สิทธิ

 

ในฐานะปัญญาชนและความรับผิดชอบที่พึงมี ประชากรมุสลิมควรจะให้คำมั่นสัญญาที่จะส่งเสริมการเคารพสิทธิของคนทุกคนในสังคมตะวันตก ถ้าเราลองพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเรา ในแง่การว่างงาน คนไร้บ้าน การเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง การเหยียดผิว หรือการเกลียดกลัวคนที่ไม่เหมือนเรา เราอาจจะตั้งคำถามว่า มโนธรรมซึ่งกำหนดโดยสำนึกในความรับผิดชอบทางศีลธรรมของเรายังอยู่เฉยอยู่ได้อย่างไร?

 

นี่เป็นเรื่องการอ้างสิทธิในนามของสิทธิ : มุสลิมหลายคนรับหลักการที่ว่าการคุกคาม การเหยียดผิว และการเลือกปฏิบัตินั้นเป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้ ทั้งนี้ คนทุกคนในฐานะพลเมืองมีหน้าที่รับผิดชอบในการอ้างสิทธิของตนเองและสิทธินั้นควรได้รับความเคารพด้วย โดยหลักการ สังคมจะไม่หยิบยื่นสิทธิให้ใครเหมือนกับการที่เราหยิบยื่นสิทธิพิเศษให้กับใครคนใดคนหนึ่ง เพราะสิทธิเป็นเรื่องกฎหมาย การเคารพ แม้กระทั่งการบังคับ ในสถานการณ์ที่เราต้องยืนอยู่ท่ามกลางระบบราชการที่ไม่ขับเคลื่อนงานตามหน้าที่ เจ้าหน้าที่ซึ่งปล่อยให้ตนเองกล่าวหาผู้คนโดยไม่มีสามารถรับประกันผลกระทบที่จะตามมาได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งแข็งกร้าวและหยาบคาย และคนที่ต้องทุกข์ทรมานกับการปฏิบัติจากคนเหล่านี้ เรามีกฎหมายและบางครั้งเป็นสิทธิที่เราจะสู้เพื่อให้ได้รับการเคารพ ในทุกสถานการณ์การยอมรับและยืนหยัดในฐานะคนเป็นเหยื่อเป็นสิ่งที่ถูกต้อง โดยการที่เราไม่ยอมจมอยู่กับการด่าทอด้วยอารมณ์ซึ่งมีแต่จะทำให้เหยื่อค่อย ๆ แยกตัวจากสังคม หรือไม่ยอมตกอยู่ในภาวะรู้สึกต่อต้านอย่างไม่ลืมหูลืมตาซึ่งจะนำไปสู่การกีดกันในที่สุด

 

นี่เป็นสิ่งที่ต้องทำทั้งเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่น สมาคมหลายแห่ง เช่น สมาพันธ์อิสลามของชาวอเมริกันในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา และเวทีสาธารณะเพื่อการต่อต้านการเกลียดกลัวอิสลามและการเหยียดผิวในสหราชอาณาจักร ได้ริเริ่มการปกป้องสิทธิของพลเมืองที่เป็นมุสลิม (โดยการต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ) เพราะพลเมืองมุสลิมมักเลือกที่จะปิดปากเงียบในสถานการณ์ที่ไม่สามารถยอมรับได้ว่าตนเองเป็นเหยื่อ แม้ว่าหลาย ๆ คนจะรู้ดีว่าควรทำอย่างไรเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกเลือกปฏิบัติ 

 

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างพัฒนาการที่สำคัญ : โดยทั่วไป ระบบของพวกอังกฤษและอเมริกามักจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องชุมชนในลักษณะนี้ แต่การเคลื่อนไหวนั้นต้องไม่ปล่อยให้เกิดแรงจูงใจในการกีดกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไปสู่การเป็นชนกลุ่มน้อยจนอาจทำให้รู้สึกว่า กลุ่มหรือชุมชนนั้นจะต้องสู้เพื่อต่อต้านระบอบ ด้วยเหตุผลนี้ จึงจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ที่ทำงานในประเด็นเดียวกันแต่ทำในภาพกว้างกว่า จนก่อเกิดเป็นแนวหน้าของขบวนการที่มีสมาชิกหลากหลายในการต่อสู้กับความอยุติธรรม การเลือกปฏิบัติ และการเกลียดกลัวคนที่ไม่เหมือนเรา และต่อสู้ในนามของพลเมืองทั้งปวงโดยไม่แบ่งแยก เราจะกลับมาพูดถึงเรื่องนี้กันในภายหลัง

 

หากพิจารณาในระดับที่กว้างขึ้น เราไม่ควรมองข้ามพันธะสัญญาที่มีต่อสิทธิของชนชั้นทางสังคมและพื้นที่ทางสังคมที่ด้อยโอกาสมากที่สุดและถูกละเลยมาตลอดประวัติศาสตร์การพัฒนาทางเศรษฐกิจในสังคมตะวันตก นี่จึงเป็นโอกาสและหนทางที่ดีในการสานสัมพันธ์ใหม่ระหว่างมุสลิมที่ร่ำรวยและมุสลิมที่ถูกละทิ้งไม่ได้รับส่วนแบ่งจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการร่วมแรงร่วมใจกันทำการกุศลเท่านั้น (เราจะพูดถึงเรื่องนี้ในส่วนถัดไป) แต่หมายถึงการพัฒนามิติของการต่อสู้เพื่อให้เราสามารถอ้างสิทธิอันชอบธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจได้ด้วย

 

แม้ว่าองค์กรเหล่านี้จะก่อตั้งขึ้นในสหรัฐอเมริกาและในฝรั่งเศส แต่เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเราได้ริเริ่มก้าวย่างสำคัญเพื่อจะทำตามพันธะสัญญานี้ ทั้งนี้ พันธะสัญญาที่มุสลิมมีต่อสังคมไม่ควรจะหยุดอยู่แค่ความเป็นปึกแผ่นทางสังคมที่เกิดจากการอุปถัมภ์ค้ำชูและความเมตตาเท่านั้น ถ้าสังคมตะวันตกเป็นสังคมของเรา (แน่นอนมันเป็นสังคมเรา) เมื่อใดที่เราเห็นความอยุติธรรมชัดแจ้งอยู่ตรงหน้าและบางครั้งกลายเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันในสังคม เราก็ควรจะยืนยันคำเดิมว่านี่คือสังคมของเรา เราจะไม่ยอมรับความอยุติธรรมและจะต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ไปพร้อมกับกลุ่มพลเมืองอื่น ๆ ที่กำลังต่อสู้อยู่ เพื่อที่จะเรียกร้องสิทธิของเรา เราไม่ได้แค่คาดหวังความเมตตา ไม่แม้แต่ความเห็นใจ (แต่เราต้องการความเป็นธรรม)

 

ต้นฉบับภาษาอังกฤษ : http://tariqramadan.com/english/rights/