การพัฒนาเศรษฐกิจในมาเลเซีย (1)
บทนำ
มาเลเซีย ถือเป็นประเทศที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามตั้งแต่ได้รับเอกราชเป็นต้นมา การพัฒนาของมาเลเซียตั้งอยู่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาแบบแบ่งกลุ่มเชื้อชาติ กล่าวได้ว่า กลุ่มเชื้อชาติต่างๆ จะได้รับการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกัน ตัวอย่างจากที่มาเลเซียได้มี “ภูมิบุตร” ซึ่งกลุ่มดังกล่าวถือเป็นกลุ่มเชื้อชาติมลายู ที่จะได้รับสิทธิพิเศษเหนือกลุ่มเชื้อชาติอื่นๆ ตลอดมา แม้ว่าในปัจจุบันจะเริ่มให้ความสำคัญต่อความเท่าเทียมใน “พหุสังคม” มากยิ่งขึ้น
ภูมิหลังการพัฒนาของมาเลเซีย
ดินแดนของมาเลเซียในปัจจุบัน ในอดีตนั้นมีความเจริญรุ่งเรือง และถือว่า ประสบความสำเร็จในด้านการค้า โดยมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ การก่อตั้งมะละกา ซึ่งเป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่ มีความมั่งคั่งในด้านการค้า จากปัจจัยของสภาพภูมิประเทศ ที่เหมาะสมในการเป็นเมืองท่า จึงทำให้มะละกา กลายเป็นศูนย์รวมสินค้า และพ่อค้าที่เดินทางเข้ามาทำการค้าภายในบริเวณเหล่านี้
แต่ความเจริญรุ่งเรืองของมะละกา ได้ยุติลงที่การเข้ามาของโปรตุเกส และได้กลายเป็นพื้นที่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส จากที่กองทัพเรือเข้าจู่โจมและสามารถยึดเมืองมะละกาได้สำเร็จในวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1511 แต่หลังจากที่มะละกาล่มสลายแล้ว ก็ได้มีอาณาจักรต่างๆ จำนวนมากได้เกิดขึ้นในบริเวณคาบสมุทรมลายู
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในคาบสมุทรมลายู ได้เกิดขึ้นหลังจากชาวยุโรปได้เดินทางเข้ามาเพื่อปกครองและทำการค้าขายในบริเวณนี้ หลังจากที่มะละกาอาณาจักรมลายูได้ล่มสลายลงและอยู่ภายใต้การปกครองของโปตุเกส อีก 2 ศตวรรษต่อมา อังกฤษและฮอลันดาก็ต่างพยายามที่จะแข่งขันในการแพร่ขยายอำนาจในบริเวณนี้ กระทั่งได้เกิดแนวคิดเรื่อง “เขตอิทธิพล” ซึ่งเป็นแนวคิดที่อังกฤษได้ใช้เพื่อที่จะลดทอนเรื่องการค้าของชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาติตนเอง และจำกัดอำนาจของชาติอื่นๆ ลงไปด้วย ทำให้เกิดการแบ่งแยกของโลกในคาบสมุทรมลายู โดยทางตอนบนของช่องแคบมะละกาเป็นของอังกฤษ และทางตอนล่างเป็นของฮอลันดา
การพัฒนาโดยอังกฤษ
อังกฤษเข้าครอบครองพื้นที่ทางตอนบนของช่องแคบมะละกา ซึ่งก็คือมาเลเซียในปัจจุบัน อังกฤษได้มีนโยบายในการสร้างผลประโยชน์ต่อพื้นที่เหล่านี้ โดยในปี ค.ศ. 1826 อังกกฤษจัดตั้ง สเตรทส์ เซ็ทเทิลเมนท์ส (The Straits Settlements) หรืออาณานิคมช่องแคบ ประกอบด้วยดินแดนที่เป็นรัฐปีนัง ดินดิง (ส่วนหนึ่งของรัฐเประ) มะละกา สิงคโปร์ และลาบวนในปัจจุบัน โดยมีปีนังเป็นเมืองหลวง แต่หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1832 ได้เปลี่ยนเมืองหลวงมาเป็น สิงค์โปร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเอื้อประโยชน์ทางด้านการค้าที่ขยายตัว จากการพัฒนาทางการค้าและแรงงานในสเตรทส์ เซ็ทเทิลเมนท์ส นี้ ได้ทำให้เกิดการอพยพของชาวจีนเข้ามาสู่พื้นที่นี้เป็นจำนวนมาก
ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ชาวจีนถือเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจในอาณานิคมอังกฤษเป็นอย่างมาก โดยชาวจีนที่อพยพมายังโลกมลายูด้วยการที่ต้องการหนีออกจากความยากจนในประเทศของตัวเอง โดยเข้ามาทำไร่และการทำงานในเหมืองแร่ กระทั่งได้พัฒนาตัวเองไปเป็นผู้ปล่อยเงินกู้ โดยผู้ที่มากู้เงินจากชาวจีนก็เป็นชาวมลายู อย่างไรก็ตามด้วยการนโยบายของอังกฤษ ทำให้ชาวจีนและชาวมลายูมีปฏิสัมพันธ์กันค่อนข้างน้อย โดยชาวจีนจะอาศัยอยู่ในบริเวณที่ใกล้กับเหมืองแร่ แต่ชาวมลายูจะอาศัยอยู่ในบริเวณชนบท
ชาวจีนได้มีอิทธิพลในการจัดการเรื่องการพัฒนาในมลายู ด้วยความสามารถของชาวจีนเอง และภายใต้การสนับสนุนของอังกฤษ โดยในก่อนหน้าเอกราชเล็กน้อย รูปแบบของการดำเนินกิจการทางเศรษฐกิจของมาเลเซียได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนเช่นเดียวกันกับในยุคปลายอาณานิคม โดยมี 2 รูปแบบด้วยกันคือ ระบบเศรษฐกิจแบบท้องถิ่นและระบบเศรษฐกิจแบบส่งออก โดยสินค้าที่มาเลเซียส่งออกเป็นส่วนใหญ่คือ ดีบุก ยางพารา ซึ่งทั้ง 2 ระบบนี้มีความสัมพันธ์กันกล่าวคือ ในระบบเศรษฐกิจแบบส่งออกต้องพึ่งพิงการผลิตจากชนบท อย่างไรก็ตามผู้ที่มีบทบาทในการส่งออกสินค้าจากสหพันธ์ ยังคงเป็นอิทธิพลของบริษัทตะวันตกและกลุ่มพ่อค้าชาวจีน ในยุคแรกของเอกราชนั้น ชาวจีนยังคงมีบทบาทสูงในด้านการค้า โดยชาวจีนทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางในการนำสินค้าที่เป็นผลผลิตจากชาวมลายู และจะกำหนดราคา รวมถึงมีกลวิธีในการสร้างเครือข่ายทางการค้าของกลุ่มตน ด้วยการสร้างระบบเงินเชื่อ ด้วยสาเหตุนี้ทำให้ชาวจีนสามารถกดราคาผลผลผลิตจากชาวมลายูชนบทได้ในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด ส่งผลให้ชาวจีนสามารถเข้าครอบครองระบบเศรษฐกิจระบบล่างไว้ได้
การพัฒนาภายหลังที่มาเลเซียได้รับเอกราช
มาเลเซียได้รับเอกราช ท่ามกลางความหลากหลายของเชื้อชาติ โดยที่ความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ ที่ได้ก่อตัวมาตั้งแต่ยุคสมัยภายใต้การปกครองของอังกฤษอย่างไรก็ตามอำนาจทางการเมืองได้ตกอยู่ในหมู่ชาวมลายู ซึ่งหากมองย้อนดูไปในช่วงอาณานิคม ชาวมลายูเสียเปรียบชาวจีนมาตลอด ชนชั้นในมาเลเซียจึงพยายามสร้างสิทธิของชาวมลายูเหนือชนชาติอื่น มิฉะนั้นแล้วอาจต้องเสียเปรียบชาวจีน หรือชาวอินเดีย ที่เป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่อาศัยอยู่ในรัฐใหม่ของมาเลเซียนี้
ชนชั้นนำมลายูได้มีนโยบายการปกครองที่เอื้อประโยชน์ให้กับชาวมลายูโดยเห็นได้ชัดในรัฐธรรมนูญของมาเลเซีย ภูมิบุตรา โดยในรัฐธรรมนูญของสหพันธ์รัฐมาเลเซีย มาตรา 153 กำหนดว่า กษัตริย์มีหน้าที่ในการปกป้องสถานะพิเศษของชาวมาเลย์ (Malays) และชนพื้นเมืองแห่งบอร์เนียว (Natives of Malaysian Borneo) บทบัญญัติดังกล่าวมีผลต่อการกำหนดสัดส่วนของการเข้ารับราชการ การศึกษาในสถาบันของรัฐ การจัดสรรทุนและการออกใบอนุญาตเพื่อทำการค้าหรือธุรกิจ ในด้านการศึกษา ตำแหน่งทางราชการ และการเป็น เจ้าของในกิจการธุรกิจบางชนิด
กลุ่มเชื้อชาติต่างๆ ได้มีความพยายามที่จะรักษาผลประโยชน์ไว้กับกลุ่มของตัวเอง เช่น ชาวมลายูต่างได้รับผลประโยชน์ในส่วนของการเมือง และชาวจีนได้รับประโยชน์ในส่วนของเศรษฐกิจ โดยในแต่ละกลุ่มเชื้อชาติพยายามที่จะรักษาเอกภาพของกลุ่มตัวเองไว้ เช่น ชาวมลายูได้สั่งห้ามการแต่งงานนอกกลุ่ม และชาวมลายูยังมีทัศนคติด้านลบต่อผู้ที่พยายามนำเสนอเรื่องความเท่าเทียมในประเทศ โดยจะมีการประณามว่า ผู้นั้นได้ขายสิทธิและมรดกของชาวมลายูให้กับเชื้อชาติอื่น
นโยบายของรัฐบาลที่มีการแบ่งแยกการพัฒนาระหว่างเชื้อชาติระหว่างชาติพันธุ์ ระหว่างชาวมลายูและชาวจีน ใช่ว่าจะเกิดผลดีในภาพรวม มันทำให้ก่อเกิดเป็นปัญหา ได้ถือว่าเป็นความขัดแย้งในสังคมมาโดยตลอด เมื่อชาวมลายูตระหนักในสิทธิ์ความเป็นลูกของแผ่นดินมากยิ่งขึ้นเท่าใด ก็เริ่มที่จะเรียกร้องสิทธิต่างๆ รวมไปถึงการแสดงความเป็นเจ้าของประเทศ และเหตุการณ์การจลาจลในปี ค.ศ. 1969 ถือเป็นผลพวงจากความไม่เท่าเทียมในการพัฒนาทั้งสิ้น ทางรัฐบาลจึงมีความพยายามที่จะหาออกในปัญหาเหล่านี้ โดยได้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Policy-NEP)
นโยบายเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Policy-NEP)
สาระสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจใหม่ก็คือ การลดปัญหาความยากจน และนำไปสู่การขจัดความยากจนให้หมดสิ้น โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์สำหรับเชื้อชาติใด เชื้อชาติหนึ่ง โดยมีกระบวนการในการพัฒนาโครงสร้างของประเทศเพื่อที่จะให้มีความสมดุลกันทุกเชื้อชาติอย่างเท่าเทียม อย่างไรก็ตามรัฐบาลมาเลเซียก็ยังคงเอื้อประโยชน์ให้แก่ชาวมลายูในนโยบายเศรษฐกิจใหม่นี้
จากบทเรียนของเหตุการณ์จลาจลในปี ค.ศ. 1969 รัฐบาลพยายามที่จะนำมาเลเซียไปสู่ประเทศที่เอกภาพระหว่างเชื้อชาติ สำหรับนโยบายเศรษฐกิจใหม่ รัฐบาลได้กำหนดการพัฒนาของประเทศไว้ถึง 20 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971-1990 นโยบายเศรษฐกิจใหม่จะเป็นกระบวนการพัฒนาที่สำคัญจะนำไปสู่การสร้างเอกภาพของชาติ และพัฒนาประเทศมาเลเซียให้ก้าวหน้า ภายใต้ความยุติธรรม รัฐบาลมีความพยายามในการที่พัฒนาเศรษฐกิจที่มีความแปลกแยกออกจากที่อื่นๆ คือ จะนำระบบอุตสาหกรรมเข้าไปใช้ในกระบวนการเกษตรในชนบท โดยการพัฒนาเศรษฐกิจตามนโยบายใหม่ รัฐบาลจะมีบทบาทในการควบคุมการดำเนินการทางเศรษฐกิจมากขึ้น
นโยบายเศรษฐกิจใหม่ได้ดำเนินการมาเป็นเวลา 20 ปี กลุ่มเชื้อชาติมลายูสามารถที่จะพัฒนาตัวเอง รวมถึงสามารถลดปัญหาความยากจนลงได้ แต่กลับได้ปิดกั้นการพัฒนาของกลุ่มเชื้อชาติอื่น นโยบายเศรษฐกิจใหม่จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ รัฐบาลมาเลเซียจึงได้วางรูปแบบการพัฒนาใหม่ต่อไป โดยใช้นโยบายที่เรียกกันว่า วิสัยทัศน์ 2020 โดยมหาเธร์ มูหัมหมัด ซึ่งจะกล่าวในโอกาสต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง