รู้จักขบวนการนักศึกษาชายแดนใต้ กับบทวิพากษ์ถึงเป้าหมายและพัฒนาการ

 

หมายเหตุ บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งที่ โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2553 โดยงานชิ้นนี้จะอธิบายถึงปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา ทั้งในแง่ของพัฒนาการและบทบาทสำคัญ แม้เวลาจะล่วงเลยมานานเกือบ 3 ปี แต่กระทั่งถึงทุกวันนี้ งานชิ้นนี้ยังคอยอธิบายปรากฏการณ์ได้ชัดเจน จนต้องมานำเสนออีกครั้งในห้วงกระแสข่าว ขบวนการนักศึกษาถูกกล่าวถึง

ยังคงมีปัญหากระทบกระทั่งกันเป็นระยะระหว่างกลุ่มนักศึกษา กลุ่มที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและเครือข่าย กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยล่าสุดเมื่อไม่กี่วันมานี้ เพิ่งมีรายงานจากเครือข่ายส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและเข้าถึงความยุติธรรม (HAP) กรณีเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามและข่มขู่นักสิทธิมนุษยชน

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้สนธิกำลังกันเข้าตรวจค้นบ้านหลังหนึ่งในท้องที่ ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา แม้ไม่พบหลักฐานอะไรที่ผิดกฎหมาย แต่ก็ยังควบคุมตัวนักศึกษา 5 คน กับเจ้าหน้าที่ HAP อีก 1 คนไปซักถามประวัติ โดยระหว่างการซักถามมีการใช้คำพูดในลักษณะ "ข่มขู่" และแสดงความมีอคติต่อการทำงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชน ทำให้เครือข่ายและนักศึกษาที่ร่วมงานรู้สึกไม่สบายใจและไม่ปลอดภัย

กรณีนี้ "ทีมข่าวอิศรา" ได้ตรวจสอบไปยังหน่วยเฉพาะกิจยะลา 11 ซึ่งเป็นหน่วยหลักที่ส่งกำลังเข้าไปค้นบ้านหลังดังกล่าว ได้รับการชี้แจงว่าฝ่ายทหารเพียงแค่เชิญตัวนักศึกษาทั้งหมดไปทำประวัติ และปล่อยตัวไปหมดแล้ว ไม่ได้มีการจับกุม แต่ฝ่ายทหารไม่ได้ยอมรับหรือปฏิเสธประเด็นที่ถูกกล่าวหาเรื่องการใช้คำพูดข่มขู่คุกคาม

อย่างไรก็ดี จากปัญหาที่เกิดขึ้นหลายครั้งซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความไม่เข้าใจและไม่ไว้วางใจบทบาทของนักศึกษาและนักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ "ทีมข่าวอิศรา" จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับขบวนการนักศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เฉพาะช่วงหลังปี 2547 มาสรุปให้เห็นภาพอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นต่อไป

เหลียวหลัง...

หากจะศึกษาเรื่องขบวนการนักศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้อย่างจริงจังแล้ว คงต้องสืบสาวย้อนหลังไปหลายสิบปี แต่หากขีดกรอบเฉพาะในบริบทความรุนแรงรอบใหม่ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มีงานเขียนชิ้นหนึ่งของคนในขบวนการนักศึกษายุคนั้นคือ เอกรินทร์ ต่วนศิริ (อดีตอุปนายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ปัจจุบันเป็นนิสิตปริญญาโท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ที่เขียนเกี่ยวกับ “การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาในพื้นที่เหตุการณ์ความรุนแรง” เอาไว้อย่างชัดเจนและน่าสนใจ

งานเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือชื่อ "สถานการณ์ชายแดนใต้ มุมมองของภาคประชาสังคม" จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการประสานงานภาคประชาชนเพื่อจังหวัดชายแดนใต้ โดยอธิบายการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษายุคหลังปี 2547 ว่าแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

หนึ่ง อดีตนักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยแล้วทำงานกับหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องภาคใต้ ที่เห็นเด่นชัดคือ

1.1 กลุ่มนักศึกษาที่ทำงานกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ส่วนใหญ่เป็นอดีตนักศึกษาที่เป็นผู้ชาย ทำงานกับเยาวชนในพื้นที่เป้าหมายเพื่อให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่เยาวชน โดยส่วนใหญ่จะเป็นล่ามแปลภาษาไทยเป็นภาษามลายู และทำความเข้าใจกับประชาชนในประเด็นสิทธิตามกฎหมายเมื่อเกิดกรณีพิพาทหรือมีคดีความ ขณะเดียวกันก็ปลูกฝังความคิดของเยาวชนให้เห็นพัฒนาการภายใต้โครงการของรัฐ การทำงานของกลุ่มนี้จะดำเนินไปอย่างเป็นระบบ มีแผนงานชัดเจน และไม่ละทิ้งแนวคิดเดิมของกลุ่มนักศึกษาคืออยากเห็นสังคมมีความเป็นธรรม

1.2 กลุ่มเยาวชนใจอาสา ทำงานเกี่ยวกับการเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ความไม่สงบ ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาผู้หญิงที่เรียนจบแล้วและเคยทำกิจกรรมในพื้นที่มาก่อน กลุ่มเยาวชนใจอาสานับว่ามีบทบาทสูงมาก เพราะทำงานเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ สามารถเชื่อมโยงกับองค์กรต่างๆ มากมาย มีศูนย์ประสานงานทำให้สะดวกในการติดต่อและให้บริการข้อมูลแก่บุคคลภายนอก

ทั้งหมดนี้เป็นพัฒนาการจากประสบการณ์สมัยที่เป็นนักศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่มักเน้นลงพื้นที่ด้วยใจ ขาดการเก็บข้อมูลที่ดี

1.3 กลุ่มเครือข่ายเยาวชนเพื่อสันติภาพสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักศึกษาทั่วประเทศหลังจากได้ลงไปสัมผัสและทำความเข้าใจปัญหาชายแดนใต้ และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างนักศึกษาในพื้นที่กับนอกพื้นที่ การก่อกำเนิดของเครือข่ายฯ ถือเป็นความร่วมมืออย่างจริงจังผ่านมิตรภาพของคนวัยเดียวกันที่พยายามศึกษาเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยหัวใจ ด้วยข้อมูลตรงจากพื้นที่

ความร่วมมือข้ามภูมิภาคยังเป็นการผสมผสานข้อมูลวิชาการกับความจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่โดยผ่านกิจกรรมอันหลากหลายด้วย อาทิ การวิจัยเชิงปฏิบัติการที่มีส่วนร่วม การออกแถลงการณ์ผ่านสื่อ การจัดเวทีเสวนา และการลงพื้นที่จริง ซึ่งถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ยกระดับความเข้าใจปัญหาชายแดนใต้โดยกลุ่มนักศึกษาเลยทีเดียว

สอง คือกลุ่มนักศึกษาทั่วไปซึ่งมีกิจกรรมลงพื้นที่บ่อยครั้ง หลายกิจกรรมมีหน่วยงานจากทั้งในและนอกพื้นที่มาเป็นผู้ให้ความร่วมมือ ทำให้นักศึกษากลุ่มนี้ได้เรียนรู้ปัญหาเพิ่มมากขึ้น มีช่องทางในการทำวิจัยเพื่อศึกษาปัญหาอย่างลึกซึ้ง

อย่างไรก็ดี มีบางโครงการเช่นกันที่มีหน่วยงานของรัฐมาขอความช่วยเหลือ แต่กลุ่มนักศึกษามักปฏิเสธเพราะเกรงว่าไม่ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้าน ขณะเดียวกันก็มีแหล่งทุนมากมายจากทั้งในและต่างประเทศที่สนับสนุนการทำกิจกรรมในพื้นที่ของนักศึกษา

แลหน้า...

จุดเริ่มต้นของขบวนการนักศึกษาในบริบทความรุนแรงระลอกใหม่ที่ปลายด้ามขวาน ไม่ได้มุ่งแค่เรื่อง "การเมือง" เสมอไป

นูรุดดีน โตะตาหยง เจ้าหน้าที่สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ และหนึ่งในแกนนำขบวนการนักศึกษาในยุคปี 2547 เล่าให้ฟังว่า สาเหตุสำคัญที่เข้าร่วมขบวนการนักศึกษาในตอนนั้น เป็นเพราะมีความฝันและความหวังว่าอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาให้กับสังคมบ้านตัวเอง จึงเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวนี้ในอีกทางหนึ่งก็ช่วยให้นักศึกษาเติบโตไปพร้อมๆ กับการได้รับรู้ปัญหาของสังคม ทำให้ไม่ลืมที่จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาหลังจากเรียนจบแล้ว

 “ตอนนั้นผมและเพื่อนๆ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและภูมิใจมาก เพราะว่าเราได้ทำอะไรมากมายที่เราไม่เคยคาดคิดว่าจะทำได้ในตอนนั้น ช่วงที่เราเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ๆ เราหวังเพียงแค่เรียนให้จบไปมีงานดีๆ ทำ แต่เมื่อเรียนไปเรื่อยๆ เราคิดว่าโอกาสที่เราได้เป็นนักศึกษาน่าจะทำอะไรได้มากกว่าแค่การเรียนในห้องสี่เหลี่ยม กิจกรรมที่เราทำตอนนั้นมีมาก เป็นกิจกรรมที่ไม่ต่างจากกิจกรรมของน้องๆ ทุกวันนี้มากนัก มีทั้งในระดับพื้นที่และเชื่อมโยงกับเครือข่ายระหว่างมหาวิทยาลัย มีการส่งคนเข้าไปเป็นแกนหลักของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายกับนักศึกษาทั่วประเทศเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมในประเด็นปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทั่งทุกวันนี้ก็ได้กลายเป็นวาระแรกๆ ของ สนนท.ในการทำกิจกรรมไปแล้ว” นูรุดดีน ระบุ

อดีตแกนนำนักศึกษา บอกอีกว่า เขาและเพื่อนๆ เป็นกลุ่มนักศึกษากลุ่มแรกๆ ที่ได้ลงพื้นที่ทั้งสามจังหวัดเพื่อเก็บข้อมูลคนหาย เข้าไปช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านที่เป็นเหยื่อความรุนแรง และพัฒนาต่อเนื่องมาจนเป็นกลุ่มเยียวยาต่างๆ ในวันนี้ แม้กระทั้งการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนก็ตาม

"แต่ปัญหาก็คือพวกเรามักถูกมองว่าเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐ ช่วงนั้นเรารู้สึกว่าถูกคุกคามจากรัฐมาก เช่น โดนค้นบ้านหลายครั้ง บางทีก็มีการโทรศัพท์มาเตือนต่างๆ นานา แม้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ในกรอบของกฎหมายทุกอย่าง ผมจึงอยากให้สังคมโดยเฉพาะภาครัฐมองขบวนการนักศึกษาอย่างเข้าใจ อย่ามีอคติ หากกลุ่มนักศึกษาทำอะไรผิด ก็ให้ดำเนินการได้เลย แต่ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ยุติธรรม และหากผิดจริงนักศึกษาก็ต้องยอมรับความผิดนั้นด้วย"

"การจับกุมคนที่อยู่ในกลุ่มกิจกรรมนักศึกษานั้น ผมอยากให้เจ้าหน้าที่รัฐคำนึงถึงทุกครั้งก่อนจะจับว่า นักศึกษาเหล่านี้ว่าเป็นคนที่มีหัวก้าวหน้า อย่างเช่นรุ่นผม ตอนนี้หลายคนจบไปแล้ว กลายเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม เป็นคนที่ช่วยเหลือภาครัฐ เป็นข้าราชการ เป็นครู เป็นนักพัฒนา เป็นนักวิชาการ เป็นผู้ช่วย ส.ส. ส.ว. เพื่อนๆ ของผมเหล่านี้พวกเขามีความต่างจากคนที่ไม่เคยทำกิจกรรมอะไรเลย เพราะพวกเขามีประสบการณ์ มีวิสัยทัศน์ มีเรื่องของจิตอาสา อยากทำอะไรเพื่อสังคมจริงๆ"

"ดังนั้นหากเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจน อย่าไปจับแบบมั่วๆ เพราะมันจะกลายเป็นการตอกย้ำอคติของนักศึกษาที่มีต่อเจ้าหน้าที่เพิ่มเข้าไปอีก อยากให้มีการเชิญตัวมาคุย มาสอบถาม โดยมีผู้หลักผู้ใหญ่ มีครูบาอาจารย์อยู่ด้วย ตรงนี้จะทำให้ภาพของเจ้าหน้าที่รัฐดีขึ้นได้" นูรุดดีน เสนอ

พัฒนาการ...

รู้จัก "กลุ่ม" และ "งาน" ของนักศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้มาแล้ว ลองมาฟังมุมมองพัฒนาการของขบวนการนักศึกษาบ้าง

อรรถพร ขำมะโน อดีตเจ้าหน้าที่มูลนิธิอาสาสมัครทำงานเพื่อสังคม (มอส.) เห็นว่า ตลอดระยะเวลา 6 ปีเศษมานี้ (นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้รอบใหม่) ได้เห็นขบวนการนักศึกษาขยายตัวมากขึ้น มีหลายกลุ่มก้อนทำกิจกรรมด้านต่างๆ แต่เบ้าหลอมในการจัดตั้ง หลักคิดในการจัดตั้ง และในการเผยแพร่แนวคิด ตลอดจนแนวทางการทำงานมวลชนดูจะอ่อนลง

"ผมไม่ได้หมายความว่าอ่อนแอนะ แต่ผมหมายถึงไม่มีภาพของการวางยุทธศาสตร์กับยุทธวิธีที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกันสักเท่าไหร่ ที่ผ่านมาการสร้างคนตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่น่าจะส่งผลถึงประสิทธิภาพของขบวนการนักศึกษามากกว่านี้ แต่กลับมีความไม่ชัดเจนในแง่ของกลุ่ม ขณะที่ประเด็นในการขับเคลื่อนหลากหลายก็จริง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ทำงานด้านสิทธิ ทำด้านเยียวยา ทำด้านกฎหมาย และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ไม่มีเอกภาพและไม่มีความเชื่อมร้อยประสานกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลุ่มนักศึกษาที่ทำแต่ละประเด็นไม่ได้มานั่งพูดคุยกันในเรื่องเป้าหมายองค์รวม ทำให้กลุ่มนักศึกษาแต่ละกลุ่มเริ่มห่างกันไปตามความสนใจของตนเอง ส่งผลต่อเนื่องถึงขับเคลื่อนในภาพใหญ่ไม่มีพลัง และไม่ชัดเจน อาจมีบ้างที่มีการรวมตัวกัน แต่เป็นการรวมกันเพียงวาระ โอกาส ไม่ได้ขยายประเด็นที่จะเดินร่วมกันต่อ”

อรรถพร ยังวิเคราะห์ว่า ขบวนการนักศึกษาชายแดนใต้ที่ก้าวเดินมานานกว่า 6 ปีนั้น สามารถแยกได้เป็น 2 ช่วงเวลา คือช่วง 3 ปีแรก กับช่วง 3 ปีหลัง ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ

“ช่วง 3 ปีแรกคือตั้งแต่ปี 2547-2550 ขบวนการนักศึกษามีความพยายามที่จะขยับประเด็นร่วม และขยับจังหวะก้าวที่มุ่งส่งผลต่อการแก้ปัญหาเชิงองค์รวม แต่ประเด็นการเคลื่อนไหวยังไม่เด่นชัด มีการขยายผลของประเด็นไปเรื่อยๆ เปรียบได้กับการชุมนุมของกลุ่มนปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ที่มีการเคลื่อนไหวในภาพใหญ่และแตกประเด็นออกไป ส่วนช่วง 3 ปีหลังของขบวนการนักศึกษาเหมือนการเคลื่อนไหวของกลุ่มเอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน) ที่พยายามต่อสู้เกี่ยวกับปัญหาในชุมชนต่างๆ ทว่าแต่ละกลุ่มไม่ได้มาหลอมรวมกัน ทั้งๆ ที่สามารถทำได้โดยการขยับประเด็นร่วม และรักษาประเด็นย่อยของตัวเองเอาไว้ด้วย”

“แนวทางแบบที่ผมว่า จะทำให้กลุ่มนักศึกษามีพลังและเคลื่อนไหวอย่างมีทิศทาง อันจะทำให้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาหลักและยังไม่ได้รับการแก้ไข ถูกหยิบมาขับเคลื่อนอีกครั้ง เพราะเป็นที่ทราบกันอยู่ว่าข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการจัดรูปแบบการปกครองใหม่โดยคนในพื้นที่เอง ไม่ค่อยได้รับความสนใจ ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นทางออกหนึ่งของปัญหา แต่โครงสร้างของประเทศไทยกลับผูกโยงอำนาจรัฐไว้ที่ส่วนกลางเท่านั้น ผมจึงอยากเรียกร้องให้นักศึกษารวมตัวกันแล้วเริ่มหันมาพูดคุยกันเกี่ยวกับปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ก็ใช่ว่าจะต้องทิ้งประเด็นปัญหาปลีกย่อยต่างๆ ไป” อรรถพร กล่าว

นับเป็นข้อเสนอแบบ "เข้าถึง" และ "เข้าใจ" ไม่น้อยทีเดียว!

-------------------------------------------------------------------------

บรรยายภาพ :

1 การชุมนุมประท้วงอิสราเอล กรณีส่งกำลังโจมตีปาเลสไตน์เมื่อปีก่อน เป็นหนึ่งในกิจกรรมของนักศึกษาชายแดนใต้ (แฟ้มภาพ ถ่ายโดย อับดุลเลาะ หวังนิ)

2 นูรุดดีน โตะตาหยง

3 อรรถพร ขำมะโน