บรรยงค์ สุวรรณผ่อง: คลี่คลาย Hate speech ด้วยการรู้จักสารสนเทศ


 

Hate speech หรือประทุษวาจา ยังคงเป็นถ้อยคำที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสข้อมูลข่าวสารรูปแบบต่างๆ ตลอดจนการขยายผลถ้อยคำความเกลียดชังที่เกิดจากความแต่กต่างทางอัตลักษณ์ของผู้คนในสังคม ภายใต้กระแสการไหลบ่าข้อมูลเช่นนี้ เราจะรู้จัก Hate speech ได้อย่างไร ? ในโลกที่เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นเป็นที่แพร่หลาย อะไรคือทางออก ? สารสนเทศจะมีส่วนสำคัญในการตรวจจับความเกลียดชังในกระแสข้อมูลที่ไหลบ่าเหล่านั้นได้อย่างไร ? ปาตานีฟอรั่ม คุยกับ บรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ถึงประเด็นต่างๆ เหล่านี้

 

เค้าโครงของ Hate speech

บรรยงค์ อธิบายถึงเค้าโครงเกี่ยวกับนิยามของ Hate speech ว่าประกอบขึ้นจากคำว่าความเกลียดกับวาจา ซึ่งนิยามความเกลียดจะแรงกว่าคำว่าอคติ อคติหมายถึงความรู้สึกที่ไม่ดีต่อใครก็ได้ ขณะเดียวกัน ความเกลียดยังเป็นสิ่งที่อยู่เหนือไปกว่าการเลือกปฏิบัติ (discrimination) ผ่านการแบ่งแยกบางอย่างด้วยความต่าง

“การเลือกปฏิบัตินี้แปลว่าไม่ใช่แค่อคติแล้ว แต่เรายังทำอะไรบางอย่างที่มันแตกต่างกัน ที่มันเลือกปฏิบัติกัน แต่ความเกลียดเนี่ยมันสูงกว่า ทีนี้ พอมันมาอยู่กับ speech ก็คือประทุษวาจา ก็แปลว่าเราเนี่ยใช้การสื่อสารเพื่อการแสดงออกสร้างความเกลียดชัง ทำให้เกิดความเกลียดชัง คือวาจา นี่คือความหมายของ Hate speech”

 

กรอบของประทุษวาจากับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

บรรยงค์มองว่า Hate speech หรือประทุษวาจา ส่วนหนึ่งมีที่มาจากการกระตุ้นความรู้สึกผ่านข้อมูลข่าวสาร ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือการที่มีบุคคล กลุ่มก้อน หรือองค์กรใด ใช้การสื่อสารที่มีวัตถุประสงค์ให้เกิดความเกลียดชัง ด้วยกับการใช้ข้อมูล เหตุผล ประกอบกับความถี่ในการสื่อสาร เพื่อพัฒนาความรู้สึกเกลียดกลัวหรือเกลียดชัง ตลอดจนความรู้สึกยินยอมพร้อมใจกันแสดงออกหรือปกป้องคุณค่าที่ตนยึดถือ

“...เขาต้องใช้ความถี่ในการสื่อสารเพื่อพัฒนาการรับสารของคนให้ไปถึงการเชื่อ แล้วเมื่อเขาเชื่อ แล้วเขาพร้อมที่จะร่วมในการปกป้องหรือแสดงออกหรือในการสร้างความเกลียดชังต่อตรงนั้น…”

บรรยงค์กล่าวต่อ ว่าการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี หรือ Free speech โดยทั่วไปแล้วไม่ได้เป็นสิ่งที่มีปัญหา หากแต่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่มันพัฒนาไปสู่การสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชัง ก็ย่อมที่จะกลายเป็น Hate speech ได้ สิ่งสำคัญที่จะกำหนดกรอบเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นมิให้กลายเป็นการสร้างความเกลียดชังได้ คือการแสดงออกในการพูดจะต้องไม่ไปละเมิดและมันต้องไปเคารพในเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล 

 

รู้สารสนเทศเพื่อจัดการกับความรู้สึกเกลียดชัง

ในแง่ของความรู้สึกของผู้คนที่ไหลเวียนอยู่ในสังคม บรรยงค์มองว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นเป็นเรื่องปกติ เผ็นธรรมชาติของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะช่วยแก้ไขมิให้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นลุกลามเปนความเกลียดชัง คือการเข้าใจ เข้าถึง และรู้จักสารสนเทศในเรื่องที่ต้องการจะสื่อสาร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ทั้งในแง่ของการใช้สารสนเทศเพื่อสื่อสารประเด็นของตน ตลอดจนการไม่ตกเป็นเครื่องมือของคนที่แก่กว่า

“รู้สารสนเทศเพิ่มขึ้นแล้วก็มองเป้าหมายชัดและยืนหยัดอยู่อย่างนั้น ... ไม่วันใดก็วันหนึ่งมันเกิดการเปลี่ยนแปลง และการรู้สารสนเทศยังช่วยไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของคนที่แก่กว่านี้ด้วย”

บรรยงค์กล่าวเน้นย้ำว่า การไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นก็เป็นสิ่งที่สำคัญในการช่วยลดความเกลียดชังระหว่างกัน ขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญที่จะทำให้การแสดงออกของแต่ละฝ่ายเห็นผลโดยเฉพาะในสถานการณ์ของพื้นที่ความขัดแย้งเองนั้น คือการยืนหยัดในจุดยืนของแต่ละฝ่าย พร้อมแสดงมันออกมาด้วยความไม่ก้าวล่วงซึ่งกันและกัน

“อยู่ๆ เนี่ยเราจะไปบอกให้ใครมาเคารพกฎกติกาซึ่งกันและกันเนี่ยมันค่อนข้างยาก แต่สิ่งหนึ่งที่มันทำได้แล้วมันจะช้าหรือว่าเร็วก็คือการที่เราไม่ทำอย่างที่คนอื่นเขาทำ เราไม่ละเมิด และเราแสดงให้เห็นผลของของสิ่งที่เราทำอยู่ออกมา มันมีตัวอย่างที่ที่ดีงามอยู่เยอะมากเลยในการที่เราจะอยู่ร่วมกันได้บนความหลากหลาย แล้วก็ต่างคนต่างก็มีความสุข ซึ่งมันก็หนีไม่พ้นเรื่องการเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชนชั้น ไม่ว่าจะเป็นเพศวิถีก็ตาม”