เริ่มจากคำถาม และค่อยๆสื่อสารคำตอบ “กฎเหล็กนักสื่อสารปาตานีรุ่นใหม่” ตอนที่ 1

 

 

ห้วงที่เรื่องราวปาตานี/ชายแดนใต้บนหน้าสื่อยังคงค่อยๆคลำหาแนวทางเพื่อการสื่อสารสันติภาพและเป็นห้วงเดียวกันที่เยาวชนปาตานีคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ก็กำลังพยายามพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อสื่อสารเรื่องราวที่นำไปสู่การสร้างมโนทัศน์ความเข้าใจใหม่ๆต่อสังคมไทย ยังคงเป็นเรื่องท้าทายต่อสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้ อย่างต่อเนื่อง

การรับฟังเสียงและทบทวนการทำงานสื่อสาร จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด เป็นประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นภายในวงเสวนา หัวข้อ ฟังเสียงพลเมือง สื่อสาร(น) สันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้ ที่จัดขึ้นในพื้นที่ยะลา โดยความร่วมมือระหว่างปาตานี ฟอรั่มและคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ซึ่งวงเสวนาครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อฟังเสียงกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่คลุกคลีอยู่กับงานการสื่อสาร เป็นการรับฟังความคาดหวังของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ความคาดหวังที่พวกเขาอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในการสื่อสารเรื่องราวบ้านตนเองอันจะเป็นส่วนช่วยสร้างบรรยากาศของสันติภาพในพื้นที่

บรรยากาศวงเสวนาครั้งนั้นเริ่มโดยการปูพื้นความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ข่าวสารปาตานีที่ผ่านมาโดยมี รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ผศ.แวอาซีซะห์  ดาหะยี คณะวิทยาการจัดการ ม.ราชภัฎยะลา เกริ่นว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่า สื่อเริ่มนำเสนอเยอะขึ้น เกี่ยวกับมิติวิถีชีวิต วัฒนธรรม สาเหตุที่มีมากขึ้น สืบเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้ง ก็ทำให้สถานการณ์การตื่นตัวของคนในพื้นที่เริ่มขยับตนเองมาเป็นสื่อ พัฒนาตนเอง พัฒนาศักยภาพตนเองในการสื่อสารมากขึ้น

         “จุดเริ่มต้นอาจย้อนไปถึงการเกิดขึ้นของศูนย์ข่าวอิศราที่เป็นตัวจุดประกายทำให้คนในพื้นที่เห็นความสำคัญของการเป็นสื่อ ทำให้ภาคประชาสังคม ต้องออกมาสื่อสารสิ่งที่ตนเองทำสู่ข้างนอก เพราะหากว่าเราทำงานแต่ไม่สื่อสารออกไป คนก็จะไม่เข้าใจพื้นที่ ไม่เข้าใจสันติภาพที่คนในพื้นที่อยากจะสื่อสารออกมา”

        “สื่อทางเลือกจะต้องลุกขึ้นมามีบทบาทในการทำประเด็น ต้องร่วมกัน เพื่อไม่ให้การชี้นำประเด็นโดนสื่อกระแสหลักนำ เพราะสื่อทางเลือกจะมีความเข้าใจในประเด็นมากกว่า เสียงคนในพื้นที่มีความสำคัญมาก”

        “ผู้ได้รับผลกระทบจะมีพลังมากในการเรียนรู้เรื่องการสื่อสาร ที่ผ่านมาก็เริ่มการพัฒนาตนเอง จนทำให้สื่อกระแสหลักต้องตามแนวการนำเสนอจากสื่อทางเลือกหลายประการ เช่น การใช้คำจากมีเพียงแค่คำว่าโจรใต้ ก็มีคำว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดน กลุ่มคิดต่างจากรัฐ”

        “นักสื่อสารในพื้นที่ต้องเริ่มต้นด้วยการถามว่า ตอนนี้เราอยากรู้อะไร ถ้าคนอยากรู้อะไร เราก็อยากจะนำเสนอเรื่องนั้น เราต้องสวมบทบาทผู้รับสาร เพราะที่เราติดตามสื่อกระแสหลักก็มีประเด็นอีกมากมายที่สื่อยังไม่ได้นำเสนอ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราอยากรู้ เราก็มาทำ แล้วก็สื่ออกไปเองได้”

ผศ.แวอาซีซะห์ ชี้เพิ่มเติมว่า  หากเรานำเสนอภาพเชิงบวกไป จากที่ผ่านมาคนที่อื่นๆรับภาพน่ากลัวมามากแล้ว อย่างน้อย ก็จะคลายความน่ากลัว ทำให้คนก็ไม่กลัวที่จะมาเรียนรู้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คนนอกพื้นที่ก็จะลดอคติ เปิดใจในการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ 3 จังหวัดชายแดนใต้ อย่าทำให้คนนอกพื้นที่มองว่าที่นี่ เป็นดินแดนสนทยา เป็นดงระเบิด ไม่สามารถหาคำตอบอะไรได้

        “เราต้องเล่าเรื่องของตัวเอง อย่ารอให้คนอื่นมาเล่า เราควรเริ่มเล่ามิติที่ปลอดภัย มิติที่สวยงามไปก่อน และยังมีหลายเรื่องในสื่อกระหลักที่มีข้อมูลมาจากคนบ้านเรา คนในพื้นที่ อย่ารอว่าเราต้องรับผลกระทบก่อนแล้วค่อยผลักตนเองมาเป็นสื่อ มาสื่อสารเรื่องตนเอง” นักวิชาการสื่อเน้นย้ำ

อย่างไรก็ตาม อีกประเด็นที่ผู้เข้าร่วมเสวนามองว่าเป็นประเด็นที่น่าห่วงกังวลคือ สื่อกระแสหลักบางสื่อ ยังไม่เข้าใจกระบวนการสันติภาพ การพูดคุยสันติภาพคืออะไร สื่อกระแสหลักยังมองว่า ทำไมต้องเอาโจรมาคุยกับรัฐ ที่ผ่านมาสื่อกระแสหลักกำลังจะเป็นตัวป่วนสันติภาพ ทำให้สื่อทางเลือกจะต้องออกมาทำความเข้าใจ เป็นสิ่งที่เยาวชน คนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านการสื่อสารต้องออกมาเรียกร้อง โดยเชื่อว่าแม้นคนในพื้นที่จะเป็นคนตัวเล็ก ตัวน้อย แต่คนในต้องทำตัวเราให้เป็นสื่อที่เข้มแข็งให้ได้ อย่าปล่อยให้สื่อกระแสหลักนำประเด็น

ขณะที่ผู้ชวนเสวนาอีกคนอย่าง อัสรา รัฐการัณย์ นักจัดรายการวิทยุ “เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนการทำงานด้านการสื่อสารในรายการวิทยุเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ ที่ผลิตรายการวิทยุเน้นการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพของกลุ่มผู้หญิงในสถานการณ์ที่ผู้หญิงต้องเป็นเหยื่อและต้องการความช่วยเหลือเยียวยา ได้สะท้อนกรณีตัวอย่างข่าวสารที่นำเสนอผ่านสื่อบางสื่อซึ่งเป็นข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์กรณีข่าวพระถูกยิงที่แม่ลาน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วอนแนวร่วมยุติความรุนแรง

        “พอเราอ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นการชี้นำสังคม เพราะยังไม่มีการสรุป แต่สื่อสรุปไปแล้ว เราต้องทักท้วงออกไป เพราะถ้าเราไม่ทักท้วง สื่อกระแสหลักก็จะมีความมั่นใจว่าสิ่งที่ตนทำไม่ได้ผิดอะไร สื่อกระแสหลักจะต้องเริ่มปรับวิธีคิด ด้วยการลดอคติ  ขณะเดียวกันเราที่เป็นสื่อทางเลือกก็ต้องปรับวิธีคิด ลดอคติ ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะถ้าเราไม่ปรับ อย่าหวังว่าสื่อทางเลือกจะปรับมุมมอง เพราะหลายครั้งที่เราเองกลับมาทำลายความงดงามของเรา ของวัฒนธรรมและศาสนา เพราะการไม่กลับมาทบทวนตนเอง” อัสราสะท้อน

 

 

ถึงกระนั้นผู้เข้าร่วมเสวนาก็ยอมรับว่า สื่อกระแสหลัก อาจจะมีความลำบากใจในการทำงานในพื้นที่ เพราะบ่อยครั้งที่สื่อกระแสหลัก มีความเป็นไปได้ทีจะหยิบข้อมูล ข้อเท็จจริงมาจาก แหล่งข่าวที่เข้าถึงง่าย สะดวก หรือ ใช้ข้อมูลที่สรุปจากแหล่งที่หยิบใช้ได้ง่าย หลายครั้งที่คนในพื้นที่ที่เป็นสื่อ แล้วมักตีกรอบการนำเสนอด้วยเรื่องที่บิดเบียนเรื่องในพื้นที่ตนเอง เป็นแขนขาให้สื่อกระแสหลัก รายงานข่าวบิดเบียนตนเอง

ประเด็นดังกล่าว ผู้ร่วมเสวนามองว่าทิศทางในอนาคตสื่อกระแสหลักจะอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่ได้มาสัมผัสกับประเด็นในพื้นที่ เปิดตนเองจากความหวาดกลัว เพราะต่อไปประเด็นของสื่อกระแสหลักจะขายไม่ออก ขณะที่สื่อทางเลือกมีประเด็นมากมายให้นำเสนอ

ผู้เข้าร่วมเยาวชนนักสื่อสาร มองว่า ยังมีเรื่องบางเรื่องที่คนในพื้นที่มีข้อมูล อยากรายงาน อยากบอก แต่บอกไม่ได้ หรือบอกสื่อไป แต่สื่อไม่ยอมรายงานเพราะกังวลเรื่องความมั่นคง ต้องการรักษาความปลอดภัยแหล่งข่าว ซึ่งประเด็นตรงนี้ ผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ เสนอว่า สื่อจะต้องมาทำทบทวนวิธีการนำเสนอ หรือคนที่เป็นสื่อจากพื้นที่ก็ควรเก็บประเด็น เก็บสะสมความจริงเอาไว้ รอจังหวะที่จะนำเสนอเพื่อทำความเข้าใจต่อสาธารณะชนต่อไป

ผู้เข้าร่วมวงเสวนา ได้วิเคราะห์กันต่อว่าภายใต้สถานการณ์ที่ไม่สามารถสื่อสารได้อย่างเสรีเช่นนี้ สิ่งที่เราทำได้คือการเติมความรู้ เพราะต้องคำนึงถึงความมั่นคง ดังนั้นช่วงนี้ต้องเพิ่มศักยภาพตนเอง เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อถึงเวลาจะสื่อสารออกไป วันนี้เราอาจไม่พร้อม ก็เก็บข้อมูล ประเด็น พัฒนาตนเองไปเรื่อยๆ

อัสรา จึงพยายามชี้ให้เห็นว่า สันติภาพต้องเกิดจากเสียงของคนตัวเล็กตัวน้อย ไม่ใช่แม่ทัพ ไม่ใช่ผู้นำทางการ เพราะคนในพื้นที่คือผู้ที่ดิ้นรนในสถานการณ์จริง คนในพื้นที่คือแหล่งข่าวตัวจริงที่สื่อควรไปหยิบยกมา นอกจากนี้สื่อทางเลือกต้องคิดเรื่องกระบวนนำเสนอให้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องสื่อตรงๆ

นักศึกษานักกิจกรรมคนหนึ่ง อารีฟีน โสะ จากกลุ่ม PerMAS เห็นคล้ายกันว่า เรื่องการสื่อสารสันติภาพ เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นที่คนในพื้นที่ต้องให้ความสำคัญ

        “ผมคิดว่า เรื่องการสื่อสารในพื้นที่เพื่อสันติภาพเป็นสิ่งจำเป็น เห็นด้วยว่าเสียงคนตัวเล็กๆเป็นเสียงสำคัญ เป็นเสียงที่สวยงาม วันนี้ในพื้นที่ความขัดแย้ง มีเหตุการณ์ความรุนแรง ดังนั้นหากจะเป็นสื่อช่วยสร้างสันติภาพ จะต้องสื่อสารความจริง ข้อเท็จจริง จากเหตุการณ์ เช่น เหตุการณ์ยิงเด็ก 14 ปี โดยกลุ่มบุคคลที่เป็นชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญที่ทำให้เห็นว่า เมื่อสื่อนำมาเสนอออกมา ซึ่งเกิดจากการขับเคลื่อนของสื่อทางเลือก จนมาสู่การผลักดันของสื่อกระแสหลัก จนมาสู่ปมคลี่คลายปัญหา จนคนในพื้นที่ก็ได้รับความยุติธรรม”

นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมเสวนาคุยกันต่อว่าประเด็นที่สื่อ ควรชวนให้สาธารณะถกเถียงมีหลายประเด็นแต่ประเด็นที่มีความน่าสนใจ คือ

ประเด็น  คนทำงานด้านสื่อในพื้นที่ ต้องยอมรับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐคือกลุ่ม บีอาร์เอ็น ตามที่เขาประกาศตัวเอง

ประเด็น สถานการณ์ในพื้นที่ มีการนำเสนอว่ามีการสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเองแล้วใส่ร้ายกลุ่มคิดต่างๆ ตรงนี้เป็นประเด็นที่สื่อจะต้องชวนให้สาธารณะถกเถียงกันต่อ

ประเด็น ความเป็นธรรมในการรายงานข่าวของสื่อกระแสหลัก ยังเป็นข่าวที่มาจากเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ ส่วนแหล่งข่าวที่มาจากพื้นที่และเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ยังปรากฏอยู่น้อย

ประเด็น คำถามบางคำถามที่เกิดจากพื้นที่ที่อยากให้สื่อชวนสาธารณะตั้งคำถาม เช่น ถ้าพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ไม่มีทหาร พื้นที่จะมีความสงบสุข จริงหรือไม่

ประเด็น การสื่อสารที่ต้องเริ่มต้นด้วยการเป็นผู้ติดตามข่าวสารที่ดีก่อน คือ รู้เท่าทันสาร ต้องวิเคราะห์ ตั้งคำถาม ติดตามข่าวสารหลายมุม หลายๆด้าน หลายๆ ข้อเท็จจริง

ประเด็น การใช้เครื่องมือการสื่อสารให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในฐานนะที่เป็นนักศึกษาต้องใช้คำว่าการเป็นนักศึกษาที่คู่ควรต่อการทำงานเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยในสามจังหวัด ควรจะพัฒนานักศึกษาในเรื่องการขับเคลื่อนสันติภาพโดยใช้สื่อ 

ประเด็น เกี่ยวกับการเป็นนักศึกษาจะสามารถทำประเด็นเพื่อสื่อสารอะไรได้อีกเยอะ อาศัยในช่วงที่เป็นนักศึกษา ต้องใช้ช่วงเวลานี้ทำกิจกรรมสื่อสาร ต่อสาธารณะให้มากที่สุด

ประเด็น เกี่ยวกับทฤษฎีการสื่อสารมวลชนในกระบวนการสันติภาพ คือ การรายงานข่าวให้เห็นชัยชนะทั้งคู่ ไม่ใช่การรายงานข่าวแบบสงคราม ฝ่ายหนึ่งแพ้ อีกฝ่ายต้องชนะ

ประเด็น ข้อเสนอที่อยากเห็นการสื่อสารประเด็นวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ซ้ำๆ บ่อยๆ เพราะจะไปทลายอคติของคนนอกพื้นที่

มุมมองผ่านเลนส์เยาวชนนักสื่อสารปาตานี ยังไม่จบเพียงแค่นี้ มีต่อในตอนต่อไป..