มองสันติภาพผ่านสื่อ(เสรี) : เราจะอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างไร[1]
“...หากทว่าเรื่องราวของพื้นที่ที่ทุกคนเรียกหาสันติภาพอย่างสามจังหวัดฯ ยังคงเล่าขานกันทุกพื้นที่ ทุกมุมมองผ่านสื่อช่องทางต่างๆ เราจะอยู่กับมันอย่างไรเพื่อแสวงหาสันติภาพ...”
สันติภาพ สามารถเรียกได้ว่าเป็นสภาวะแห่งความสันติหรือไม่มีการโต้เถียงอย่างรุนแรงกันเกิดขึ้นหากจะกล่าวว่า สันติภาพสามารถนำมาใช้อธิบายความสัมพันธ์ของผู้คนที่มีความเคารพ ความยุติธรรม และ ความหวังดีต่อกัน หากเป็นเช่นนี้แล้วสันติภาพมิอาจหมายถึงเพียงแค่กลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งในการร่วมสร้างสรรค์การก่อเกิดสันติภาพ แต่มันคือภาพวาดแห่งความฝันที่ทุกคนต้องร่วมกันสรรค์สร้างกันขึ้นมา
คำถามที่ว่า “สื่อเสรีจะร่วมสร้างสันติภาพได้อย่างไร?” คงเป็นคำถามร่วมสมัยในการแสวงหาคำตอบร่วมกันที่คงมิใช่เพียงแต่ผู้ทำหน้าที่ผลิตสื่อ แต่รวมถึง ผู้รับสื่อถือบริโภคการรับรู้บนพื้นฐานการปราศจากความอคติที่เป็นมูลฐานด้วยเช่นกัน เพราะถึงแม้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติมีมติรับรองเมื่อปลายปี ๒๔๙๑ บัญญัติเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชนไว้ในข้อที่ ๑๙ ว่า “ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และที่จะแสวงหา รับ และแจกจ่ายข่าวสาร และความคิดเห็น ไม่ว่าโดยวิธีใดๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน” หากดูในบริบทปฏิญญาดังกล่าวในภาพรวมแล้วแม้ทั้งผู้ผลิตสื่อและผู้บริโภคสื่อจะมีสิทธิในความเป็นอิสระชน แต่บนพื้นฐานของความเป็นจริงแล้วความเป็นมนุษยชนก็ต้องคำนึงถึงการก้าวพ้นผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อตนเองและการสร้างความขัดแย้งต่อผู้อื่น เพราะจุดยืนของกระบวนการสร้างสันติภาพที่ควรก่อเกิดขึ้น คือ การหลีกพ้นความขัดแย้งที่ก่อให้เกิดความรุนแรง
ทิศทางของสื่อเสรีบนวิถีสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันตลอดจนความผันแปรที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร้ซึ่งการรับรู้ในทิศทางที่มิมีใครสามารถบอกได้ว่าสันติภาพจะเป็นเพียงตำนานหรือประวัติศาสตร์ที่คอยบอกกล่าวเล่าขานถึงเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินนี้ เพราะทุกวินาทีของลมหายใจ ณ ปัจจุบัน คือ การอยากเห็นภาพฝันร่วมกันที่ว่า “สันติภาพเกิดขึ้นได้ด้วยมือของเรา(ทุกคน)”
“...เราจะอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างไร...”
ประการแรก คือ การปฏิรูปสื่อ อย่าลืมว่าสิ่งที่มีอิทธิพลและเป็นตัวตนที่คนส่วนใหญ่มักได้รับรู้สู่การสร้างฐานมโนความคิดในความเป็นเหตุเป็นผลของเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นจนเกิดเป็นสาเหตุของผลประโยชน์ในการเลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นั่นคือ การนำเสนอสื่อของผู้ผลิตสื่อผ่านช่องทางต่างๆ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นสามารถลดละผละออกจากวังวนของการริเริ่มการสร้างความแตกแยกทางความรู้สึกที่มิใช่เพียงแต่ความแตกแยกทางความคิด เพราะแท้ที่จริงแล้วการคิดต่าง คือ สิ่งที่ดีแต่ต้องยืนอยู่บนวิถีของความเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน ฉะนั้น การสร้างสันติภาพที่เป็นภาพสะท้อนความเป็นสื่อมวลชน คือการอยู่บนฐานความรักในการแสวงหาสันติภาพอย่างแท้จริง
ประการที่สอง คือ การปฏิรูปผู้รับสื่อ ด้วยเหตุผลง่ายๆดังกล่าวที่ว่า “สันติภาพเกิดขึ้นได้ด้วยมือของเราทุกคน” ฉะนั้นแล้วผู้บริโภคสื่อต้องเปิดใจในพื้นที่มโนความคิดที่ต่างแตกไม่สร้างความแตกแยกในฐานความคิดของเหตุและผลที่มีอยู่รับรู้ข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆด้วยความรักในการอยากเห็นสันติภาพมากกว่าด้วยเหตุและผลเพียงอย่างเดียวเพราะท้ายที่สุดแล้วความรักที่ปราศจาก “การแข่งขัน” มีแต่ “แบ่งปัน” แค่เพียงแต่เราขยายฐานความคิดลิขิตฐาน “ข” เป็น “บ” ก็สามารถสร้างสังคมสันติภาพได้อย่างง่ายดาย เพราะพื้นฐานมโนสำนึกเดิมที่ทุกคนมี คือ ความรัก
ประการที่สาม คือ สื่อต้องอิสระพอที่จะทำตามอุดมการณ์ หากการวิ่งอยู่บนลู่วิ่งของศักดิ์ศรีแห่งอุดมการณ์ คือ การสร้างงานที่มีคุณภาพ เป็นธรรม และสัตย์จริง การวิ่งอยู่บนลู่วิ่งนี้ต้องวิ่งด้วยใจที่ปราศจากการวิ่งตามใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการวิ่งเพื่อสังคมสันติภาพในลู่วิ่งที่วิ่งอยู่
ประการที่สี่ คือ การก้าวพ้นผลประโยชน์ทางการเมือง คงปฏิเสธได้ยากหากจะกล่าวว่าความขัดแย้งของสังคมในปัจจุบันสิ่งสำคัญ คือ การคำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องเป็นสำคัญ ฉะนั้นแล้วสิ่งสำคัญประการสุดท้ายของคำถามที่ว่า “สื่อเสรีจะร่วมสร้างสันติภาพได้อย่างไร” คือการที่ทุกฝ่ายที่ทำหน้าที่ต่างๆที่ข้องเกี่ยวกันภายในสังคมโดยเฉพาะความเป็นอิสระชนบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชนอันพึงมีต้องหลีกหนีให้พ้นผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะแท้ที่จริงแล้วอุบัติเหติของการสร้างสันติภาพที่เป็นอุปสรรค สาเหตุเกิดจากอุบัติเหตุทางการณ์เมืองเรื่องของตน (เอง) เท่านั้นเอง
ฤาสันติภาพอยู่ในมือของเราทุกคนจริงๆ...เพียงแต่เรากำลังแสวงหา?
...วัลลอฮฺอะลัม-...
[1] บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนในมุมมอง
[2] อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา /ผู้บริหาร ร.ร.เร๊าะห์มานีย๊ะห์ อ.จะนะ จ.สงขลา