หนังสือ ซะกาต : สวัสดิการชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

หนังสือเล่มนี้เรียบเรียงจากการศึกษาเอกสารเกี่ยวกับระบบซะกาตในอิสลาม  การจัดเก็บซะกาตในสมัยอดีตและถอดบทเรียนการจัดเก็บซะกาตในชุมชนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้อันเป็นแนวคิดหนึ่งในการให้สวัสดิการชุมชนซึ่งเป็นทุนทางสังคมอันมีค่าในหลักการอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้วยทุนทางสังคมดังกล่าวทำให้โครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ซึ่งได้รับงบสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) นำแนวคิด สวัสดิการชุมชนด้วยระบบซะกาต มาขับเคลื่อนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552-2555)

หนังสือนี้มีด้วยกัน 5 บทคือ  บทที่ หนึ่ง บทนำ บทที่สอง แนวคิด ซะกาตกับสวัสดิการชุมชน บทที่สาม การจัดระบบซะกาตในสมัยอดีต บทที่สี่ การนำทฤษฎีสู่ปฏิบัติในชุมชนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ บทที่ห้า สรุป อภิปรายผลและข้อเสนอแนะจากชุมชนสู่นโยบายสาธารณะ

เนื้อหาโดยรวมพอสรุปได้ดังนี้

ซะกาตเป็นหน้าที่ทางศาสนาของมุสลิมทุกคนที่ครอบครองทรัพย์สินถึงจำนวนและครบรอบปี  ซะกาตถูกบัญญัติให้มีการจัดเก็บเเละเเจกจ่ายอย่างเป็นระบบโดยผ่านองค์กรหรือสถาบันที่รับผิดชอบ  ท่านศาสนทูต ใด้วางแนวทางที่ชัดเจนในการจัดระบบซะกาตซึ่งต่อมาบรรดาเดาะลีฟะฮฺผู้ทรงธรรม(ผู้นำมุสลิม)ได้เจริญรอยตามแนวทางดังกล่าวและใด้พัฒนาระบบซะกาตให้สอดคล้องกับความความเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรอิสลาม ซะกาตในยุคสมัยดังกล่าว จึงกลายเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งของระบบประกันสังคมและระบบการคลัง(บัยตุลมาล)ในขณะเดียวกัน  อย่างไรก็ตามพบว่าเเนวทางสำคัญที่ทำให้การจัดระบบซะกาตในสมัยดังกล่าวมีประสิทธิภาพก็ คือ การมีคุณธรรมและความโปร่งใส ดังนั้นองค์กรใดก็ตามที่มีหน้าที่ในการจัดการซะกาต เจ้าหน้าที่เเละบุคลากรที่เกี่ยวข้องจะต้องเป็นผู้มีคุณธรรมเเละมีความโปร่งใส เพราะมิเช่นนั้นเเล้วการจัดการซะกาตก็จะประสบปัญหาและไม่สามารถเป็นหลักประกันให้สังคมได้ 

จากการศึกษาการจัดสวัสดิการสังคมในชุมชนมุสลิมจังหวัดภาคใต้ด้วยระบบซะกาตพบว่ามีด้วยกัน สองลักษณะใหญ่ๆคือปัจเจกชนและองค์กร

สำหรับปัจเจกชนนั้นพบว่าแม้สวัสดิการด้วยระบบซะกาตจะเป็นระบบการให้ความช่วยเหลือทางสังคมที่ถูกบัญญัติขึ้นตามหลักศาสนาก็ตามแต่ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏพบว่า ประชาชนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่ดำเนินการในลักษณะปัจเจกชน มากกว่า(โดยเฉพาะการจ่ายซะกาตทรัพย์สินยกเว้นซะกาตฟิตร์ส่วนใหญ่จะจ่ายผ่านคณะกรรมการที่มัสยิดแต่งตั้ง) แจกจ่ายแก่คนที่มีสิทธิรับในวงแคบและเป็นไปอย่างจำกัด ทำให้ระบบซะกาตยังไม่สามารถบรรลุผลสมจุดมุ่งหมายอย่างแท้จริง ความช่วยเหลือทางสังคมที่จะตกแก่คนยากจน ขัดสน ผู้ด้อยโอกาส จึงยังไม่เกิดประสิทธิผลอย่างที่ควรจะเป็น

ในขณะขณะเดียวกันมุสลิมส่วนน้อยจะจ่ายผ่านองค์กรที่เป็นระบบ ที่ก่อให้เกิดสวัสดิการแบบพึ่งตนเอง ในชุมชนช่วยเหลือคนภายในชุมชนตนเองตามหลักแนวคิดสวัสดิการชุมชน นำไปสู่การเป็นชุมชนเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และอยู่ได้อย่างยั่งยืนซึ่งในระบบองค์กรจะดำเนินเป็นระบบนั้นสามารถแบ่งออกได้ดังนี้ มัสยิด   สถาบันการเงิน  และองค์กรสาธารณประโยชน์

จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติในระบบบซะกาตเพื่อเป็นสวัสดิการชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากสามารถ ทำงานในเชิงรุก ย่อมทำให้เกิดการพัฒนา  และเกิดผลดีกับผู้ใช้บริการมากที่สุด  สวัสดิการถือเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการลดปัญหาสังคม และการพัฒนาระบบสวัสดิการ คือ กลไกที่ช่วยป้องกันมิให้เกิดปัญหาอื่นๆ อันเนื่องมาจากความจน

ระบบซะกาตที่ดำเนินอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้  หากมีระบบบริหารจัดการที่ดีและถูกต้องตามหลักการของศาสนาแล้ว ก็สามารถแก้ปัญหาความเป็นอยู่พื้นฐานในสังคมได้  จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่ ในการบริหารจัดการซะกาตยังทำงานเชิงรับและเป็นผู้ให้ โดยที่ไม่กระตุ้นให้คนเหล่านั้นช่วยตนเองได้ในที่สุด  นอกจากการบริหารของมัสยิดบ้านเหนือ ถึงแม้ซะกาตที่มีหลักการที่ดี  บนพื้นฐานความศรัทธาในศาสนา แต่ในความเป็นจริง แต่ส่วนใหญ่ประชาชนยังบริจาคทานกันตามใจชอบ หรือปัจเจกชนมากว่า

ซะกาต  ถ้ามองในแง่การบังคับ คือ ภาระที่ต้องจ่ายทรัพย์สินออกไป  แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง คือ ความทะเยอทะยานที่อิสลามวางไว้ให้ทุกคนทำมาหากิน  เพราะว่าในหลักการของอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นการปฏิญาณตน  การละหมาด การถือศีลอด    ไม่ว่ามีหรือยากจน ทุกฐานะมิได้เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติ ในขณะที่  ฮัจญ์  และซะกาตทรัพย์สิน  ถูกกำหนดไว้เฉพาะบุคคลที่มีความสามารถ  สำหรับกลุ่มคนที่อยู่ใน 8 จำพวก   บุคคลเหล่านั้นต้องมีความทะเยอทะยานที่จะต้องทำมาหากิน เพื่อสักวันหนึ่ง เขาจะกลายมาเป็นผู้ให้บ้าง และเมื่อนั้น ความสมบูรณ์ในการปฏิบัติตามหลักศาสนาในเรื่องของซะกาตก็จะครบถ้วน  อิสลามไม่ได้ห้ามการแข่งขัน  ไม่ได้แนะนำให้อยู่เฉยๆ โดยไม่ต้องทำอะไร   ถ้าอยากมี  อยากเป็น เหมือนเช่นคนอื่น  ต้องขยัน ต้องออม ต้องประหยัด ถึงจะมีเงินหรือทรัพย์สมบัติที่จะจ่ายซะกาต  ถ้า ณ วันนี้ เขายังประพฤติปฏิบัติตนเป็นผู้รอรับ แน่นอนเขาย่อมมีโอกาสน้อยกว่าคนอื่นที่จะเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า  การให้สวัสดิการซะกาต  คือ การให้โอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี และโอกาสที่จะกลับมาเป็นผู้จ่ายซะกาตในวันที่มีทรัพย์สินถึงจำนวน

หลายคนอาจมองว่า ถ้ามีระบบการดูแลเช่นนี้ในอิสลาม จะทำให้กลุ่มคนที่ศาสนาให้รับซะกาตได้เหล่านั้น   ขาดความกระตือรือร้นในการทำงานเพื่อช่วยเหลือตนเองหรือไม่  แต่ในความเป็นจริง  ผู้รับซะกาตเหล่านั้นต้องพัฒนาตนเองให้มีความกระตือรือร้น  ทะเยอะทะยานในเรื่องของความขยัน เพื่อสักวันในอนาคต  จะได้เป็นผู้ให้ซะกาตกับผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าบ้าง  การเป็นผู้รับซะกาต  แม้จะเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการปฏิบัติ  แต่มิได้หมายความว่า เขาเหล่านั้นได้ผ่านหลักปฏิบัติข้อสำคัญหนึ่งของศาสนา  เพราะคำว่า  ซะกาตในหลักการของศาสนา คือ ถ้ามีความสามารถ  ต้องจ่ายซะกาตออก  มิใช่ความสมบูรณ์จะอยู่ที่การรับเข้า   ซึ่งอาจเป็นข้อคิดอีกประการ ที่มุสลิมต้องพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ให้ให้จงได้  นอกจากนี้ศาสนายังพิจารณาและให้ความสำคัญในการให้  มิใช่ผู้รับมีเพียงคุณสมบัติจาก 1 ใน 8 ข้อเท่านั้น  อีกประการที่เป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินว่าบุคคลผู้นั้นควรจะได้รับหรือไม่  คือ ความเป็นคนดี ในความหมายของศาสนา ถึงจะมีคุณค่าเพียงพอที่จะได้รับซะกาต  นอกเหนือจากการเป็นคนดีแล้ว หากเป็นในกลุ่มคนที่ยากจนและขัดสน พวกเขาต้องทำงาน  ถ้ายังสามารถที่จะทำงานได้ แต่ไม่ทำ แม้จะเป็นคนดี  ศาสนาก็ไม่ให้  ซึ่งในความจริงความเป็นคนดีของศาสนาดูเหมือนจะรวมความเป็นมนุษย์ที่ดีไว้ด้วยแล้ว

จะเห็นได้ว่า ระบบซะกาต มีความสมบูรณ์ทั้งในแง่แนวคิดและวิธีการ แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ในทางปฏิบัติระบบที่สมบูรณ์ลักษณะนี้ เป็นเพียงแนวคิดที่อยู่ในอัลกุรอาน เป็นแนวคิดที่มุสลิมทุกคนรู้จัก แต่ความสมบูรณ์ที่แท้จริงอยู่ที่การนำแนวคิด ความศรัทธานี้สู่การปฏิบัติจริง ในปัจจุบัน มีหลายชุมชนที่ปฏิบัติตามหลักการ หลายชุมชนเฉยเมย โดยมีการบริจาคทานกันตามใจชอบ และตีความเข้าข้างการกระทำและความรู้สึกของตนว่าสิ่งนั้น เรียกว่า ซะกาต ทั้งๆที่การบริจาคเหล่านั้นมีค่าเพียง “ทานอาสา”  มิใช่ “ทานบังคับ”  แต่อย่างใด  การหลีกเลี่ยงเช่นนี้ นอกจากจะทำให้ผู้ด้อยโอกาสในสังคม ชุมชนนั้น ไม่ได้รับการดูแลแล้ว ยังถือว่าเขาไม่ปฏิบัติตามหลักการของศาสนา นั่นคือ การไม่ยึดมั่นในคำสั่งใช้ของพระเจ้า

ปัจจัยเสริมอีกอันหนึ่งคือการมีกฎหมายรองรับสำหรับการบริหารจัดการซะกาตที่ปฏิบัติอยู่ซึ่งปัจจุบันนี้ ประเทศไทยยังไม่มีพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต  เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ชุมชนสามารถจัดตั้งกองทุนซะกาต โดยมีรูปแบบและองค์ประกอบของคณะผู้บริหารที่เหมือนกัน มีการบริหารจัดการและการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้มีหน้าที่จ่ายซะกาต รวมทั้งทำให้ทรัพย์สินซึ่งเป็นซะกาตได้ถูกแจกจ่ายไปเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คนยากจน คนขัดสน และบุคคลผู้มีสิทธิได้รับตามศาสนบัญญัติได้อย่างแท้จริง เต็มที่และทั่วถึงเพราะนโยบายจากส่วนกลางคือจากคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย ผ่านสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดไปปฏิบัติกับชุมชนมุสลิมในพื้นที่ใช้อำนาจการสั่งการในการทำหน้าที่จัดการซะกาตได้ในวงที่จำกัดเพราะใน พระราชบัญญัติ การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ไม่มีการระบุถึงกฎหมายหน้าที่การจัดเก็บและบุคคลที่ไม่จ่ายซะกาตผ่านคณะกรรมการดังกล่าวก็ไม่มีผลทางกฎหมายที่จะเอาผิด

ตัวอย่างจากการบริหารจัดการของมาเลเซียภายใต้การสนับสนุนรัฐบาลน่าจะเป็นแนวคิดหนึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้หากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

 “รัฐบาลมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อบทบาทของซะกาตในการแก้ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหากมีระบบบริหารจัดการที่ดีและถูกต้องตามหลักการของศาสนาแล้ว จะสามารถแก้ปัญหาความเป็นอยู่พื้นฐานในสังคมได้

ในอดีตมาเลเซียเองก็มีการปล่อยให้การจ่ายซะกาตเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลที่ทำกันเอง ไม่มีกฎหมายรองรับ หลายชุมชนปฏิบัติตามหลักการ แต่หลายชุมชนเฉยเมย ไม่มีองค์กรกลางบริหารจัดการในการจัดเก็บ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและขาดทิศทาง เงินและทรัพย์สินที่จ่ายเสมือนเบี้ยหัวแตก  ต่อมารัฐบาลมาเลเซียได้สนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มที่ในการจัดตั้ง "องค์กรอิสระ" เรียกว่า "ศูนย์รวบรวมซะกาต" อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมอิสลามประจำประเทศมาเลเซีย (ในประเทศมาเลเซียรู้จักกันในชื่อย่อ PPZ หรือมีชื่อเต็มว่า Pusat Pungutan Zakat หรือในภาษามาเลเซียเรียกว่า Majlis Agama Islam Wilayah Persekutuan ( MAIWP) ซึ่งศูนย์นี้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1990 โดยนำทรัพย์สินที่ได้รับมาจัดตั้งเป็น "กองทุนซะกาต" มีรูปแบบและองค์ประกอบของคณะผู้บริหาร การบริหารจัดการ และการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้มีหน้าที่จ่ายซะกาต รวมทั้งทำให้ทรัพย์สินซึ่งเป็นซะกาตได้ถูกแจกจ่ายไปเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คนยากจน คนขัดสน และบุคคลผู้มีสิทธิได้รับตามศาสนบัญญัติได้อย่างแท้จริง เต็มที่ และทั่วถึงในขณะเดียวกันรัฐบาลมาเลเซียได้นำระบบการจ่ายซะกาตทางธนาคารและอินเตอร์เน็ตมาใช้  มีระบบการคำนวณการจ่ายซะกาตในประเภทต่างๆ ที่ผู้จ่ายสามารถรู้ได้ทันทีโดยใส่จำนวนทรัพย์สินที่มีและผลของจำนวนในสิ่งที่จะต้องจ่ายโดยไม่ต้องสอบถามผู้รู้ด้านศาสนาเหมือนในอดีต    ด้วยระบบการจัดการที่ถูกต้องตามหลักศาสนาและสามารถบูรณาการกับวิทยาการสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว ทำให้ได้รับทรัพย์สินจากซะกาตได้ถึงปีละไม่ต่ำกว่า 700 ล้านริงกิตมาเลเซีย หรือประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งทรัพย์สินจำนวนดังกล่าวสามารถแบ่งเบาภาระของรัฐในการแก้ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ[1]

“ซะกาต” จะเป็นรูปแบบเศรษฐกิจชุมชนสำหรับชาวมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีฐานรากจากศาสนา  หากการบริหารจัดการมีระบบ ทันสมัย มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและโปร่งใส  จะช่วยได้มากในการลดภาระสวัสดิการชุมชน แต่ ข้อแตกต่างระหว่างซะกาต กับภาษีที่ถูกเรียกเก็บจากรัฐ ผู้ที่ไม่จ่ายซะกาต อาจรอดพ้นจากบทลงโทษในโลกนี้ แต่สำหรับโลกหน้า เขาจะได้รับการลงโทษอย่างสาหัสที่ไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งทุกคำสั่งใช้ของพระเจ้าเต็มไปด้วยเหตุผลและความทันสมัยในทุกยุค ทุกสถานการณ์ ที่ถูกกำหนดมาก่อนแล้ว เมื่อประมาณ 1,400 กว่าปี ก่อนหน้านี้   ดังที่อัลลอฮฺ(ซุบหานะฮูวะตะอาลา)ทรงวางโทษของคนมีทรัพย์ที่ไม่ยอมบริจาคในแนวทางของพระองค์ไว้ว่า

“และพวกที่สะสมทองคำและเงิน โดยไม่บริจาคซะกาต และไม่นำออกมาใช้จ่ายในวิถีทางศาสนาของอัลลอฮฺ  มุฮัมหมัดจงแจ้งข่าวการทรมานอันสาหัสที่เป็นข่าวดีสำหรับพวกนั้น ณ วันที่ไฟนรก “ญะฮันนัม” จะทำให้เกิดความร้อนแรง แล้วมันจะถูกนำมารีดบนหน้าผาก สีข้าง  และหลังของพวกนั้น  นี้แหละผลร้ายของพวกเจ้าทั้งหลายที่พยายามสะสมไว้สำหรับการส่วนตัวของพวกเจ้า โดยไม่ยอมบริจาคซะกาต ดังนั้น พวกเจ้าจงลิ้มรสทรัพย์ที่พวกเจ้าได้สะสมมันไว้ โดยไม่ยอมบริจาคเถิด” (อัต-เตาบะฮฺ  : 35)

ข้อเสนอแนะ

ข้อเสนอแนะต่อองค์กรการจัดเก็บซะกาต

  1. จัดเวทีแลกเปลี่ยนรู้การจัดเก็บซะกาตระหว่างองค์กรต่างๆโดยเฉพาะมัสยิดต่างๆในจังหวัดชายแดนภาคใต้
  2. ถอดบทเรียนการดำเนินงานของแต่ละองค์กรหรือข้ามองค์กรเพื่อปรับปรุงการดำเนินงาน
  3. จัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาศักยภาพคณะทำงานการจัดเก็บซะกาต
  4. ติดตามประเมินผลการจ่ายซะกาตแก่ผู้ได้รับซะกาตในปีที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้จ่ายซะกาตในปีถัดไป

ข้อเสนอแนะต่อองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในพื้นที่

  1.  หนุนเสริมแก่องค์กรในพื้นที่ที่จัดเก็บซะกาตในข้อเสนอแนะที่ผ่านมา (ข้อ  ก )
  2. สนับสนุนงบประมาณในการจัดดั้งกองทุนกลางประมาณ ร้อยละ 10 แก่กองทุนซะกาตเพื่อสวัสดิการชุมชนและกองทุนสวัสดิการอื่นๆที่มีอยู่ในชุมชนเพื่อการจัดการตนเองอย่างยั่งยืนและเป็นการลดภาระองค์การบริหารส่วนตำบลในการเป็นผู้ให้ประชาชน ร้อยละ 100
  3. บรรจุข้อบัญญัติว่าด้วยการจัดสวัสดิการ(โดยผ่านวิธีประชาคม/กระบวนการชูในการมีส่วนจากทุภาคส่วน)ให้ผู้มีสิทธิรับซะกาตรวมทั้งครอบกลุ่ม
  4. เป้าหมายอื่นๆทุกกลุ่มเป้าหมายจากผู้ที่ทอดทิ้ง เด็ก เยาวชน  ผู้สูงอายุและผู้พิการ

ข้อเสนอแนะต่อศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

หนุน เสริมด้านงบประมาณและวิชาการตามข้อเสนอแนะที่ผ่านมา (ข้อ ก และ ข ) ผ่านสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและสมาคมองค์การบริหารส่วนท้อง ถิ่น (กรรมการที่มาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้)

รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร

ผลักดันให้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต  เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ชุมชนสามารถจัดตั้งกองทุนซะกาต โดยมีรูปแบบและองค์ประกอบของคณะผู้บริหารที่เหมือนกัน มีการบริหารจัดการและการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพแต่ต้องผ่านเวทีการมีส่วน ร่วมจากทุกภาคส่วน

 

ดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้ คลิก

 


[1]  ศึกษาายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.zakat.com.my/index.cfm