อย่าเมาไวน์ดับไฟใต้

โดย ปกรณ์ พึ่งเนตร

“ดื่มไวน์นอกเวลางาน แม้ไม่ผิดกฎหมาย ยื่นถอดถอนไม่ได้ แต่ในบางมุมเป็นเรื่องของมารยาทและการแสดงความจริงใจ...”

สมมติคุณจะลงพื้นที่ไปแก้ปัญหาภาคใต้ซึ่งคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และเขาไม่แตะเครื่องดองของเมา แต่คุณกลับไปดื่มไวน์เมาเหล้า คิดง่ายๆ แค่นี้ก็ผิดแล้ว ยิ่งถ้าคนทำเป็นเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ก็จะยิ่งกลายเป็นเงื่อนไขของการไม่ยอมรับ ไม่ยอมให้ความร่วมมือจาก "กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ" ต่อไป รวมทั้งสร้างเงื่อนไขว่า "รัฐไทยไม่จริงใจ" ไม่มีที่สิ้นสุด

เมื่อเร็วๆ นี้ ท่านรองนายกฯเฉลิม อยู่บำรุง เพิ่งกลับจากเยือนมาเลย์ ด้วยอารมณ์ฮาเฮของความสำเร็จ พลิกดูข้อตกลง 5 ด้านที่ไปลงนามร่วมกันมา ปรากฏว่าเป็นข้อตกลงธรรมดาๆ ไม่ได้พูดถึง "บันทึกความตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านชายแดน" ซึ่งทำกันไว้ตั้งแต่สมัยร่วมกันปราบโจรคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) และฝ่ายทหารไทยกำลังขอแก้ครั้งใหญ่เพื่อให้ครอบคลุมปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

ทั้งๆ ที่เรื่องนี้น่าจะเป็น "หัวใจ" ของความร่วมมือที่ไทยรอความจริงใจจากมาเลย์ เหมือนสมัยที่ไทยเคยช่วยมาเลย์ปราบ จคม.เมื่อ 40-50 ปีก่อน

ท่านรองนายกฯยังบอกว่าหลังจากนี้จะไปพบ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกฯมาเลย์ ต่อด้วยไปเยือนอินโดฯ ก่อนไปผมอยากให้ท่านลองศึกษารายงานของ "ปาตานี ฟอรั่ม" ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของคนรุ่นใหม่ที่ทำงานเชิงองค์ความรู้ชาย แดนใต้ เขาได้รวบรวมการพบปะ พูดคุย เจรจาที่รัฐบาลไทยตั้งแต่ยุค คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นต้นมาได้ดำเนินการเอาไว้ แต่ก็ล้มเหลวล้มละลายมาโดยตลอด

ถ้าท่านอ่านดูก็จะทราบว่าในรัฐบาลก่อนๆ เขาไปพบคนเหล่านี้มาหมดแล้ว แต่ที่ไม่คืบหน้าเพราะฝ่ายการเมืองบ้าง ฝ่ายความมั่นคงบ้าง (ของเราเอง) ไม่ยอมรับการพูดคุยเจรจา และไม่ยอมรับข้อเสนอที่เพื่อนบ้าน "อุตส่าห์" ช่วยกันทำแล้วเสนอกลับมายังรัฐบาล

โดยเฉพาะกระบวนการสันติภาพลังกาวีที่ ดร.มหาธีร์ เคยเป็นแกนนำช่วยไทยนั้น เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลคุณทักษิณ พี่ชายของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แต่รัฐบาลสมัยนั้นรับเงื่อนไขไปแล้วก็เงียบเฉย ในเมื่อตอนนั้นท่านละเลย แล้วตอนนี้จะไปขอให้เขาทำอะไรอีก

เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาการพูดคุยเจรจาที่มันไม่คืบหน้า สาเหตุหลักๆ ไม่ได้อยู่ที่ว่าเพื่อนบ้านไม่ช่วยไทย แต่ปัญหาอยู่ที่ท่าทีของไทยเองต่างหากที่ไม่เคยคุยกันให้ ตกผลึกว่าจะเอากันอย่างไร จะเริ่มพูดคุยกันหรือไม่ จะคุยกับใคร และส่งใครไปคุย ที่สำคัญฝ่ายการเมืองต้องมี "เจตจำนง" ชัดเจน หรือที่เขาเรียก political will ว่าต้องการพูดคุย แล้วมอบอำนาจให้คณะบุคคลไปคุยอย่างเป็นกิจจลักษณะ ไม่ใช่ทำกันเรื่อยเปื่อยสะเปะสะปะ แวะกินไวน์ กินเหล้าขาวไปเรื่อยแบบไทยๆ

อีกเรื่องที่ท่านรองนายกฯพูดทำนองว่า สถิติคดีอาชญากรรมในจังหวัดชายแดนใต้ต่ำกว่าจังหวัดอื่นๆ อีกหลายจังหวัด เช่น นครศรีธรรมราช ซึ่งโดยนัยหมายความว่าสถานการณ์ไฟใต้ไม่ได้เลยร้ายอย่างที่คิดนั้น อยากบอกว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เพราะมันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เหตุรุนแรงที่ชายแดนใต้ไม่ใช่อาชญากรรมธรรมดา เป็นอาชญากรรมที่ไม่มีแรงจูงใจในทางส่วนตัว แต่เป็นแรงจูงใจทางการเมือง ความต้องการแบ่งแยกดินแดน หรือความอยุติธรรมกดทับต่างๆ

ที่สำคัญคดีอาชญากรรมในบางจังหวัด อย่างกรุงเทพฯ ผมก็คิดว่าสูงกว่าชายแดนใต้ แต่มันไม่มีการลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์ มอเตอร์ไซค์บอมบ์ ยิงครู ฆ่าเจ้าหน้าที่โดยไม่ได้มีความแค้นส่วนตัว ฉะนั้นจะไปนับแค่ตัวเลขแล้วบอกว่า สถานการณ์ดีมันคงไม่ได้ ลองไปกระซิบถาม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. สมัยอยู่ดีเอสไอ และรองปลัดยุติธรรม ว่าเหตุใดท่านจึงผลักดันให้ตั้ง "กรมสอบสวนคดีความมั่นคง" ขึ้นรับภารกิจเฉพาะในการสอบสวนคดีที่ชายแดนใต้ และถ้าพื้นที่นี้เหมือนจังหวัดอื่นๆ คงไม่ต้องจับสลากให้พนักงานสอบสวนลงใต้...หรือมิใช่?

จะดับไฟใต้ต้องตั้งสติ อย่าแก้ปัญหาแบบคนเมาไวน์ครับ!

ที่มาของภาพ มติชนออนไลน์