“เหตุใดจึงไม่มีนักปรัชญามุสลิม?”

 

 

“เหตุใดจึงไม่มีนักปรัชญามุสลิม?” สุธิปตา กาวิราช โยนคำถามนี้ให้ผมในฤดูใบไม้ร่วง ปี ค.ศ. 2009 เมื่อครั้งที่ผมกำลังศึกษาตัวบททางปรัชญาเชิงวิพากษ์ของนักปรัชญาจากโลกตะวันตกกับเขา แม้ว่าจะเป็นคำถามที่ซับซ้อน (ซึ่งการที่กาวิราชในฐานะนักคิดหลังอาณานิคมที่สำคัญคนหนึ่งเป็นผู้ถาม ผมเองไม่อยากมองคำถามนี้อย่างผิวเผิน) คำถามนี้ก็ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของนักคิดมุสลิมที่จะมีส่วนร่วมในจารีตทางปัญญาของตนพร้อม ๆ กับจารีตทางความคิดของโลกตะวันตก 

 

ในขณะเดียวกัน คำถามของกาวิราชก็ยังเชื่อมโยงกับอีกคำถามหนึ่งที่ถูกหยิบยกโดย ฮามิด ดาบาชิ เมื่อไม่นานมานี้: “พวกที่ไม่ใช่ชาวยุโรปสามารถคิดเองได้หรือไม่?” ในบทความของเขา ดาบาชิเน้นให้เห็นว่า แนวคิดที่ไม่ได้มาจากยุโรป – ในที่นี้คือ ความคิดจากมุสลิม – ถูกวงวิชาการคัดเลือกอย่างไร เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า มุสลิมมีความสามารถในการคิดหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่า ความคิดของมุสลิมจำเป็นต้องได้รับการปรับรูปแบบเพื่อให้เข้ากับสไตล์การคิดแบบตะวันตกอย่างไร เพื่อที่แนวคิดนั้นจะได้รับการยอมรับว่าเป็น “ปรัชญา” ตามแนวทางของวิชาการตะวันตกและไม่ใช่อะไรที่อิงกับเทพเทวดาหรือนิยายปรัมปรา

 

ในแง่หนึ่งคำถามที่ว่า “เหตุใดจึงไม่มีนักปรัชญามุสลิม?” เป็นคำถามที่ออกจะแปลกประหลาด ฮามิด ดาบาชิ และวอลเตอร์ มิกโนโล ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักคิดคนสำคัญ เคยอ้างถึงชื่อของนักปรัชญามุสลิมจำนวนมาก (เช่น  Souleymane Bachir Diagne, Azmi Bishara, Sadeq Jalal Al-Azm, Fawwaz Traboulsi, Abdallah Laroui, Abdolkarim Soroush, และ Seyyed Hossein Nasr) นอกจากนี้ วาเอล ฮัลลัค ผู้ซึ่งเป็นนักคิดคนสำคัญเช่นกัน ก็ได้อ้างถึงชื่อนักปรัชญามุสลิมอีกหลายคนในคำวิจารณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและความรู้ของเขา (เช่น Muhammad Arkoun, M Abed al-Jabiri, Ali Harb, Hasan Hanafi, and Muhammad Shahrur)

 

ความคิดแบบมุสลิมและวงวิชาการตะวันตก

 

เมื่อไม่นานมานี้ ผมพยายามครุ่นคิดเกี่ยวกับชุดคำถามชุดหนึ่งและลองโยนคำถามเหล่านั้นในวงเสวนาวิชาการสองถึงสามวง ซึ่งทั้งหมดมีนักวิชาการมุสลิมเป็นตัวแทนเข้าร่วม แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่น่าพึงพอใจ คำถามของผมได้แก่ มุสลิมสามารถคิดในฐานะมุสลิมคนหนึ่งในแวดวงวิชาการได้มากน้อยแค่ไหนโดยไม่ถูกมองว่ามีความเป็นมุสลิมมากเกินไป? และความคิดของมุสลิมถูกปรับมากน้อยแค่ไหนเพื่อให้เข้ากับกระบวนทัศน์ของการคิดแบบตะวันตก?

 

การตั้งคำถามของผมมาจากฐานที่ว่า มุสลิมในแวดวงวิชาการเป็น “พวกมุสลิมในบ้าน” หรือ “มุสลิมในสนาม”

 

นั่นหมายความว่า งานเขียนของนักวิชาการมุสลิมจะได้รับการยอมรับในทางวิชาการก็ต่อเมื่องานชิ้นนั้นไม่ถูกจัดประเภทว่าเป็นข้อเขียนเกี่ยวกับอิสลามแต่เป็นเพียงการแสดงออกแบบปรวิสัยในทางวิชาการเท่านั้น หากมองมุมต่าง ถ้าบทบาทเบื้องต้นของวิชาการคือการสอนให้เชื่อฟังรัฐ และถ้ามุสลิมจะต้องปรับความคิดให้สอดคล้องกับข้อบังคับทางวิชาการดังกล่าว นักวิชาการมุสลิมเองมิใช่หรือที่กำลังผลิตซ้ำอำนาจและความรู้แบบตะวันตก? อย่างที่มิเชลล์ ฟูโกต์ สอนเราว่าความรู้และอำนาจนั้นเกี่ยวพันกันจนแทบแยกไม่ออก

 

ผมอยากจะย้ำเตือนผู้อ่านทั้งหลายว่า หนึ่งในความปรารถนาอันแรงกล้าของเครือจักรภพอังกฤษที่มีต่ออินเดีย (ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของแผนในการล่าอาณานิคม) คือ ให้การศึกษาแก่ชาวอินเดียตามตำราความรู้แบบตะวันตกสมัยใหม่เพื่อเตรียมผู้คนให้พร้อมที่จะยอมรับและต้อนรับการเข้ามาของการปกครองโดยอังกฤษ ความฝันอันหนึ่งของโทมัส บาบิงตัน แมคเคาเลย์ (ค.ศ. 1800-1859) ผู้ซึ่งมีบทบาทหลักในการนำเข้าระบบการศึกษาแบบตะวันตกมาสู่อินเดีย ก็คือ ชาวอินเดียจะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้แบบตะวันตกให้กับชาวอินเดียคนอื่น ๆ ต่อไป 

 

ความฝันดังกล่าวได้กลายเป็นจริงในรูปแบบที่แม้กระทั่งแมคเคาเลย์และเพื่อนของเขาก็คาดไม่ถึง ชาวอินเดีย – มุสลิมและชนชาติอื่นๆ – และชนชาติที่ไม่ใช่ชาวยุโรปทั่วโลก ต่างถูกสอนด้วยเนื้อหาความรู้แบบตะวันตกโดยคนที่ไม่ใช่ชาวตะวันตกเองด้วยซ้ำ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกับแวดวงวิชาการด้วยเช่นกัน หากพิจารณาถึงประวัติศาสตร์คตินิยมแบบตะวันออก (Orientalism) อิสลามศึกษาก็นับเป็นเพียงหัวข้อศึกษาหนึ่งของวิชาการตะวันตก

 

ผมกล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้รับคำตอบที่น่าพึงพอใจให้กับคำถามของผม ความจริงก็คือ บางคำตอบที่ได้รับต่างติดอยู่ที่วิธีการถามของผม ซึ่งมองกลับไปอาจจะเข้าท่า เพราะวิธีที่ผมสร้างคำถามตั้งต้นของผมคือ มุสลิมในแวดวงวิชาการเป็น “มุสลิมในบ้าน” (house Muslims) หรือ “มุสลิมในสนาม” (field Muslims) เมื่อฟังอย่างนี้ เป็นที่แน่นอนว่าผมกำลังใช้อุปมาอุปไมยเรื่อง “house negroes” และ “field negroes” ของ   มัลคอล์ม เอ็ก

 

ตามคำอธิบายของมัลคอล์ม เอ็ก นิโกรในบ้าน หรือ “house negroes” เป็นผู้มีลักษณะคล้อยตามเจ้าของบ้าน (Master) ในทุก ๆ เรื่อง หากผู้นำของบ้านว่าอย่างไร เขาก็จะเชื่อ พูด และทำตามนั้น ไม่คิดจะโต้แย้งหรือทำอะไรที่แตกต่าง ซึ่งมัลคอร์มมองว่า นิโกรในบ้านเป็นคนกลุ่มน้อย ในขณะที่ นิโกรในสนาม หรือ “field negroes” ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ (มัลคอล์มอ้างว่าเขาก็เป็นหนึ่งในนี้) จะมีลักษณะตรงกันข้าม คือ พร้อมที่จะต่อต้านผู้นำและสร้างหนทางของตนเอง (ขยายความโดยกองบรรณาธิการแปล) อ่านเพิ่มเติมที่ [http://ccnmtl.columbia.edu/projects/mmt/mxp/speeches/mxa17.html]

 

และบทบาทของ house negroes ในระหว่างการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองในสหรัฐอเมริกาเพื่อทำให้เจ้าหน้าที่รัฐผิวขาวผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับพลเมืองแอฟริกันอเมริกันลง

 

แน่นอนผมไม่ได้มอง “ผิวสี” และ “มุสลิม” ว่าเป็นสองประเภทแยกกัน เพราะจริง ๆ แล้วสองอย่างนี้เกี่ยวพันทับซ้อนกัน ทั้งนี้ อัตชีวประวัติของมัลคอล์ม เอ็ก ตรงใจผม (มุสลิมที่ไม่ใช่คนผิวสี) มากกว่าหนังสือเพื่อการต่อต้านเล่มใดใดในรอบห้าสิบปี งานที่เก่ากว่านั้นอีกชิ้นหนึ่งที่มีอิทธิพลพอ ๆ กัน คือ “ผิวดำ หน้ากากขาว” (Black Skin, White Masks) ของฟรานต์ซ ฟานอน

 

อย่างไรก็ดี บางคนก็ตอบคำถามโดยยืนกรานว่า รับไม่ได้กับอุปมาอุปไมยของผมเพราะประสบการณ์ของแอฟริกันอเมริกันและมุสลิมนั้นไม่เหมือนกัน ถึงกระนั้น ผมก็ยังสงสัยอยู่ดีว่า ข้อกังขาบางอย่างนั้นเป็นเพราะผมทำให้บทบาทของมุสลิมในแวดวงวิชาการเป็นประเด็นขึ้นมาหรือไม่ เพราะทั้งหมดทั้งมวลผมกำลังตั้งคำถามกับแหล่งที่มาของงานและรายได้ของพวกเขา ผมกังวลเกี่ยวกับการเข้าไปมีส่วนโดยไม่ตั้งใจของนักวิชาการในการแบ่งขั้วตรงข้ามระหว่าง “แนวคิดสุดโต่ง” และ “แนวคิดเป็นกลาง” ที่เกิดขึ้นหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 ซึ่งกำลังกอรปสร้างวาทกรรมยูโร-อเมริกันเกี่ยวกับมุสลิมทั่วโลก และได้ขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ 

 

มุสลิมในบ้าน

 

ในขณะที่วาทกรรมยูโร-อเมริกันพยายามระบุตัวตนและส่งเสริมมุสลิมสายกลางมากกว่าสายสุดโต่ง ผมมีคำถามว่า ‘นักวิชาการมุสลิมเองจะสร้างคุณูปการต่อเรื่องเล่าทางภูมิศาสตร์การเมืองที่ถูกทำให้เป็นการเมืองนี้ โดยการพยายามระบุตัวตนของมุสลิมและอิสลามสายกลางและส่งเสริมให้ตัวตนที่ว่าอยู่เหนือรูปแบบอื่นใดของอิสลาม ซึ่งมีความหลากหลายมากเกินกว่าที่ใครจะจินตนาการไปถึงได้อย่างไร?’ ข้อโต้แย้งของผม คือ หากมุสลิมยึดโยงกับการ ทำความเข้าใจมุสลิมโดยแยกออกเป็นสองฝ่ายที่ตรงข้ามกัน (Racialized binary) ตามที่เดวิด ไทลเรอร์ นักทฤษฎีเชิงวิพากษ์ด้านชนต่างสีผิวได้อธิบายไว้ แสดงว่า นักวิชาการมุสลิมกำลังเล่นบท “มุสลิมในบ้าน”

 

จารีตทางปัญญาของอิสลามมีประวัติศาสตร์อันยาวนานของการตีความสิ่งต่าง ๆ ในแบบที่ตรงข้ามกับการตีความทั่วไป

 

แต่บทสนทนาที่ผมพยายามริเริ่มดังกล่าวก็ล้มเหลวและถูกลบเลือนไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีคน ๆ หนึ่งบอกว่า ผมกำลังหมกมุ่นอยู่กับความรู้ทางปรัชญาปลอม ๆ (pseudo-intellectualism) ซึ่งเป็นปัญหาที่โดยทั่วไปจะไม่ได้รับการตอบสนอง เพราะว่ามันมักทำให้การอภิปรายต้องหยุดลงก่อนที่จะได้ถามคำถามใจกลางด้วยซ้ำ เธอ หรือ เขา (บุคคลดังกล่าวไม่ต้องการให้เปิดเผยตัวตน) เห็นว่า ข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งที่มุสลิมมีคือ พวกเขาปฏิเสธที่จะคิดภายใต้กระบวนทัศน์อาณานิคมและนั่นคือข้อได้เปรียบที่มุสลิมยังคงมี (ผมเองก็ยังไม่แน่ใจว่าข้อได้เปรียบที่ว่านั้น มุสลิมมีมากกว่าใครกลุ่มใด) 

 

ประเด็นของผมคือ ด้วยการให้การศึกษาแบบตะวันตกในประเทศที่ตกเป็นอาณานิคม ความรู้แบบตะวันตกจะกลายเป็นความรู้ในตัวมันเอง ซึ่งจะเข้ามาแทนที่วิถีการคิดการรู้อื่น ๆ ที่มีอยู่มากมายนับไม่ถ้วนและเคยดำรงอยู่เคียงคู่กับความรู้แบบตะวันตกตั้งแต่ยุคก่อนสมัยใหม่ ดังนั้น ความคิดที่ว่าใคร ๆ ก็สามารถคิดนอกกรอบของการศึกษาหาความรู้แบบตะวันตกได้นั้นจึงเป็นเพียงสิ่งเพ้อฝัน 

 

การตอบโต้ที่ผมได้รับจากโลกออนไลน์เป็นประสบการณ์ที่ย้ำเตือนให้ผมเข้าใจว่า จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มุสลิมมักจะสร้างพื้นที่ให้เกิดการตั้งคำถามและท้าทายสภาพปัจจุบันของสังคมเสมอ จารีตทางปัญญาของอิสลามมีประวัติศาสตร์อันยาวนานของการตีความสิ่งต่าง ๆ ในแบบที่ตรงข้ามกับการตีความทั่วไป ใจความของมันก็คือ เราจะมีวิถีในการตีความงานเขียนหรือทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมมากกว่าหนึ่งแนวทางเสมอ อิบเอ็น อาราบี (ค.ศ. 1165-1240) ซึ่งในหมู่ผู้คนที่ชื่นชมผลงานของเขาจะรู้จักกันในนาม “ครูผู้ยิ่งใหญ่” เป็นผู้มีอิทธิพลอย่างมากต่อโลกมุสลิมแต่ในขณะเดียวกันเขาก็ถูกกล่าวหาจากคนบางกลุ่มว่าเป็นพวกนอกรีตด้วย

 

ด้วยข้อเสนออันเลื่องชื่อของเขาที่ว่า ฟาโรห์ – ผู้ที่นับถือศรัทธาสิ่งต้องห้ามไม่ให้ได้รับการบูชาในศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียวตามเรื่องเล่าจากคัมภีร์กุรอ่านและไบเบิล – ถือเป็นผู้เชื่อว่าพระเจ้ามีองค์เดียว นอกจากนี้ การซาลิ (ค.ศ. 1058-1111) นักวิชาการที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวคิดอิสลามอีกคนหนึ่งได้โต้แย้งว่า เราควรเรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อว่าพระเจ้ามีองค์เดียวจากซาตาน ทั้งนี้ จารีตทางปัญญาที่มีชีวิตชีวาจะสามารถผลิตตัวตนของนักวิชาการที่ดูเหมือนมีความย้อนแย้งในตัวเองและมีวิธีคิดที่ท้าทายทางปัญญาดังเช่นนักคิดเหล่านั้นได้ หากไร้ซึ่งการอภิปรายอย่างเปิดเผยและเสรีแล้ว ไม่ว่าจารีตทางปัญญาแขนงใดก็ไม่สามารถอ้างความเป็นปรัชญาได้ ตราบเท่าที่มุสลิมได้มีคุณูปการต่อโลกทางความคิดมาจนบัดนี้ จะเห็นได้ว่าสภาพปัจจุบันของสังคม (Status quo) สำหรับมุสลิมกลับกลายเป็นเรื่องของความสงสารเวทนามาตลอด

 

แล้วเหตุใดจึงไม่มีนักปรัชญามุสลิม? ผมยอมรับว่าคำถามนี้จะก่อกวนใจนักวิชาการผู้มีชื่อเสียงไปอีกหลายปีต่อจากนี้ 

 

ต้นฉบับภาษาอังกฤษ: http://www.aljazeera.com/indepth/opinion/2014/06/muslim-philosophers-2014610135114713259.html