ข้อเสนอเวทีนโยบายสาธารณะ : โรงเรียนของรัฐควรเป็นเสมือนโรงเรียนของชุมชน

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้ชมทุกท่าน

การศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติ เพราะการศึกษาเปรียบเสมือนดวงประทีปส่องนำชีวิต เป็นประตูของความสำเร็จ และเป็นกุญแจแห่งอารยธรรม 

สมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกาศปิดโรงเรียน และยื่นมติ 8 ข้อ ต่อนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2555 ทีปัตตานี

(สมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกาศปิดโรงเรียน และยื่นมติ 8 ข้อ ต่อนายกฯ และ รมต.กระทรวงศึกษาธิการเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2555 ทีปัตตานี)

สำหรับการศึกษาชายแดนใต้นั้นในการแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาในสถานการณ์ความไม่สงบที่กำลังยกระดับความรุนแรงอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่นการเผาโรงเรียนของรัฐ  การสังหารครูหลายร้อยศพและล่าสุดกลางเดือน พฤศจิกายน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ากำชำ  อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ก็เป็นรายล่าสุด จนทำให้ สมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกาศปิดโรงเรียน และยื่นมติ 8 ข้อ ต่อนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(จาก http://news.ch7.com/detail/14335)  ไม่เพียงแต่ครูโรงเรียนของรัฐเท่านั้นอุสตาซหรือครูสอนศาสนาก็ถูกสังหารและโดนจับหลายร้อยคนเช่นกัน

จากการที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมประชุมใน เวทีวิพากษ์นโยบายสาธารณะ: การศึกษาชายแดนใต้ ณ ห้องประชุมสำนักงานการศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดยะลา  เมื่อวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งจัดโดยสภาประชาสังคมชายแดนใต้  ได้อธิบายภาพรวมของการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ ว่า การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีพื้นฐานสามหลักคิดคือหรือสามองค์ประกอบคือ บูรณาการการศึกษา การศึกษาเพื่อศีลธรรมและการศึกษาเพื่อพหุวัฒนธรรม  (Integrational Education, Moral Character, and Multiculturalism)

ในกระบวนการศึกษา นั้นตั้งอยู่บนฐานแนวคิดดังกล่าว การศึกษาทั้งในปฐมวัย ระดับประถม และมัธยม ต้องทำให้เกิดการศึกษาทางศาสนา สามัญศึกษาและอาชีวะซึ่งเน้นทั้งความเข้มข้น ในทางการศึกษาทั้งทางด้านศีลธรรม และความเข้มข้นทางวิชาการทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และมนุษยศาสตร์  (Intensive and Integrative Religious and Secular Educational Processes) เพื่อพัฒนาคนที่มีคุณธรรมตามคุณธรรมตามประเพณี และศาสนาและ มีความสามารถในการแข่งขันในการพัฒนา

เป้าหมายสูงสุดที่จะปรากฏในการศึกษาระดับอุดมศึกษาและสถาบันวิชาการชั้นสูงในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือความเป็นเลิศในทางการวิจัยและองค์ความรู้ทางวิชาการ มีความเป็นสากลเพื่อรองรับประชาคมนานาชาติ อาเซียนและมีคุณธรรม (Exellence, Metropolitan, and Moral Charaaters

ในตัวแบบกระบวนการการทางการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีกระบวนการย่อยๆที่รองรับทั้งสามระดับ คือปฐมวัย   การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวะศึกษา และในระดับสูงคือการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัย ทุกระดับจะเชื่อต่อกันเพื่อนำไปสู่การพัฒนา การศึกษาในสถานการณ์ความขัดแย้ง แผนกลยุทธ์ แผนงาน โครงการจะสร้างขึ้นบนพื้นฐาน กระบวนการดังกล่าว

จากถอดบทเรียนเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันดังกล่าวยังพบว่าการจัดการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรเป็นการศึกษาตลอดชีวิตที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน ปรับปรนเข้ากับยุคโลกาภิวัตรและสามารถเปิดประสู่ประชาคมอาเซี่ยนอย่างเท่าทันโดยควรมีนโยบายการพัฒนานโยบายสาธารณะดังนี้

1.  ใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง มุ่งให้คนทุกคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง  ตลอดชีพ และมีคุณภาพทั้งด้านวิชาสามัญ วิชาชีพ และศาสนา ทั้งในระบบ  นอกระบบ และตามอัธยาศัยพร้อมทั้งสอดคล้องกับวิถีชุมชน มีความรู้ความสามารถ และสามารถใช้ภาษาไทยในการสื่อสารกันได้อย่างถูกต้องชัดเจน มีความรู้ภาษามลายูกลาง  ท้องถิ่น   ภาษาอังกฤษเพื่อสู่ประชาคมอาเซี่ยน และหากเป็นไปได้มีความรู้ภาษาภาษาจีนกลาง เพื่อการสื่อสาร ติดต่อและเจรจาธุรกิจ มีความสามารถในการประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมบนพื้นฐานของศาสนาที่ถูกต้อง โดยสำรวจข้อมูลและความต้องการทางการศึกษาของประชาชนเป็นรายบุคคล และจัดทำแผนงาน โครงการรองรับในทุกระดับและประเภทของการศึกษา ในขณะเดียวกันมีการสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองโดยเฉพาะกรรมการสถานศึกษาระดับรากหญ้าให้เข้าใจบทบาทและหน้าที่ในการจัดการตนเองในการจัดการศึกษาของชุมชน โดยสภาประชาสังคมควรจัดเวทีการจจัดการตนเองด้านการศึกษา 

2. ใช้ตำบลเป็นพื้นที่เป้าหมาย มุ่งให้เกิดการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันในตำบล ทั้งหน่วยงานและบุคลากรของรัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนทุกภาคส่วน โดยสำรวจทรัพยากรทางการศึกษา จัดทำแผนการศึกษาที่บูรณาการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและกีฬาระดับตำบล และจัดให้มีคณะพัฒนาการศึกษาประสานงานการศึกษาระดับตำบลที่เชื่อมโยงทุกมิติ โดยมีสถาบันอุดมศึกษา วิทยาลัยชุมชน และสถาบันอาชีวศึกษาเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการ

3. การพัฒนาสถานศึกษาของรัฐ

ควรทำให้โรงเรียนของรัฐเป็นเสมือนโรงเรียนของชุมชนโดยให้ความสำคัญกับคณะกรรมการสถานศึกษาและเป็นฐานการฟื้นฟูระบบโรงเรียนแบบพหุศาสนิกให้มีความพร้อมด้วยคุณภาพทางการศึกษาทุกด้านโดยเฉพาะด้านวิชาการแต่สามารถนำหลักศาสนามาบูรณาการกับวิถีชีวิตและอยู่ร่วมกับต่างศาสนิกได้  อันเนื่องมาจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามโดยเฉพาะระดับมัธยมศึกษานักเรียนทั้งหมดเป็นมุสลิมทำให้การแยกตัวของสังคมมากขึ้นในขณะที่โรงเรียนของรัฐมิได้สนองการเรียนรู้ตามวิถีที่ชุมชนต้องการดังนั้นหากโรงเรียนของรัฐเองจะต้องปรับหลักสูตรการเรียนให้สนองความต้องการของชุมชนด้วยเพราะในแง่วิชาการโรงเรียนเอกชนปัจจุบันไม่ได้น้อยหน้าโรงเรียนของรัฐถึงแม้งบประมาณการจัดการศึกษาของรัฐจะมากกว่า ในขณะเดียวกันควรส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาของรัฐกับชุมชน  มัสยิด เช่นชุมชนใดต้องการจัดการเรียนศาสนาระดับตาดีกา  เรียนอัลกุรอาน ซึ่งมีสถานที่ไม่พอ สามารถใช้อาคารเรียนของโรงเรียนที่ว่างในตอนเย็นและเสาร์-อาทิตย์จัดการศึกษาและสามารถนำความรู้ดังกล่าวมาเทียบโอนในวิชาศาสนาของโรงเรียนได้เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีและสามารถประหยัดงบประมาณของรัฐและชุมชนได้มาก

หากโรงเรียนเป็นของชุมชนอย่างแท้จริงปัญหาการเผาโรงเรียนจะน้อยลงหรือไม่มีอย่างเช่นสถาบันปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่ไม่เคยได้ยินว่าสถานศึกษาเหล่านนั้นถูกเผา  และครูก็จะเป็นครูของชุมชนซึ่งชุมชนจะช่วยเป็นเกราะกำบังให้  ส่วนมาตราการการรักษาความปลอดภัยทางทหารก็ไม่จำเป็นในที่สุด