การปะทะทางอารยธรรมของมาครงเป็นหนทางสู่ความผิดพลาด

 
Pankaj Mishra เขียน
ทีมบรรณาธิการปาตานีฟอรั่ม แปลและเรียบเรียง
 
(Bloomberg Opinion) -- สิ่งสุดท้ายที่โลกใบนี้ต้องการท่ามกลางการวิกฤตโรคระบาด ดูท่าจะเป็นการปะทะกันทางอารยธรรม อย่างไรก็ตาม นี่เป็นสิ่งที่ราวกับว่า ประธานาธิบดีฝรั่งเศสอย่าง เอ็มมานูเอล มาครง มีเจตนาปลุกปั่น และด้วยเหตุนั้น บรรดาผู้นำมุสลิมทั้งหลาย ก็ได้พบพานกับพลพรรคผู้พร้อมใจและกระตือรือร้นเพื่อภารกิจเสี่ยงของพวกเขา
 
กรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้น จากการที่วัยรุ่นชาวเชชเนียได้สังหารครูประจำโรงเรียนแห่งหนึ่งของฝรั่งเศสอย่างโหดเหี้ยมในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ถือเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ความรุนแรงได้ปรากฏบนโลกออนไลน์อย่างแพร่หลาย พฤติการณ์ที่คล้ายคลึงกันนั้นยังเป็นลักษณะของสาเหตุแบบเดียวกันที่ได้จุดชนวนการลุกฮือขนาดย่อมทั่วอินเดีย และการปลุกเร้ามวลชนฝ่ายขวาในสหรัฐอเมริกา
 
แต่มาครงก็เลือกที่จะตอบโต้การสังหารโหดด้วยการกดปราบชุมชนมุสลิมในฝรั่งเศสในลักษณะที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งมาพร้อมกับเสียงวิจารณ์อันอื้ออึงที่มีต่อศาสนาอิสลาม ด้วยเหตุนั้น “การจัดระเบียบบนพื้นฐานของการเป็นเจ้าของร่วมกัน” (communalizing) (เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ) ในฐานะวลีหนึ่งตามแบบฉบับของชาวอินเดีย กำลังเป็นที่แพร่ระบาดอยู่ในสังคม
 
ขณะเดียวกัน ยังมีการยืนยันว่าอิสลามคือ “สาเหตุของวิกฤตการณ์โลกในปัจจุบัน” ซึ่งขณะนี้มาครงได้ก้าวไปไกลกว่านั้น นั่นคือการประกาศของฝรั่งเศสว่าจะให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อการแสดงภาพล้อเลียนศาสดามูฮัมมัด ซึ่งเป็นทุนเดิมของความโกรธแค้นของหนุ่มผู้เป็นฆาตกร
 
เมื่อจัดวางไว้อย่างไตร่ตรองแล้ว ถือว่ามาครงได้ทำลายชื่อเสียงของฝรั่งเศสอันเป็นที่ก้องโลก ด้วยกับการเยาะเย้ยอย่างหยาบคายต่อบุคคลที่เป็นเคารพนับถือของชาวมุสลิมที่มีจำนวนมากกว่าพันล้านคน
 
ส่วนผู้แต่งตั้งตนเป็นผู้พิทักษ์แห่งอิสลามที่กำลังดิ้นรนเพื่อการปกป้องเมื่อไม่นานมานี้ ต่างยินยอมพร้อมใจกันรับสายเชือกที่มาครงได้โยนไปยังพวกเขามาเป็นประหนึ่งสรณะ ทั้งนายกรัฐมนตรีปากีสถาน และประธานาธิบดี เรเจบ ตอยยิบ เออร์โดกาน แห่งตุรกี ทั้งสองผู้ถูกรุมเร้าด้วยหลากวิกฤต ต่างก็โจมตีประธานาธิบดีฝรั่งเศสอย่างออกนอกหน้า
 
เออร์โดกานถึงกับตั้งคำถามต่อสุขภาพจิตของมาครง พร้อมทั้งยุแหย่กรณีฝรั่งเศสที่ได้ทำการเรียกตัวเอกอัครราชทูตในกรุงอังการากลับประเทศ รวมถึงการประกาศบอยคอตสินค้าฝรั่งเศสที่ได้มีการบริหารจัดการผ่านคูเวตและกาตาร์ ตลอดจนการประท้วงต่อต้านมาครงที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างในกลุ่มประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นประชากรหลัก ตั้งแต่ลิเบียจนถึงบังคลาเทศ
 
ในช่วงไม่กี่วันนั้นเอง อิสลาโมโฟเบียได้เพิ่มระดับขึ้นในทุกส่วนของสังคมฝรั่งเศส ทั้งจากการที่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยฝรั่งเศส ได้ทำการกล่าวหาว่าอาหารฮาลาลตามซูเปอร์มารเก็ตนั้นส่งเสริมแนวคิดการแบ่งแยกดินแดน รวมไปถึงการลอบสังหารสตรีมุสลิมคาชุดคลุมศรีษะของพวกเธอไม่ไกลจากหอไอเฟล
 
กลยุทธของมาครงดูเหมือนจะชัดเจน เป็นไปได้ว่าสิ่งที่เขาทำก็เพื่อที่จะลดแรงเสียดทานกับคู่แข่งฝ่ายขวาจัดอย่างมารีน เลอ แปง การรับมือกับโรคระบาดที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลภายใต้การนำของมาครงนั้นอาจส่งผลต่อโอกาสคว้าชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2022 มาครงในตอนนี้ จึงหวังกับสถานการณ์ที่มุ่งหาทางออก ผ่านการหยิบยกคำพูดที่ใหญ่โตอย่าง “วิกฤตการณ์ที่ส่งผลต่อการดำรงอยู่” (existential crisis) เพื่อสร้างจุดสนใจอย่างที่ใครก็หาเทียบฝรั่งเศสในเรื่องดังกล่าวไม่ได้
 
มาครงเป็นคนที่มีจารีตปฏิบัติในการเร่งเร้าผ่านการใช้โวหาร เรามาดูกันถึงตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ นี่คือถ้อยแถลงที่ปรากฏในหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า “Révolution” ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อปี 2016 ความว่า “ในจิตวิญญาณของความเป็นฝรั่งเศสนั้น คือการมีความทะเยอทะยานในการมุ่งสู่ความเป็นสากล สิ่งนั้น (ความเป็นฝรั่งเศสที่จักมุ่งสู่ความเป็นสากล) คือการมีความขุ่นเคืองอย่างไม่หยุดยั้งต่อความอยุติธรรมและการกดขี่ ตลอดจนความมุ่งมั่นที่จะกล่าวแก่ผู้อื่นว่าเราคิดอย่างไรต่อโลกใบนี้ ณ ที่นี่ ตอนนี้ ในฐานะตัวแทนของทุกผู้ทุกนาม”
 
ดูเหมือนว่ามาครงหาได้ตระหนักถึงสิ่งที่เป็นปัญหาพื้นฐาน ว่าแท้จริงแล้ว ประชาชนจำนวนมากในโลก ณ ปัจจุบัน หาได้สนใจว่าชาวฝรั่งเศสคิดอย่างไรต่อพวกเขา เรื่องดังกล่าวได้ถูกยืนยันไว้เมื่อปี 2007 โดย นิโคลาส ซาร์โกซี่ อดีตประธานาธิบดีผู้มาก่อนเขา ว่า “ชาวแอฟริกันยังไม่ได้รับการถูกเติมเต็มเข้าไปในประวัติศาสตร์(ฝรั่งเศส)อย่างสมบูรณ์” หรือแม้กระทั่งคำพูดของมาครงเองเมื่อปี 2017 ที่เขากล่าวถึงชาวแอฟริกันว่ามีปัญหาเรื่องการขัดขืนต่อ “ความศรีวิไลซ์” (Civilizational) จากสภาพสังคมที่สตรีชาวแอฟริกันมักมีบุตร “7-8 คน” ซึ่งมันไม่ใช่การให้เหตุผลอะไร มากไปกว่าการดูถูกเหยียดหยามพวกเขา
 
การขึ้นมาในฐานะคนขาวผู้มีพันธกิจสำคัญต่อต่างแดน ดูเหมือนว่ามาครงจะหลงลืมปัญหาที่ลึกลงไปในบ้านของตน ฝรั่งเศสในแบบเก่า ๆ ที่อ้างความเป็นสากลและความเหนือกว่าระบบสังคมทั้งหมดนั้น ไร้ซึ่งความเหมาะสมแก่สังคมที่นับวันความหลากเชื้อหลายชาติได้ขยายเพิ่มมากขึ้น
 
จิตวิญญาณแบบฝรั่งเศสไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันจากกระแสโลกที่กำลังเป็นไป ขณะเดียวกัน การยึดเหนี่ยวทางสังคมกำลังใกล้ถึงกาลสูญสลาย จากการเติบโตที่ไม่สม่ำเสมอกันและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในโลกอย่างมหาศาล การที่บทบาทของสหภาพแรงงาน ชุมชนศาสนา หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น และสถาบันอื่น ๆ ที่เคยช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบบนพื้นฐานของการเป็นพลเมืองได้ลดน้อยถอยลง ทั้งนี้ ในเกือบทุกประเทศที่สำคัญ สมาชิกของคนกลุ่มน้อยได้ใช้อินเทอร์เน็ตในการทำให้เกิดการยอมรับการใช้ความรุนแรง กระทั่งมันได้ขยับเข้าสู่การสร้างความเสียหายในพื้นที่สาธารณะ ด้วยกับการกระทำที่โหดร้ายทารุณ
 
ดูเหมือนว่าฝรั่งเศสจะไม่ได้เตรียมตัวไว้เป็นพิเศษสำหรับความเป็นจริงที่ผันผวนเหล่านี้ ด้วยเหตุที่เห็นว่าผู้นำฝรั่งเศสนั้นยังคงเรียกการสนับสนุนจากผู้คนในการรับใช้อุดมการณ์ฆราวาสนิยมในลักษณะที่ล้าสมัย ถึงกระนั้นแล้ว ในกงเกวียนดังกล่าว ก็ทำได้เพียงสร้างความแปลกแยกให้กับชนกลุ่มน้อยที่ได้รับผลกระทบ และชะลอการปรับเปลี่ยนที่จำเป็นต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ทั้งการเมือง กฎหมาย และระบบการศึกษา 
 
แท้ที่จริง ด้วยกับการยกย่องจารีตเชิงภูมิปัญญาและการเมืองประเทศของพวกเขาอย่างไม่มีที่สุด ผู้นำแห่งฝรั่งเศสได้ทำให้พวกเขาประหนึ่งเป็นประเทศที่หัวโบราณแบบหนึ่ง และการยืนหยัดทัดทานต่อศตวรรษที่ 21 นี้เองยังได้เกิดขึ้น เช่นเดียวกับกรณีที่พรรคการเมืองฝ่ายขวาในสหรัฐฯ อย่างรีพับลิกัน คลั่งไคล้ที่จะยืนกรานความเป็น“ผู้นิยมใช้วิจารณญาณของตนเองแต่เดิม” (Originalist) ในการตีความรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา
 
คติพจน์ของวอลแตร์ ตลอดจนผลงานอันเลื่องชื่ออื่นๆที่ปรากฏขึ้นในยุคแห่งการรู้แจ้ง (Enlightenment) ของฝรั่งเศส อาจสร้างความพึงใจต่อนักฆราวาสนิยมผู้เคร่งครัด แต่ผู้คนจำนวนมากบนโลกนี้กำลังต่อสู้กับผลพวงที่เกิดขึ้น ทั้งจากสิ่งที่วอลแตร์ ตลอดจนสิ่งที่บรรดาผู้มีชื่อเสียงในอดีตทั้งหลายได้กล่าวไว้ ทั้งคำกล่าวที่เกี่ยวกับคนผิวดำ (ที่เห็นชัดแจ่มแจ้งด้วยการมองพวกเขาประหนึ่งเดรัจฉาน) และชาวยิว (ที่เกิดขึ้นต่อพวกเขาอย่างบ้าคลั่ง)
 
การเพิกเฉยต่อความหลากหลายทางประชากร และสถานการณ์ความมั่นคงของฝรั่งเศสที่เปราะบาง ตลอดจนอุณหภูมิความสัมพันธ์ระหว่างประทศที่ไม่เสถียร มาครงกลับเสนอชุดความคิดเชิดชูความเป็นฝรั่งเศสที่ไม่คำนึงถึงระยะยาว ให้แก่การเดิมพันการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น การฉวยโอกาสของเขาที่เป็นอันตราย จักทำให้เกิดการแบ่งขั้วภายในประเทศ ตลอดจนความขัดแย้งในระดับนานาชาติที่อาจขยายออกไปในวงกว้าง เช่นนั้นเอง พวกเขาไม่ควรไม่ประมาทต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
 
บทความต้นฉบับจาก https://www.bloombergquint.com/opinion/macron-s-clash-of-civilizations-with-islam-is-misguided เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2020