คน (ไม่) เบื่อสันติภาพ…… นา นา ทัศนะ จากเวที “Peace Education”

 

ปัจจุบันถึงแม้นคําว่า “สันติภาพ” จะเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในพื้นที่ และนิยามของคําว่าสันติภาพ ได้ครอบคลุมอาณาบริเวณไปอย่างกว้างไกล แต่ความพยายามของหลายองค์กรไม่วาจะเป็นภาคประชาสังคมหรือ องค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในและนอกพื้นที่ในการสร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพต่อพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเป็นภารกิจอันหนักยิ่ง เพื่อจะสรรสร้างให้สันติภาพได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง แต่อย่างน้อยที่สุดความพยายามดังกล่าวย่อมไม่ใช่สิ่งที่ไร้คาและต่างเป็นกลไกที่หนุนเสริมซึ่งกันและกัน

ดังนั้นการประชุมปรึกษาหารือเพื่อจัดทําหลักสูตร  Peace Education ก็เป็นอีกความพยายามหนึ่งที่จะเป็นกลไกเล็กๆ เพื่อหนุนเสริมให้สันติภาพได้บังเกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ภายใต้โครงการ PEACE-BUILDING IN SOUTHERN THAILAND : COMMUNITY CONFIDENCE AND TRUST-BUILDING โดย มูลนิธิเอเชียร่วมกับองค์กรเครือข่ายในชายแดนใต้ โดยมีเป้าหมายปลายทางที่สำคัญ คือ การสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดการสร้างสันติภาพในพื้นที่เมื่อครั้งปาตานีฟอรั่มร่วมโครงการ การจัดทําหลักสูตรPeace Education” ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ โรงแรมหาดใหญ่พาราไดส์ รีสอร์ท อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งทำให้น่าขบคิดได้ว่าการขับเคลื่อนสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ขณะนี้อยู่ตรงจุดไหนและมุมมองของคนทั่วไปเป็นอย่างไร

ดังนั้น ! เวทีครั้งนี้จึงค้นพบทัศนะ ต่อคำว่า “สันติภาพ” หลากมุมมอง น่าสนใจ ควรมานำเสนอให้ขบคิดกัน

“ การโหยหาประวัติศาสตร์ ความยิ่งใหญ่ในอดีต ของสังคมมุสลิม เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะที่ผ่านมาอิสลามมีความเจริญยิ่งใหญ่มาก่อน เช่นเดียวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ในอดีต ดังนั้นผมจึงมองว่าเรื่องสามจังหวัดชายแดนใต้ แยกไม่ออกกับอิสลาม เพราะอิสลามเป็นลมหายใจของทุกคน ดังนั้นการพูดคุยเรื่องใดก็แล้วแต่ถ้าไม่คุยเรื่องอิสลาม ก็จะเป็นไปไม่ได้ รวมไปถึงการคุยเรื่องความยุติธรรม และเรื่องสันติภาพก็เช่นกัน”

ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส   หญ้าปรัง

อาจารย์ประจำภาควิชาปกครอง

คณะรัฐศาสตร์  ม.รามคำแหง

“สันติภาพอิสลามในแต่ละที่ไม่เหมือนกัน สันติภาพอิสลามในฐานะชนกลุ่มใหญ่ก็มีบทบาทอีกแบบหนึ่ง สันติภาพในฐานะชนกลุ่มน้อยก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นอาจหมายความได้ว่าสันติภาพอิสลามในแต่ละกลุ่มชนจะมีรูปลักษณ์หน้าตาไม่เหมือนกัน ผมคิดว่าสิ่งที่พยายามกันอยู่ สันติภาพไม่มีหน้าตาชัดเจน มันจะมีการต่อจิกซอ แต่ละฝ่ายก็ทำกันไป เราสัมผัสได้ แต่ผมมองว่ายังไม่ครบ โดยเฉพาะฝ่ายที่อยู่ในแวดวงศาสนา สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยแนวทางศาสนา ทำศาสนกิจให้มากขึ้น ท้ายสุดควรมีความละเอียดในการใช้ชีวิตให้มากขึ้น”

โชคชัย วงษ์ตานี

อาจารย์ประจำศูนย์การจัดการความขัดแย้ง

สถาบันสันติศึกษา มอ.หาดใหญ่

“ภาคประชาสังคมมีเยอะ ล้วนแต่อ้างเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนสันติภาพ แต่สิ่งที่อยากเห็นคือ มีเยอะและมีเอกภาพ แต่ตอนนี้ต่างคนต่างทำงาน ไม่มีจุดร่วม ไม่แสวงจุดต่าง แม้นกระทั่งองค์กรต่างประเทศก็ยังมองเห็นว่าองค์กรประชาสังคม โจมตีกันและกัน ที่สุดแล้วที่เราบอกว่า รัฐไม่มีเอกภาพในการแก้ปัญหา ซึ่งไม่ต่างจากองค์กรภาคประชาสังคมในขณะนี้ อย่างไรก็ตามยังเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีอยู่คือ วันนี้พวกเราองค์กรภาคประชาสังคมทำงานเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งอาจจะช่วยผลักพวกเราไปสู่ความเป็นเอกภาพ และสันติภาพได้”

ตูแวดานียา มือรีงิง

ช่างภาพข่าว AFP ปัตตานี

บก.ศูนย์ข่าวอามาน

“การสูญเสียที่ผ่านมา เป็นการสูญเสียของทุกฝ่าย รวมไปถึงการสูญเสียทางด้านอิสรภาพและส่งผลกระทบของครอบครัว ดิฉันเข้าใจว่าในภาวะสงครามจะต้องมีความสูญเสีย ต้องมีการเสียสละ แต่หากมีทางเลือกอื่นที่จะนำไปสู่การต่อรองทีดีกว่า ควรใช้ทางเลือกนั้นได้หรือไม่ แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วก็ให้ใช้วิธีการที่ส่งผลกระทบให้น้อยที่สุดต่อประชาชนวงกว้างได้หรือไม่ เพราะปลายทางของเราคือต้องการสันติภาพใช่หรือไม่ อยากบอกทุกฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง”

โซรยา  จามจุรีย์

หัวหน้าโครงการผู้หญิงภาคประชาสังคม

สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มอ.ปัตตานี

“ผมเชื่อว่า คำถามที่มีอยู่ตลอดเวลาว่า ขบวนการเป็นใคร เจรจากับใคร แต่ลึกๆ แล้วผมคิดว่ารัฐบาลรู้อยู่แล้วว่ามีใครทีจะต้องคุย ทางขบวนการฯเองก็อาจไม่ได้ปฏิเสธการเจรจา แต่เพียงรอให้ผู้มีอำนาจหลักมีความชัดเจน รัฐเองที่ไม่ชัดว่าใครมีอำนาจหลัก  แม้นกระทั่งตอนไปคุยที่มาเลเซียเรื่องต้มยำกุ้งก็ไม่กล้าบอกว่าตัวเองไปเจรจา  เจตจำนงของรัฐต้องชัดเจน”

อาเต็ฟ  โซ๊ะโก

ผู้ประสานงานสถาบันเยาวชนเพื่อ

สันติภาพและการพัฒนา

“กระบวนการสันติภาพต้องทำครอบคลุมทุกฝ่าย กระบวนการสันติภาพก็เหมือนการเต้นรำ ต้องมีจังหวะ ต้องมีขั้นตอน แรกๆอาจสะดุดไปบ้าง เตะขากันบ้าง ก็ไม่เป็นไร แต่นานไปก็จะเริ่มรู้จังหวะ รู้เวลา ที่สำคัญคนทำงานสันติภาพต้องกล้าเสี่ยง” “มีคนบอกว่า เคมเปญที่รณรงค์ช่วงสถานการณ์การเมืองเหลือง-แดง ความขัดแย้งใน 3 จังหวัด ให้เรารักกัน คนไทยรักกัน ท่ามกลางความเห็นที่แตกต่าง ท่ามกลางคนไม่ได้รักกัน เป็นสันติวิธีที่โรแมนติกเกินไป ตัวอย่างจากพื้นที่ความขัดแย้งที่ไอร์แลนด์เหนือ หลังการปลองดอง คนก็ยังเกลียดกันอยู่ สิ่งที่เปลี่ยนไปคือไม่มีการฆ่า ฟันกันเท่านั้นเอง หรือเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังมีกำแพงเบอร์ลิน กล่าวโดยสรุปคือ ถึงแม้นมีการเจรจา มีการปรองดอง ก็พบว่าคนก็ยังเกลียดกันอยู่ คนก็ยังไม่รักกัน สิ่งทีทำได้มากที่สุด คือทำให้คนอยู่ร่วมกันได้ แม้นจะเกลียด จะไม่รักกันก็ตาม”

เมธัส อนุวัตรอุดม

นักวิชาการด้านสันติวิธี

สถาบันพระปกเกล้า

“บทเรียนกระบวนการสันติภาพจากต่างประเทศ สอนเราว่า ถึงแม้นเขาไม่รู้ว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่สิ่งที่มีการทำไประหว่างรอสันติภาพ เขาทำการจัดการความสัมพันธ์ ทำเรื่องการเมืองการปกครอง เรื่องปากท้อง เพราะสิ่งที่ทำอยู่เชื่อว่าจะเป็นรากฐานให้กับลูกหลานของเขา นอกจากนี้สิ่งที่เราต้องมานั่งวิเคราะห์คือ เราลองเอาตัวเรามาข้างนอกความขัดแย้ง แล้วลองมองย้อนกลับไป ค้นหาว่าเราอยู่ส่วนไหนของความขัดแย้ง แล้วดูว่าเราจะจัดการตนเองอย่างไรในส่วนของเรา แม้การทำนั้นจะเป็นสิ่งเล็กๆก็ตาม แต่ที่สำคัญคือการทำสิ่งเล็กๆตรงนี้ จะต้องให้เห็นเป้าสันติภาพให้ได้ ”

เอกราช ซาบูร์

ผอ.สถาบันสันติภาพศึกษานานาชาติ

มูลนิธิทรัพยากรเอเชีย

“สันติภาพ เริ่มที่ตัวเรา เราเองต้องจัดการความขัดแย้งในตัวเราเองให้ได้ เราต้องเท่าทันตนเอง อย่าให้ความขัดแย้งลุกลาม โดยใช้วิธีการใดก็ตาม แล้วก็เดินกันต่อไป อย่าพึ่งท้อ เวลาที่ทำงานร่วมกับคนที่ทำเรื่องสันติภาพด้วยกันมักจะต้องเจอกับความคิดต่าง ไม่เหมือนกัน ทำให้เหนื่อย ท้อ  ซึ่งมักทำให้ลืมภาพใหญ่ที่เรากำลังจะเดินไป คือ สันติภาพ” 

ปลายมนัส ลิ้มสุวรรณ

นักเขียนอิสระ/ ผู้ประสานงาน

โครงการ children voices for peach

 

หลากมุมมองที่ย้อนถามถึงตัวเอง ว่า เราอยู่ส่วนไหนของ เส้นทางสันติภาพ ทีมีคนตาย ความสูญเสีย น้ำตา อยู่ระหว่างทาง ทุกวี่วัน…ฤา เรื่องนี้ จะยังคงเป็นเรื่องไกลตัวไปอีก