มานุษยวิทยา: มลายูโพ้นทะเล ณ.เมืองลิกอร์
มลายูโพ้นทะเล คือ กลุ่มชนเชื้อชาติมลายู (กลุ่มชนที่รวมกันอยู่ในกลุ่มมลายู-โปลีเนเซีย) ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในโลกมลายู มีการอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานตั้งแต่อดีต ในปัจจุบันคนมลายูอาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ มากมายเช่น ในโลกอาหรับ ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศอัฟริกาใต้ มาดากัสการ์ สุรีนาม ยุโรป และสหรัฐอเมริกา
ในจังหวัดนครศรีธรรมราชก็เช่นเดียวกัน ได้มีชาวมลายูมาตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันยังคงมีชาวมลายูยังคงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม เช่น ภาษา แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ถูกกาลเวลาทำให้ค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมเมืองนครศรีธรรมราช
เรื่องราวชาวมลายูโพ้นทะเลถือเป็นเรื่องราวที่สำคัญ ทางปาตานี ฟอรั่ม จึงขอนำเผยแพร่เรื่องดังกล่าวนี้ให้ผู้อ่านได้รับชมกัน โดยกองบรรณาธิการได้รับโอกาสจากอาจารย์กิตติ อะหลีแอ ผู้ศึกษาและมีข้อมูลเกี่ยวกับคนมลายูในจังหวัดนครศรีธรรมราช
ปาตานี ฟอรั่ม: ความสัมพันธ์ระหว่างนครศรีธรรมราชกับเมืองมลายูในอดีต
อาจารย์กิตติ: จากการบันทึกของ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ศาสนาอิสลามได้เข้ามาในนครศรีธรรมราชตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว โดยมุมมองส่วนตัว อาจจะไม่ใช่ชาวมลายู ซึ่งอาจจะเป็นชาวอาหรับที่เดินทางมาทำการค้า การเผยแพร่ศาสนา
ในอดีตได้มีโจรสลัดมลายู เข้ามาปล้นเมืองนคร พระยาราชท้ายน้ำ ขุดคูคลองป้องกัน กระทั่งในปัจจุบันได้กลายมาเป็นคูขวาง ชุมชนสำคัญ ชุมชนหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ในส่วนของวัดพระมหาธาตุ ชาวมลายูได้มีการทรัพย์สินเพื่อบูรณะวัดพระมหาธาตุ นครรัฐที่เป็นศูนย์กลางในการปกครอง คนมลายูได้เกี่ยวพันกับนครศรีธรรมราชอย่างช้านาน
คนมลายูที่อยู่ในสยาม มันขัดกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ วิถีชีวิต วัฒนธรรม สยามจึงยกทัพไปปราบ เมื่อปราบสำเร็จแล้ว จึงมีการตัดกำลัง ด้วยการย้ายถิ่นฐาน
สำหรับคนที่มีฝีมือ มาให้เป็นช่างทอง ช่างเครื่องถม ทำงานในวัง พอนานไป และเริ่มมีจำนวนมากขึ้น คนเหล่านี้เริ่มที่จะออกจากวัง เพื่อทำงานอย่างอื่น กระทั่งในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่า บริเวณใกล้เคียงวัดพระมหาธาตุในปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยร้านขายเครื่องถม ซึ่งบรรดาพ่อค้า แม่ค้าก็เป็นลูกหลานชาวมลายู
ตลาดแขกเป็น ตลาดที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่าง ชาวมลายูเดิม และผู้คนท้องถิ่น รวมทั้งคนอินเดีย คนจีน สร้างวัฒนธรรมที่เชื่อมสัมพันธ์ ผ่านการค้า กระทั่งได้เรียกพื้นที่เหล่านั้นว่า เป็นตลาดแขก
ปาตานี ฟอรั่ม: สาเหตุของการย้ายถิ่น
อาจารย์กิตติ: ก่อนอื่นอยากจะกล่าวถึงก่อนว่า คนมลายูคือใคร หากใช้ภาษาและสภาพทางภูมิศาสตร์จากคาบสมุทรมลายูเป็นตัวตั้งแล้ว จะพบว่าโดยความหมายคนที่อยู่ในพื้นที่เมืองนคร จะไม่ใช่คนมลายู คนกลุ่มนี้จะเป็นคนไทย แต่ในสารัตถะจริงๆ แล้วไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า ใครเป็นเชื้อชาติใด โดยส่วนตัวแล้วมีความเชื่อว่าคนในจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยส่วนหนึ่งแล้ว อาจจะเป็นคนมลายู มีเชื้อสายมลายู อย่างไรก็ตามการเคลื่อนย้ายของคนมลายูในพื้นที่ทางตอนล่างและคาบสมุทรมลายู ในประวัติศาสตร์นั้นได้เคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดนครศรีธรรม กระทั่งได้นำสู่การเกิดชุมชนมุสลิมก็เพราะว่า การสงคราม การค้าขาย การเผยแพร่ศาสนา และเดินทางตามญาติพี่น้องได้ที่ได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานก่อนหน้านี้
ปาตานี ฟอรั่ม: ชาวมลายูอพยพเลือกตั้งถิ่นฐานบริเวณไหน
สำหรับพื้นที่แรกๆ ของการตั้งถิ่นฐานของชาวมุสลิมในจังหวัดนครศรีธรรมราช นั่นก็คือตำบลปากพูน อำเภอเมือง มีชาวปัตตานี ชาวกลันตัน ชาวตรังกานู เป็นกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาก่อตั้งเป็นชุมชนมุสลิม ปากน้ำกลายและพังปริง และในชุมชนบ้านมะขามชุม วัดคิดมาเป็นศูนย์กลางของมุสลิมได้เปลี่ยนเป็นมัสญิดวัดคิด บ้านท่าโพธิ์ในอดีตเป็นชุมชนใหญ่
ปาตานี ฟอรั่ม : ชาวมลายูกลุ่มใดบ้างที่ย้ายถิ่นมาตั้งรกรากที่นครศรีธรรมราชในอดีต
อาจารย์กิตติ: ชาวมลายูที่ได้ย้ายถิ่นมายังนครศรีธรรมราชสามารถแบ่งออกเป็นสามกลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มแรกจากไทรบุรี (ประกอบด้วยเคดาห์ ปะลิส กูบังปาสู และสตูล) กลุ่มที่สองจากกลันตัน และกลุ่มที่สามจากเมืองปาตานี
กลุ่มแรกนั้นกลุ่มจาก เมืองไทรบุรี เป็นคนมุสลิมที่เข้ามาอยู่เนื่องจากผลพวงจากการสงครามและการถูกกวาดต้อนเข้ามา สำหรับเหตุการณ์ในการสงครามหลังจากที่เจ้าพระยานคร (น้อย ) ยกทัพไปปราบเมืองไทรบุรี และกวาดต้อนผู้คนจากเมืองไทรบุรี มาเป็นเชลยศึก นำมาไว้ยังที่ต่างๆในนครศรีธรรมราชแล้ว ในจำนวนเชลยศึกเหล่านั้นมีปังลิมอ เจ๊ะเต๊ะ แม่ทัพเมืองสตูลและเครือญาติติดมาด้วย โดยคนเหล่านั้นถูกกวาดต้อนมาไว้ที่บ้านทุ่งบ้านใหญ่ ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา ในปัจจุบัน ผู้ถูกกวาดต้อนเป็นมุสลิมที่มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อมาอยู่แล้วก็มีลูกหลานเกิดขึ้นอยู่ที่เดิมบ้าง แยกย้ายกันไปอยู่ในที่ต่างๆของอำเภอท่าศาลาบ้าง เช่นชุมชนมุสลิมบ้านยางด้วน ชุมชนมุสลิมบ้านทุ่งเกราะ ชุมชนมุสลิมบ้านสี่แยกวัดโหนด ชุมชนมุสลิมบ้านสองแพรก กลุ่มที่สองจากกลันตัน ถูกกวาดต้อนมาเมื่อคราวพระยานคร (น้อย)ไปตีเมืองไทรบุรี แล้วกวาดต้อนคนมาด้วย ทีแรกก็พามาปล่อยไว้ตามที่ต่างๆ เช่นพวกหนึ่งเอาไปไว้หลังพระธาตุ พวกหนึ่งพาไปไว้ที่บ้านนาเคียน ( ตำบลนาเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ) พวกหนึ่งพาไปไว้ที่บ้านปากพญา ( ตำบลปากพญา อำเภอเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช) พวกหนึ่งพาไปไว้ที่บ้านท่าซัก (ตำบลท่าซัก อำเภอเมือ จังหวัดนครศรีธรรมราช )
กลุ่มที่สามจากปัตตานี กลุ่มนี้เข้ามาค้าขายที่ปากน้ำกลายจนกระทั่งปากน้ำกลาย คนมุสลิมกลุ่มปัตตานีมีฐานะทางเศรษฐกิจและความรู้ทางศาสนาดีกว่ากลุ่มอื่นๆ เพราะว่าคนกลุ่มนี้ได้ย้ายเข้ามาต่างจากผู้คนสองกลุ่มข้างต้นคือ ย้ายมาเพื่อการค้าและการศาสนา ไม่ใช่จากปัจจัยของสงคราม
ปาตานี ฟอรั่ม : สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่เป็นร่องรอยของชาวมลายูในนครศรีธรรมราชมีอะไรบ้าง
บ้านกำปงลามอ ซึ่งบ้านกำปงลามอมีชื่อเรียก อย่างน้อย 2 ชื่อ คือ กำปงลามอ และบ้านทุ่งบ้านใหญ่ มีความหมายว่า “บ้านโบราณ” กำปงลามอเป็นชุมชนมุสลิมจากจังหวัดสตูลรุ่นแรกที่เข้ามาปลูกบ้านอาศัยและตั้งหลักแหล่ง หัวหน้ามุสลิมชื่อปังลิมอเจ๊ะเต๊ะมีตำแหน่งเป็นอดีตแม่ทัพเมืองสตูล ต่อมาชาวบ้านกำปงลามอย้ายถิ่นไปอาศัยที่บ้านทุ่งรง บ้านยางด้วน และบ้านวัดโหนด บ้านกำปงลามอเป็นแหล่งโบราณคดีของมุสลิมโมคลาน มีสุสานมุสลิม สระน้ำ และศาลาสุสาน วันที่เจ็ดหลังวันรายอออกบวช ลูกหลานที่อาศัยในตำบลโมคลานและตำบลใกล้เคียงในเขตอำเภอท่าศาลา เป็นประเพณีนัดหมายมาพบกันที่สุสานปังลิมอเจ๊ะเต๊ะ
................................................................................................................................................
อธิบายภาพ
1. อาจารย์กิตติ อะหลีแอ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการบริหารโรงเรียน. - ครูโรงเรียนวัดโมคลาน. โรงเรียน
2. ชุมชนมุสลิมบ้านตลาดแขก
3. ป้ายชื่อบ้านโมคลาน
4. สุสานปังลิมอเจ๊ะเต๊ะ