ตรัง-ปาตานี ตอน ความรักซ่อนประชาธิปไตย

ความรักใช้กับประชาธิปไตยได้หรือไม่  ความเป็นประชาธิปไตยในระบบการศึกษาไทย และบทบาทนักศึกษากับการสร้างสังคมประชาธิปไตย เป็นโจทย์สำคัญที่ เครือข่ายส่งเสริมสิทธิชุมชนจังหวัดตรัง (คสช.ตรัง) ร่วมกับปาตานี ฟอรั่ม และกลุ่มนักศึกษา ปัญญาชนของประชาชน(Scholar of people) ม.อ.ตรัง ตั้งขึ้นมาเพื่อตั้งคำถามต่อสาธารณะ แม้นจะเป็นโจทย์ที่คุ้นเคย ถกเถียงกันมานักต่อนัก แต่กลับเห็นว่าความเข้าใจต่อหลักการพื้นฐานประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานทั่วไปของการอยู่ร่วมกันไม่ว่าจะอยู่ในขอบเขตความรักของคนสองคน จนไปถึงการจัดการความต้องการร่วมกันของคนจำนวนมากก็ยังมีการแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจของสังคมไทย   หรือหลักการพื้นฐานประชาธิปไตยอาจจะไม่เข้ากันกับความเป็นไทยอย่างที่โจทก์จันกันของสาธารณะ จึงเป็นที่มาของการจัดสานเสวนา “สังคมคู่กับประชาธิปไตย #ความรักก็เช่นกัน”

กิจกรรมสานเสวนาเริ่มด้วยการขับขานบทเพลงรัก 2-3 บทเพลง โดย ‘ตู่ ลมเถื่อน’ ศิลปินจากกลุ่มแตกหน่อประชาธิปไตยประชาชน แล้วตามด้วยการแนะนำองค์กรผู้ร่วมจัด

ศิลป์เรืองศักดิ์ สุกใส  ผู้ประสานงานเครือข่ายส่งเสริมสิทธิชุมชนจังหวัดตรัง แนะนำถึงที่มาว่า ได้ก่อเกิดมาตั้งแต่ปี 2551 โดยนักกิจกรรมในแวดวงภาคประชาสังคมในจังหวัดตรังซึ่งเห็นสภาพการลิดรอนสิทธิในด้านต่างๆ  ทั้งสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน ทั้งทางด้านทรัพยากร แผนพัฒนาของรัฐกับชุมชน มีการดำเนินการจัดกิจกรรมนักศึกษาออกค่ายอาสาตามชนบท ต่อมาก็วิวัฒนาการและเชื่อมร้อยกับนักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ และวิวัฒนาการกลายเป็นกลุ่มแตกหน่อประชาธิปไตยประชาชน ขยายแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยโดยพยายามดึงคนเด็กคนน้อยมาเรียนรู้ร่วมกัน

นูรีมะห์ บือราเฮง ผู้ประสานงานปาตานีฟอรั่ม ได้เล่าถึงที่มาว่า ปาตานีฟอรั่มกำเนิดขึ้นจากการร่วมมือของนักกิจกรรมทางสังคมรวมตัวกันโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะแห่งการตื่นรู้ สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาสาธารณะ เปิดให้แสดงทัศนะคติของตัวเองบนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตย มีเป้าประสงค์ที่ส่งเสริมการสื่อสารเรื่องราวปาตานี ( ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) สู่พื้นที่อื่นในประเทศไทย

ธิติวัฒน์ เงินสองศรี ตัวแทนกลุ่มนักศึกษา Scholar of people หรือ SoF ม.อ.ตรัง บอกถึงจุดเริ่มต้นว่ามาจากที่ตนค่อนข้างเป็นคนสนใจปัญหาสังคม สนใจเกี่ยวกับแนวคิดประชาธิปไตย อยากเรียนรู้นอกมหาวิทยาลัยโดยเดินทางไปศึกษาปัญหาตามชนบทในจังหวัดตรัง พบว่ามีปัญหาเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้านเกี่ยวกับปัญหาที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน จึงมีแนวคิดอยากตั้งกลุ่มนักศึกษาในม.อ.ตรัง จึงชวนเพื่อนๆ น้องๆ มาร่วมศึกษาเรียนรู้ปัญหาร่วมกันผ่านการออกค่ายอาสาโดยโบกรถ กินข้าว ทำนา เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้าน ต่อมาจึงมีการรวมตัวอย่างจริงจัง 6-7 คน ตั้งเป็นกลุ่ม ซึ่งมีความหมายว่า “ปัญญาชนเพื่อประชาชน” ซึ่งเป็นรูปเป็นร่างมาได้ประมาณครึ่งปี และมีการจัดออกค่ายอาสาอิสระอย่างต่อเนื่อง

ต่อมา พรพิมล รัตนกุล ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาศักยภาพนักข่าวภาคพลเมืองภาคใต้ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการ ได้แนะนำตัวผู้ร่วมสานเสวนา อันประกอบไปด้วย รัฐประชา พุฒนวล ตัวแทนจากกลุ่มแตกหน่อประชาธิปไตยประชาชน ปรัชญา โต๊ะอิแต ทีมงานปาตานีฟอรั่ม ซัยด์ วาเตะ  ตัวแทนกลุ่มนักศึกษา Scholar of people ม.อ.ตรัง ซูการไน รอแม ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาตูปะ ม.อ. ปัตตานี และ อนวัช จันทร์หงษ์  ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาสภาแตออ  ม.อ. ปัตตานี

รัฐประชา ให้นิยามของประชาธิปไตยในทัศนะของตัวเองว่า ถ้าแปลกันตรงตัวประชาธิปไตยก็คือประชาชน บวกกับอธิปไตย นั่นหมายถึงอำนาจเป็นของประชาชน อันประกอบไปด้วยหลักการเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ แล้วโยงภาพมายังความรักและครอบครัวว่าในครอบครัวมีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ถ้าไม่มีประชาธิปไตยก็หมายถึงเผด็จการ เช่น ปิตุธิปไตยอันหมายถึงพ่อเป็นใหญ่ หรือมาตุธิปไตยอันหมายถึงแม่เป็นใหญ่ ยกกรณีหากลูกทำจานข้าวแตกพ่อแม่ตีลูก แต่ถ้าพ่อแม่ทำจานข้าวแตกกลับไม่เป็นไร

ปรัชญา เห็นว่า ความรักกับประชาธิปไตยมีความคล้ายคลึงและใกล้เคียงกันมาก เพราะเป็นเรื่องของความผูกพันระหว่างคน 2 คน ซึ่งต้องมีลักษณะของการแบ่งปันกัน การยอมรับความเข้าใจของกันและกัน ถ้าใครอีกคนหนึ่งไม่ยอมรับข้อเสนอของคนอีกคนหนึ่งก็จะไม่ก่อเกิดการผูกพัน มองไม่เห็นคุณค่าของกันและกัน

ซัยด์ สะท้อนว่า ประชาธิปไตย คือสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม ผู้คนที่อยู่ร่วมในสังคมต้องเข้าใจกัน ถ้าไม่ยอมรับความเห็นของคนอื่นสังคมนั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ทั้งนี้การแสดงความเห็นของใครที่จะให้คนอื่นในสังคมยอมรับได้นั้นต้องมีขอบเขตทางศีลธรรม วัฒนธรรมไม่เกินขอบเขตการเคารพสิทธิความเชื่อของผู้อื่นด้วย มุสลิม เชื่อว่าหากใครแสดงความเห็นของตัวเองจนเกินเลยก็ต้องตักเตือนกัน เสนอสิ่งที่ดีต่อกัน ไม่ใช่การประจานกัน

ซูการไน  มองว่า ประชาธิปไตยคือเรื่องความเท่าเทียม และเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่มีใครเหนือกว่าใคร ไม่มีใครต่ำกว่าใคร ซึ่งมันเกี่ยวโดยตรงกับความรักซึ่งคู่รักต้องมีความเท่าเทียมกัน ถ้าแค่คาดหวังผลประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว เอาแต่ใจตัวเอง เป็นเผด็จการหรือไม่ ความรักที่เป็นประชาธิปไตยนั้นต้องเคารพความคิดเห็นของกันและกัน  เคารพความต่าง  โดยร่วมกันออกแบบครอบครัว หรือเรายอมให้คนๆเดียวออกแบบครอบครัว นั้นเป็นแบบเผด็จการ

อนวัช แสดงทัศนะว่า ความรักกับประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่สอดคล้องกัน ความรักคือการให้ แต่ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การให้ ซึ่งมันซับซ้อนกว่าความรัก ประชาธิปไตยไม่โรแมนติคเหมือนความรัก ประชาธิปไตยยืนอยู่บนฐานของหลักการคนเท่ากัน อาศัยประชาธิปไตยแบบตัวแทน มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง เข้าไปเรียกร้องผลประโยชน์ให้คนจังหวัดตรัง อีกทางหนึ่งคืออาศัยประชาธิปไตยทางตรง เช่น ขบวนการชาวบ้านค้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา คัดค้านเขื่อนคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน  เป็นต้น ซึ่งเรียกร้องสิทธิชุมชนของตัวเองสู้รบกับวาทกรรมต้องเสียสละเพื่อส่วนรวม ซึ่งชาวบ้านคนเล็กคนน้อยถูกบังคับให้เป็นผู้เสียสละอยู่ตลอด รวมถึงการเมืองเสื้อเหลือง เสื้อแดงที่มีสิทธิสู้ตามสิทธิที่มี แต่ไม่ควรเลยกรอบของกฎหมายไปสู่ความรุนแรง

พรพิมล ในฐานะคนชวนคุย มองว่าความรักเป็นเรื่องของกฎธรรมชาติ กฎธรรมชาติคือสัตว์ใหญ่รังแกสัตว์เล็ก ปลาใหญ่กินปลาน้อย ขณะที่ประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่คนร่วมกันสร้างขึ้นในการอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างความเท่าเทียมกัน ซึ่งขัดแย้งกันอยู่ในตัวอยู่แล้ว  พร้อมๆ กับตั้งคำถามต่อผู้ร่วมเสวนาซ้ำว่า ใช้บรรทัดฐานความรักใช้กับประชาธิปไตยได้หรือไม่

รัฐประชา มองความรักแบบสัญชาติญาณมนุษย์ ซึ่งเป็นสัญชาตญาณการแสดงออกเพื่อประสงค์ดำรงเผ่าพันธุ์มนุษย์ เป็นแค่กระบวนการหนึ่งในการสืบพันธุ์ของมนุษย์ แล้วต่อมาก็ก่อเกิดเป็นความผูกพัน และความรัก

“การสืบพันธุ์ของมนุษย์สืบพันธุ์โดยลำพังไม่ได้ต้องมีคู่ เมื่อจำเป็นต้องมีคู่มีความสัมพันธ์กันตั้งแต่คน 2 คนก็เริ่มมีการเมือง ข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน การออกแบบข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันต้องดูว่าใครเป็นผู้มีอำนาจออกแบบ ซึ่งผู้มีอำนาจออกแบบย่อมออกแบบเข้าข้างตัวเองอยู่แล้ว ถ้ากระบวนการออกแบบการอยู่ร่วมกันของคน 2 คนเป็นประชาธิปไตยก็จะรักกันยืนยาว หากอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดก็เป็นเผด็จการ เป็นแค่การฝืนจำอยู่  ผู้หญิงก็เป็นแค่วัตถุทางเพศ ไม่มีความเท่าเทียมผู้ชาย อย่างผมนี่เข้าหาแฟนไม่จำเป็นต้องคุกเข่าเข้าหา ให้เกียรติกัน ผมมองว่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว”

เห็นคล้ายกันกับปรัชญา โดยย้ำว่า ความรักคือความผูกพัน ซึ่งเริ่มจากการผูกพันทางใจ ไม่ใช่ผูกพันทางความคิด ผูกพันทางร่างกาย เรารักสิ่งแวดล้อมได้ เรารักทะเล รักสัตว์ รักเพื่อนมนุษย์ รักเพื่อน รักสังคมด้วยการเริ่มจากการผูกพันทางใจ  มนุษย์ไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยวลำพังได้ และโหยหาใครอีกคนมาเติมเต็มกลบฝั่งความโดดเดี่ยวด้วยความผูกพัน

“หากผมไม่สับสนมาก ผมเข้าใจไม่ผิด คนต้องอยู่กันเป็นสังคม ต่างคนต่างอยู่ไม่ได้ ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กัน มีกรอบกฎกำหนด ศีลธรรม กำหนดและผ่านการยอมรับร่วมกัน ไม่ว่าศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือคนไม่มีศาสนา ก็เชื่อว่าต้องมีศีลธรรมมากำหนด”

 “ธรรมชาติของมนุษย์สนใจเพศตรงข้าม มีภาพอุดมคติในเพศตรงข้ามที่สามารถดึงดูดเสน่ห์ ดึงดูดให้มีความผูกพันทางใจ ก่อนจะไปสู่การผูกพันทางความคิด และการกระทำ การอยู่ร่วมกันต้องให้คุณค่า ประชาธิปไตยคือการกำหนดสิ่งต่างๆด้วยกัน เท่ากัน ด้วยการให้คุณค่าต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เท่ากัน”

ซัยด์ ให้นิยามประชาธิปไตยเชื่อมกับความรักว่าคือการให้ เมื่อรู้จักการการก็รู้จักการรัก ขณะที่ประชาธิปไตยคือสิทธิและความเท่าเทียมกัน แม้มีวัฒนธรรมและศีลธรรมที่แตกต่างกันก็ต้องเคารพกัน ยอมรับความเห็นของคนอื่น ไม่ว่าความคิดเชื่อของเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือความเชื่อของต่างศาสนิก จะไม่มีความขัดแย้งกันหากรู้จักการให้  กรณีเดียวกับการออกนโยบายต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ หากรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือกฎต่างๆ ขัดแย้งกับศีลธรรมความเชื่อของคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่ยอมรับความแตกต่างของท้องถิ่นก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความแตกแยก

ซูการไน  พยายามอธิบายเชื่อมโยงความรักกับประชาธิปไตยอีกครั้งว่า ความรักคือความจริงใจต่อกัน ไม่ใช่แค่การให้อย่างเดียว ประชาธิปไตยก็เช่นกันไม่ใช่แค่การที่ผู้ใหญ่ซึ่งอยู่เหนือกว่าให้ลงมาอย่างเดียว บังคับให้คนข้างล้างต้องรับอย่างเดียวโดยไม่มีความจริงใจ ทั้งที่ควรมีความจริงใจด้วย

อนวัช มองว่า ทั้งนิยามของประชาธิปไตย และความรักสามารถให้คำจำกัดความได้หลายนิยาม แล้วแต่ใครเป็นผู้กำหนด จาที่ตนศึกษาประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย การก่อเกิดเริ่มจากแรกมีผู้เป็นใหญ่คือชนชั้นนำ ต่อมามีพัฒนาการให้ขุนนางเข้ามาต่อรองอำนาจ ต่อมาก็ประชาชนเข้ามาต่อรองอำนาจ เมื่อมีการต่อรองอำนาจย่อมมีความขัดแย้งเป็นธรรมดา มีการต่อสู้ อย่างเมื่อก่อนลักษณะในสังคมไทยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กษัตริย์มีอำนาจ ครั้นเมื่อมีการปฏิวัติเมื่อปี 2475 โดยคณะราษฎร ซึ่งไม่มีการนองเลือด แต่ขณะเดียวกันก็มีขบวนการโตกลับของเครือข่ายชนชั้นนำ และค่อยวิวัฒนาการมาสู่การลุกขึ้นต่อรองอำนาจโดยชนชั้นกลางในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

“สังคมภาคใต้ เป็นชนชั้นกลางนิยมพรรคประชาธิปัตย์ ขณะเดียวกันสังคมเหนือ อีสาน ซึ่งส่วนใหญ่คือคนเสื้อแดงเป็นชนชั้นกลางใหม่ ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผมไม่ได้บอกว่าทักษิณเป็นคนดี แต่ทักษิณคือตัวเลือกที่ดีที่สุดแล้วในการเข้าถึงทรัพยากรของชนชั้นกลางใหม่ หากประเทศไทยมีตัวเลือกนักการเมืองที่ดีกว่านี้คนเสื้อแดงก็คงจะไม่เลือกทักษิณ ประชาธิปไตยมันไม่ได้โรแมนติคแบบเอื้ออาทร” นายอนวัช พยายามขยับประเด็นความรักกับประชาธิปไตยมาเชื่อมโยงกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางเมืองไทยในปัจจุบัน

โปรดอ่านต่อในตอน 2..