"อ่าน" Toppling Democracy โดย ธงชัย วินิจจกูล

 

งานเขียนชิ้นนี้นำเสนอข้อถกเถียงต่อมุมมองทางประวัติศาสตร์การเคลื่อนสู่ประชาธิปไตยไทย(Democratization) กระแสหลัก[1]  ว่าไม่สามารถอธิบายการรัฐประหาร 2549 หรือที่ผู้เขียนเสนอว่าเป็น Royalist Coup[2]  ได้ เพราะไม่เห็นสถานะอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์และฝ่ายเจ้า ซึ่งกลุ่มบุคคลดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการปั่นแต่งระบอบประชาธิปไตยไทยมาตั้งแต่หลังปฏิวัติ 2475 เรื่อยมา 

โดยผู้เขียนได้นำเสนอเค้าโครงประวัติศาสตร์การเคลื่อนสู่ประชาธิปไตยฉบับใหม่ที่มีชุดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ซ้อนทับกัน 3 กระแส (โดย ณ จุดที่ซ้อนทับกัน เหตุการณ์เดียวกันที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อชุดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ทั้งสองกระแส) กล่าวคือ กระแสที่ 1 การเปลี่ยนย้ายจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : ฝ่ายเจ้าปะทะคณะราษฎร ประเด็นใจกลาง : สถานะและอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ผลลัพธ์ : พระมหากษัตริย์อยู่เหนือ (พ้นจาก) การเมือง กระแสที่ 2 กองทัพปะทะประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ประเด็นใจกลาง : บทบาทและอำนาจของกองทัพปะทะการเมืองระบอบรัฐสภา ผลลัพธ์ : 14 ตุลาฯ เป็นจุดเริ่มต้นของจุดสิ้นสุดของระบอบทหาร และกระแสที่ 3 ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่าง นักการเมือง/ทุน วัง/เครือข่ายเจ้า ขบวนการประชาชน/ประชาชน ประเด็นใจกลาง : โฉมหน้าประชาธิปไตยไทยผันแปรตามความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เกิดจากความขัดแย้ง การต่อสู้ ต่อรอง และเป็นพันธมิตรกันระหว่าง 3 พลังการเมืองข้างต้น ผลลัพธ์ : สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือ(สูงส่งกว่า) ระบบการเมืองจากการเลือกตั้งปกติ โดยงานชิ้นนี้มีจุดเน้นอยู่ที่ชุดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์กระแสที่ 3 โดยเฉพาะประเด็นสถาบันกษัตริย์หรือที่ผู้เขียนเสนอว่าเป็นพระมหากษัตริย์ยุคใหม่ (The New Monarchy) ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเคลื่อนสู่ประชาธิปไตยไทย (Thai Democratization) โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่าง คือ ความศักดิ์สิทธ์ ความเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน และความเป็นนักประชาธิปไตยของสถาบันกษัตริย์ อันเป็นที่มาของพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ การเกิดขบวนการต่อต้านประชาธิปไตย และปูทางไปสู่ Royalist Coup 2006

ในทัศนะของผู้วิจารณ์ จุดเด่นของงานชิ้นนี้ คือ การนำเสนอความคิดรวบยอดเกี่ยวกับแหล่งที่มาของพระราชอำนาจและสถานะเหนือการเมืองของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย ภายใต้ชื่อของสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า สถาบันกษัตริย์ยุคใหม่ (The New Monarchy) และการนำเสนอมุมมองทางประวัติศาสตร์แบบใหม่ที่ชี้ให้เห็นถึงบทบาททางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ในกระบวนการการเคลื่อนสู่ประชาธิปไตยไทยที่ช่วยให้ผู้อ่านหลุดพ้นจากมายาคติของมุมมองทางประวัติศาสตร์การเคลื่อนสู่ประชาธิปไตยกระแสหลักแบบเดิม และนอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นถึงการพยายามฝังราก royal democracy ของสถาบันกษัตริย์และฝ่ายนิยมเจ้าโดยเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ในภาพใหญ่ โดยเฉพาะภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา อันเป็นที่มาของขบวนการต่อต้านประชาธิปไตย และการรัฐประหาร 2549 ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเป็นกรอบคิดในการทำความเข้าใจการเมืองไทย

อย่างไรก็ดี ผู้วิจารณ์มองว่ากรอบคิดทางประวัติศาสตร์ที่ผู้เขียนเสนอมีข้อจำกัดสำคัญอยู่ 2 ประการ ดังนี้ ประการแรก ในประเด็นสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาเป็นต้นมา เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นผู้วิจารณ์มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกับข้อเสนอของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ให้แบ่งหลัง 14 ตุลา ออกเป็น 2 ช่วงที่มีความแตกต่างกันชัดเจน 

การนำเสนอในประเด็นดังกล่าวโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างนี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่ไขว้เขวได้ ช่วงแรก จาก 14 ตุลา ถึงการขึ้นมาเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้งของชาติชาย ชุณหะวัณ  ในปี 2531 ช่วงที่สอง เริ่มตั้งแต่ปี 2531 และปรากฏชัดเจนตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภา 2535 เรื่อยมา ในช่วงแรก อำนาจรัฐมีลักษณะกระจัดกระจายไปยังกลุ่มอำนาจต่างๆ ทั้งจาก รัฐสภา วัง กองทัพ (ซึ่งสอดคล้องกับภาวะซ้อนทับกันของประวัติศาสตร์กระแสที่ 2 และ 3 ที่ผู้เขียนเสนอ) ท่ามกลางการแตกกระจายของศูนย์อำนาจรัฐนี้สถาบันพระมหากษัตริย์มีลักษณะเหมือนกลุ่มอำนาจอื่นๆ คือเป็นเพียงกลุ่มอำนาจหนึ่งในทางการเมือง สถาบันกษัตริย์มีการแทรกแซงการเมืองโดยตรงเช่นเดียวกับกลุ่มอำนาจอื่นๆ ส่วนในช่วงที่สอง เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทั้งในแง่สถาบันกษัตริย์ รัฐไทย และเศรษฐกิจสังคมไทยในภาพรวม กล่าวคือ อำนาจของกองทัพตกต่ำลง ศูนย์อำนาจรัฐย้ายมารวมศูนย์อยู่ที่รัฐสภาซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการขยายตัวทางสังคมเศรษฐกิจอันเกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับทุนนิยมโลก ที่เริ่มตั้งแต่ประมาณปี 2527-2528 เป็นต้นมา มันเปลี่ยนประเทศไทยให้เข้าสู่ภาวะประเทศอุตสาหกรรมทำให้เกิดชนชั้นกลางในเมืองจำนวนมาก 

เหตุการณ์พฤษภา 2535 คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เพราะแทบจะเป็นการกลบบทบาททางการเมืองของทหารที่มีน้อยอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็ทำให้สถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในทางการเมืองสูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ประจวบเหมาะพอดีกับภาวะที่รัฐมีลักษณะรวมศูนย์ที่รัฐสภามากขึ้น รวมทั้งการเติบโตของชนชั้นกลางซึ่งคนกลุ่มนี้กลายมาเป็นฐานมวลชนของสถาบันกษัตริย์ (นับเป็นครั้งแรกที่สถาบันกษัตริย์มีฐานมวลชนของตัวเอง) หรือที่สมศักดิ์เสนอว่าเป็น “สถาบันกษัตริย์แบบมวลชน” (Mass Monarchy) ซึ่งทำหน้าที่เป็นอุดมการณ์และที่พึ่งทางใจของชนชั้นกลางซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติเสียทีเดียว แต่มันยังมีระบบบังคับ ตั้งแต่เรื่องการสั่งสอน อบรม ป้อนข้อมูลด้านดีด้านเดียว ไปจนถึง ม.112 และสมศักดิ์ยังได้ชี้ให้เห็นอีกว่าการให้ความสำคัญกับพระมหากษัตริย์ในลักษณะ “พ่อ” หรือ “พลังแผ่นดิน” การให้ความสำคัญกับการเข้าเฝ้าฯและพระราชดำรัส 4 ธันวาคม และกิจกรรมการสรรเสริญพระบารมีในลักษณะอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมก็เป็นผลผลิตในยุคนี้ 

กล่าวโดยสรุปคือ หลังจากพฤษภา 35 เป็นต้นมา รัฐมีลักษณะที่มีการรวมศูนย์ผ่านการเลือกตั้งรัฐสภาโดยมีสถาบันกษัตริย์ที่มีชนชั้นกลางเป็นฐานมวลชนมีอำนาจนำคุ้มเกล้าเหนือทั้งหมด ในช่วงเวลานี้สถาบันพระมหากษัตริย์มีสถานะเป็นเสมือนประมุขของชนชั้นปกครอง (Head of a ruling class) การแทรกแซงการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ สมศักดิ์ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า และในช่วงหลังดังกล่าวนี้เองที่เกิดปรากฏการณ์ “การหวนคืนดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์”(reconciliation with the monarchy) ของปัญญาชน 14 ตุลา (ปัญญาชนที่เกิดระหว่างต้นทศวรรษ 2480 ถึงปลายทศวรรษ 2490) เนื่องจากการรวมศูนย์อำนาจที่รัฐสภาและรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ขณะที่การแทรกแซงการเมืองโดยตรงจากสถาบันพระมหากษัตริย์ (รวมทั้งกองทัพ) หายไป ทำให้พวกเขารู้สึกกันว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ (และกองทัพ) ไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป รัฐสภาและรัฐบาลจากการเลือกตั้งกลายเป็นเป้าหมายหลักในการศึกษา ตรวจสอบ โจมตี และวิพากษ์วิจารณ์ และด้วยเหตุที่รัฐสภาและรัฐบาลจากการเลือกตั้งจึงมีภาพลักษณ์ในแง่ลบอย่างชัดแจ้ง ซึ่งส่วนทางกับภาพของสถาบันกษัตริย์ที่ถูกนำเสนอในด้านบวกเพียงด้านเดียว หากกล่าวให้ถึงที่สุดผู้วิจารณ์มองว่าข้อเสนอของสมศักดิ์ทั้งหมดข้างต้นกำลังโต้แย้งต่อข้อเสนอของผู้เขียนถึงสิ่งที่เรียกว่า สถาบันกษัตริย์ยุคใหม่ อันเป็นคำตอบของสถาบันกษัตริย์ในการหวนคืนสู่อำนาจนำภายใต้ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่าง คือ ความศักดิ์สิทธ์ ความเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน และความเป็นนักประชาธิปไตยของสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งสถานะเหนือการเมืองที่เกิดขึ้นควบคู่กับระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาตั้งแต่ 14 ตุลาเรื่อยมา ว่าแท้ที่จริงแล้วสัมฤทธิ์ผลอย่างทรงพลังชัดเจนจริงๆ นับตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภา 35 นี้เอง[3]

ในประการต่อมา ผู้วิจารณ์มองว่ามีประเด็นสำคัญที่เค้าโครงประวัติศาสตร์การเคลื่อนสู่ประชาธิปไตยฉบับใหม่ของผู้เขียนไม่สามารถอธิบายได้ คือความเป็นหุ้นส่วนทางการเมือง (political partnership) ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพที่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่การรัฐประหาร 2500 ของจอมพลสฤษดิ์ และจากช่วงเวลาดังกล่าวจนถึง 14 ตุลา ความสัมพันธ์เป็นไปในลักษณะที่กองทัพเป็น senior partner ขณะที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็น junior partner แต่เหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็น senior ขึ้นมาในความสัมพันธ์แบบหุ่นส่วนทางการเมืองนี้[4] ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในการรัฐประหาร 2549 ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของ Pual Chambers ที่เสนอว่า “บทบาทของกองทัพทำหน้าที่เป็นตัวแทนของความสัมพันธ์แบบอสมมาตรระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพซึ่งเป็นรัฐซ้อนรัฐในการเมืองไทย” ตั้งแต่ช่วงหลังพฤษภา 2535 จนถึงรัฐประหาร 2549 เป็นช่วงที่อุดมการณ์ราชาชาตินิยมและกษัตริย์นิยมพุ่งสูงถึงขีดสุด ขณะที่อำนาจของกองทัพตกต่ำมาก ทำให้เกิดกระบวนการ Monarchised Military อย่างเข้มข้น สถาบันกษัตริย์ควบคุมและมีอิทธิพลเหนือกองทัพอย่างมากผ่านเปรมที่ทำหน้าที่เป็นห่วงเชื่อมระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพ และเมื่อถึงจุดที่อำนาจจากการเลือกตั้งรัฐสภา ซึ่งเป็นอำนาจคู่ขนานกับอำนาจนำ (Hegemony) ของสถาบันกษัตริย์ตั้งแต่กลางทศวรรษ 2530 เป็นต้นมาเป็นอันตรายต่อสถาบันกษัตริย์ในยุครัฐบาลทักษิณ จึงทำให้เกิดรัฐประหาร 2549 ซึ่งเป็นผลงานของ Monarchised Military โดยมีเปรมเป็นผู้ขับเคลื่อนคนสำคัญ(ร่วมมือกับบูรพาพยัคฆ์,ศูนย์สงครามพิเศษและวงศ์เทวัญ) 

และเพื่อตอบคำถามที่ผู้เขียนทิ้งไว้ท้ายบทความว่า รัฐประหาร 2549 จะเป็นจุดเปลี่ยนที่นำกองทัพกลับมาอยู่ในอำนาจหรือไม่? จากกรอบคิดข้างต้นผู้วิจารณ์ขอตอบว่า “ใช่” รัฐประหาร 2549 เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านจาก Monarchised Military ที่มีเปรมเป็นห่วงเชื่อมประสานไปสู่ Monarchised Military ที่มีบูรพาพยัคฆ์ทำหน้าที่ดังกล่าวแทน ซึ่งปรากฏชัดเจนตั้งแต่รัฐประหาร 2557 เรื่อยมา คสช. พยายามสร้างความสัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์โดยตรงโดยไม่ขึ้นต่อเปรม (แทนที่เปรม) ในระยะยาวพวกเขาต้องการให้กองทัพกลายเป็นองค์ประกอบที่มีอำนาจมากที่สุดในหุ้นส่วนทางการเมืองนี้ (Militarized Monarchy) เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านสถาบันอันสูงสุดของประเทศและบทบาทของเปรมลดลงทำให้ดุลอำนาจเปลี่ยนมาอยู่ข้างกองทัพ[5]

นอกจากนี้ผู้วิจารณ์อยากขอร่วมแสดงความเห็นกับข้อสนทนาระหว่างงานชิ้นนี้กับงานชิ้นอื่นเล็กน้อย กล่าวคือ งานชิ้นนี้วิจารณ์ต่อข้อเสนอของบทความ Toppling Thaksin ของเกษียร เตชะพีระที่ว่า “การโค่นทักษิณและชำระล้างซากเดนของระบอบทักษิณเป็นทางออกของวิกฤติการเมืองที่ปะทุขึ้นในปี 2549” ว่าก่อให้เกิดการต่อต้านประชาธิปไตยและเปิดโอกาสให้สถาบันชนชั้นนำตามประเพณีเข้ามามีอำนาจในทางการเมือง หลังจากนั้นเกษียรก็โต้แย้งข้อวิจารณ์ของผู้เขียนโดยเสนอแนวทางการต่อต้านทักษิณโดยไม่ต่อต้านประชาธิปไตยกับการป้องกันไม่ให้ชนชั้นนำตามประเพณีแทรกแซงกระบวนการประชาธิปไตยไปพร้อมๆ กัน[6] ซึ่งผู้วิจารณ์เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวเป็นอย่างยิ่งในทางหลักการ แต่อย่างไรก็ดี ผู้วิจารณ์มองว่าความขัดแย้งในการเมืองไทยตลอดสิบปีให้หลังมานี้กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ การต่อต้านทักษิณและเครือข่ายแยกไม่ออกจากการต่อต้านประชาธิปไตย ขณะเดียวกันชนชั้นนำตามประเพณีก็มีบทบาทในการแทรกแซงการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ดังที่เห็นมาจนถึงปัจจุบัน



[1] มุมมองทางประวัติศาสตร์การเคลื่อนสู่ประชาธิปไตยไทยกระแสหลัก การมองว่า กระบวนการเคลื่อนสู่ประชาธิปไตยไทยเป็นเส้นตรง โดยมีจุดเริ่มต้นจากรัชกาลที่ 5 มาสู่การปฏิวัติ 2475 มาสู่ 14 ตุลา มาสู่พฤษภา 2535 ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนย้ายอำนาจอย่างเป็นละดับขั้นจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบเผด็จการทหารและมาสู่ประชาชน โดยมีภารกิจสุดท้ายคือการต่อสู้กับการซื้อสิทธิขายเสียงและนักการเมืองคอรัปชั่น

[2] รัฐประหารครั้งนี้เป็นความพยายามครั้งล่าสุดของฝ่ายเจ้าในการควบคุมการเคลื่อนสู่ประชาธิปไตยไทย โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การควบคุมอำนาจจากการเลือกตั้งให้อยู่ภายใต้พระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในที่ทางที่เหมาะสม  โดยมีลักษณะที่น่าสนใจหลายประการ กล่าวคือ 1) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีเสียงเรียกร้องให้เจ้าแทรกแซงการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลจากการเลือกตั้งอย่างเปิดเผย โดยเฉพาะการรณรงค์ของพันธมิตรฯ ให้ “ถวายพระราชอำนาจคืน” การตะโกนคำขวัญ “สู้เพื่อนายหลวง” และเรียกตัวเองว่า “ยามเฝ้าแผ่นดิน” 2) การเรียกร้องศีลธรรมทางการเมืองต่อสู้กับรัฐบาลทักษิณ  3) เป็นรัฐประหารที่ไม่มีการนองเลือดและได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชนชั้นกลางในเมืองในกรุงเทพ 4) สุนทรพจน์ของเปรมที่นำไปสู่การรัฐประหาร “กองทัพเป็นของพระมหากษัตริย์ไม่ใช่รัฐบาลจากการเลือกตั้ง” และการขานรับของผู้พิพากษาว่าเป็นคนของพระมหากษัตริย์เช่นกัน 5) บทบาทของสถาบันกษัตริย์เบื้องหลังการรัฐประหารถูกบอกเป็นนัยในชื่อของคณะรัฐประหาร “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” 6) บทบาทของนักวิชาการที่ประสานเสียงกันว่า “การรัฐประหารคือการก้าวถอยหลังหนึ่งก้าวเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้าสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง” ก่อนการรัฐประหาร และข้อเสนอการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองที่เปิดช่องให้คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งกำกับควบคุมอำนาจจากการเลือกตั้งโดยอ้างฐานคิดประชาธิปไตยแบบไทยๆ ภายหลังรัฐประหาร

[3] โปรดดู สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “หลัง 14 ตุลา” ใน ฟ้าเดียวกัน. ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2548 และ “Mass Monarchy” ใน หนังสือที่ระลึก 40 ปี 14 ตุลา.

[4] โปรดดู สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. แผนภูมิ "ดุลย์อำนาจ" ระหว่าง สถาบันกษัตริย์, กองทัพ, นักการเมืองเลือกตั้ง ในปริบทของประวัติศาสตร์ไทย 2475 – ปัจจุบัน ใน https://www.facebook.com/photo.php?fbid=159932397393381&set=a.137616112958343.44289. 100001298657012&type=3&theater (สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2560)

 

[5] โปรดดู Paul Chambers and Napisa Waitoolkiat. The Resilience of Monachised Military in Thailand. Journal of contemporary Asia 2016 Vol.46, No. 3, 425-444. และ Paul Chambers. Thailand’s Junta (Respectfully) Wants the Monarchy To Know Who’s Boss. Foreign Policy October 30, 2016

[6] โปรดดู เกษียร เตชะพีระ. ต่อต้านทักษิณโดยไม่ต่อต้านประชาธิปไตยไปด้วยนั้น เป็นไปได้หรือไม่? และต้องทำอย่างไร? ในhttps://www.facebook.com/kasian.tejapira/posts/3800419131900:1 (สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2560)