอื่นๆของสังคม สังคมจึงควรจะอ้าแขนตอบรับมากกว่าที่จะปิดกั้นหนทางของพวกเขา ที่สำคัญคนที่จะช่วยเปิดเส้นทางให้สังคมตอบรับในทางที่สร้างสรรค์ควรจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่สำคัญควรจะต้องเป็นสื่อในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสาธารณะที่ชื่อไทยว่า ไทยพีบีเอส
อย่าได้พากันปิดกั้นท้องฟ้าอันมืดมัวด้วยเมฆฝนที่ทำท่าว่ากำลังจะเปิดรับแสงสว่างให้ดำมืดลงอีกเลย