สิ่งที่เห็นและเป็นไป: หลังประชามติรัฐธรรมนูญตุรกี

สิ่งที่เห็นและเป็นไป: หลังประชามติรัฐธรรมนูญตุรกี[1]

อันวาร์ กอมะ

ช่วงฤดูใบไม้ผลิของตุรกีในปีนี้ (เมษายน-พฤษภาคม) ตรงกับเหตุการณ์ที่สำคัญทางการเมืองของตุรกีซึ่งถูกจับตามองเป็นพิเศษจากสื่อมวลชนทั่วโลก เหตุการณ์ดังกล่าวคือ การลงประชามติเพื่อเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ 18 มาตราซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนระบบการบริหารประเทศจากระบบรัฐสภาไปเป็นระบบประธานาธิบดี บรรยากาศโดยทั่วไปหลังจากการประกาศผลประชามติเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 16 เมษายนนั้นไม่ค่อยจะดีนักอันเนื่องมาจากความไม่ชอบมาพากลของคณะบริหารการจัดการเลือกตั้งสูงสุด (Supreme Election Board: YSK) ที่ตัดสินใจให้นับบัตรลงคะแนนที่ไม่มีตราประทับของเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ความไม่พอใจของมวลชนส่วนหนึ่งได้ แต่ทว่ากระบวนการนับคะแนนในครั้งนี้ได้สร้างข้อกังขาให้กับผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

จากการสังเกตการณ์ของผู้เขียนตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปสองครั้งในปี 2015 ทำให้เห็นว่า แม้พรรคสาธารณรัฐประชาชน (CHP) ซึ่งก่อตั้งโดยมุสตาฟา เคมาล อตาเติร์กและปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายค้านประสบความพ่ายแพ้ทั้งสองรอบ แต่ผู้เขียนก็ไม่เคยเห็นการออกมาประท้วงของผู้คนในเขตชุมชนเล็กๆ ที่อยู่ชานเมืองอิซมิร (Izmir) มาก่อน กล่าวเกี่ยวกับชุมชนดังกล่าว อีหม่ามของมัสยิดในชุมชนซึ่งมีอายุราว 40 ปีเคยปรารภให้ผมฟังในขณะนั่งจิบชาด้วยกันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งว่า สมัยก่อนที่จะมาอยู่ที่นี้ท่านเคยเป็นอีหม่ามอยู่ที่ชนบทแห่งหนึ่งซึ่งมีจำนวนร้อยถึงสองร้อยหลังคาเรือน ท่านรู้จักเกือบทุกบ้าน แต่ที่นี้มีประมาณ 2-3 พันครัวเรือน ท่านไม่ได้รู้จักหรือมักคุ้นกับทุกครัวเรือนเหมือนกันในเขตชนบท จะรู้จักกันก็ในวันที่ทำพิธีละหมาดคนตายเป็นส่วนใหญ่[2]

 20.02 น. ของวันที่ 18 เมษายนหลังจากวันลงประชามติ เสียงคนตะโกนโห่ร้องจากข้างนอกทำให้ผู้คนในชุมชนดังกล่าวรับรู้ได้เป็นอย่างดีว่ามีการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง ผมนึกขึ้นในใจทีแรกว่าเสียงดังกล่าวน่าจะเป็นการจัดฉลองพิธีมงคลสมรส เพราะเคยเห็นผู้คนบริเวณนั้นเฉลิมฉลองกันเสียงดังจนดึกดื่น

20.26 น. ลักษณะของเหตุการณ์ดูท่าน่าจะไม่ใช่เป็นงานฉลองรื่นเริงตามปกติ ขณะที่เดินออกจากหอพักไปสังเกตการณ์ พนักงานรักษาความปลอดภัยที่หน้าประตูเตือนผมสั้นๆ ว่า “dikkat” (จงระวัง ในภาษาตุรกี) เจ้าหน้าที่คนเดิมที่เห็นผมทำท่าลังเลไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหนก็ตะโกนบอกมาว่า “โน้น เสียงมาจาก ‘เมดาน’ [วงเวียน]”[3]

หากใครที่ติดตามการเมืองของตะวันออกกลางเป็นประจำคงจะทราบดีว่า “เมดาน” (meydan) ไม่ได้เป็นแค่วงเวียนที่ใช้ควบคุมพฤติกรรมของผู้ขับขี่พาหนะเท่านั้น หากแต่ว่ายังเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางการเมืองในการเรียกร้องของมวลชนในช่วงอาหรับสปริง (arab spring) อีกด้วย อาทิเช่น จัตุรัสตะห์รีรในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ และจัตุรัสไข่มุกที่ประเทศบาห์เรน เป็นต้น  

กล่าวเฉพาะในประเทศตุรกี “เมดาน” มีให้เห็นแพร่หลายแทบทุกที่ ทุกชมชน และทุกจังหวัด เช่น จัตุรัสทักซิมในนครอิสตันบูลซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่ประท้วงรัฐบาลพรรค AKP ในปี 2013 นอกจากนั้น หากใครเคยไปเที่ยวที่ “ถ้ำของผู้หลับใหลทั้งเจ็ด” ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวมีการกล่าวถึงทั้งในคำสอนของศาสนาคริสต์และอิสลาม และ “เอเฟซุส” ซึ่งเป็นเมืองเก่าตั้งแต่สมัยกรีกโบรานที่ตั้งอยู่ในเมืองเซลจูกแล้วล่ะก็ จะพบเมดานเป็นสัญลักษณ์ใจกลางของเมืองนั้น เช่นเดียวกัน หากใครที่เคยไปเยี่ยมชมปราสาทปุยฝ้าย “ปามุคคาเล่” ก็จะเห็นเมดานอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟและสถานีรถขนส่งของจังหวัด ข้อสังเกตดังกล่าวสื่อให้เห็นว่าเมดานไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสิ่งก่อสร้างเพื่อการจราจรเท่านั้นแต่มีฐานะเป็นพื้นที่สาธารณะ มีคุณค่าทางวัฒนธรรมและเป็นสัญลักษณ์ใจกลางของชุมชนที่ผู้คนสามารถใช้เพื่อรวมตัวทำกิจกรรมทางสังคมได้

เมดานที่กำลังพูดถึงในบทความนี้มีประชากรจำนวนไม่น้อยกว่า 2,500 ครัวเรือนและเป็นศูนย์กลางของชุมชนเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ที่ชานเมืองของจังหวัดอิซมิร ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผู้ออกมาแสดงความไม่พอใจที่เมดานดังกล่าวต่อกระบวนการนับคะแนนในครั้งนี้ในจำนวนไม่เกิน 80 คนก็ตาม แต่กระนั้นก็ดี สิ่งที่เห็นได้คือพัฒนาการใหม่ที่เกิดขึ้นในชุมชนเล็กๆ ซึ่งไม่ได้มีผลทางการเมืองโดยตรงต่อศูนย์กลางอำนาจที่กรุงอังการ่า ในขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์ Hurriyet สำนักข่าวดังในตุรกีก็นำเสนอข่าวเกี่ยวกับผู้ออกมาประท้วงในเมืองอิสตันบูลและอิซมิร สิ่งที่เห็นคือพัฒนาการดังกล่าวไม่ได้ทำให้ตำรวจนิ่งนอนใจ โดยในวันถัดมาปรากฏว่ามีตำรวจทั้งหญิงและชายจำนวนไม่น้อยกว่า 50 คนพร้อมกับรถคุมขังเข้ามาควบคุมพื้นที่ตั้งแต่ 5 โมงเย็น บทสนทนาระหว่างผมกับตำรวจก็เกิดขึ้นหลังจากที่ผมเดินออกไปสังเกตสถานการณ์ที่เมดานอยู่ครู่หนึ่ง เราสนทนาเรื่องสับเพเหระเกี่ยวกับประเทศไทยและพัทยาหลังจากที่ตำรวจทราบว่าผมมาจากประเทศไทย ก่อนจะกล่าวลาผมถามเขาว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่ เขาตอบด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า “เมื่อคืนมีการรวมตัวประท้วงกันที่เมดานแห่งนี้ วันนี้จึงมีตำรวจมาควบคุมพื้นที่เพื่อไม่ให้เหตุการณ์บานปลาย”[4] อย่างไรก็ดีในวันต่อมาผู้คนบริเวณดังกล่าวก็ยังเห็นตำรวจมาคุมสถานการณ์ตั้งแต่ตอนเย็น

อย่างที่ผมเคยเกริ่นไว้ในบันทึกจากตุรกีฯ ตอนที่ 3 http://www.pataniforum.com/single.php?id=688 เกี่ยวกับความชอบธรรม ตอนนี้นอกจากกลุ่มมวลชนที่ไม่เห็นด้วยกับพรรครัฐบาล และพรรค CHP ที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านจะไม่ยอมรับผลการนับคะแนนโดยจะดำเนินการทางกฎหมายต่อไปแล้วนั้น ที่น่าสนใจไม่น้อยกว่ากันคือข้อกังขาและความรู้สึกที่ไม่พอใจของคนหนุ่มสาวเกี่ยวกับชัยชนะที่ไม่โปร่งใสของฝ่ายรับ (evet) กล่าวอย่างเป็นรูปธรรม การบรรยายในวิชา “โครงสร้างทางการเมืองของตุรกี” ที่มหาวิทยาลัยดูคุซเอลุลซ เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 20 เมษายนที่ผ่านมาสามารถฉายภาพความไม่พอใจของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ได้ในระดับหนึ่ง ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่การสอนเนื้อหา อาจารย์ถามผู้เข้าเรียนซึ่งมีจำนวน 30 กว่าคนว่า รู้สึกอย่างไรบ้างกับผลประชามติในครั้งนี้ นักศึกษาหลายคนตอบในทำนองเดียวกันว่า “ถ้าผลออกมาห่างกันมากคงไม่เป็นไร แต่นี้ผลก็ออกมาอย่างน่ากังขาแล้วยังมีข่าวที่ไม่ชอบมาพากลอีก”[5] แม้ว่าแต่ละคนดูจะไม่พอใจแต่กระนั้นก็ไม่ได้มีใครคิดจะสร้างปัญหาให้ปานปลาย

ในลักษณะเดียวกัน ฟุรกอน นักศึกษาสาขาการสอนภาษาอังกฤษ อายุ ๒๐ ปีจากเมืองอายดึน (Aydın) ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศ ให้ทัศนะว่า “แม้ว่าจะมีคนในเมืองอิซมิรไม่พอใจก็ตามแต่เรื่องมันจบแล้ว ผู้คนออกไปบนถนนเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่พอใจ แต่ไม่ได้ต้องการเล่นนอกเกมส์” อย่างไรก็ดี เมื่อถามต่อว่า การประท้วงใหญ่อาจจะเกิดขึ้นได้ไหมในอนาคต เขาตอบว่า “อาจเป็นไปได้ แต่ตอนนี้สัญญาณยังไม่แรง หนึ่งในสัญญาณนั้นคือการประดับธงชาติไว้ตามหน้าต่างของแต่ละบ้าน” “การประดับธงชาติลักษณะนั้นหมายถึงการแสดงการต่อสู้โดยสันติเพื่อสื่อไปถึงผู้มีอำนาจว่า เอกราช สิทธิเสรีภาพ และอธิปไตยเป็นของพวกเราทุกคน”[6] เขาอธิบายต่อ

นอกจากนั้น เมื่อมองไปที่ความกดดันจากปัจจัยภายนอกแล้ว จะเห็นได้ว่าองค์กรระหว่างประเทศ อย่างเช่น สหภาพยุโรป (EU), the Organization for Security and Co-operation in Europe’s (OSCE), the Office for Democratic Institutions and Human Rights (ODIHR) and the Parliamentary Assembly of the Council of Europe (PACE) ก็ออกมาประณามเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสและการไม่ชอบมาพากลในกระบวนการดังกล่าวซึ่งไม่ได้มาตรฐานตามที่ EU และสังคมนานาชาติกำหนด อย่างไรก็ดี รัฐบาลของตุรกีก็ออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาดังกล่าวตั้งแต่ฝุ่นยังไม่ตลบว่าคำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นไม่เป็นธรรมอีกทั้งยังมีอคติอีกด้วย ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี บินาลี ยิลดีริม ก็ออกมาพูดรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวในเชิงปรองดองและให้คำมั่นสัญญาว่าจะพาตุรกีไปสู่การสร้างประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ  

ดูจากสถานการณ์ในตอนนี้แล้ว เพดานของความเสี่ยงและต้นทุนของฝ่ายที่ไม่พอใจรัฐบาลยังมีสูงเกินกว่าที่จะนำไปสู่การประท้วงใหญ่ได้ ในขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็สามารถควบคุมกลไกของรัฐไว้ได้ โดยล่าสุดรัฐสภาตุรกีได้ประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก ๓ เดือนนับตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2017[7] ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สามารถใช้เพื่อยกระดับประเด็นที่อ่อนไหวให้กลายเป็นประเด็นความมั่นคง (securitisation) ได้ หากยังขยันอีกหน่อยผมอาจจะเขียนเล่าเรื่องผลกระทบของการดำเนินนโยบายดังกล่าวที่มีผลกับคนเล็กคนน้อยทั้งที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างชาติในตุรกีในโอกาสต่อไป อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับนักศึกษาทั้งตุรกีและต่างชาติในเมืองอิซมิร พวกเขามีความเชื่อว่า ตุรกีในอนาคตจะไม่เหมือนเดิมและไม่สามารถกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีก มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการประท้วงใหญ่หากรัฐบาลไม่เร่งผสานรอยร้าวทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาหลายปี ดังนั้น งานหนักที่รัฐบาลต้องทำอย่างจริงจังให้มากขึ้นต่อจากนี้เห็นคงจะเป็นการสร้างความปรองดองระหว่างผู้เห็นต่างกับผู้สนับสนุนและเปิดให้มีเสรีภาพสื่อตามมาตรฐานสากล หากไม่เช่นนั้นแล้ว ผลของประชามติครั้งนี้อาจจะกลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ที่ทำให้บ้านแตกก็เป็นได้  

แม้ว่าอากาศตอนนี้ที่ตุรกีกำลังเย็นสบาย แต่การเมืองนั้นร้อนระอุ คงต้องติดตามกันต่อไปว่า เหตุการณ์ครั้งนี้จะกลายเป็นไฟลามทุ่งหรือไม่          


[1] ขอขอบคุณอาจารย์ดุลยวิทย์ นาคนาวาสำหรับคำแนะนำก่อนการเผยแพร่ และปาตานีฟอรั่มที่พิจารณารับบทความนี้

[2] อีหม่าม, บทสนทนาว่าด้วยลักษณะของชุมชนเมืองและชุมชนชนบทในตุรกี, July 12, 2016.

[3] พนักงานรักษาความปลอดภัย, บทสนทนากับพนักงานรักษาความปลอดภัยของหอพัก, April 18, 2017.

[4] ตำรวจ, บทสนทนากับตำรวจเรื่องเกิดอะไรขึ้นที่เมดาน บูจาคูบ, April 18, 2017.

[5] นักศึกษา, รับฟังความคิดเห็นนักศึกษาเรื่องรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับผลประชามติ, conducted by อาจารย์, trans. อันวาร์ กอมะ, April 20, 2017.

[6] ฟุรกอน, ความเห็นเกี่ยวกับความไม่พอใจหลังประชามติ 16 เมษายน 2017, April 21, 2017.

[7] Anadolu Agency, “Turkish Parliament Extends State of Emergency,” Anadolu Agency, April 18, 2017, http://aa.com.tr/en/todays-headlines/turkish-parliament-extends-state-of-emergency/799977.