การพัฒนาเศรษฐกิจในมาเลเซีย (4)

 

 

วิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย
 
ในขณะที่ประเทศต่างๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเร่งพัฒนาประเทศตัวเอง เพื่อดันตัวเองเข้าสู่การยอมรับต่างๆ นั้น เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นคือ วิกฤติการณ์ทางการเงินในปลายปี ค.ศ. 1997 สัญญาณเตือนถึงวิกฤติการณ์เศรษฐกิจในมาเลเซียเริ่มต้นที่ตลาดหุ้นในประเทศอยู่ในภาวะซบเซา อันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และยังคงต่อเนื่องไปถึงยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ส่งผลให้เกิดการชะลอโครงการก่อสร้างต่างๆ เช่น โครงการขยายสนามบินเซปัง โครงการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนบากุน เป็นต้น จากเหตุการณ์วิกฤติการทางการเงินนี้ มหาเธร์ได้กล่าวประณามจอร์จ โซรอสและนักค้าเงินชาวตะวันตกอื่นๆ ว่ามีการกระทำที่เป็นปิศาจ
 
มาตรการในการจัดการวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ
 
รัฐบาลมาเลเซียได้มีมาตรการเข้าควบคุมการค้าหุ้น เป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตามมาตรการนี้ได้ส่งผลเสียด้วยการที่ทำให้เงินจำนวนมากทะลักออกนอกประเทศ ดัชนีหุ้นดิ่งลง ค่าเงินริงกิตอ่อนค่าลง และต่อมาได้รัฐบาลได้สั่งยกเลิกมาตรการนี้ ทางด้านอันวาร์ อิบราฮิม รองนายกรัฐมนตรีได้วางมาตรการด้วยการชะลอแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจ ตัดลดงบประมาณ ลดการขาดดุลบัญชีเงินสะพัดให้เหลือร้อยละ 5 ของ GDP และระงับโครงการขนาดใหญ่ ทางออกสำหรับหลายๆ ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ทางเงิน ประเทศบางประเทศได้ขอความช่วยเหลือจาก IMF หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) ด้วยการกู้เงิน แต่ทางด้านมหาเธร์ปฏิเสธที่จะรับความช่วยเหลือดังกล่าว แม้ว่าทาง IMF มีความพยายามที่จะยื่นข้อเสนอการกู้เงินให้แก่มาเลเซียก็ตาม
 
อย่างไรก็ตามในวิกฤติการณ์ทางการเงินครั้งนี้มาเลเซียได้สูญเสียอันวาร์ อิบราฮิม ที่ขัดแย้งในมาตรการแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงินกับมหาเธร์
 
มาเลเซียได้ดำเนินมาตรการที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงินด้วย 2 วิธีคือ
 
1.  ควบคุมทุน (Capital Control)
 
2.  การอยู่นอกวงจรระเบียบเศรษฐกิจโลก
 
การควบคุมทุน เป็นการลดผลกระทบของการไหลเวียนของเงินทุนระยะสั้นและการดำเนินการควบคุมทุนไหลเข้า-ออก อย่างเคร่งครัดซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้ไม่มีนักลงทุนในสถาบันระดับโลกเห็นด้วย และกล่าวโจมตีว่า มาตรการนี้จะไม่ได้ผลและจะทำให้เศรษฐกิจมาเลเซียพังพินาศ แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม การแก้ไขวิกฤตของดร.มหาเธร์นั้นได้ประสบความสำเร็จ เพราะเศรษฐกิจของมาเลเซียเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยจะเห็นได้จากเงินทุนสำรองที่มีมากขึ้น และธนาคารต่างๆในมาเลเซียเริ่มมีการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคเอกชนได้ในเวลาไม่นาน โดยวิธีการที่ใช้ในการควบคุมทุนมีดังต่อไปนี้
 
1. การควบคุมเงินตรามิให้ไหลออกอย่างเสรีในบัญชี Capital Account โดยการสกัดการเก็งกำไรของทุนข้ามชาติ ด้วยการห้ามซื้อขายเงินริงกิต
 
2. ห้ามธนาคารต่างชาติกู้เงินริงกิต
 
3. บังคับให้เงินริงกิตที่อยู่ต่างประเทศต้องส่งกลับเข้ามาทั้งหมดใน 30 วัน มิฉะนั้นจะไม่แลกคืน
 
4. เงินที่ต่างชาติเข้ามาซื้อขายหุ้นห้ามส่งออกก่อน 1 ปี ถ้าส่งออกต้องเสียภาษีร้อยละ 30
 
5. ลดดอกเบี้ยภายในประเทศเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจในประเทศ
 
6. กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนตายตัวที่ 3.80 ริงกิต ต่อ 1 USD ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงนั้นกำลังโต    ทำให้ค่าเงินไม่ผันผวน
 
7. เพิ่มงบประมาณแผ่นดินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
 
8. ตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ขึ้นมาเพื่อรับซื้อหนี้เสียไปบริหารโดยรัฐและกำไรที่ได้ก็นำเข้าคลัง
 
9. การปรับโครงสร้างสถาบันทางการเงิน โดยการเข้าไปเป็นกรรมการบริหารเพื่อควบคุมมิให้        การบริหารที่ล้มเหลวเกิดขึ้นอีก
 
การปฏิเสธความช่วยเหลือจาก IMF และการนำมาตรการต่างๆ ที่ใช้ในการแก้ไขวิกฤติการณ์เศรษฐกิจของมหาเธร์ โดยจากนโยบายดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจของมาเลเซียโตถึงร้อยละ 4