การพัฒนาอย่างยั่นยืน: ภาคใต้ที่อยากให้เป็น

การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กำลังเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจ และมีผู้คนเป็นจำนวนมากให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในกระแสโลกปัจจุบัน  โดยเฉพาะปัญหาของ “ภาวะโลกร้อน” ที่คนจำนวนมากกำลังวิตกกังวลถึงภัยอันตรายตรงนี้ ซึ่งความน่ากลัวของเรื่องดังกล่าวได้ถูกถ่ายทอดผ่านทางโทรทัศน์ รวมถึงสื่อต่างๆ ซึ่งแน่นอนเลยทีเดียวว่า มีผู้คนจำนวนมากได้รับข้อมูลของ “ภาวะโลกร้อน” ทางด้านกระแสการการอนุรักษ์ในสิ่งแวดล้อมนั้น วันนี้เราจะเห็นถึงการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ทั้งคนรุ่นใหม่ และคนที่ผูกผันกับสิ่งแวดล้อมมาเป็นเวลาช้านาน ออกมาปกป้องพิทักษ์ท้องทะเล ผืนป่า อนุรักษ์ให้มันมีความงดงาม เพื่อประโยชน์สุขของลูกหลานในภายภาคหน้า

หากกล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ ในปักษ์ใต้บ้านเรา อาหารทั้งบนบกและในน้ำ ถูกป้อนเข้าสู่การบริโภคหล่อเลี้ยงผู้คนได้เป็นอย่างดี โดยความอุดมสมบูรณ์ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ปักษ์ใต้ เป็นภาคที่อยู่คู่กับทะเลมาอย่างช้านาน ชาวใต้ได้อาศัยทะเลในการทำมาหากินเลี้ยงชีพ เรือกสวนไร่นา ก็ปรากฏอยู่เต็มพื้นที่สองข้างทางของบ้านเรา ความมั่นคั่งด้านทรัพยากรอาหารเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งสำหรับคนใต้เราในอดีต จวบจนกระทั่งมาถึงในปัจจุบัน

แต่เนื่องด้วยโลกทุกวันนี้ การพัฒนาได้เกิดขึ้นไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยการพัฒนาต้องเกิดขึ้นเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของมนุษย์ โดยสิ่งที่ต้องยอมรับกันโดยทั่วไปที่ว่า เมื่อใดที่มีการพัฒนาก็ย่อมที่จะเกิดการทำลาย ซึ่งมันได้กลายเป็นของคู่กันไปแล้ว  ในภาคใต้เอง ก็ไม่สามารถที่จะต้านทานการพัฒนาได้ นโยบายการพัฒนาทั้งทางด้านอุตสาหกรรม รวมไปถึงการคมนาคม กำลังจะปรากฏให้เห็นในสังคมบ้านเรา และในขณะเดียวกันก็เกิดการรวมตัวของภาคพลเมือง ด้วยความต้องการที่จะปกปักษ์รักษาทรัพยากรให้มีอยู่ไป เพื่อหล่อเลี้ยงผู้คน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ในพื้นที่ในภาคใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณของชายฝั่งทะเล กำลังจะกลายเป็นฐานการผลิต อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงาน และอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ ของประเทศ โดยในปัจจุบันได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในลักษณะของการสำรวจพื้นที่ สร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับอุตสาหกรรม เป็นต้น  โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการพัฒนา พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้

นอกเหนือจากนั้น แนวคิดจะพัฒนาให้เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เขื่อน ท่าเรือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน การเจาะขุดน้ำมัน ในจังหวัดนครศรีธรรมราช  ท่าเทียบเรือน้ำลึก(อุตสาหกรรม)ปากบารา จ.สตูล ท่าเรือสงขลา นิคมอุตสาหกรรมสงขลาและสตูล  โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ปากน้ำละแม, โรงไฟฟ้าถ่านหิน และเขื่อนที่ จ.ชุมพร และอาจมีโรงถลุงเหล็กตามมา โครงการศึกษานิคมอุตสาหกรรมที่พัทลุง ข้ามฝั่งทะเลสาบไประโนด สงขลา ทะเลสาบจะเป็นแหล่งน้ำจืดป้อน นิคมถมทะเล โรงถลุงเหล็กที่ อ.ระโนด การขุดเจาะน้ำมันที่สทิงพระ สงขลา เป็นต้น

ในการพัฒนาของอุตสาหกรรม แน่นอนมันย่อมที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและธรรมชาติอื่นๆ  หากเกิดการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมขึ้นมา อาจเป็นไปที่ความอุดมสมบูรณ์ รวมไปถึงแรงงานประชาชนจะถูกป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม ซึ่งแทนที่จะเกิดการพัฒนา แน่นอนว่ากระบวนการในการพัฒนาประเทศ การจัดตั้งพื้นที่เพื่อดำเนินกิจการด้านอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่การอนุรักษ์ทรัพยากร รวมถึงการดำรงไว้ซึ่งวิถีชุมชนที่ผูกพันกับธรรมชาติ ยังคงเป็นความต้องการของประชาชน คำถามที่เกิดขึ้นในวันนี้ ในกระบวนการของการพัฒนานั้น เป็นความต้องการของประชาชนหรือไม่ หรือเป็นวิถีทางที่ดีที่สุดในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนและสังคมรอบข้าง

สิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นกระบวนการจัดการที่ดี นั่นคือ การพัฒนาโดยนำเอาความต้องการของประชาชนและ สภาพของสังคมของพื้นที่นั้นๆ เป็นประเด็นสำคัญ ด้วยที่ว่า การนำเอาปัจจัยดังกล่าวมาเป็นส่วนสำคัญนั้น จะทำให้ประชาชนให้ความสำคัญในการพัฒนา และมีส่วนร่วมไปพร้อมกับรัฐ ส่งผลดีต่อภาพรวมของประเทศทั้งหมด และในขณะเดียวกันหากว่า มีการสนับสนุนในการพัฒนา โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ในภาพรวม ความต้องการของประชาชน ซึ่งเป็นไปได้ที่ว่า มันจะเกิดความขัดแย้งในระยะยาว ที่จะส่งผลตามมา

การกำหนดแผนพัฒนาภาคใต้ หรือ เซาท์เทิร์นซีบอร์ด ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทั้งๆ ที่บริเวณภาคใต้นั้นถือเป็นแหล่งเกษตรกรรม เป็นแหล่งอาหารสำคัญของโลก ข้อมูลจากปีพ.ศ. 2550 ภาคเกษตรกรรมมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP)  สูงถึง 315,141 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตรทั้งประเทศ หรือกล่าวให้เห็นภาพชัดว่า ภาคใต้สามารถผลิตผลทางการเกษตรได้ถึง 1 ใน 3 ของประเทศ นอกจากนั้นภาคใต้ ยังคงมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และสามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาล ในปี พ.ศ. 2550 รายรับจากการท่องเที่ยวในภาคใต้สูงถึง 150,000 ล้านบาท

อนาคตที่อยากจะเห็นคือ การต่อยอดอุตสาหกรรมทั้งภาคการเกษตรและการท่องเที่ยว ให้มีศักยภาพ และสามารถที่จะสร้างรายได้แก่ประชาชน เจ้าของพื้นที่ รวมถึงสร้างรายได้ให้แก่รัฐ ถือเป็นการครองผลประโยชน์ร่วมกัน แต่หากว่ามีการสร้างอุตสาหกรรมมีพิษ มันอาจส่งผลเสียต่อภาคใต้ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตมนุษย์ย่อมเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา

ทางออกในการพัฒนาอุตสาหกรรม หรือการพัฒนาในแง่มุมอื่นๆ แน่นอนทางออกที่ดีที่สุด คือ การพัฒนาอย่างไรที่สามารถจัดสรรการใช้ทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม ท้ายที่สุดแล้วคำตอบที่เกิดขึ้นและเป็นที่ต้องการของสังคมที่อยากจะให้เป็นก็คือ การพัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ หรือที่เรียกกันว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนนั่นเอง เรื่องราวที่ได้ยินมาบ่อยครั้งที่ว่า ประเทศในโลกจำนวนมากขาดแคลนอาหาร มีคนอดตามเพราะขาดอาหาร เราโชคดีเหลือเกิน ที่อยู่ใกล้กับแหล่งอาหารขนาดใหญ่ของโลก ที่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตหลายชีวิตให้อิ่มท้อง แต่หากวันนี้แหล่งอาหารได้ถูกทำลายไป หรือเราอาจจะเผชิญอยู่ในสภาวะของการขาดแคลนอาหารก็เป็นได้