“กลุ่มถักทอสันติภาพ” รวมพุทธกลาง-ใต้ ถักทอสายสัมพันธ์

กลุ่ม กทส. เป็นใคร?

ป้ายประชาสัมพันธ์เล็กๆ หน้าประตูทางเข้าโรงแรมซีเอส ปัตตานี ที่วางตั้งบอกทิศทางที่จะไปเข้าร่วมกิจกรรมการประชุมสัมมนาที่มีอยู่แทบทุกเมื่อเชื่อวัน หากไม่สังเกตก็คงไม่ทันจะเห็นว่ามีป้ายเล็กๆ ที่ทำงานให้คนกลุ่มเล็กๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ คือ “ชาวไทยพุทธ” ตั้งอยู่ ในขณะที่เมื่อมองไปรอบๆ จะเห็นป้ายของผู้มีอำนาจมากกว่ามาจัดงานในพื้น ทำให้ยามนี้ซีเอส ปัตตานี แทบจะไม่มีพื้นที่ว่างให้ใครได้จับจองอีกแล้ว เป็นช่วงเวลาที่ตั้งแต่ทำงานมาน่าจะชุลมุนที่สุด หากแต่สะดุดที่คำถามที่เมื่อดูจากภายนอกเจ้าของคำถามน่าจะเป็นคนในหน่วยงานความมั่นคงที่ใดสักแห่งเมื่อมองจากทรงผมที่ตัดเกรียนสามด้าน

กว่า 14 ปีที่สถานการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้ดำเนินมาแม้ว่าในช่วงหลังหลายคนอาจรู้สึกว่าสถานการณ์ดีขึ้น ไม่มีค่อยมีเหตุการณ์ความรุนแรงมากเหมือนที่ผ่านมา ทว่าผลพวงจากความรุนแรงยังคงตกค้างอยู่มาก กล่าวให้ถึงที่สุด ในมุมของนักวิชาการด้านสันติภาพอาจเห็นตรงกันว่า สถานการณ์ชายแดนใต้ในยามนี้เป็นเพียงแค่ความสงบชั่วคราว หรือเรียกว่า “สันติภาพเชิงลบ” เนื่องจากผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของผู้คนในชายแดนใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนส่วนน้อยในพื้นที่ซึ่งรู้สึกว่าเพื่อนร่วมสังคมวัฒนธรรมเดียวกันกับตนมีจำนวนลดลง เป็นต้นชาวไทยพุทธ ในขณะที่หลายชุมชน เพื่อนบ้างต่างศาสนาและวัฒนธรรมไม่เหลืออยู่แล้ว ไม่นับรวมความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกันมากขึ้นระหว่างผู้คนร่วมสังคม

ระยะหลังๆ เสียงสะท้อนของชาวพุทธที่เป็นคนจำนวนน้อยในพื้นที่ชายแดนใต้ดูจะแผ่วเบาด้วยจำนวนที่น้อยลง ในหลายชุมชนต้องยอมรับว่าความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมอยู่ในภาวะเปราะบางและสุ่มเสี่ยงจะขาดจากคนมลายูมุสลิมกลุ่มใหญ่ในพื้นที่  ความกลัวว่าจะไม่ปลอดภัย และความหวาดระแวงว่าจะถูกทำร้าย ด้วยกรณีที่พระภิกษุสงฆ์ถูกลอบสังหารตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2547 มาจนถึงปี 2558 ซึ่งเป็นกรณีล่าสุดที่พระภิกษุสงฆ์ถูกทำร้ายจนถึงมรณภาพยังคงติดตรึงในความทรงจำของชาวพุทธด้วยไม่เคยปรากฏการสังหารพระภิกษุสงฆ์ผู้ที่ชาวพุทธเคารพศรัทธามาก่อน สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งตอกย้ำและซ้ำเติมความรู้สึกและขวัญกำลังใจของชาวพุทธในพื้นที่ชายแดนใต้ให้หดหาย ทั้งยังมีความยากลำบากยิ่งขึ้นในการรวมตัวเพื่อปฏิบัติศาสนกิจทางศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีสำคัญตามวิถีวัฒนธรรมชาวไทยพุทธในสามจังหวัด เป็นต้นการเวียนเทียนที่เคยทำได้ในยามค่ำคืนต้องเปลี่ยนมาทำกลางวัน หรือแม้กระทั่งการสวดพระอภิธรรมศพก็ต้องเปลี่ยนมาสวดในเวลากลางวันเช่นกัน ไม่นับว่าภาพพระบิณฑบาตอย่างปกติเหมือนพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ต้องมีกองกำลังทหารอารักขาที่หายไปจากสังคมชายแดนใต้นานแล้ว

ต้องยอมรับความจริงว่า สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นไม่เพียงแต่กระทบต่อขวัญและกำลังใจภายใจชุมชนชาวพุทธเองเท่านั้น หากยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงสายสัมพันธ์และความไว้วางใจที่เคยมีระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมในพื้นที่ไปด้วย

กลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) ได้ก่อตั้งขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 จากการริเริ่มของกลุ่มผู้เข้าร่วมวงสานเสวนาที่จัดขึ้นหลายครั้งก่อนหน้านั้นและเกาะติดประเด็นปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างพุทธ-มุสลิม โดยการอำนวยการประสานงานและจัดการสานเสวนาของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถาบันทางการศึกษาที่ถือกำเนิดขึ้นมาหลังจากสถานการณ์ความรุนแรงชายแดนใต้ปะทุขึ้นในปี พ.ศ. 2547 และมีภารกิจหลักในการวิจัยและทำงานภาคสนามเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่และยังคงทำงานเกาะติดสถานการณ์มาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน หากแต่ขณะนั้น ภายใต้การนำของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาด สุวรรณบุบผา ผู้อำนวยการสถาบันฯ  ซึ่งเป็นผู้นำ “การสานเสวนา” เข้ามาเผยแพร่ในสังคมไทยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชายแดนใต้ โดยมุ่งหวังว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะช่วยสร้างความเข้าใจในประเด็นปัญหาดังกล่าว และจะนำไปสู่การร่วมมือกันแสวงหาทางออกอันจะช่วยลดความอึดอัดขัดข้องระหว่างชุมชนทั้งสองศาสนาได้ในที่สุด

การรวมตัวเป็นกลุ่มของชาวพุทธที่เข้าร่วมการสานเสวนาด้วยอยากมีส่วนร่วมในการสร้างขวัญกำลังใจ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาในแนวทางสันติวิธีบนหลักการของศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลังของพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาแห่งเมตตาธรรมและสันติไม่สนับสนุนการเบียดเบียนซึ่งกันและกันในนาม “กลุ่มถักทอสันติภาพ” หรือ “กทส.” จึงเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2558 ในรูปขององค์กรที่ทำหน้าที่เป็น “พื้นที่กลาง” (platform) เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านวงสานเสวนา และต้อนรับทุกฝ่ายและทุกจุดยืนเข้าร่วมวงสานเสวนาในโอกาสต่างๆ  โดยมีสัญลักษณ์ของกลุ่มที่มองไปคล้ายภาพมือที่กำลังแบออกหาแต่เป็นรูปนกพิราบคาบกิ่งมะกอก

แม้ว่า กทส. จะเป็นกลุ่มที่ริเริ่มโดยและสมาชิกตั้งต้นจะเป็นชาวพุทธ หากแต่พื้นที่การแลกเปลี่ยนดังกล่าวก็เปิดให้การต้อนรับชาวมุสลิมและเจ้าหน้าที่รัฐด้วยในบางโอกาส ส่วนชาวพุทธที่เข้าร่วมก็มีทั้งนักบวชและฆราวาส ซึ่งมีความคิดและจุดยืนต่อปัญหาทางสังคมการเมืองที่หลากหลายและมีที่มาจากทั้งชายแดนใต้และชาวพุทธจากส่วนอื่น ๆ ของประเทศโดยเฉพาะในส่วนกรุงเทพฯ ทั้งยังมีสมาชิกบางกลุ่มที่มาจากเชียงใหม่ และที่อื่นๆ  ที่สำคัญ ผู้เข้าร่วมกลุ่มกับ  กทส. ไม่จำกัดว่าจะต้องมีกลุ่มรองรับก็ได้ อาจจะมาเข้าร่วมในนามของตนเองหรือในนามกลุ่ม องค์กรและเครือข่ายที่หลากหลาย โดยไม่ได้มีพันธะผูกพันต่อกัน หากแต่ผูกพันที่จะใช้เวทีสานเสวนาเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างคนกลุ่มน้อยและคนกลุ่มใหญ่ในสังคมไทย

 

______________________

ผู้เขียน 
พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์และนักวิจัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล n.padtheera@gmail.com

ภาพประกอบที่ 1
ป้ายบอกงานจัดประชุม สัมมนาหน้าโรงแรมซีเอส ปัตตานี
ภาพโดย กัญญณัช เวลาแจ้ง

ภาพประกอบที่ 2 
โลโก้ของกลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส)