“ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม” ความต่างที่เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน (1)
โดย อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม [1]
ผมเริ่มออกจากห้องพักแบกกระเป๋าไปยังเมืองอักรา ในช่วงเช้าตรู่ของวันหยุดสุดสัปดาห์ ผมใช้เวลาว่างไปทำธุระและพบเจอเพื่อนที่ผมรู้จักมักคุ้นคนหนึ่งในช่วงสมัยที่เราเรียนด้วยกันที่ R.B.S. COLLEGE ,BHIM RAO DR. AMBEDKAR UNIVERSITY เมืองอักรา SANJIVNEE เธอเป็นหญิงสาวชาวฮินดู เป็นเพื่อนร่วมห้องของผมและเป็นเพื่อนอินเดียคนเดียวที่ผมสนิท
ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้านของเธอที่อยู่ไม่ไกลจากคิวรถประจำทางระหว่างรอรถกลับห้องพักที่เมืองอาลีกัร
คำถามแรกที่หญิงสาวผู้นี้ถามผม ว่า “ทานอะไรได้บ้าง ?” ผมเริ่มเข้าใจคำถามเหล่านั้นดี เพราะเธอก็รู้ว่า “เราต่างไม่เหมือนกันในด้านหลักการศรัทธา” โลกเราดำรงท่ามกลางความหลากหลาย จึงไม่แปลกที่หญิงสาวผู้นั้น ถามผมและเพื่อนอีกสองสามคนที่ไปด้วยว่า “เราทานอะไรได้บ้าง ?” มันเป็นคำถามปลายเปิดเพื่อให้เราได้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีพลัง
เราไม่มีคำตอบอย่างอื่น นอกจาก “มังสวิรัติ” หรือ “อาหารเจ” เพราะเป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุดสำหรับเราที่เป็นมุสลิมในการกินและเป็นเรื่องที่สะดวกที่สุดสำหรับครอบครัวฮินดูที่ไม่เคยเนื้อสัตว์ หรือ ที่เขามักเรียกกันจนเราติดปากว่า “Non-Vegetarian”
เราได้เจอกับครอบครัวที่เป็นชาวฮินดู ครอบครัวของหล่อนไม่เคยทานเนื้อสัตว์และมันก็เป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับเราที่จะไปทานเนื้อในชุมชนที่ไม่ใช่มุสลิม เพราะการรับประทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ทั้งหมดในมุมของอิสลาม นั่นก็หมายความว่า ต้องผ่าน “การเชือดตามหลักการอิสลาม”เท่านั้น มุสลิมอย่างเราจึงจะรับประทานได้ (ยกเว้นอาหารทะเล เช่น จำพวกปลา กุ้ง หมึก ไม่ต้องเชือด)
ขณะเรานั่งไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกับครอบครัวของหญิงสาวผู้นี้ ทุกอย่างก็ลงเอยไปด้วยดี ญาติบางคนของหล่อนทำงานอยู่ในประเทศไทย บ้างก็เรียนหนังสือ และที่สำคัญกว่านั้น พี่ชายของหล่อนเคยไปทำงานที่ประเทศไทยมาแล้ว ระยะหนึ่ง จึงเป็นเรื่องง่าย ที่เราจะเข้าใจกัน หลังจากเราละหมาดมักริบในช่วงพลบค่ำแถบชุมชนบ้านฮินดู (หล่อนจัดสถานที่พิเศษไว้ให้มุสลิมอย่างเราได้ละหมาด แยกจากห้องที่เราทานข้าว เพราะหล่อนให้เหตุผลว่า ห้องนอนอาจไม่สะอาด และอาจรบกวนความรู้สึกของแขกอย่างเราในการให้บริการ)
เราเริ่มเดินทางออกจากบ้าน ทุกคนในบ้านเดินมาส่งที่คิวรถประจำทาง เราได้รับดอกไม้สีเหลืองคนละหนึ่งดอก มันคือ “ดอกดาวเรือง”[2] เหตุผลก็เพราะว่า “เพื่อให้พระเจ้าของหล่อน (ในศาสนาฮินดู)ได้คุ้มครองพวกเราในการเดินทาง” เราหันมองหน้ากัน ด้วยความรู้สึกอึ้งและมึนงง แต่ในช่วงเวลานั้น “น้ำใจแห่งเพื่อนมนุษย์นับ เป็นสิ่งที่สำคัญและยิ่งใหญ่เสมอ”
ผมก็ยื่นมือไปรับและกล่าวขอบคุณ ในส่วนลึกผมก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจเล็กน้อย เพราะ “ดาวเรือง คือ สัญลักษณ์แห่งความเป็นฮินดู” ในขณะความเชื่อของเราคือ“อิสลาม” แต่ ในมุมมองและความรู้สึกช่วงนั้น “เราต่างเป็นมนุษย์และเพื่อนร่วมโลก”
“สิ่งที่หยิบยื่นมา ย่อมสำคัญและจริงใจเสมอจากสหาย” ผมจึงหยิบ แล้ว นึกในใจว่า “หยิบมาก่อน เพราะยังไงเราก็ไม่ได้ศรัทธาแบบนั้น” พอหยิบมาแล้ว ค่อยเอาเก็บไว้ที่ไหนสักแห่งหรือทิ้งหายไปก็ไม่เห็นจะแปลกหรือน่าเกลียด ทว่ามันจะ “น่าเกลียดและน่าสมเพศตัวเอง” มากกว่า หากการหยิบยื่นของมิตรสหายด้วยความหวังดี โดนตัดทอนด้วยความรู้สึกแห่ง “การชิงชังและการปฏิเสธ”
ผมคิดได้แค่เพียงว่า “เราเก็บความต่างไว้เพื่อเรียนรู้ เราเก็บความรู้สึกดีไว้เพื่อบอกความชัดเจนแห่งอิสลาม เราเก็บการให้เกียรติกันเพื่อดำรงไว้ซึ่งแบบฉบับอันดีงามแห่งอิสลาม เราปรนนิบัติต่อเพื่อนมนุษย์เสมือนสหายร่วมโลก เพราะทุกอย่าง ล้วนออกมาจากความหวังดีแห่งมิตรภาพ”
อาจจะน่าเป็นห่วงกว่า หาก “เรากลับทิ้งดอกไม้ดอกนั้นไง้ต่อหน้าเขาหรือเราปฏิเสธที่จะรับอาจทำให้เพื่อนร่วมโลกต้องลำบากใจ” เพราะเราไม่มีเวลาพอจะอธิบายอิสลามที่เราศรัทธาหรือสิ่งที่เราเชื่อให้เขาเห็นและรับรู้ ทว่า เราก็ไม่มีสิทธิจะทำร้ายความรู้สึกและความดีงามแห่งมิตรภาพด้วย หากมันไม่ร้ายแรงถึงขั้นทำลาย “หลักการศรัทธา(อากีดะฮ์)แห่งอิสลาม”
ผมเริ่มปริยิ้มและดีใจที่หาทางออกในชั่วโมงเร่งด่วนแบบนั้นด้วยการหยิบดอกไม้มาด้วย ทว่า “การทิ้งดอกไม้ อาจหมายถึงการตัดมิตรภาพของพวกเรา” ระหว่างรถเริ่มออกจากานชะลา ผมได้หวนคิดไปถึงสยามประเทศที่เรามักประสบปัญหาลักษณะนี้มามากต่อมาก และเรื่องราวแบบนี้ มันคือ “มิติแห่งความหลากหลาย” ที่ในอีกมุมหนึ่งเราไม่ได้จัดการอย่างลงตัว กระทั่ง มันกลายเป็น “เชื้อไฟแห่งคามชัง ความรุนแรงและการฆ่าฟันกันอย่างเลือดเย็น”
หลายต่อหลายครั้งที่สถานการณ์ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกอธิบายแห่งการไม่เข้าใจระหว่างกัน ไม่สนใจในความเป็น “พุทธ-มุสลิม” ไม่เปิดใจในความเป็น “รัฐไทย-กลุ่มขบวนการ” ไม่เรียนรู้ในความไม่เหมือนเรื่อง “ความเป็นมาลายู-ซีแย” (มุสลิมที่พูดมาลายูไม่ได้) ไม่คำนึงในความเป็นอิสลาม “สายใหม่-สายเก่า” กระทั่งเรา “ห้ำหั่นกัน”
“เมื่อความรุนแรงปรากฏกายในเงามืด “เรา” ต่างประสบชะตากรรมเดียวกัน”
จากข้อมูลของ “ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนใต้” ที่ได้เขียน สคริปต์โดย “รอมฏอน ปันจอร์” และอำนวยการผลิตโดย “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” ระบุว่า
จากมกราคม ๒๕๔๗ ถึง พฤศจิกายน ๒๕๕๔ เกือบ ๘ ปี มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นทั้งสิ้น ๑๑,๓๓๒ เหตุการณ์ มีผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งสิ้น ๔,๙๘๔ ราย มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งสิ้น ๘,๓๑๑ ราย
เฉลี่ยแล้วในวันหนึ่ง ๆ มีผู้เสียชีวิต ๑.๗ คน หรือราว ๆ เกือบ ๒ คน / วัน ในจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นมุสลิม ๕๙ เปอร์เซ็น หรือประมาณเกือบ ๓,๐๐๐ คน ผู้สูญเสียเป็นพุทธ ๓๘ เปอร์เซ็น หรือประมาณ เกือบ ๒,๐๐๐ คน
ในจำนวนผู้บาดเจ็บเป็นมุสลิม ๓๒ เปอร์เซ็น หรือประมาณ ๒,๖๐๐ กว่าคน ในจำนวนผู้บาดเจ็บเป็นพุทธ ๖๐ เปอร์เซ็น หรือกว่า ๕,๐๐๐ คน ราษฏร – คนธรรมดาสามัญ ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงมากที่สุด หรือ ราว ๕๐ เปอร์เซ็นของเป้าโจมตี ในขณะที่ทหารและตำรวจมีอยู่เพียง ๑๓ เปอร์เซ็น เด็กกำพร้า ๔,๗๐๐ คน หญิงหม้าย ๒,๒๐๐ คน
ความจริงไทยมุสลิมกับไทยพุทธในสยามประเทศต่างก็มีบทเรียนไม่ต่างกัน นั่นก็คือ การเป็นชนกลุ่มน้อยของกันและกัน
ในสังคมสยามประเทศ มุสลิมคือ ชนกลุ่มน้อย และในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไทยพุทธ คือ ชนกลุ่มน้อย กระทั่ง สองอย่างนี้ คือ บทเรียนที่ต่างคนต่างได้เรียนรู้มาเท่ากันและสูญเสียมาไม่ต่างกัน ทว่าผลพวงแห่งความรุนแรงทั้งหมดเหล่านี้ กลายเป็นคำถามอย่างเดียวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ นั่นก็คือ ความไม่เหมือนระหว่างไทยพุทธ-ไทยมุสลิม
“เราจะอยู่ร่วมกันได้ไหม หากได้แล้ว ได้อย่างไร (เมื่อทั้งสอง ต่างมีบทเรียนมาไม่ต่างกันและสูญเสียมาเกือบจะเท่ากัน) ?”
มีการย้ายถิ่นฐานทั้งภายในภูมิภาคและภายนอกภูมิภาคของชาวพุทธประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็น มีการย้ายถิ่นฐานทั้งภายในภูมิภาคและนอกภูมิภาคของมุสลิม ประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็น “คดีความมั่นคง” ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ – ตุลาคม ๒๕๕๔ ทั้งสิ้น ๘,๑๙๘ คดี ในจำนวนนี้มีเพียง ๒๔ เปอร์เซ็น หรือเกือบ ๒,๐๐๐ คดี ที่รู้ตัวผู้ก่อการ
คดีความมั่นคงตั้งแต่ ๒๕๔๗ - ตุลาคม ๒๕๕๔ ทั้งสิ้น ๘,๑๙๘ คดี ในจำนวนนี้จับกุมตัวได้ประมาณ ๑๗ เปอร์เซ็น ๑,๓๘๕ คดี เจ้าพนักงานสอบสวนส่งฟ้องเพียง ๒๐ เปอร์เซ็น หรือ ๑,๖๔๑ คดี ศาลพิพากษาลงโทษในคดีความมั่นคงเพียง ๕๕ เปอร์เซ็น หรือประมาณ ๒๔๓ คน และคดียกฟ้อง ๔๕ เปอร์เซ็น หรือประมาณ ๒๔๑ คน
เราต่างผ่านอะไรมาเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นช่วง ๒๕๔๗ คดีปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ ๔ , คดีอุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร ,เหตุการณ์ยิงถล่มมัสยิดกรือเซะ,เหตุการณ์นองเลือดที่ ตากใบ,เหตุการณ์ปิดเมืองยะลา, เกิดกรณีอพยพของชาวไทยมุสลิมไปยังมาเลเซียประมาณ ๑๓๑ คน , สังหารครูประสาน ชูมาก,ทำร้ายครูจูหลิง,กราดยิงรถตู้ยะหา-บันนังสะตา,ฆ่าทหารที่ตันหยงลิมอ,ชุมนุมประท้วงที่มัสยิดกลางปัตตานี ,กรณีซ้อมทรมานนักศึกษายะลา อิสมาแอ เดะ, กรณียะผา กาเซ็งและอื่น ๆ อีกมากมาย
ความรุนแรงเดินไปสู่ขั้นวิกฤติภายใต้ ๖ นายกรัฐมนตรี ,๖ คน ผู้บัญชาการทหารบก, ๗ คน ของแม่ทัพภาคที่ ๔ , ๗ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, ใต้การทำงานของหลายหน่วยงานเจ้าภาพในการดับไฟใต้ ไม่ว่าจะเป็น กอ.รมน.ภาค ๔ /พตท./ศอบต./กอ.สสส.จชต./ศบ.ชต./ศชต. ผ่านการดำเนินงานของ กฎหมายพิเศษ/กฎอัยการศึก/พรบ.ความมั่นคง/พรก.ฉุกเฉิน
กองกำลังของรัฐทั้งทหารและตำรวจมากกว่า ๖๐,๐๐๐ นาย ใช้งบประมาณภาครัฐทั้งสิ้น ๑๔๔,๐๐๐ ล้านบาท
เมื่อทั้งหมดนี้ “ไร้กระบวนการทำความเข้าใจ มันคือที่มาแห่งการตัดราก สะบั้นเหง้ากันเหมือนอย่างที่เห็น”
“อัสกัร อาลี แอนจิเนีย” (Asghar Ali Engineer) นักเคลื่อนไหวองค์กรพัฒนาสังคมคนสำคัญของอินเดียได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจในวารสาร “The Nation and The World” ประจำเดือน เมษายน วันที่ ๑๖ ปี ๒๕๕๕ ในประเด็น “The Need For Inter-Religious Dialogue” ว่า
“โลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย มักสร้างให้มนุษย์อย่างเรามีกรอบความคิดและแนวทางกับขับเคลื่อนสังคมและการดำเนินชีวิตไปอย่างไม่หยุดยั้ง ผ่านความเป็น โลกาภิวัตน์ ความเป็นสากล ความเป็นประชาธิปไตย แม้กระทั่ง ความเป็นรัฐชาติ สิ่งเหล่านั้น มักเป็นเครื่องยืนยันถึงความสวยงามของโลก ทว่า ในมุมกลับกัน หากมนุษย์ไม่ได้ทำความเข้าใจหรือ ไดอะล็อก แน่นอน มันคือ ฉนวนแห่งสงครามกลางเมือง”[3]
[1] ปริญญาตรีการเมืองการปกครองคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี , ปริญญาโทวิชาเอกปรัชญาการเมืองอิสลาม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอาลีกัรมุสลิม,อินเดีย ปัจจุบัน เป็นนักเดินทางและใช้ชีวิตด้วยการอ่านหนังสือ บทกวี การเขียนเรื่องสั้นลงนิตยสาร บทความเว็บไซต์ งานวิจัยและงานวิชาการตามโอกาสและวาระที่พบเห็นและเผชิญ เขียนเมื่อ 3-12-2012 ณ ห้องเช่าริมกุโบร์,อินเดีย
[2] ดอกไม้เพื่อบูชาเทพเจ้าของศาสนาฮินดู
[3] หาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก The Nation and The World(The Fortnightly Newsmagazine), Asghar Ali Engineer ,“The Need For Inter-Religious Dialogue” ,April ; 16,Vol.19,489 P.18-19