“ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม” ความต่างที่เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน (๒)

 

อับดุรเราะฮหมาน  มูเก็ม [1]

ที่ผ่านมา มุสลิมที่กลายเป็นประชากรส่วนน้อยของประเทศและมักตั้งคำถามเพียงด้านเดียวเสมอ นั่นก็คือ “คนไทยพุทธไม่เข้าใจในความเป็นมุสลิมอย่างเรา ?”

ในนามของคำว่า “มุสลิม” การขบคิดลักษณะนี้ มักเป็นปัญหาตามมาเสมอ เพราะเป็นตรรกะที่มักจะคิดเอาตัวเอง “เป็นศูนย์กลาง” ในการโคจรแห่งความเป็นเพื่อนร่วมโลก  ไม่ต่างกัน  ในนามคำว่า “ไทยพุทธ” ก็จะต้องปรับทัศนคติเพื่อหาทางออกร่วมกัน

อีกมุมหนึ่งที่มุสลิมอย่างเราต้องคิดนั่นก็คือ “มุสลิมอย่างที่เราเป็นเข้าใจความเป็นพุทธมากน้อยแค่ไหน ?”

ด้วยเหตุนี้ มุสลิมก็ต้องศึกษาความเป็นพุทธที่เราต้องคลุกคลีด้วยในทุกวัน เพราะเราใช้ชีวิตร่วมกันและ “รากเหง้าของความเป็นเรา” มันสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น อย่างน้อยก็รากเหง้าของเรา (ทั้งไทยพุทธ-มุสลิม) มาจากสายตระกูลเดียวกันโดยมาก นั่นก็คือ “ลัทธิฮินดู-พราหมณ์และศาสนาพุทธ” (มหายาน) ใน อาณาจักรลังกาสุกะ ก่อนจะมาเป็น       ”อิสลาม” ใน อาณาจักรปาตานีดารุสลาม

 เอาเข้าจริง  อิสลามก็เพิ่งเข้ามาในปัตตานียุคสมัยของ พญา ตู  นักปา  อินทิรา  มหาวังสา แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น “อิสมาอีล  ชาห์  ซิลลุลลอฮฺ  ฟิลอาลัม”  ปีค.ศ.๑๔๕๗  เพราะก่อนหน้านี้ เราไม่ได้เป็นทั้งไทยมุสลิมและไทยพุทธอย่างที่เราเป็นกัน

เอาเป็นว่า ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม มันคือ พื้นที่และบทเรียนที่เราต่างแสวงหามาพอ ๆ กัน และเราก็มีความสัมพันธ์มาเหมือนกัน เจ็บมาก็ไม่ต่างกัน ด้วยเหตุนี้ เราจึงเป็นมิตรสหายกันตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายอย่างตัดขาดกันไม่ได้อย่างแน่นอน

และมุมกลับกันของคนไทยพุทธ “ต้องศึกษาความเป็นอิสลาม” ด้วยคำถามที่ว่า “อิสลามคืออะไร ?” แล้วเริ่มกันหาคำตอบร่วมกัน ไม่ใช่ศึกษาและเข้าใจแค่เพียงว่า  “อิสลามไม่กินหมู” อย่างเดียว

เอาเข้าจริง บุคคลที่เราควรศึกษาวันนี้ ไม่ใช่ ยิว คริสต์ หรือ ฮินดู แต่สำหรับ คนไทย สิ่งที่เราควรศึกษาและเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง นั่นก็คือ “พุทธ-อิสลาม” เพราะเราต่างก็คลุกคลีกับสิ่งเหล่านี้เป็นประจำ ชีวิตเราอยู่ท่ามกลางความเชื่อเหล่านี้ คนจำพวกนี้ และวางรกรากในพื้นที่แห่งความไม่เหมือนเหล่านี้ดำรงอยู่ ทว่าเมื่อเราไม่เข้าใจ มันคือ “ชะตากรรมแห่งความรุนแรง”

ไม่ต่างจาก ผศ. ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี จากสำนักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้เชี่ยวชาญปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้  สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนใต้ไว้อย่างน่าสนใจใน “ 9 เดือน ของปีที่ 9 ; ในสถานการณ์ความรุนแรงอันยอกย้อน กระบวนการสันติภาพปาตานียังคงด้าวเดินไปข้างหน้า”

ภายใต้นิยามที่ชื่อว่า “ความรุนแรงเชิงคุณภาพ ; ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังและเข้มขันยิ่งขึ้น”[2]

ผู้เชี่ยวชาญปัญหาความขัดแย้งชายแดนใต้ได้นำเสนอไว้อย่างน่าสนใจใต้นิยามสถานการณ์ชายแดนใต้ว่า

“ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบันได้ก้าวย่างเข้าสู่ ๑๐๕ เดือน (นับตั้งแต่มกราคม ๒๕๔๗ –กันยายน ๒๕๕๕) มีเหตุการณ์เกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น ๑๒,๓๗๗ ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกัน ๑๔,๘๙๐ ราย เสียชีวิตประมาณ ๕,๓๗๗ ราย ผู้บาดเจ็บประมาณ ๙,๕๑๓ ราย”

ข้อมูลที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ “เหตุการณ์ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตร่วมกันถึง ๖๐๓ คน ในเดือนนี้ นับเป็นเดือนที่มีสถิติการบาดเจ็บบวกกับการตายในรายเดือนสูงสุดตั้งแต่ปี ๒๕๔๗  และในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๕ มีเหตุการณ์ความไม่สงบถึง ๓๘๐ เหตุการณ์ ในเดือนนี้มีสถิติความถี่ของการก่อความไม่สงบรายเดือนสูงสุดนับตั้งแต่มกราคม ๒๕๔๗”

ผู้เชี่ยวชาญได้ชี้แจงและตั้งประเด็นไว้อย่างน่าสนใจว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่  มันไม่ใช่แค่เพียงการนับจำนวนตัวเลขอย่างตื้น ๆ อย่างธรรมดา ๆ ทว่าสิ่งนี้กลับเป็น ตัวเลขมีชีวิตและมีความสูญเสียอย่างคณานับอยู่เบื้องหลัง”[3]

จากตัวเลขดังกล่าวพอที่จะบอกเรา (ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม) ได้ว่า “เราต้องทำอะไรสักอย่าง เพราะในแต่ละวันนับตั้งแต่เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เราต้องสูญเสียคนที่เรารักหรือเพื่อนร่วมโลกอย่างน้อยวันละประมาณ ๒ คน”

นี่คือความรุนแรงที่เราได้ก่อมันให้เกิดขึ้น ไม่ว่าด้วยเหคุผลที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยใดใดก็ตามที  บ้างอาจจะเกี่ยวข้องกับความไม่ยุติธรรมตามการศึกษาของนักสิทธิมนุษยชน  ส่วนหนึ่งเกิดจากเรื่องชาติพันธุ์และศาสนาจากการค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์ อาจจะมีเกิดจากพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ร่วมของกลุ่มคนที่ได้รับความไม่เท่าเทียมในสายตาของกองทัพปลดแอก  คงไม่พ้นจากการกระจายรายได้ไม่ทั่วถึงผ่านมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ หรือเกิดจากการไร้วิถีของศาสนาและการหลุดลุ่ยของชีวิตใต้แบบแห่งศาสนาผ่านแนวคิดของนักการศาสนา ความรุนแรงและการก่อความไม่สงบของกลุ่มผู้ก่อการในสายตาของรัฐไทยและกองทัพ  ความไม่ลงตัวของผลประโยชน์ของผู้แสวงหาอำนาจและกอบโกย

เกิดจากการปกครองที่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยใต้สายตานักการเมืองท้องถิ่น เกิดจากระบบการศึกษาที่กดขี่และไม่มีความชัดเจนผ่านแว่นขยายของนักการศึกษา  อาจเกิดจากการแพร่หลายของยาเสพติดจากการสำรวจของงานสาธารณะสุข อาจเกิดจากการกดขี่ของรัฐบาลกับการเป็นมุสลิมชนกลุ่มน้อยในสายตาของนักเคลื่อนไหวเพื่อสร้างสถานการณ์ เกิดจากระบบการจัดการคดีความมั่นคงไม่ทั่วถึงจากการสำรวจนักกฎหมาย ความไม่เท่าเทียมในสิทธิของพลเมืองในสายตาชาวบ้าน

หรืออาจ เกิดจากการขัดแย้งและแย่งชิงตำแหน่งและหน้าที่การงานกันเองของ (นักการเมืองท้องถิ่น -นักการศาสนา) ที่เมืองชายแดนเพื่อกอบโกยผลประโยชน์และยกระดับการเป็นอยู่ของสายตระกูลให้ดีขึ้น

ทว่า เมื่อเหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านี้จบลง ความสูญเสียได้เกิดขึ้น ภายใต้รากเหง้าแห่งความเป็นพี่น้องร่วมสายเลือด (ต่างกันแค่ศาสนาไทยมุสลิม-ไทยพุทธ)  เกือบจะทุกสถานการณ์ สิ่งหนึ่งที่ได้ยินตามมาและกลายเป็น บทสรุป คือ  “ความเป็นไทยพุทธ-ความเป็นมุสลิม เพราะเราไม่อาจอยู่ร่วมกันได้ ทุกคนต่างโยนความผิดมาให้กับความต่างเหล่านี้ว่าด้วยหลักความเชื่อ หลักการศรัทธาและวิถีปฏิบัติ จนกระทั่งกลายเป็น “แพะที่คอยรับบาปมากว่า ๙ ปี”

ปรากฏการณ์เหล่านี้ก็ได้ยืนยันถึงความต่างที่เราต้องเรียนรู้กันเพราะพระเจ้าสร้างมนุษย์มาด้วยความไม่เหมือนเพียงเพราะว่า “เพื่อทดสอบมนุษย์ว่า ในความไม่เหมือนเหล่านี้ มุสลิมที่ถืออัลกุรอ่านเป็นธรรมนูญ ยังดำเนินตามเจตนารมณ์แห่งความเป็นอิสลามได้หรือ ไม่ เพราะในความต่าง อิสลามก็จะไม่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมแตกแยกและวุ่นวาย”

 อัลกุรอ่านได้บอกอย่างชัดเจนว่า “และหากอัลเลาะฮ์ทรงประสงค์แล้ว แน่นอนก็ทรงทำให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติเดียวกัน แต่ทว่า เพื่อที่จะทรงทดสอบพวกเจ้าในสิ่งที่พระองค์ได้ประทานแก่พวกเจ้า” (๕ ; ๔๘)

เพราะเป้าหมายแห่งความต่าง นั่นก็คือ การทำความเข้าใจกันและเรียนรู้ในความไม่เหมือนกัน

 “พระเจ้าให้เราไม่เหมือนกัน เพียงเพื่อทดสอบว่าเรา เอาอะไรมาจัดการความไม่เหมือน อารมณ์ใฝ่ต่ำ หรือ หลักการศาสนา”

ในอัลกุรอ่านได้กล่าวเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนที่สุด

“เราได้ให้คัมภีร์ลงมาแก่พวกเจ้าด้วยความจริง ในฐานะเป็นที่ยืนยันคัมภีร์ที่อยู่เบื้องหน้ามันและเป็นที่ควบคุมคัมภีร์นั้น ดังนั้นเจ้าจงตัดสินระหว่างพวกเขา ด้วยสิ่งที่อัลเลาะฮ์ทรงประทานลงมาเถิด  และจงอย่าปฏิบัติตามความใคร่ใฝ่ต่ำของพวกเขา โดยเขาออกจากความจริงที่มายังเจ้า สำหรับแต่ละประชาติในหมู่พวกเจ้านั้น เราได้ให้มีบทบัญญัติและแนวทางไว้” (๕ ; ๔๘)

ในมุมของอิสลาม มักวางทุกอย่างไว้บนรากฐานแห่งอัลกุรอ่านเสมอ ด้วยคัมภีร์เหล่านั้น คือ ความกระจ่างที่สุดในการตัดสินปัญหาและความเป็นสังคมโลกที่มีคนไม่เหมือนเรา หรือ เราไม่เหมือนเขามักร่วมอยู่ด้วยเสมอ

“โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิงและเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูลเพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติในหมู่ของพวกเจ้า ณ ที่อัลเลาะฮ์นั้น คือ ผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลเลาะฮ์นั้นเป็นผู้รู้รอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน” (๔๙ ; ๑๓)

นี่คือส่วนหนึ่งที่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจ เมื่อ เราต่างประสบชะตากรรมเดียวกัน นั่นก็คือ การไดอะล็อก หรือ การหาทางออกร่วมกันด้วยการแลกเปลี่ยนระหว่าง เพราะ “ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม ในความต่างที่เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน” มันคือคำถามที่หนักอึ้งและเป็นภาระคนรุ่นใหม่อย่างเราต้องจัดการร่วมกัน

หาไม่แล้ว สิ่งเหล่านี้ คือ “มรดกแห่งความรุนแรงและความเกลียดชังที่จะพรากเพื่อนร่วมโลกไปอย่างน่ากลัวและจะกลายเป็นของขวัญอันน่าสยองนำไปสู่คนในรุ่นใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

กระทั่ง   Asghar Ali Engineer ได้แลกเปลี่ยนใน The Need For Inter-Religious Dialogue” ผ่านความจำเป็นที่สำคัญของการไดอะล็อกนั่นก็เพื่อ

ประการแรก         เพื่อเรียกร้องให้คนเข้ามาสนใจประเด็นแห่งความต่างเพราะการไม่ให้ความสำคัญมักจะนำไปสู่ปรากฏการณ์บางอย่างที่เกิดความรู้สึกถึง “การไม่ใส่ใจผู้อื่นรอบข้าง”

ประการที่สอง      นำไปสู่ความกระจ่างของความไม่เข้าใจในประเด็นต่าง ๆ เพราะโดยมาก ความไม่เหมือนที่อยู่ท่ามกลางความหลากหลายมักนำไปสู่การเข้าใจผิดเสมอ ๆ [4]

 “ขุดรื้อโคนต้นและรากเหง้า แล้วจะเข้าใจถึงดอกและใบแห่งเรา (ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม)  เรียนรู้ผ่านกิ่งก้าน เกสรและเมล็ดผลที่มักฉายให้ประจักษ์ถึงสายพันธุ์แห่งเรา (ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม)   ซึมซับถึงสายเลือดที่โยงใยและเชื่อมร้อยให้เข้ากันระหว่างเรา(ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม)   กระทั่ง เรา (ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม) ต่างสำนึกเหมือนกันผ่านพันธุ์ไม้ต่างก็มีที่มาจากสายตระกูลเดียวกัน แม้ดอกและใบที่ชูช่อจะเปล่งออกมาหลากสีและต่างกลิ่นก็ตาม”

 



[1] ปริญญาตรีการเมืองการปกครองคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี , ปริญญาโทวิชาเอกปรัชญาการเมืองอิสลาม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอาลีกัรมุสลิม,อินเดีย  ปัจจุบัน เป็นนักเดินทางและใช้ชีวิตด้วยการอ่านหนังสือ บทกวี การเขียนเรื่องสั้นลงนิตยสาร บทความเว็บไซต์ งานวิจัยและงานวิชาการตามโอกาสและวาระที่พบเห็นและเผชิญ เขียนเมื่อ 3-12-2012 ณ ห้องเช่าริมกุโบร์,อินเดีย

[2] ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, (บทวิเคราะห์) 9 เดือน ของปีที่ 9 ; ในสถานการณ์ความรุนแรงอันยอกย้อน กระบวนการสันติภาพปาตานียังคงด้าวเดินไปข้างหน้า”,ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ; ปัตตานี, 2 พฤศจิกายน 2522, หน้า 1 หรือ http://www.deepsouthwatch.org/node/3670

[3] ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, (บทวิเคราะห์) 9 เดือน ของปีที่ 9 ; ในสถานการณ์ความรุนแรงอันยอกย้อน กระบวนการสันติภาพปาตานียังคงด้าวเดินไปข้างหน้า”,ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ; ปัตตานี, 2 พฤศจิกายน 2522, หน้า 4 หรือ http://www.deepsouthwatch.org/node/3670

[4] หาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก The Nation and The World(The Fortnightly Newsmagazine), Asghar Ali Engineer ,“The Need For Inter-Religious Dialogue” ,April ; 16,Vol.19,489  P.18-19