งานแสดงวัฒนธรรมถูกปิดลงโดยอิสลามหัวรุนแรง: ตำรวจอยู่ที่ไหน?

ที่มาของบทความ: http://observers.france24.com/content/20120820-string-cultural-events-shut-down-islamic-extremists-police-salafists-lofti-abdelli-mehrab-iran-bizerte

 

ภาพจากวิดีโอเหตุการณ์อิสลามหัวรุนแรงกำลังจัดผ้าปูละหมาดข้างหน้าโรงละครในเมืองเมนเซล บอกุอิบา สถานที่ซึ่งนักแสดงตลกชื่อดัง ลอตฟี อับเดลลี กำลังจะขึ้นแสดงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

 

ในช่วงเวลาสิบวัน กลุ่มอิสลามหัวรุนแรงได้ปิดทำลายงานแสดงวัฒนธรรมต่างๆในสาธารณรัฐตูนิเซียรวม 3 แห่ง ผู้จัดงานแสดงความไม่พอใจและวิจารณ์การทำงานและทัศนคติของตำรวจในพื้นที่ต่อพฤติกรรมรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มสาลาฟีย์[1]

กลุ่มอิสลามที่ยึดมั่นในหลักการในตูนีเซียได้แสดงตนอย่างโดดเด่นและขยายอิทธิพลไปในวงกว้าง ภายหลังเหตุการณ์ปฏิวัติโค่นล้มนายไซนุล อาบีดีน เบน อาลี เมื่อปีที่แล้ว  ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมากลุ่มหัวรุนแรงได้โจมตีผู้จัดงานแสดงวัฒนธรรม ณ ศูนย์เยาวชนในเมืองไบเซอร์ตทางตอนเหนือของตูนีเซียด้วยความรุนแรง พวกเขาโกรธแค้นที่นายซาเมีย คานตาร์ สมาชิกแห่งกระบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์มาร่วมในงานดังกล่าว กลุ่มสาลาฟีย์กล่าวหาว่าคานตาร์เป็นสมาชิกกลุ่มนักรบชีอะห์แห่งเลบานอนที่มีชื่อว่า ฮิซบุลลอฮ์ (Hezbollah)

ตามข้อมูลข่าวของกระทรวงการปกครองภายใน มีประชาชนบาดเจ็บจากเหตุการณ์จำนวน 4 คน รวมทั้งผู้จัดงาน 2 คนและตำรวจอีก 1 นาย ทางกระทรวงเปิดเผยว่า มีกลุ่มคนในสายสาลาฟีย์หัวรุนแรงกว่าสองร้อยคนเข้าร่วมในเหตุรุนแรงครั้งนี้

วิดีโอบันทึกเหตุการณ์ถูกเผยแพร่ทางเว็บไซต์ยูทูปในเย็นเดียวกัน ชี้ให้เห็นว่า ผู้บาดเจ็บถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองไบเซอร์ต

ในภาพวิดีโอ ผู้จัดงานคนหนึ่งเล่าว่า

“เมื่อเวลาหนึ่งนาฬิกาเศษ เราได้รับการแจ้งว่า สาลาฟีย์กลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกันหน้าศูนย์เยาวชนและฉีกโปสเตอร์และทำลายสถานที่ดังกล่าว เมื่อเรารุดไปยังที่เกิดเหตุและสอบถามถึงสาเหตุ กลุ่มคนดังกล่าวได้อ้างว่า เพราะผู้จัดงานเชิญนายซาเมีย กานตาร์ ผู้ซึ่งเป็นมุสลิมชีอะห์มาในงาน ทางเราจึงตอบโต้ว่า นายซาเมียจะเป็นชีอะห์ หรือซุนนีนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สำคัญที่ว่าเขาเป็นนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านองค์การไซออนิสต์[2] เมื่อฟังดังนั้น กลุ่มสาลาฟีย์จึงกล่าวหาเราว่าเป็นมุสลิมชีอะห์และเริ่มทำร้ายร่างกายพวกเรา พร้อมทั้งกล่าวโจมตีว่า พวกเรานั้นไม่ใช่มุสลิม เหตุการณ์รุนแรงขึ้นและมีเสียงตะโกนจากคนในกลุ่มนั้นว่า ฆ่าพวกเขา ฆ่าพวกเขาเสีย เขาเป็นชีอะห์!!”

“ตำรวจทราบดีว่ากลุ่มสาลาฟีย์กำลังจะรุมทำร้ายเรา”

 อิเม็ด สาฟาซี เป็นสมาชิกขององค์กรฮีบบ์ดิรุทัส(HippDirutus) ซึ่งเป็นผู้จัดงานวัฒนธรรมในเมืองไบเซอร์ตในเย็นวันพฤหัสบดี

“พวกเขาไม่ได้มาขัดขวางงานแสดง แต่หากจงใจมาทำร้ายพวกเรา  โชคดีที่เขามาในช่วงบ่ายแก่ๆซึ่งยังมีคนมาไม่มากนัก ไม่เช่นนั้นคงมีเหตุการณ์นองเลือดเกิดขึ้น ตอนผมเห็นพวกเขารุมทำร้ายเพื่อนร่วมงานของผมที่ชื่อมองกิ ทายาชิ ผมคิดว่าเขาจะถูกทำร้ายจนเสียชีวิต จริงๆแล้วตอนนี้เขาก็ยังคงนอนอยู่โรงพยาบาล ผมจำได้ว่า ผู้ร้ายสองคนในกลุ่มนั้นเป็นสาลาฟีย์ผู้มีชื่อเสียงในเมืองไบเซอร์ต

คนร้ายสองคนจับแขนผมไว้ และให้อีกคนหนึ่งฉีดสเปรย์พริกไทยใส่หน้าผม โชคดีที่คนหนึ่งถูกตี ทำให้เขาต้องปล่อยมือผม ผมจึงมีโอกาสหลบหนี

เป็นเวลากว่าหนึ่งชั่วโมง ก่อนที่ตำรวจจะเข้ามาควบคุมสถานการณ์ ทั้งๆที่ตำรวจทราบดีว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้น เพราะก่อนหน้านี้สองวัน พวกสาลาฟีย์ได้ฉีกทำลายโปสเตอร์ของเราตามถนนสายต่างๆ ก่อนหน้าเหตุการณ์เพียงไม่นาน เพื่อนร่วมงานของผมก็เห็นชายราวยี่สิบคนนั่งบนหลังรถกระบะคันใหญ่มุ่งหน้าเข้าเมืองไบเซอร์ต ตำรวจมองเห็นรถกระบะคันดังกล่าวแต่ไม่ได้ทำการดักและตรวจสอบใดๆ ทั้งที่เมืองนี้เป็นเมืองเล็กๆ ที่ซึ่งทุกคนรู้เห็นทุกอย่าง

ผมอยากให้กระทรวงการปกครองภายใน และพรรคเอนนาห์ดะรับผิดชอบเรื่องที่ปล่อยให้กลุ่มสาลาฟีย์กระทำการเช่นนี้ ความคิดของพวกสาลาฟีย์นั้นอธิบายไม่ได้ และให้อภัยไม่ได้เลย”

คืนก่อนเหตุการณ์ในไบเซอร์ต กลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งอีกกลุ่มหนึ่งได้ขัดขวางไม่ให้เมะห์ราบผู้แต่งกายเช่นนักดนตรีอิหร่านขึ้นแสดงที่เทศกาลไครออัน (Kairouan Festival) ซึ่งห่างจากเมืองตูนิส (Tunis) เมืองหลวงของตูนิเซียเพียง 160 กิโลเมตร

ลุตฟี อับเดลลี นักแสดงตลกชื่อดัง ก็ถูกขัดขวางไม่ให้ขึ้นแสดงชุด“ฮาลาลร้อยเปอร์เซ็นต์”ของเขาเมื่อเย็นวันอังคารในเมืองเมนเซล บอกุอิบา ทางตอนเหนือของตูนีเซีย ผู้ประท้วงกั้นทางเข้าโรงละครและเรียกมันว่า “ไม่ใช่อิสลาม” อย่างไรก็ตาม ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นที่นี่

ภาพวิดีโอในเว็บไวต์ยูทูปแสดงให้เห็นพฤติกรรมของอิสลามหัวรุนแรงที่กำลังจัดผ้าปูละหมาดตรงหน้าทางเข้าโรงละคร ราวๆ สองนาฬิกาเศษก็มีป้ายของกลุ่มสาลาฟีย์ติดทั่วบริเวณดังกล่าว อีกหนึ่งชั่วโมงต่อมา ฝูงชนจำนวนมากที่อยู่หน้าโรงละครก็ได้เริ่มทำการละหมาด

ชายคนหนึ่งกล่าวว่า

“เมื่อใกล้เวลาหนึ่งนาฬิกา ประชากรในเมืองเมนเซล บอกุอิบา ทั้งคนแก่และหนุ่มสาว เดินทางมาที่แห่งนี้ในคืนแห่งโชคชะตา (Laylat al-Qadr เป็นคืนที่ 27 ของเดือนรอมฎอน ซึ่งชาวมุสลิมถือว่าเป็นคืนศักดิ์สิทธิ์) ในคืนศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ คนบางกลุ่มที่พยายามกระทำการต่อต้านจารีตของเมืองเมนเซล บอกุอิบา ได้พาบุคคลซึ่งผมไม่อยากเอ่ยชื่อมาที่แห่งนี้ เพียงเพื่อให้เขาได้เย้ยหยันคำสอนของพระอัลเลาะห์”

“ผมไม่ได้มีเจตนาวิพากษ์วิจารณ์ศาสนา ผมแค่พูดถึงการปฏิบัติศาสนกิจของชาวตูนีเซีย มันแตกต่างกันมาก”

ลุตฟี อับเดลลีคือนักแสดงตลกคนหนึ่ง

“ผมไม่ได้เข้าใกล้โรงละครเพราะกลัวว่าเหตุการณ์จะรุนแรงบานปลาย สถานีตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่ใกล้ๆโรงละคร แต่พวกเขาไม่ได้ทำอะไร โดยอ้างเพียงว่า ไม่มีคำสั่งให้เข้าไปจัดการ

พวกสาลาฟีย์กล่าวหาว่าผมดูหมิ่นศาสนา แต่เขายังไม่เคยดูการแสดงของผมเลย สองวันที่แล้วอิหม่ามประจำเมืองพร่ำบอกในระหว่างการสอนของเขาว่า การแสดงของผมสมควรถูกคว่ำบาตร แท้จริงแล้วผมไม่ได้มีเจตนาวิพากษ์วิจารณ์ศาสนา ผมแค่พูดถึงการปฏิบัติศาสนกิจของชาวตูนีเซีย มันแตกต่างกันมาก

ผมไม่อยากโทษกลุ่มหัวรุนแรงหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่หากจะโทษรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการปกครองภายในที่บอกว่า จะคว่ำบาตรผม และเมื่อสองสัปดาห์ก่อนกระทรวงดังกล่าวสั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ไม่ต้องให้การรักษาความปลอดภัยใดๆแก่ผม หากผมปรากฏตัวในเทศกาลใดๆ ในเมืองไบเซอร์ตวันนั้นผมแสดงต่อหน้าผู้ชม 9,000 คนและโชคดีที่ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี (นายโมฮัมเมด อาลี เอล อารอย์อิโฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคมว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะไม่ให้การคุ้มครองใดๆสำหรับการแสดงที่เกี่ยวข้องกับอับเดลลี เพราะเขาได้กระทำการอันเกินกว่ารัฐบาลจะรับได้ เมื่อครั้งที่เขาเคยทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชื่อเสียงในทางหยาบคายและไม่ให้เกียรติ)

ในการแสดงของผม ผมวิจารณ์ทุกคน รวมถึงตำรวจด้วย แต่ผมมิได้เจาะจงใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผมไม่ได้ต่อต้านอะไรเขาเลย ผมแค่กำลังทำงานตามหน้าที่ของนักแสดงตลกเท่านั้น

รัฐบาลกำลังพยายามข่มขู่ผม เราดำรงชีวิตอยู่ภายใต้รัฐเผด็จการแบบที่ไม่ต้องการไม่ชอบให้ใครมาทำลายชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของรัฐ รวมทั้งไม่ยินดีแต่ค่อนไปทางยินร้ายกับความคิดเชิงวิพากษ์จากประชาชน”

สื่อตูนีเซียนบางแห่งกล่าวหารัฐบาลว่า ปล่อยปละละเลยและแม้กระทั่งสนับสนุนแนวร่วมของพวกสาลาฟีย์ด้วย

เหตุการณ์เหล่านี้เพิ่งเกิดขึ้นหลังช่วงเวลาอดีตอันสงบเรียบร้อย แม้กระนั้นความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นในหลายๆ ภูมิภาคของประเทศในเดือนมิถุนายนหลังจากกลุ่มหัวรุนแรงเข้าตรวจค้นงานแสดงศิลปะตูนิสแห่งหนึ่งโดยกล่าวหาว่าผลงานศิลปะเหล่านั้นจงใจดูหมิ่นศาสนา


[1]สาลาฟีย์คือ มุสลิมผู้เคร่งครัดในวิถีสลัฟ (Salaf) ของชนมุสลิมยุคสามร้อยปีหลังการเสียชีวิตของศาสนฑูตมูหัมมัด (ซ.ล.) เป็นแนวทางตัวอย่างในการปฏิบัติปัจจุบัน สาลาฟีย์ใช้เรียก ในบางครั้งกลุ่มสาลาฟีย์ถูกเรียกว่า วาฮาบีย์ ในมุมมองของตะวันตกมักเห็นกลุ่มสาลาฟีย์เกี่ยวพันกับการญิฮาด  [สรุปความจาก: http://en.wikipedia.org/wiki/Salafist]

[2]กลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองและอุดมคติทางการเมือง ที่สนับสนุนในเรื่องการหาที่อยู่เป็นหลักแหล่ง รวบรวมชาวยิวที่อยู่กระจัดกระจายทั่วโลก มารวมกันเพื่อเป็นหนึ่งเดียว หรือ ประเทศของชาวยิว

[ที่มา: http://www.azizstan.ac.th/th/index.php?option=com_content&view=article&id=681:-zionism-&catid=113:2009-02-04-11-45-58]