ทัศนะจากเวทีการนำเสนอ "การเจรจาสันติภาพระหว่างมุสลิมมลายูและรัฐไทย" ปัตตานี
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ห้องประชุมใหญ่ตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้มีการจัดเวทีสัมมนาในหัวข้อ "การเจรจาสันติภาพระหว่างมุสลิมมลายูและรัฐไทย" เพื่อให้มีการวิพากษ์วิจารณ์บทความ และเนื้อหาของรายงานพิเศษ "การเจรจาสันติภาพระหว่างมุสลิมมลายูและรัฐไทย" โดยมี อ.อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง อดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) อ.ประสิทธ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ และ นายเอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี เป็นผู้ดำเนินรายการ
การนำเสนอครั้งนี้เริ่มต้นที่ คุณดอน ปาทาน ได้พูดคุยถึงที่มาที่ไปในการจัดทำรายงานชิ้นนี้ว่า
ในเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่มีความเหมาะสม เร็วๆ นี้ พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีได้ออกมาประกาศว่า จะมีการพูดคุยกันกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน ข้อสังเกตคือว่า ในการประกาศครั้งนี้จะใช้คำว่า "พูดคุย" ไม่ได้ใช้คำว่า "เจรจา" โดยมีการกล่าวถึง ศอ.บต. จะรับงานในการพูดคุยครั้งนี้
อย่างไรก็ตามในส่วนของข่าวการเจรจานี้ก็ได้หายไป ซึ่งข้อมูลในรายงานฉบับนี้คือ ข้อมูลที่เคยมีการรายงานมาบ้างแล้ว แต่ประเด็นก็คือ เรื่องเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่บ่อยมาก เลยไม่ได้รับความสนใจจากประชาชน และในเรื่องดังกล่าวนี้ไม่เคยได้รับการยอมรับจากทางรัฐบาลเลย
ต่อมาได้นำเสนอถึงพัฒนาการของการพูดคุยระหว่างรัฐบาลกับขบวนการ ในยุคทศวรรษ 80 เริ่มมีการพูดคุยกันแต่เป็นหน้าที่ของทางทหาร อย่างไรก็ตามหลังจากนโยบาย “ใต้ร่มเย็น” เหตุการณ์ดูเหมือนกับว่าสงบ แต่หลังจากนั้นได้เกิดเหตุการณ์ปล้นปืน ซึ่งอยู่ในช่วงของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ทางไทยก็ได้มีการประสานกับมหาธีร์ มูฮัมหมัด ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียในสมัยนั้น เพื่อที่จะจัดให้มีการพูดคุยกับกลุ่มขบวนการที่ลังกาวี ในครั้งนั้นก็มีผู้ใหญ่จากไทยไปร่วมพูดคุยกันหลายรอบ ได้มีข้อเสนอยื่นออกมาจากการพูดคุย แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ
ต่อมารัฐบาลของพล.อ.สรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ผลักดันให้มี "กระบวนการเจนีวา" โดยมีกลุ่มองค์กรอิสระจากเจนีวาเข้ามาเป็นตัวกลางในการประสาน แต่อุปสรรคสำคัญในการพูดคุยครั้งนั้นก็คือ ตัวแทนของรัฐไทยคือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้พูดคุยเพียงแค่บางกลุ่มของพูโล ซึ่งตอนนั้นได้แยกออกเป็นกลุ่มต่างๆ ถึง 3 กลุ่ม
ในสมัยของสมัคร สุนทรเวช ได้มีการขอความช่วยเหลือจากประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ทางอินโดนีเซียได้ส่ง ยูซุฟ คาลล่า โดยฝ่ายไทยได้ส่ง พล.ท.ขวัญชาติ กล้าหาญ อดีต มทภ. 4 ไปเป็นตัวแทน โดยเป็นการพูดคุยกันในทางลับ เรื่อยมาจนถึงสมัยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ดำเนินการต่อจากสิ่งที่ พล.อ.สรยุทธิ์ได้ทำไว้ แต่ผลที่ได้รับก็เป็นเช่นเดิม คือ ไม่มีใครเข้ามาร่วมด้วย เพราะในกลุ่มขบวนการเองก็แตกออกมาหลายกลุ่ม ซึ่งไม่มีกลุ่มใดสามารถเชื่อมต่อกับผู้ก่อการ หรือ จูแว (pejuang)ได้
ต่อมาในสมัยรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้มอบหมายงานให้กับ ศอ.บต. ภายใต้การกำกับของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่องเป็นผู้ดูแลนั้นได้ใช้พวกนักการเมืองท้องถิ่นในกลุ่มวาดะฮ์เก่า ไปพูดคุยกับขบวนการแต่ก็ไม่สำเร็จเช่นเคย
คุณดอนได้กล่าวสรุปทิ้งท้ายไว้ว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัด เป็นการต่อรองระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มขบวนการที่ตกขอบไปแล้ว ทั้งนี้ขบวนการที่เป็นตัวหลักก็ยังไม่พร้อมจะเจรจากับรัฐไทยโดยตรง แต่ในอนาคตเมื่อทุกอย่างลงตัวแล้ว เมื่อนั้นการเจรจาก็อาจเกิดขึ้น
ต่อมาคุณประสิทธิ์ ได้นำเสนอถึงประเด็นในการสร้างสันติภาพ
ใครก็ตามที่จะสร้างสงครามมันต้องมีเงื่อนไข ไม่มีเงื่อนไขทำไม่ได้ ถึงดันทุรังทำไปก็ไม่สำเร็จ สันติภาพก็เหมือนกัน ถ้าเงื่อนไขไม่มีดิ้นรนกันไปก็ไม่เกิดสันติภาพ สำหรับเงื่อนไขของสันติภาพในขณะนี้ ครั้งหนึ่งได้มีตัวแทนจากอาเจะห์ มินดาเนา มานั่งคุยกันที่ปัตตานี แม้จะได้เป็นเขตการปกครองพิเศษแล้ว ก็ต้องเผชิญอยู่กับกลุ่มอำนาจ กลุ่มผลประโยชน์ในพื้นที่ ปะทะกันด้วยอาวุธมีอยู่ตลอดเวลา การจัดระเบียบของสังคมก็ไม่ต่างจากสังคมเดิมก่อนหน้า ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอาเจะห์และมินดาเนานั้น อาจจะเป็นบทเรียนให้กับปัตตานี
กระบวนการสันติภาพในปัตตานีจะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ว่าให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหยุดนิ่ง แล้วให้ฝ่ายหนึ่งศิโรราบ เช่น ถ้าจะแก้ปัญหาในเรื่องของความขัดแย้ง ความรุนแรงในภาคใต้นี้ ไม่ใช่ให้ขบวนการ BRN ขบวนการพูโล ยอมสยบนิ่งเงียบ โดยส่วนตัวแล้วไม่ให้ด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะว่า เสี่ยงต่อการให้ประโยชน์กับผู้นำ เช่นว่าเราไปนั่งเจรจากันลับๆ นี้ ผมเชื่อว่าคนที่มีอุดมการณ์ ต่อสู้มายาวนานเกือบร้อยปี แล้วก็พยายามที่จะสามารถจัดตั้งองค์กร จนมีองค์กรที่สลับซับซ้อนถึงขนาดนี้ และมีระบบข่าวกรองที่ดีขนาดนี้ จะเล็งเห็นแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวแล้วมายุติการต่อสู้ลงอย่างง่ายดาย ซึ่งมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นในการที่รัฐคิดว่าต้องพยายามหาหมายเลข 1 หมายเลข 2 แล้วมานั่งคุยกัน มายื่นข้อเสนอต่างๆ ในส่วนของประโยชน์ส่วนบุคคล แทบจะไม่มีทางประสบความสำเร็จเลย ที่ผ่านมาจะเห็นว่าผู้ที่มานั่งเจรจากับรัฐคือผู้ที่หมดน้ำยาแล้ว เป็นกลุ่มขบวนการที่ไม่เป็นที่ยอมรับในพื้นที่
คุณประสิทธิ์ได้นำเสนอถึงกระบวนการสันติภาพไว้ได้อย่างน่าสนใจคือ ให้กลุ่มประชาสังคมมารวมกันเป็นเครือข่าย แล้วถกกันให้ลงตัว แล้วนำเสนอความคิดมาจากข้างล่าง เพราะฉะนั้นเจตนารมณ์ของมวลชนด้านล่างสุดนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าใครที่สามารถจับเจตนารมณ์มวลชนจริงๆ ได้ในระดับฐานล่างเป็นแนวทางหลักในการต่อสู้นี้ ฝ่ายนั้นจะได้รับชัยชนะ
ถ้าหากว่าเราทำไปตามความรู้สึกของกลุ่มเราเอง โดยไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของมวลชนฐานล่างสุด โอกาสที่จะชนะนอกจากไม่มีแล้ว ในอนาคตจะเจ็บตัวด้วย กระบวนการที่จะนำไปสู่สันติภาพต้องคำนึงถึงฐานล่างสุดเป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นการจัดเวทีดูเจตนารมณ์ของประชาชน การจัดกลุ่มเพื่อมาช่วยกันคิดหาทางออกเป็นทิศทางที่ถูกต้องในระยะยาว
ต่อมา อ.อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวงได้วิพากษ์รายงานและนำเสนอถึงเหตุการณ์สำคัญของกระบวนการเจรจาเพื่อนำไปสู่สันติภาพว่า การเจรจาคือเส้นทางหนึ่งที่จะนำไปสู่สันติภาพ จำเป็นที่จะต้องกระทำอย่างเป็นความลับ เพราะมันไม่สามารถที่จะทราบได้ว่า ผลในตอนสุดท้ายจะเป็นอย่างไร สำเร็จหรือไม่ หรือล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า
ต่อมาอาจารย์ได้กล่าวถึงเนื้อหาของรายงาน พร้อมกันนั้นได้ให้ข้อเสนอแนะบางประการ โดยเริ่มต้นจากส่วนของบทนำ ในส่วนที่ว่า (แต่ควรจะบันทึกไว้ด้วยว่า เนื่องจากขบวนการนี้ไม่มีฝ่ายการเมืองมาคอยให้การยืนยันการโจมตีของพวกเขาแต่ละครั้ง ดังนั้นจึงบอกไม่ค่อยได้แน่ชัดว่าการกระทำครั้งใดเป็นของนักรบจูแว) ในหลายๆ ครั้งที่เกิดเหตุการณ์แต่ไม่มีการประกาศ แต่นี้เป็นเทคนิคลับ ลวง พราง ของกลุ่มขบวนการ ซึ่งบางเหตุการณ์ก็มีการประกาศ และบางเหตุการณ์ไม่ประกาศ เช่น กรณีของการหยุดวันศุกร์ ถ้าคุณไม่ได้ทำ ทำไมคุณไม่ประกาศ ซึ่งผ่านไปหลายวันถึงจะประกาศในเว็บไซต์ว่า กลุ่มจูแวไม่ได้ทำ แต่มันก็ทำให้เกิดความเสียหายและความรู้สึกของประชาชนมาก แต่ผู้ที่เสียหายหนักก็คือรัฐบาล เพราะว่าดูแลความปลอดภัยของประชาชนไม่ได้ ในสายบุรีมีการระเบิดและประกาศหยุดวันศุกร์ ในสายบุรีเต็มไปด้วยทหาร แต่ชาวบ้านต้องอาศัยอยู่ในบ้านของตัวเองโดยที่ไม่กล้าออกไปไหน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แม้จะมีทหารอยู่เต็มไปหมด แต่ไม่สามารถที่จะประกันความปลอดภัยได้
ต่อมาในส่วนของบทที่ 1 เป็นบทของมหาธีร์ มูฮัมหมัด และ กระบวนการสันติภาพลังกาวี ซึ่งในการเจรจาครั้งนั้น กลุ่มขบวนการเสมือนว่าถูกบังคับให้ไป ถ้าไม่ไปคุณออกเดินทางออกจากมาเลเซีย แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะมีบัตรประชาชนเป็นชาวมาเลเซียก็ตาม แต่ทางมาเลเซียก็รู้ว่าไม่ใช่ชาวมาเลเซียดั้งเดิม ดังนั้นผู้ที่เข้าร่วมพูดคุยกับมหาธีร์เป็นผู้ที่ถูกบังคับให้เข้าร่วม ซึ่งการพูดคุยหรือการเจรจาสันติภาพต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการยินยอมและมีความเท่าเทียม ความเสมอภาค บนศักดิ์ศรีความเป็นนักสู้กับนักสู้ด้วยกัน แต่ที่เกิดขึ้นนี้ฝ่ายหนึ่งสูง อีกฝ่ายหนึ่งต่ำ ซึ่งไม่ได้
ในบทที่ 4 ในยุคของอภิสิทธิ์ เท่าที่ทราบเป็นความจำยอมของอภิสิทธิ์ที่ไม่เห็นด้วยกับการเจรจา ซึ่งอภิสิทธิ์ได้กล่าวว่าถ้าคุณอยากจะทำก็ทำผมไม่ขัดขวาง ดังนั้นจึงมีการใช้บารมีของคนบางคนที่อยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคประชาธิปัตย์ นำเสนอรายชื่อได้ 2-3 คน คนแรกที่เป็นฝ่ายการเมืองเป็นนักวิชาการ คนที่สองคนที่อยู่ในสายความมั่นคง คนที่สามเป็นคนที่อยู่ในฝ่ายความมั่นคงและเป็นนักวิชาการ ซึ่งในการเจรจาครั้งนั้นได้มีนายทหารเข้ามาร่วมด้วย ในการเจรจาครั้งนี้ถือว่าเป็นการเจรจาที่มีความสมบูรณ์ที่สุดที่มีทั้งนักการเมือง นักวิชาการ ทหาร กลุ่มองค์กรต่างประเทศ และสำหรับกลุ่มขบวนการที่เข้าไปพูดคุยก็มีขบวนการพูโลและบีอาร์เอ็น ซึ่งมีข้อเสนอในการหยุดยิง
บทที่ 5 ยุคของยิ่งลักษณ์และทวี สอดส่อง ก่อนที่จะมีการพูดคุยครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ที่คุยกันในกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งครั้งนั้นก็มีทุกกลุ่มที่เข้าไปร่วมด้วย เพราะโดนบังคับโดนสันติบาลมาเลเซียชัดเจน และบีอาร์เอ็นระดับหนึ่งในสิบก็เข้าไปด้วย ซึ่งในครั้งนั้นไม่มีทักษิณ แต่ก่อนหน้าที่จะมีการพูดคุย มีนักการเมืองอาวุโสบ้านเราได้พูดคุยในมาเลเซีย ในการเจรจาในเดือนมีนาคม ซำซุดดิง คานไม่ได้เข้าร่วมในการเจรจาเพราะคิดว่าตัวเองจะถูกใช้เป็นเครื่องมือ ซำซุดดิง คาน เป็นหัวหน้าพูโลอีกกลุ่มหนึ่ง
ในการทำงานของยิ่งลักษณ์ โดยให้ทวีเป็นตัวหลักนี้ ถือว่าเป็นการทำงานที่มีความเสี่ยงมาก เป็นการเอายอดพีระมิด ยอดสูงสุดเป็นที่ตั้ง ถ้าเกิดว่าพัง ก็พังทั้งหมด ทำไมกระบวนการสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ค่อยเป็นค่อยไปต่างจากกรณีของอาเจะห์และติมอร์ เลสเต โดยในกรณีของการเคลื่อนไหวในติมอร์ เลสเต นักเคลื่อนไหวในติมอร์ เลสเต เคยเจอในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นักเคลื่อนไหวชาวติมอร์ในช่วงก่อนได้รับเอกราช 15 ปี ซึ่งมีกระบวนการที่จะนำไปสู่เอกราชโดยเดินทางไปวอชิงตัน ไปที่รัฐสภาอเมริกา เพื่อที่จะหาทางออกให้กับติมอร์ แต่ไม่เคยพบเห็นมากนักในกรณีของนักเคลื่อนไหวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะไปสู่นานาชาติเพื่อที่จะหาทางออกให้กับพวกเรา
ทั้งนี้ข้อเสนอจากการพูดคุยในเดือนมีนาคม ข้อสรุปจากการพูดคุยโดยสรุปคือ ข้อที่ 1 ปล่อยนักโทษการเมือง ข้อที่ 2 ยกเลิกแบล็คลิสต์ ข้อที่ 3 ยกเลิก พ.ร.ก. ข้อที่ 4 ถอนทหารออกจากพื้นที่ ทุกข้อเสนอถูกยอมรับ ยกเว้นข้อที่สี่ที่ต้องใช้เวลานาน เมื่อการพูดคุยตกลงกันเรียบร้อย สัญญาว่า 1 เดือน จะให้คำตอบ แต่ผ่านไปสามถึงสี่เดือน ยังไม่ได้รับคำตอบ เพราะว่ารัฐไทยยังไม่เข้าใจในกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ ดูเหมือนว่าฝ่ายขบวนการจะเข้าใจกระบวนการเจรจามากกว่าฝ่ายรัฐเสียอีก ตามทัศนะของผู้บรรยาย
มีบทหนึ่งที่น่าสนใจ ตามหาสะแปอิง บาซอ น่าสนใจตรงที่ว่า ถ้าเจรจาหรือพูดคุย จะไปพูดคุยกับใคร ในมุมมองส่วนตัว ยิ่งท้าทายถ้าหากเราไม่รู้ว่าใครเป็นหัวหน้า จำเป็นต้องใช้วิทยปัญญาให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ใช่ไม่ใช้ปัญญา แล้วไปใช้แต่ปืนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มันจะเจอกันที่ไหน เพราะว่าปืนมาก็ปืนไป แรงบ้างไม่แรงบ้างเป็นเรื่องปกติ นี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นคิดว่าศักยภาพของขบวนการไม่ใช่ธรรมดา ไม่ใช่โจรกระจอก ไม่ใช่พวกว่างงาน แม้แต่หัวหน้ายังหาไม่เจอแต่เกิดเรื่องทุกวัน มันคืออะไร
อันที่สองความเข้มแข็งของรัฐไทย จนทำให้กระบวนการสันติภาพเกิดขึ้นได้ยาก ฉะนั้นสัญญาณเชิงบวกจะต้องเกิดขึ้น สัญญาณเชิงบวกที่เกิดจากกลุ่มขบวนการมีอยู่ลางๆ ถึงแม้ว่าไม่ชัดทั้งหมดทุกกลุ่ม แต่ก็ยังมีเป็นลางๆ จากกระบวนการสันติภาพ 4-5 ปีที่ผ่านมาว่า ยินดีที่จะมีการพูดคุยอย่างเสมอเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีของนักต่อสู้เพื่อปัตตานีและนักต่อสู้เพื่อรัฐไทย
ต่อมาในส่วนของความไม่เข้าใจในกระบวนการพูดคุยและเจรจา ซึ่งตรงนี้ในส่วนของฐานล่างต้องทำความเข้าใจให้มากที่สุด เพื่อไปผลักดันแนวคิดทางการเมืองให้กับผู้ที่อยู่ทางด้านบนให้เข้าใจว่าพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีคนตายไปแล้วกว่า 5,000 คน
จาก 5 รัฐบาลที่ผ่านมาการพูดคุยถูกทำให้เป็นเรื่องลับ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครกล้าพูดถึง เป็นเรื่องของชนชั้นนำ และก็ยุติลงบนกลุ่มของชนชั้นนำ โดยที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถที่จะรับรู้ถึงข้อเสนอ หรือความเป็นไปในการพูดคุยของทั้งสองฝ่าย ซึ่งถือเป็นความล้มเหลว เนื่องด้วยการเจรจาไม่สามารถที่จะส่งผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดแล้ว ความรุนแรงที่สิ้นสุดบนโต๊ะเจรจา ยังคงเป็นความปรารถนาอันสูงสุดของผู้แสวงหาสันติภาพ