พหุวัฒนธรรม : Multiculturalism l วารสารปาตานีฟอรั่ม ฉบับที่ 22

แผนนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๐–๒๕๖๒ กำหนดวิสัยทัศน์ มุ่งให้ “สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัยปราศจาก เงื่อนไขความรุนแรง วิถีชีวิตของทุกคน ได้รับการปกป้อง พัฒนาบนพื้นฐานสังคมพหุวัฒนธรรมและมีส่วนร่วมในกระบวนการเสริมสร้างสันติสุข อย่างยั่งยืน” หากพิจารณาแนวนโยบายเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ที่เป็นเอกสารอย่างเป็นทางการ นี้คือเอกสารสำคัญที่เป็นรากฐานทางด้านนโยบายที่ทำให้

องคาพยพทุกภาคส่วนของรัฐดำเนินงานตามแนวนโยบายข้างต้นคำถามจึงมีอยู่ว่าการกำหนดวิสัยทัศน์ “สังคมพหุวัฒนธรรม” ในความหมายของรัฐคืออะไร ?   และการสถาปนาคำนี้ในกรอบนโยบายโดยเนื้อแท้ความหมายมันคืออะไร ? แต่ก็อีกนั้นแหละ หากจะเขียนและคิดต่อโดยเฉพาะในทางวิชาการ

คำว่าพหุวัฒนธรรมมีการถกเถียงทางวิชาการจำนวนมหาศาลและกินเวลาไม่น้อยกว่า 4ทศวรรษ แม้กระทั่งมีข้อเสนอทางด้านวิชาการที่พูดว่า “พหุวัฒนธรรมตายแล้ว”(Multiculturalism is dead.) ที่เสนอว่าการใช้แนวนโยบายพหุวัฒนธรรมไม่สามารถตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้อีกต่อไป อันเนื่องจากบริบทมันเปลี่ยนไปแล้ว จากเดิมที่ใช้เพื่อในการรับมือกับผู้อพยพที่เดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และยุโรป หากพิจารณางานวิชาการที่ศึกษาและตั้งคำถามกับการใช้แนวคิดพหุวัฒธรรม

ในการศึกษามโนทัศน์ พหุวัฒนธรรมในประเทศไทยโดยการสืบค้นวาทกรรมเกี่ยวกับ “วัฒนธรรม”ในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ของธนาพล ลิ่มอภิชาติ เสนอว่าวาทกรรมพหุวัฒนธรรมนิยมในประเทศไทยมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากแนวคิดพหุวัฒนธรรมนิยมในตะวันตกคือเน้นความสามัคคี สมานฉันท์ และความเป็นองค์รวมของชาติไทยมากกว่าแนวคิดเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมการตั้งคำถามกับการนิยามความหมายชุดแนวคิดพหุวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ !

สำหรับเนื้อหาในวารสารฉบับนี้โดยเริ่มจากการเปิดประเด็นเรื่องพหุวัฒนธรรมโดยเสนอ บทสะท้อนแนวคิดพหุวัฒนธรรมกับยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความ ไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ที่ผ่านการพูดคุยอย่างเข้มข้นจากเวที think tank forum 
ครั้งที่ 4 ปีที่ 2 ที่มีผู้คนหลายส่วนสนใจจำนวนมาก ทางเราเสนอข้อสังเกตจากนักวิชาการหญิง จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดดำเกิง ต่อประเด็นพหุวัฒนธรรม

ต่อมาบทความจากเวที think tank forum ครั้งที่ 3 ปีที่ 2 “ปาตานี Question” เปิดบทสนทนาระหว่างโลกมุสลิมและปาตานี ในบทความชิ้นนี้เป็นการเปิดบทสนทนาเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงที่ทางของปัญหาปาตานีกับโลกมุสลิมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ในเหตุการณ์ยิงนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีมีผู้คนสนใจและติดตามจำนวนมาก ทางปาตานีฟอรั่มจึงเสนอบทความ ไม่มีหิมะ มีแต่กระสุน: ข้อสังเกตบางประการกรณีทหารยิงปืนใส่นักศึกษา เป็นข้อสังเกตหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้น
โดยนำหนังสือเรื่องหิมะ ของฮอร์ฮาน พามุก มาสนทนาในบทความชิ้นนี้

แน่นอนงานศึกษาเรื่อง กับดัก(อ)ประชาธิปไตยในโลกมุสลิม (ตอนจบ) โดยอันวาร์ กอมะ ในเล่มนี้เราเสนอเป็นตอนที่สอง ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายต่อเนื่องจากฉบับที่ผ่านมา

บทความชิ้นสุดท้ายของเล่ม เราเสนอความเห็นของเยาวชนนักศึกษาที่ได้เข้าร่วมค่าย Young Leader Forum ปีที่ 2 แม้ว่าเป็นงานเขียนชิ้นเล็กๆ แต่เราก็อยากเปิดพื้นที่ให้แก่คนรุ่นใหม่

สุดท้ายการเปิดพื้นที่สาธารณะโดยให้ที่ทางของความเห็นที่แตกต่าง สามารถพูดแสดงความเห็นได้ ยังคงเป็นภาระที่สำคัญต่อไป การตั้งคำถามไม่ว่าจะเป็นเรื่องพหุวัฒนธรรมที่เป็นแนวนโยบายของรัฐที่นำ มาใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นภารกิจทางปัญญาที่สำคัญต่อการหนุนสร้างสันติภาพในพื้นที่....คลิ๊กที่รูปภาพเพื่ออ่านฉบับเต็ม