ทัศนะจากเวทีนำเสนอ "การเจรจาสันติภาพระหว่างมุสลิมมลายูและรัฐไทย"
ท่ามกลางความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้รอบใหม่ได้ปะทุขึ้นมานับตั้งแต่ บุกปล้นปืนและฆ่าทหารจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บ้านปิเหล็งใต้ ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ซึ่งถึงวันนี้ก็ล่วงเลยมาเป็นเวลาเกือบ 9 ปีแล้ว เหตุการณ์ความรุนแรงก็ยังคงดำเนินขึ้นอยู่อย่างเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีสัญญาณว่าจะยุติลงเมื่อใด อย่างไรก็ตามความพยายามในการหาข้อยุติ เพื่อหาปูทางไปสู่สันติภาพระหว่างรัฐไทยและขบวนการที่เคลื่อนไหวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เกิดขึ้นอยู่เป็นครั้งคราว แต่ทุกครั้งจบด้วยความล้มเหลว ทางปาตานี ฟอรั่มจึงถือโอกาสนี้ในการนำเสนอ ที่มาที่ไป และประเด็นสำคัญบางประเด็นที่เกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ในรายงานที่มีชื่อว่า “การเจรจาสันติภาพระหว่างมุสลิมมลายูและรัฐไทย”[1]
รายงานพิเศษฉบับนี้เปิดเผยถึงชุดบทสนทนาอย่างลับๆ ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย และผู้นำในการแบ่งแยกดินแดนที่ปฏิบัติการมาอย่างยาวนานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้นำอภิปรายในครั้งนี้ได้แก่ ดอน ปาทาน (ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศปาตานี ฟอรั่ม) ซากีย์ พิทักษ์คุมพล (นักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่) และนายปกรณ์ พึ่งเนตร (ผู้สื่อข่าวอาวุโสจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ)
เวทีนำเสนอครั้งนี้เริ่มต้นด้วยกับคุณดอน ปาทาน นำเสนอถึงแรงจูงใจในการศึกษาเรื่องการพูดคุยสันติภาพว่า เรื่องดังกล่าวนี้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่สาธารณะ แต่สิ่งที่ได้นำเสนอลงไปในรายงานพิเศษนั้นก็ไม่ได้เป็นเนื้อหาที่ลับมาก โดยเนื้อหาที่ได้มาก็นำมาเน้นประเด็นที่สำคัญและนำเสนอลงไป และได้ศึกษาว่าทำไมข้อเสนอถึงได้ล้มเหลว และทำไมรัฐบาลต้องอดทนกับเรื่องนี้ต่อไป
ต่อมาคุณดอนได้กล่าวถึง พัฒนาการของการพูดคุยสันภาพภายใต้รัฐบาลต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่ทศวรรษ 90 ได้เริ่มมีการพูดคุยระหว่างรัฐไทยและกลุ่มขบวนการ อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเป็นภาระหน้าที่ของทางทหาร แต่อยู่ในลักษณะของการหาข่าว ไม่ได้มีผลกระทบกับการบริหารจัดการของทางรัฐบาล รายละเอียดที่ได้มาก็ถูกนำมาเสนอให้กับคนนายพลในกองทัพ
แต่ในยุคของหลัง 90 ในโครงการ “ใต้ร่มเย็น” เหตุการณ์ก็เริ่มที่คลี่คลายลง ทางรัฐบาลไทยก็เลยคิดว่าเราประสบความสำเร็จในการจัดการความขัดแย้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เพียงแค่เหตุการณ์ความรุนแรงเท่านั้นที่หยุดไป แต่จิตวิญญาณของอิสรภาพยังคงเกิดขึ้นในหมู่ของขบวนการ
แต่ภายหลังจากเหตุการณ์ปล้นปืนเกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลตระหนักแล้วว่า มีกลุ่มขบวนการรุ่นใหม่เกิดขึ้นจริงๆ การเจรจารอบใหม่จึงถือเกิดขึ้น โดยในรัฐบาลทักษิณได้มอบหมายให้ สมช. ได้มีการคุยกันที่เกาะลังกาวี โดยมีนายกมหาธีร์ ของมาเลเซียเป็นตัวเชื่อม ซึ่งไทยก็มีอานันท์ ปันยารชุนไปเป็นผู้รับข้อเสนอ แต่ก็ล้มเหลว
ในช่วงเวลาของการเจรจาสันติภาพฝ่ายไทยล้มเหลวในการเข้าเจรจากับกลุ่ม บีอาร์เอ็น คอร์ดิเนต ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มสำคัญในการเคลื่อนไหวปัจจุบัน เพราะว่าฝ่ายไทยถูกมองว่า “ไม่มีความจริงใจ” ในการเจรจาอย่างแท้จริง เพราะแม้แต่เจ้าของเรื่องที่จะดูแลอย่างจริงจังในไทยก็ไม่มี ซึ่งต่างจากกรณีของฟิลิปปินส์ที่จะมอบหมายในรัฐมนตรีในทำเนียบรัฐบาลเป็นเจ้าของเรื่อง ซึ่งในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่ได้มีการกล่าวถึงคำว่า “การต่อรอง” ในการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับขบวนการ
ต่อมาคุณปกรณ์ พึ่งเนตร ได้นำเสนอถึงการเจรจาได้ถูกปิดลับมาโดยตลอด และไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐไทย ในสมัยของรัฐบาลสมัคร ได้มีรูปการเจรจามาลงในสื่อ แต่รัฐบาลไม่ได้ออกมายอมรับเลย ทำให้สื่อไทยไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับการเจรจา ส่วนใหญ่แล้วก็นำมาจากสื่อต่างประเทศ
จากนั้นได้นำเสนอบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเจรจาจากทางรัฐไทย และสามารถให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวได้เช่น พลเอก ไวพจน์ ศรีนวล ท่านได้เล่าว่า ในส่วนของเอกสารที่มีการลงนามสันติภาพและแนวทางในการพัฒนาภาคใต้ที่เคยได้จัดทำขึ้นในช่วงของการเจรจาสันติภาพที่ลังกาวี ได้มายื่นให้กับคุณชิดชัย แต่แล้วก็หายไป
อีก 1 คนที่น่าสนใจคือ พล.ต.ท. ตรีทศ รณฤทธิวิชัย อดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ได้เล่าเรื่องการเจรจาในยุคอภิสิทธิ์กระทั่งนำไปสู่การทดลองการหยุดยิง แต่หลังจากนั้นอภิสิทธิ์ได้มาเจอกับปัญหาม็อบเสื้อแดง ทำให้ได้ละเลยเรื่องภาคใต้ไป
บทสรุปจากผู้ที่อยู่ในวงของการเจรจาได้กล่าวกันเป็นเสียงเดียวว่า “มันล้มเหลว”
หากรัฐบาลไม่มีความมุ่งมั่นก็ไม่มีประโยชน์ที่จะเจรจา ซึ่งพลเอก ไวพจน์ ได้กล่าว่าหากให้คนที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินไปคุยก็ไม่สามารถที่จะสำเร็จได้ ปัญหาของทางรัฐบาลไม่เคยยอมรับการพูดคุย เพราะกลัวว่าจะยอมรับการเป็นรัฐใหม่ หากมีการพูดคุยเกิดขึ้นจะเกิดการยกระดับ และนำไปสู่การลงประชามติ ทางรัฐบาลจึงทำให้สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการก่ออาชญากรรม แล้วก็มีการส่งทหารลงไปกดสถานการณ์ไว้ และหากมีการยอมรับการเจรจามากถึงว่าเรากำลังจะแพ้ ถ้าได้เปรียบอยู่แล้วจะเจรจาทำไม ซึ่งตอนนี้ทั้งสองฝ่ายคิดว่า ต่างฝ่ายต่างได้เปรียบกันอยู่
สุดท้ายอาจารย์ซากี ได้พูดถึงรายงานพิเศษฉบับนี้ว่า เป็นงานชิ้นแรกๆ ที่ได้นำเสนอเกี่ยวกับการเจรจาการพูดคุยระหว่างรัฐไทยไทยและขบวนการมลายูมุสลิม ซึ่งถือเป็น “ความกล้าหาญทางจริยธรรม” หลายต่อหลายครั้งที่มีความพยายามที่จะพูดคุย และในหลายครั้งเรื่องเหล่านี้จะถูกกดไว้อยู่หลังม่านของปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อพูดถึงการเจรจาแล้ว ความคิดของคนไทยคือ เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะนำไปสู่รัฐอิสระลองตรวจสอบกันดูได้ในอินเตอร์เน็ต เว็บข่าว อันนี้เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่การเจรจา ในส่วนของข้อคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ มาเลเซียพยายามทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องลับอยู่ตลอดเวลา และไม่สามารถนำมาอยู่บนพื้นดินได้ หากสังคมไทยยังอยู่ในสภาวะเช่นนี้