บทความพิเศษ กระบวนการสันติภาพในปริศนาความรุนแรง
นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่ กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ความรุนแรงได้ก่อกำเนิดอย่างต่อเนื่องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย การจัดการต่อผู้ที่สงสัยใน “ความคิดต่าง”ของรัฐไทยเป็นไปอย่างเข้มงวดและเด็ดขาด ก่อให้เกิดบาดแผลที่หยั่งลึกยิ่งขึ้นต่อประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกับสิ่งที่ยังคาใจสำหรับประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายต่อหลายคนถูกผลักให้ออกจากเส้นทางชีวิตแบบปกติ หลายต่อหลายคนต้องสูญเสียเสรีภาพ และหลายต่อหลายคนไม่อาจจะหวนคืนสู่มาตุภูมิอันเป็นที่รักของเขาตลอดไป
เช่นเดียวกับเส้นทางชีวิตของมะรอโซ ผันตัวเองจากผู้เข้าร่วมในการชุมนุมที่ตากใบเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 แม้จะรอดชีวิตจากการปราบปรามที่รุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง[1]
เรื่องราวของมะรอโซได้เป็นกรณีสำคัญในการจับเข่าคุยในประเด็นของปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยคณะรัฐศาสตร์ ม.อ. ปัตตานี ปาตานี ฟอรั่ม สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน และองค์กรภาคีเครือข่ายประชาสังคมอื่นๆ เพื่อร่วมที่จะค้นหาคำตอบของปริศนาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้[2]
คำตอบจากปริศนาความรุนแรงที่ได้สะท้อนออกมาอย่างเห็นได้ชัดนั่นก็คือ จะทำอย่างไรให้สันติภาพกลับคืนสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดย กระบวนการที่จะนำไปสู่สันติภาพ ได้ถูกถ่ายทอดออกมาจากเวทีปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่แตกต่างกันไปในแต่มุมมองของกลุ่มคนต่างๆ เช่น ภาคประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ
คุณสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์
ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมไม่เพียงแต่ดูแลเรื่องคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเพียงอย่างเดียว แต่ยังคงมีการอบรมเรื่องกฎหมายให้แก่ประชาชนทั่วไปด้วย เกือบทุกพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้งสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมพยายามที่อบรมชาวบ้านเรื่องสิทธิในรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเกื้อหนุนให้ชาวบ้านได้รวมตัวกันเป็นเครือข่าย จะมีทั้งเครือข่ายจำเลย เครือข่ายญาติจำเลย เครือข่ายเยาวชน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากผลพวงจากการทำคดี จะนำไปสู่กระบวนการพูดคุยในเรื่องของสันติภาพได้อย่างไร กระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยมีความแตกต่างจากกระบวนการสันติภาพในพื้นที่อื่นๆ เช่นในกรณีของอาเจะห์ ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียกำลังรู้อยู่เลยว่ากำลังต่อสู้อยู่กับ GAM[3] ซึ่งมีการประกาศตัวอย่างชัดเจน แต่ของไทยตั้งแต่ปี 49 กระทั่งถึงปัจจุบันไม่มีใครออกมาประกาศความรับผิดชอบในทุกเหตุการณ์และทุกคดี จากตรงนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากว่ามีการเจรจาเกิดขึ้น จะเจรจากับใคร ภาระจึงจะต้องตกไปอยู่ที่ประชาชนว่า ต้องออกมาประกาศพร้อมกันว่า ไม่เอาแล้วความรุนแรง ไม่สามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้แล้วกับความรุนแรง ต้องหาพื้นที่ในการที่จะลงมานั่งคุยกัน ประชาชนต้องแสดงพลังให้เห็น ทั้งฝ่ายผู้ก่อการและฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ
คุณปกรณ์ พึ่งเนตร
บรรณาธิการโต๊ะข่าวภาคใต้ ศูนย์ข่าวอิศรา
การพูดคุยสันติภาพเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ถึงแม้ว่าจะหยุดยิงแล้ว ความรู้สึกที่ไม่ดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐยังคงมีอยู่ ควรที่จะมีเวทีที่มาพูดคุยเพื่อปรับความเข้าใจ เพราะวันนี้มีความไม่เข้าใจกันสูง ตำรวจคนหนึ่ง ทหารคนหนึ่ง นักข่าวคนหนึ่งไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในภาคใต้ได้ การแก้ไขปัญหาต้องเริ่มที่มองอีกฝ่ายหนึ่งอย่างเข้าใจ และการสร้างประชามติร่วม เพื่อที่จะแก้ไขปัญหา ซึ่งสิ่งนี้จะนำไปสู่กระบวนการสันติภาพอย่างแท้จริง
คุณศิโรจน์ แวปาโอะ
ตัวแทนชาวอำเภอบาเจาะและประธานเครือข่ายที่ดินบูโด
ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ตากใบมา มีความรู้สึกว่า ผู้ที่โดนจับไปแล้ว เมื่อโดนปล่อยตัวก็มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงตามติดพฤติกรรม เพราะฉะนั้นอยากจะเสนอว่า ทำอย่างไรให้วิธีการเหล่านี้ได้หายไปจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ อยากให้กรอบที่มีอยู่เดิมนั้นสลายไป
นาวาเอก สมเกียรติ ผลประยูร
ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้
ในฐานะของทหารได้มีปฏิบัติการในการเข้าเยี่ยมชุมชน วันนี้ได้เดินเข้าหาในทุกหมู่บ้าน โดยเข้าไปช่วยเหลือในส่วนของญาติผู้ส่วนเสีย ซึ่งการเดินเข้าไปช่วยเหลือของผู้ส่วนเสียคือแนวทางสู่สันติสุขที่พวกเราได้ทำ
พ.ต.อ.สะท้านฟ้า วามะสิงห์
ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส
เริ่มที่จะมีการปรับตัว โดยมีการทำข้อตกลงร่วมกับทหารและฝ่ายต่างๆ เพื่อที่จะรวบรวมพยานหลักฐานขึ้นสู่ศาลให้รัดกุมมากที่สุด เพื่อที่จะไม่ให้มีการละเมิดสิทธิของประชาชน ทั้งนี้จะใช้นิติวิทยาศาสตร์เข้ามาในการตรวจสอบคดีให้ได้มากที่สุด
นี้เป็นบางส่วน บางตอนในทัศนะของวิธีการที่จะนำสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กลับสู่สันติภาพ ท่ามกลางปริศนาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรายวัน ซึ่งเสียงสะท้อนจากผู้ให้ความเห็นทั้งหมดนี้ ต่างก็แสดงออกถึงว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มที่จะดีขึ้นตามลำดับ
[1] สามารถอ่านรายงานพิเศษเกี่ยวกับมะรอโซได้ที่ http://pataniforum.com/news_detail.php?news_id=119
[2] รายงานจากเวทีปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานีตอนที่ 1 http://pataniforum.com/patani_cafe_detail.php?patani_cafe_id=14 และตอนที่ 2 http://pataniforum.com/patani_cafe_detail.php?patani_cafe_id=15
[3] GAM (Gerakan Aceh Merdeka) หรือ ขบวนการอาเจะห์เสรี เป็นขบวนการที่เคลื่อนไหวติดอาวุธเพื่อแบ่งแยกดินแดนอาเจะห์ ก่อตั้งขึ้นในปี 1976 GAM ต่อสู้เพื่อเอกราชของอาเจะห์เป็นระยะเวลาเกือบ 30 ปี จึงมีการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลอินโดนีเซีย เมื่อ พ.ศ. 2548 ปัจจุบันอาเจะห์กลายเป็นเขตปกครองพิเศษแห่งหนึ่งในอินโดนีเซีย