สัมผัสมลายูโพ้นทะเลเลียบเกาะสมุย ตอนจบ

 

เด็กๆที่วิ่งเล่นแสนน่ารักเหล่านั้นที่ลานมัสยิดหน้าอาคารเรียนตาดีกา นูรุลอิฮซาน เกาะสมุย ทำให้ผมไม่เคยคิดว่านี่คือเกาะสมุย แต่ทำให้ผมต้องเตือนสติตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า ผมไมได้ยืนอยู่ที่ลานมัสยิดในชุมชนตัวเอง แต่กำลังยืนมองเด็กๆวิ่งเล่น กำลังฟังศัพท์สำเนียงมลายู ที่เกาะสมุยอยู่นั่นเอง สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมต้องค้นหา แสวงหาผู้ที่ในชุมชนแห่งนี้ว่า อะไรที่ทำให้เด็กเหล่านี้อยู่ในสภาพสังคมที่ต่างจากบ้านเกิดเมืองนอนของตน แต่ยังคงยืนหยัดที่จะใช้ภาษามลายูในการสื่อสาร อย่างคล่องแคล่ว ราวกับว่าเด็กๆเหล่านั้นไมได้เกิดหรือโตบนเกาะสมุยเลย เรามาเริ่มทำความเข้าใจไปพร้อมๆกัน ถึงความเป็นไปของชุมชนมลายูมุสลิมแห่งนี้ว่า เขายืนหยัดอุ้มชูอัตลักษณ์ความมลายูมุสลิมได้อย่างไร

สมัยก่อนมัสยิดที่นี่ยังคงเป็นศาลาไม้ ไมได้ก่อสร้างกับปูนดั่งปัจจุบัน มัสยิดแห่งนี้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม 2540 เมื่อพุทธศักราช 2542 โต๊ะแวเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนที่จะเป็นมัสยิดเราเคยมีโต๊ะอิหม่ามมาแล้ว 11 คนแต่เป็นโต๊ะอิหม่ามที่แต่งตั้งกันเอง เพื่อทำพิธีต่างๆที่ศาสนาบังคับ เช่นการแต่งงานเป็นต้น

โต๊ะแวเล่าว่า เมื่อโต๊ะแวไม่ได้ใช้ชีวิตในชุมชนนี้ โต๊ะแวอยู่ที่คลองแขก สาเหตุที่เรียกว่าคลองแขกก็เพราะเป็นชุมชนคนมุสลิมเรานี่แหละ โต๊ะแวย้ายมาที่นี่พร้อมกับพี่เขยของโต๊ะแว

“สมัยที่อยู่ที่คลองที่เรียกว่าคลองแขก สมัยนั้นยังไม่มีโต๊ะอิหม่าม เป็นโต๊ะอิหม่ามที่ตั้งกันเอง  พี่เขยโต๊ะแวเป็นโต๊ะอิหม่ามนั้น ย้ายมาอยู่ที่นี่  ตอนย้ายมาอยู่ที่ มาสมัยวัยรุ่นแล้ว โต๊ะอิหม่ามที่มี11 คน ก่อนจะแต่งตั้ง”

จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดที่ทำให้เรื่องราวอันทึ่งและอัศจรรย์ใจเกิดจากเรียนการสอนศาสนาซึ่งมีชายคนหนึ่งได้มาทำงานที่เกาะสมุย แล้วได้มาสอนการอ่านอัลกุรอานที่นี่ ในขณะนั้นยังไม่มีการสอนศาสนาหรือการสอนตาดีกาแต่อย่างใด โต๊ะแวเล่าเราฟังว่าตัวโต๊ะแวเองก็ได้ร่ำเรียนการอ่านอัลกุรอ่านจากชายคนนี้ด้วย เราขนานนามชายผู้นี้ว่า โต๊ะซามะ เดิมทีเป็นชาวปัตตานี(ข้อสันนิฐานของผู้ให้ข้อมูล)และหลังจากที่ท่านโต๊ะซามะได้เดินทางกลับภูมิลำเนาแล้ว ท่านได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่บ้านบุดี จังหวัดปัตตานี

“โต๊ะซามะได้มาสอนอัลกุรอ่านที่นี่ ท่านเดินทางมาที่นี่เพื่อทำงาน มาตัวเปล่าไม่มีอะไรเลย ผมทันเรียนอัลกุรอ่านกับท่าน”

เมื่อโต๊ะซามะเสียชีวิตการเรียนการอ่านอัลกุรอ่านไมได้ยุติลงเพียงแค่นั้น ยังคงมีการเรียนการอ่านอัลกุรอ่านต่อจากนั้นอีกด้วย เริ่มต้นจากชายคนหนึ่งซึ่งได้ย้ายจากภูมิลำเนาเดิมคือปัตตานี ไปอาศัยอยู่ที่ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และต่อมาก็ได้ย้ายมาอยู่ที่ชุมชนแห่งนี้ และได้สร้างสุเหร่า(อาคารไว้ทำการละหมาดแต่ไม่ใช่มัสยิด) ตอนนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้ อาคารละหมาดก็เริ่มสร้างจากอาคารไม้ โต๊ะแวได้เล่าให้เรารับรู้ถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องราวต่างๆให้ฟังว่า

“คนตานีมาอยู่ที่สิชล  ดุลเลาะ อุสมานบาฮา แล้วรับมาอยู่ที่นี่ จากสิชล แล้วมาสอนศาสนาที่นี่ ตอนอยู่ตานีอยู่ที่ตะลุโบะ จากสาลาเล็กๆก็สร้างเป็นสุเหร่า ตอนนั้นยังไม่ใช่ไฟฟ้าในสุเหร่า  อาซานก็อาซานโดยไม่มีเครื่องขยายเสียง”

การเรียนการสอนศาสนาที่นี่ยังมีปัญหาสำหรับความต่อเนื่องและผู้ที่มีความรู้ที่จะมาสอนมาให้ความรู้กับคนชุมชน โรงเรียนตาดีกาก็เริ่มจากการสถานที่ข้างๆมัสยิด แต่แล้วด้วยวิทยปัญญาและสัจธรรมของชีวิตในวิถีของอิสลาม ทำปัญหาดังกล่าวนั้นหมดไป โต๊ะแวเล่าให้ว่าการแก้ปัญหาแบบนี้แก้ด้วยการหาคนที่มีความรู้สามารถหนังสือแก่เด็กๆ แล้วให้เขาตั้งรกรากที่นี่เลย เช่น ครูคนหนึ่งที่มาอยู่ที่นี่ มาอสนหนังสือตาดีกาให้กับเยาวชนที่นี่และมีครอบครัวที่นี่ ทำให้การขาดแคลนและความไม่ต่อเนื่องของคุณครูที่จะมาสอนนั้นหมดไป

“เมื่อก่อนตาดีกา มีการเรียนการสอน มีคนมาสอนหลายรุ่นแต่ก็มาแล้วก็กลับ ส่วนใหญ่ได้มาจาก โรงเรียน ธรรมวิทยามูลนิธิ จนกระทั่งอัลลอฮได้ประทาน นายแวหามะ เย็ง มาเป็นคนสอนตาดีกาที่นี่ ซึ่งได้แต่งงานกับคนที่นี่ทำให้มีคนสอนยั่งยืน อีกคนก็ อัซมี ก็ได้แต่งงานคนที่นี่ ทำให้สามารถสอนหนังสือตาดีกาได้ต่อเนื่อง”

กลไกสำคัญที่ทำให้ชุมชนแห่งนี้ยังคงไว้ซึ่งการพูดภาษามลายูคือการเรียนการสอนตาดีกา การเรียนการสอนตาดีกาที่นี่ยังคงไว้ซึ่งการเรียนการสอนที่ใช้ภาษามลายู และใช้หลักสูตรตาดีกา ไม่ได้ใช้หลักสูตรของคุรุสัมพันธ์ เนื่องจากหลักสูตรคุรุสัมพันธ์นั้นใช้ภาษาไทยในการเรียนการสอน ในขณะที่ผู้คนและผู้นำศาสนาที่นี่มีความตระหนักถึงการอนุรักษ์ภาษามลายูให้ดำรงอยู่ต่อไปในชุมชน จึงเลือกที่จะใช้การเรียนการสอนตาดีการที่เป็นระบบการเรียนการสอนที่ใช้ภาษามลายู และหลักสุตรตาดีกาที่นี่ยังเป็นหลักสูตรนำร่องสำหรับตาดีกาที่อื่นๆในพื้นที่ใกล้เคียง การร่างหลักสูตรตาดีกานั้น ให้รับ อนิสงค์จากการที่โต๊ะแวเป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจึงได้เสนอและร่างหลักสูตรตาดีกาที่ใช้ทำการเรียนการสอนที่นี่

“สมัยที่ข้าพเจ้าเป็น กรรมการอิสลามประจำจังหวัด ได้ตั้งคำถามว่าทำไมไม่ใช้ภาษามลายูในการเรียนการสอนตาดีกา จึงได้เกิดหลักสูตร ตาดีกาที่นี่ที่ใช้ภาษามลายู”

กลไกอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ทำให้การใช้ภาษามลายูที่นี่ยังคงเข้มแข็งและสืบสานต่อมายังคนรุ่นหลังได้ คือการใช้สถาบันครอบครัวในการกระตุ้นให้เกิดการใช้ภาษามลายูเพื่อการสื่อสารกับคนในครอบครัว เมื่อคนในครอบครัวสื่อสารด้วยภาษามลายู ทำให้ภาษามลายูได้รับการส่งต่อจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งผ่านกลไกและสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นสถาบันพื้นฐานของสังคม หากสถาบันครอบครัวไม่ให้ความสำคัญกับการใช้ภาษามลายูในการสื่อสารแล้ว การอนุรักษ์ภาษามลายูคงจะไร้พลัง

โต๊ะแวเล่าให้ฟังว่า ไม่ใช่เพียงแค่เด็กๆและคนในชุมชนเท่านั้นที่สามารถใช้ภาษามลายู แต่เรายังขัดเกลาการใช้ภาษาไปถึงผู้มาเยือนที่นี่ผ่านสายใยของครอบครัวด้วย กล่าวคือ นอกจากคนในชุมชนแล้ว เหล่าบรรดาลูกเขยหรือลูกสะใภ้ที่นี่ ยังสามารถใช้ภาษามลายูในการสื่อสารกับคนในครอบครัวและคนในชุมชนได้ ผ่านการขัดเกลาการใช้ภาษาในครัวเรือน เมื่อคนในครอบครัวใช้ภาษามลายูอยู่ทุกเมื่อยาม คนในครอบครัวก็จะซึมซับและทำให้ผู้เยือนเหล่านั้นย่อมซึมซับไปด้วย ผ่านการได้ยิน และค่อยๆฝึกฝนการใช้ภาษามลายู โรงเรียนประถมที่นี่ มีเด็กๆที่สามารถใช้ภาษามลายูได้มากมาย อาจจะกล่าวได้ว่า 80เปอร์เซ็น ทำให้เด็กๆจากครอบครัวต่างชุมชน ซึมซับภาษามลายูผ่านเด็กๆในชุมชนของเราเอง ผ่านการเล่นในยามว่าง ผ่านการสนทนาในยามพักที่โรงเรียน เด็กๆหลายคนที่ไม่ใช่คนในชุมชน สามารถใช้ภาษามลายูในการสื่อสารกับคนในชุมชนได้ด้วย

“ที่นี่นอกจากลูกหลานแล้วที่พูดภาษามลายู เหล่าบรรดาลูกเขย ก็พูดได้  เด็กๆในโรงเรียนประถม ก็มีพูดได้”

กลไกสถาบันการเรียนการสอนตาดีกาและสถาบันครอบครัว ถือเป็นกลไกที่ส่งเสริมและเกื้อหนุนอย่างมากต่อการอนุรักษ์ภาษามลายู ประเด็นสำคัญอยู่ที่คนที่มาอยู่ใหม่ในชุมชน ที่เป็นมุสลิมแต่ไม่ใช่สายเลือดคนมลายู กลไกทั้งสองกลไกยังคงเป็นกลไกหลักที่ทำให้ผู้มาใหม่ในชุมชน ที่ไม่มีทุนเดิมด้านภาษามลายูซึมซับภาษามลายู เจ๊ะฆู(ครูสอน)ตาดีกาเล่าให้เราฟังว่า

“ในตาดีกามีการห้ามใช้ภาษามลายู และใครที่ใช้ภาษาไทยเป็นทุนกับครอบครัว ก้อนุโลมให้ และทำให้เด็กที่ไม่เคยพูดก็พูดได้

จากลูกที่พูดได้ ส่งผลให้ครอบครัวฟังและอาจจะใช้ภาษามลายูได้” “ในกรณีที่เด็กที่ใช้ภาษาไทยก็จะมีการตักเตือน ด้วยข้อตกลง และได้พูดคุยให้ครอบครัวตระหนักเรื่องการใช้ภาษามลายู  ในส่วนของการใช้ภาษาไทยนั้นยังคงมาตรฐานกล่าวคือ ใช้ภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว “

อีกกลไกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการอนุรักษ์ภาษามลายูผ่านองค์กรศาสนาที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน คือมัสยิด มัสยิดที่นี่จะมีการแบ่งวันกันว่าแต่ละสัปดาห์จะมีการขึ้นเทศนาธรรม(คุฏบะฮ)วันศุกร์สลับกันระหว่างภาษาไทยและภาษามลายู ในอดีตนั้นเคยใช้สองภาษาในคราวเดียวกัน คือ ขึ้นเป็นภาษามลายูแล้วแปลเป็นภาษาไทย ในปัจจุบันก็สลับกันสัปดาห์หหนึ่งภาษาไทยสัปดาห์ต่อไปภาษามลายู โต๊ะแวซึ่งเป็นอดีตโต๊ะอิหม่ามเล่าว่า

“มีคุตบะ ภาษาไทยสลับภาษามลายูสัปดาห์ละภาษา ในการทำละหมาดวันศุกร์ของมัสยิดที่นี่”

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นปาตานีโพ้นทะเลได้กลับไปยังภูมิลำเนาเดิมของต้นตระกูล ผ่านกระบวนการเรียนรู้ สถาบันการศึกษา นอกจากเยาวชนที่นี่จะศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตามโรงเรียนที่ใกล้เคียงแล้วยังมีการส่งเยาวชนจากชุมชนไปเรียนยังสถาบันปอเนาะในพื้นที่สามจังวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เยาวชนเหล่านั้นคือความหวังของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นในด้านการรักษาไว้ซึ่งความใสสะอาดของอัลอิสลาม ศาสนาอันเป็นที่รัก ศรัทธาที่มั่นคงแล้ว ยังคงเป็นความหวังให้คนเหล่านั้นกลับมายังชุมชนแห่งนี้เพื่ออนุรักษ์อัตลักษณ์ ภาษาของเผ่าพันธุ์ตนเอง เจ๊ะฆูตาดีกาเล่าให้เราฟังว่า

“เมื่อเด็กจบชั้นประถมหกแล้ว ส่งไปเรียน ปอเนาะที่ปัตตานี ราวๆ50คนในปัจจุบัน”

เมื่อความเจริญเข้ามา มีความท้าทายใดบ้างซึ่งเป็นข้อสำคัญที่ชุมชนทุกชุมชนต้องพบเจอและต้องมีการตระเตรียมเพื่อเผชิญหน้ากับความเจริญที่เข้ามาในสังคมที่กำลังเปลี่ยนไปตามวิถี สังคมสมัยใหม่ไม่ได้ส่งผลดีต่อเรามากนัก มีแต่เราที่ลำบากมากขึ้น สังคมเมืองที่กำลังเติบโต และความสมัยใหม่กำลังคืบคลานเข้ามายังชุมชน เป็นเรื่องที่ต้องห่วงมากๆสำหรับคนรุ่นหลัง แต่ด้วยความที่ชุมชนยังคงเข้มแข็งในเรื่องขอการธำรงไว้ศรัทธาในอิสลาม ทำให้ชุมชนเองก็พบเจอกับปัญหาจากสังคมสมัยใหม่ๆด้วยเช่นกัน โต๊ะแวได้เล่าถึงปัญหาที่มาพร้อมกับสังคมสมัยใหม่ว่า

“มีการเผยแพร่สาสนาคริสต์ ความเจริญเข้ามาเราไม่ได้รับส่วนดีเท่าไหร่ มีแต่ลำบาก  บางครั้งเขาไม่เข้าใจเราด้วย  เราต้องระวังปกป้องชุมชนไม่ให้หลงทาง”

เมื่อกล่าวถึงชุมชนมลายูที่มีต้นกำเนิดจากจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือสังคมมลายู ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า ชุมชนมลายูที่อื่นๆ จะถูกรัฐมองเป็นภัยต่อความมั่นคงด้วยหรือ  อีกทั้งเกาะสมุยเคยเกิดเหตุการ์คาร์บอมบ์ครั้งใหญ่ที่โรงจอดรถห้างเซ็นทรัลเฟซติวัล แบมะผู้ที่ใช้ชีวิตและอาศัยอยู่ที่ชุมชนแห่งนี้มากว่า 10 ปีได้เล่าเกี่ยวกับสภาวะหลังคาร์บอมบ์ที่ห้างเซนทรัลเฟซติวัลว่า

“ก่อนระเบิดเซนทรัล ที่นี่ไม่เคยโดนเพ็งเล็งเรื่องความมั่นคง แต่หลังจากระเบิดครั้งนั้น ที่นี่โดนเพ่งเล็งอยู่พักใหญ่ รัฐกล่าวหาว่าคนที่นี่ช่วยการหลบหนีของคนร้าย มีเจ้าหน้าที่รับรองว่าคนที่นี่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งมีโรงแรมมากมายในสมุยที่คนร้ายสามารถเข้าพักระหว่างการก่อเหตุ ทำไมต้องมาสงสัยเราด้วย”

แน่นอนชุมชนแห่งนี้คือชุมชนมลายูมุสลิมที่หลายต่อหลายคนมีพื้นเพเดิมจากสามจังหวัดชายแดนใต้ หากจะกล่าว่าคนที่นี่จะไม่เยื่อใยต่อคนสามจังหวัดชายแดนใต้ภาคใต้เลยก็คงจะแปลกประหลาดมากมาย เมื่อพูดถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรามักจะได้ยินถึงความหวาดกลัว พื้นที่ที่แต่ความรุนแรง แล้วในมุมมองของความเป็นคนมลายูโพ้นทะเล ที่ใช้ชีวิตอยู่ที่เกาะสมุยมาหลายสิบปี ทัศนะคติต่อเรื่องราวที่กำลังดำเนินไปนั้นเป็นอย่างไร แบมะ ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้กว่า 10 ปี ได้ระบายความรู้สึกต่อสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ว่า

“สิ่งที่เราปวดร้าวคือการขนย้ายของของครอบครัวเจ้าของปอเนาะ ต้องขนย้ายเอง ทำอะไรเอง หมดแล้ว ปิดแล้วปอเนาะ  เรามองว่าตอนนี้รัฐจะทำอะไรก็ได้ บีบก็ตาย คลายก็รอด แต่เหตุตั้งแต่ตากใบไม่มีการรื้อฟื้น คลายปม เวลาเรากลับบ้าน เราก็ระแวง เดี๋ยวเกิดเหตุยิงอิหม่าม ยิงคนนั้นคนนี้”

แม้จะไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าจะไม่ได้เติบโตในสังคมมลายูมุสลิม แต่ต้นตระกูลของคนเหล่านั้น ก็เติบโตและเป็นคนในสังคมมลายูอย่างปฏิเสธไม่ได้ กระบวนการทางสังคมที่ยังคงสำคัญ คือการขัดเกลาทางสังคม ที่ยังคงทำให้บรรทัดฐานทางสังคมของในชุมชนแห่งนี้ยังคงสามารถอนุรักษ์ ดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ภาษาเดิมของตัวเองไว้ได้ ผ่านการขัดเกลาโดยสถาบันทางสังคมที่สำคัญ คือ สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา(ทางเลือก) สิ่งเหล่านี้คือสมการสำคัญที่ทำให้ความเป็นคนมลายูไมได้สูญหายไปจากชีวิตจริงของคนในชุมชนเลยแม้แต่น้อย และตัวแปรสำคัญที่ทำให้ความเข้มแข็งที่สามารถต่อสู้กับปัญหาต่างๆที่ผ่านพ้นไปจากชุมชนแห่งนี้คือ ความศรัทธาที่ยึดมั่นในครรลองสัจธรรมแห่งพระเจ้าองค์เดียว คือสัจธรรมแห่งอัลอิสลาม

ตอนจบของ เรื่องเล่าที่ได้พบเจอกับความอัศจรรย์ใจ ของมลายูเกาะสมุย ระหว่างการเดินทางร่วมกับ ปาตานี ฟอรัม 

ตอนที่ 1  http://www.pataniforum.com/single.php?id=564