การพัฒนาเศรษฐกิจในมาเลเซีย (3)

 

มหาเธร์กับ วิสัยทัศน์ 2020

วิสัยทัศน์ 2020 เป็นข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซียโดย มหาเธร์ มูหัมมัด ซึ่งถือว่า เป็นยุคที่สามของการพัฒนามาเลเซียในปี ค.ศ. 1991 ซึ่งนโยบายดังกล่าวนี้จะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองของมาเลเซีย โดยมีเป้าหมายนำมาเลเซียสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี ค.ศ. 2020 โดยชาวมาเลเซียทุกคนจะต้องมีจิตสำนึกในความเป็นมาเลเซียเหมือน ๆ กัน โดยต้องมีความยุติธรรมเป็นเครื่องรองรับ ประเด็นนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากว่าดร.มหาเธร์จะลดกระแสความเป็นชาตินิยมลง แม้ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 89 และ 153 จะยังไม่ได้รับการแก้ไขก็ตาม

พัฒนาการของการประกาศใช้วิสัยทัศน์ 2020 เริ่มต้นจากที่มหาเธร์ได้จัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ (National Economic Consultative Council-NECC) ในปี ค.ศ. 1989 โดยมีตนศรี มูหัมหมัด กาซาลี ซาฟี ดำรงตำแหน่งประธาน และใช้เวลาในการร่างข้อเสนอการพัฒนาทางเศรษฐกิจมาเลเซียเป็นเวลา 2 ปี อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้ศึกษาข้อดีของนโยบายเศรษฐกิจเป็นการประกอบในการนำมาเลเซียสู่ประเทศการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งแนวคิดของนโยบายเศรษฐกิจใหม่ที่ได้เข้ามาดำเนินกิจการต่อนั่นก็คือ การกำจัดความยากจนโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ และการปรับโครงสร้างทางสังคมเพื่อแก้ปัญหาที่เอาเชื้อชาติไปสัมพันธ์กับหน้าที่และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในการสร้าง “เอกภาพของชาติ” ต่อไป

วิสัยทัศน์ 2020 มีความพยายามที่จะสร้างเอกภาพของชาติและการปรองดองกันระหว่างเชื้อชาติในสังคม ผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ในด้านความยุติธรรมทางสังคม ความมั่นคงทางการเมือง และความภูมิใจความมั่นใจแห่งชาติ โดยมหาเธร์ได้แถลงการณ์ประกาศใช้ 9 แนวคิดหลักดังต่อไปนี้คือ

ภายในปี 2020 มาเลเซียจะเป็นประเทศเอกภาพซึ่งประกอบด้วยสังคมที่มั่นคง เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางคุณธรรมจริยธรรมที่แข็งแกร่ง เป็นสังคมเสรีประชาธิปไตยที่มีน้ำอดน้ำทน เมตตา มีความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ก้าวหน้าและรุ่งเรือง และมีระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งตื่นตัว ยืดหยุ่นและหลากหลาย

มาเลเซียคงมิอาจก้าวสู่จุดนั้นได้ จนกว่าเราจะสามารถพิชิตข้อหลัก 9 ประการ ที่เป็นเป้าหมายของเรามาตั้งแต่ประกาศเอกราช

ข้อแรกคือการก่อตั้งชาติเอกภาพมาเลเซียที่มีจิตสำนึกและจุดมุ่งหมายร่วมกัน มีสันติภาพภายในประเทศ ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติหรือพรมแดน

ข้อที่สองคือการสร้างสังคมมาเลเซียที่รักเสรี มั่นคงและก้าวหน้าทางจิตใจ ศรัทธาและเชื่อมั่นในตนเอง โดยมุ่งที่จะได้มาในสิ่งดีที่สุด

ข้อที่สามคือการสร้างและพัฒนาสังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ซึ่งสามารถเป็นแบบอย่างให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายๆ ประเทศได้

ข้อที่สี่คือการก่อตั้งสังคมที่เปี่ยมคุณธรรมจริยธรรม ประชาชนศรัทธาในคุณค่าทางจิตวิญญาณและศาสนา ทั้งยังวางตนอยู่ในกฎจริยธรรมอันสูงส่ง

ข้อที่ห้าได้แก่การก่อร่างสังคมที่มีวุฒิภาวะ เปิดกว้างและเสรี ประชาชนมาเลเซียทุกคน ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา สามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของตนได้อย่างอิสรเสรี แต่ยังเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวด้วยสำนึกในชาติร่วมกัน

ข้อที่หกคือการสร้างสังคมวิทยาศาสตร์ที่เจริญก้าวหน้า มีความคิดสร้างสรรค์และวิสัยทัศน์กว้างไกล มิใช่เป็นเพียงผู้เสพเทคโนโลยี หากแต่เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์อารยธรรมแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคตกาล

ข้อที่เจ็ดคือการสร้างสังคมและวัฒนธรรมที่เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา เห็นผลประโยชน์ของส่วนรวมมาก่อนส่วนตน เป็นสังคมที่ความมั่งคั่งมิได้ตกอยู่กับรัฐหรือปัจเจกบุคคลใดๆ แต่ตกอยู่กับระบบสังคมที่ผูกพันกันอย่างแน่นเฟ้นดังเช่นครอบครัว

ข้อที่แปดคือการรับประกันว่าสังคมของเรานั้นจะเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ เป็นสังคมที่กระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

ข้อที่เก้าคือการก่อร่างสร้างสังคมที่รุ่งเรือง พร้อมด้วยเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งยืดหยุ่น คล่องตัว และมีการแข่งขันสูง

หลังจากการประกาศวิสัยทัศน์ 2020 แล้วนั้นได้สร้างความพอใจให้กับกลุ่มเชื้อชาติต่างๆ ในมาเลเซีย โดยเฉพาะกลุ่มเชื้อชาติจีนและอินเดีย ซึ่งพวกเขาได้มีความคิดที่ว่า รัฐบาลของมาเลเซียไม่ได้กระทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์เฉพาะกลุ่มเชื้อชาติมลายูเพียงเท่านั้น โดยการประกาศใช้วิสัยทัศน์ 2020 จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม

การพัฒนาภายใต้นโยบายวิสัยทัศน์ 2020 นี้ เป็นกระบวนการสร้างการพัฒนาที่มีความสมดุล โดยมองถึงความพยายามในการพัฒนาเศรษฐกิจ และในขณะเดียวกันอยู่ภายใต้ความเป็นเอกภาพของความหลากหลายในเชื้อชาติ ซึ่งแผนพัฒนาทัศน์ฯ ได้วางลำดับการพัฒนาในช่วงทศวรรษที่ 1990 ดังต่อไปนี้

1. ให้เกิดความสมดุลที่ดีที่สุด หรือเป้าหมายของการขยายความและความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ

2. ให้มั่นใจในการทำให้ “การพัฒนาที่สมดุลย์” เกิดขึ้นระหว่างภาคสำคัญๆ ของเศรษฐกิจ

3. ให้ลดความไม่เสมอภาคและความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจและสังคมจนหมดไป ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้เกิดการแบ่งปันที่ยุติธรรมและผลประโยชน์ทางความเจริญของเศรษฐกิจในหมู่ชาวมาเลเซียทุกคน

4. ให้ส่งเสริมและสร้างความแข็งแกร่งในการบูรณาการแห่งชาติ ด้วยการลดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างรัฐต่างๆ และระหว่างเขตเมืองกับชนบท

5. ให้สร้างสังคมที่เจริญก้าวหน้าที่ประชาชนทุกคนได้รับสวัสดิการทางวัตถุ มีค่านิยมทางจิตใจและสังคมอย่างถูกต้อง และมีความรู้สึกภูมิใจและความสำนึกในชาติมากขึ้น

6. ให้ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการสร้างแรงงานที่มีวินัยและประสิทธิภาพการพัฒนาฝีมือแรงงานที่จำเป็นที่สามารถช่วยการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยอาศัยเกณฑ์ความสามารถและผลดีที่สุด ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่อเป้าหมายของการปรับโครงสร้าง

7. ให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญในการวางแผง และการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม

8. ให้เกิดความมั่นใจว่าการพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องเอาใจใส่การปกป้องสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ

ทั้งนี้การพัฒนาที่สมดุลจะเป็นตัวรับรองในการลดความขัดแย้งของสังคมสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งประเด็นทั้ง 8 ข้อดังกล่าวข้างต้นยังได้แสดงออกถึงอุดมการณ์แห่งมาเลเซีย

แต่สำหรับวิสัยทัศน์ 2020 ยังคงเน้นความสำคัญให้แก่เชื้อชาติมลายูด้วยการเพิ่มปริมาณงานให้แก่ชาวภูมิบุตร (ชาวมลายู) โดยการเพิ่มปริมาณงานนี้จะเป็นการเร่งสร้างสร้างชุมชนอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมที่เข้มแข็งขึ้นมา ภายใต้ประเทศมาเลเซียที่พัฒนาแล้ว

อย่างไรก็ตามการกระทำที่ดูเหมือนว่า กำลังขวางโลก หรือ สวนกระแสความคิดของโลกของมหาเธร์นั้น ไม่ได้ถูกยอมรับจากสังคมโดยทั่วไป และได้ถูกมองในแง่ลบต่อผู้ที่มีความคุ้นเคยกับมาตรฐานสากล หรือโลกทัศน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบตะวันตก

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

ชัยโชค จุลศิริวงศ์. การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองมาเลเซีย. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2542

บาร์บารา วัตสัน อันดายา และ ลีโอนาร์ด วาย อันดายา ; พรรณี ฉัตรพลรักษ์, แปล; มนัส เกียรติธารัย, บรรณาธิการ. ประวัติศาสตร์มาเลเซีย. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโตโยต้า, 2549
 
สีดา สอนศรี และคนอื่นๆ. ผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ศึกษาเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย. กรุงเทพฯ : โครงการวิชาโทเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, 2548
 
อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ และชปา จิตต์ประทุม.บรรณาธิการ. วิกฤตการณ์มาเลเซีย เศรษฐกิจ การเมือง- วัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา, 2544