คำนำสำนักพิมพ์ ในหนังสือนัยนามแห่งอิสลาม

สำนักพิมพ์ปาตานีฟอรั่ม ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้จัดพิมพ์หนังสือของผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี อีกครั้ง ในครั้งแรกเราได้จัดพิมพ์หนังสือที่ใช้ชื่อว่า “จินตนาการอิสลามเชิงสังคมวิทยา” และหนังสือที่ผู้อ่าน

ถืออยู่นี้เป็นการปรับปรุงจากที่เคยจัดพิมพ์ครั้งนั้น ทั้งยังมีการเพิ่มเติมเนื้อหาใหม่ และใช้ชื่อว่า “นัยนามแห่งอิสลาม: บทสำรวจคำสอนอิสลามว่าด้วยสันติภาพ ความรุนแรง ครอบครัว และสตรี” ซึ่งได้รับเกียรติจากคุณไอดา อรุณวงศ์ เป็นผู้ตั้งชื่อให้ ทางสำนักพิมพ์และผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ประทับใจต่อชื่อหนังสือนี้อย่างยิ่ง

ก่อนอื่นทางสำนักพิมพ์ใคร่ขอกล่าวถึงชื่อหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นการเล่นคำที่มีความหมายอย่างแยบยล โดยขอชี้ชวนให้ผู้อ่านพิจารณาการออกเสียงของคำ คำนี้สมาสขึ้นจากสองคำ คือคำว่า ‘นัย’ กับคำว่า ‘นาม’ ที่สามารถออกเสียงเป็นสองพยางค์ว่า ‘ไน-นาม’หรือสามพยางค์ว่า ‘ไน-ยะ-นาม’ ก็ได้ แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าชื่อนี้น่าจะอ่านว่า ‘ไน-นาม’ ซึ่งจะเหมาะกับความตั้งใจของผู้ตั้งชื่อนี้

โดยทั่วไปเรามักได้ยินการกล่าวคำว่า ‘ในนามของอิสลาม’ (in the name of Islam) ในกลุ่มคนมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ชื่อหนังสือเล่มนี้ได้เลือกคำว่า ‘นัยนามแห่งอิสลาม’ หากจะกล่าวถึงความหมายก็อาจจะบอกได้ว่า ‘นัยนามแห่งอิสลาม’ เป็นมุมมองของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ที่ได้อธิบายและตีความตามสิ่งที่ตนเข้าใจ โดยผนวกทั้งบริบททางสังคมและคำสอนทางศาสนาเข้าด้วยกัน

ทางสำนักพิมพ์ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ซ้ำอีกครั้ง กล่าวให้ถึงที่สุด ต้องสารภาพว่า เราไม่ได้คาดหวังใดๆ ต่อยอดจำหน่ายที่ผ่านมา และไม่คิดว่าหนังสือจะหมดจากตลาดในการพิมพ์ครั้งแรก 1,200 เล่ม แต่เมื่อถามว่าใครกันที่สนใจหนังสือเล่มนี้หรือพูดให้ชัดคือผู้อ่านคือใคร เราก็ได้รับคำตอบคร่าวๆ จากผู้อ่านบางส่วนที่ติดต่อมา ว่าผู้ที่สนใจหนังสือเล่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ซึ่งอาจเป็นเพราะมีเนื้อหาบางบทที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวและสตรี

ขอขอบคุณ Eric Booth แห่ง MAIIAM CONTEMPORARY ART MUSEUM เชียงใหม่ ที่กรุณาสั่งหนังสือเล่มนี้จำนวน 200 เล่ม เป็นการล่วงหน้า และนี่คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราตัดสินใจพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้น โดยทาง ใหม่เอี่ยม มีการจัดนิทรรศการ PATANI SEMASA ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 และต้องการให้หนังสือเล่มนี้ได้จัดจำหน่ายในงานด้วย

ข้าพเจ้าเห็นว่า หนังสือเล่มนี้เสนอให้เห็นถึงความหลากหลายและพลวัตในสังคมมุสลิม ซึ่งเป็นทรรศนะแบบหนึ่งเท่านั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าสังคมหรือสรรพสิ่งต่างๆ มิได้แน่นิ่งอยู่กับที่ ที่ผ่านมาหนังสือเกี่ยวกับประเด็นอิสลามหรือมุสลิมที่มีอยู่ในตลาดหนังสือมุสลิมส่วนใหญ่มักเป็นหนังสือเกี่ยวกับศาสนาที่เขียนหรือแปลโดยนักวิชาการศาสนา แต่หนังสือเล่มนี้ต่างออกไป เพราะผู้เขียนมิใช่นักวิชาการศาสนาโดยตรง ความเป็นมุสลิมที่เป็นนักสังคมศาสตร์ของผู้เขียน ย่อมทำให้หนังสือเล่มนี้มีมุมมองและวิธีตีความต่างไป

ปัจจุบัน สังคมมุสลิมหันมาให้ความสำคัญกับนิติศาสตร์อิสลาม(ฟิกฮ์) กันมาก มีการพูดกันถึงเรื่องฮาลาล (อนุญาต) และฮารอม (สิ่งที่ห้าม) หลายคนเข้าใจว่าองค์ความรู้อิสลามคือ “ความรู้ศักดิ์สิทธิ์”ที่ต้องให้นักการศาสนาเท่านั้นเป็นผู้ชี้แนะและตัดสินชี้ขาด ข้าพเจ้าเห็นว่าเราอาจเจอปัญหาเรื่องอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของนักการศาสนาเช่นเมื่อเราพูดถึงฟิกฮ์ ทัศนะของนักวิชาการศาสนาที่เป็นมนุษย์นั้นศักดิ์สิทธิ์ด้วยหรือไม่? สังคมมุสลิมและคนทั่วไปสามารถตั้งคำถามต่อทัศนะในการตีความและตัดสินเรื่องต่างๆ ของนักวิชาการศาสนาได้หรือไม่ โดยเฉพาะต่อประเด็นรว่ มสมยั ที่ไม่เคยปรากฏอยู่ในอดีตมาก่อน และปัจจุบันยังเห็นได้ถึงปรากฏการณ์ที่สังคมมุสลิมมีความคับข้องใจต่อผู้ที่สถาปนาตนเป็นผู้รู้ศาสนา และใช้อำนาจของความรู้อย่างไม่สามารถแยกออกได้ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมหรือประโยชน์ส่วนตัวกันแน่ ข้าพเจ้าอยากบอกว่านี่คือวิกฤตความรู้และการยอมรับ มิพักต้องกล่าวถึงสถานการณ์ที่โลกออนไลน์มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปิดพื้นที่ให้คนทั่วไปสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเสรี โดยเฉพาะในสังคมมุสลิมที่ก็มีความตื่นตัวและการแสดงความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ต่อคนที่สถาปนาเป็นผู้รู้ศาสนามากขึ้น

ข้าพเจ้าเห็นว่าการเป็นนักวิชาการมุสลิม โดยเฉพาะทางด้านสังคมศาสตร์ จำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจโลกสองโลก คือโลกของมาตรฐานวิชาการสากล และโลกของมิติทางด้านศาสนามันคือความท้าทายพร้อมๆ กับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ข้าพเจ้าเห็นว่าหนังสือเล่มนี้คือสิ่งที่ชวนให้ขบคิดและถกเถียงในมิติของสันติภาพ ความรุนแรง ครอบครัว และสตรี กล่าวให้ถึงที่สุดมันคือประเด็นร่วมสมัยที่สังคมมุสลิมและสังคมทั่วไปให้ความสนใจ และแน่นอนว่าย่อมมีทัศนะที่แตกต่างไปจากนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและชวนให้เกิดการแลกเปลี่ยนถกเถียงต่อไป

ข้าพเจ้าขอขอบคุณอีกครั้งต่อคุณไอดา อรุณวงศ์ ที่ให้คำปรึกษาช่วยเหลือสำหรับการจัดพิมพ์โดยละเอียด ตั้งแต่ในขั้นตอนแรกถึงขั้นตอนสุดท้ายจนออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ ขอขอบคุณ คุณวริศา กิตติคุณเสรี สำหรับการจัดทำรูปเล่มและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเสนอแนะในการใช้คำศัพท์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำระบบอ้างอิงและตรวจสอบโดยละเอียด ทางสำนักพิมพ์ปาตานีฟอรั่มได้เรียนรู้และเข้าใจการทำงานเป็นอย่างมากในการผลิตหนังสือเล่มนี้

 

เอกรินทร์ ต่วนศิริ

สำนักพิมพ์ปาตานีฟอรั่ม