เตรียมพบกับวารสารฉบับที่ 20 : เปิดศักราช 2560 สนามความรู้ ทีปาตานี


 

บทบรรณาธิการวารสารฉบับที่ 20

ตลอดระยะปี 2559 ที่ผ่านมา สถานการณ์การเมืองโลกที่เหมือนอยู่บนหน้าผา สูงชันและเกิดกระแสลม(ขวา)แรงพร้อมที่จะกระชากร่างกายลงเหวลึกได้ หากไม่มีหลัก(การ)ยึดอันเข้มแข็งเพียงพอ ที่จะพยุงให้ชีวิตผ่านคลื่นลมแรงนี้ได้

ย้อนมองสถานการณ์การเมืองโลก ตั้งแต่ผลการโหวตชนะของอังกฤษเพื่อออกจากสหภาพยุโรป ผลการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาที่นายโดนัล ทรัมป์ชนะนางฮิลารี คลินตัน สงคราม ซีเรีย ผลของสงครามในซีเรียได้ทำให้เกิดผลกระทบแพร่กระจายไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก ตั้งแต่เมือง อเลปโป เอเธนส์ อิสตันบลู ปารีส เบอร์ลิน ลอนดอน ฯลฯ

สถานการณ์ประเทศไทยปีนี้นับว่าเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของปวงชนชาวไทยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา

สำหรับผลของประชามติรัฐธรรมนูญ ที่จะทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ อันจะเป็นหมุดหมายความเป็นไปของสังคมการเมืองไทย พูดให้ชัดคือ จะได้เห็นหน้าตาใหม่ของการเมืองไทย ปี 2560 จะเป็นปีที่รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่เต็มฉบับ ถือได้ว่าเป็นหมุดหมาย “การเปลี่ยนผ่านการเมือง” ของสังคมไทย

สำหรับเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลยังคงดำเนินการพูดคุยกับกลุ่มที่เห็นต่าง ที่เปลี่ยนชื่อจากลุ่มบีอาร์เอ็น มาเป็นกลุ่มมาราปาตานี และรัฐบาลมีการจัดตั้ง ครม.ส่วนหน้า ที่มาคอยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 

นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติ ในหัวข้อที่สำคัญและเป็นเสมือนการรวมคำถามที่สำคัญในสังคมไทยจนกระทั่งสังคมโลกเฝ้าถามหนทางจะแก้ไขปัญหาในแต่ละโจทย์ที่เกิดขึ้น


หากมองการเมืองระดับนานาชาติ ตั้งแต่การเมืองของมหาอำนาจของโลก สหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งได้มีการเลือกตั้ง และได้ประธานาธิบดีคนใหม่ ที่ถือว่าช็อกโลก คือนายโดนัล ทรัมป์ และอีกปีข้างหน้า จะมีการเลือกตั้งใหม่ของประเทศเยอรมัน นั้นหมายความสังคมไทยและสังคมโลกอยู่ใน ระยะเปลี่ยนผ่านการเมือง” (Transition)


สงครามในซีเรียถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ทั่วโลกค้นหานวัตกรรมทางการเมืองชนิดใหม่ เพราะความรุนแรงที่เกิดจากสงครามครั้งนี้แพร่สะพัดไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง ผ่านกรุงอิสตันบลู เอเธนส์ และชั้นในของยุโรปที่กรุงปารีสและเบอร์ลิน ฯลฯ ในเวทีประชุมนานาชาติของเหล่าผู้นำประเทศของโลก ย่อมมีวาระเรื่องของสงครามซีเรีย ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว เป็นการพยายามสื่อสารในการแปลงเปลี่ยนขับเคลื่อนความขัดแย้ง (Communication in Conflict Transformation) ในระดับรัฐกับรัฐ


ภาพจากสื่อต่างๆทั่วโลก ได้แสดงให้เราเห็นถึงความพยายามมุ่งมั่นช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากสงคราม องค์กรการช่วยเหลือต่างๆและในนามของปัจเจกชน เช่น การสื่อสารของเด็กน้อยชื่อบานา อลาเบด น่าสนใจมากคือ ในสงครามที่สิ้นหวังและไร้ทางออก หนูน้อยบานากลับแสดงให้เห็นพลังของการสื่อสารเรื่องราวของตนเองผ่านทวีตเตอร์ ทั้งรูปภาพ วีดีโอสั้นๆ บอกเล่าเรื่องราว ทั้งความกลัว ความหวัง บอกความชอบที่จะอ่านหนังสือแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ จนนักเขียนชื่อดังอย่าง “เจ.เค. โรวลิ่ง” ที่ติดตามทวิตเตอร์ของเธอมาโดยตลอด ได้ส่งหนังสือแฮร์รี่พ็อตเตอร์ไปให้ นี้คือตัวอย่างที่น่าทึ่งในการใช้โซเซียลมีเดียในยามสงคราม
 

แต่อีกนั้นแหละ ในอีกด้านหนึ่ง เราก็จะพบว่าในสนามของการสื่อสารได้เกิดอนุสงครามย่อยๆ ในโซเซียลมีเดียที่อาจจะเรียกว่า “สงครามน้ำลาย” ที่ใช้วิธีการด่าทอผ่านโลกออนไลน์ ตัดสินด้วยข้อมูลอันผิวเผินหรือแม้กระทั่งคิดว่าตนเองรู้เรื่องดีที่สุดแล้ว จนไม่ฟังเสียงหรือ ข้อมูลที่เห็นต่างและถกเถียงด้วยสติและปัญญา


คนที่กล่าวเตือนเรื่องนีได้แจ่มชัดคือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล “หลายคนถือโอกาสหว่าน ถ้อยคำหยาบคายใส่คนที่ไม่เห็นด้วยซึ่งบางทีเราสืบสาวต้นตอไม่ได้ว่ามาจากสภาพจิตส่วน ตัวหรือปัญหาส่วนรวม” สภาพนี้เข้าใจได้บางสถานการณ์ แต่ถ้าเกิดขึ้นไม่มีขอบเขตจะไม่ เป็นผลดีกับเสรีภาพ และมีแต่จะเพิ่มศัตรูให้ตัวเอง (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล)


การด่าทอผู้อื่นด้วยสูตรสำเร็จและการไม่พยายามเชื่อมสะพานความรู้ ความเข้าใจ ระหว่าง คนที่มีความคิดแตกต่างกัน ท้ายสุดมีแต่สร้างความห่างเหินกับผู้คนและไม่เป็นประโยชน์ ต่อการสร้างสันติภาพไม่ว่าที่ใด หรือแม้กระทั่งความสงบของจิตใจตัวเอง


การเปิดกว้างเพื่อให้ทุกฝ่ายได้เป็นหุ้นส่วนความคิดกันและกัน จะทำให้เกิดมิติการทำงาน ที่หลากหลายและเคารพกันมากขึ้น แข่งขันกันทำงานพร้อมๆกับแบ่งปันเกื้อกูลกันมากขึ้น

ในโลกที่ผู้คนจำนวนมากไม่ได้ถือครองอำนาจรัฐ แต่ถือยึดครองความเป็นมนุษย์ มุ่งมั่นทำงานเพื่อให้เกิดสันติภาพและเสนอแนวคิด การไม่ใช่ความรุนแรง (Non-violence) อัน เป็นนวัตกรรมอันสูงส่งของมนุษยชาติอาจถือได้ว่าเป็นมรดกอันล้ำค่าของทุกเผ่าพันธุ์ ทุกสี ผิว ทุกภาษา ฯลฯ


ที่กล่าวเช่นนี้เพื่อจะบอกว่าเรื่องราวของคนเล็กจำนวนมากที่น่าสนใจและเป็นกำลังจิต กำลังใจให้โลกนี้มีความหวังและจินตนาการที่จะอยู่ร่วมกัน การด่าทอและประณามฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดดั่งคำด่าสำเร็จรูป ก็มิอาจจะช่วยเหลือให้สันติภาพเกิดขึ้นได้ การ


การชวนพูดคุยและเสริมสร้างสติปัญญาในทางวิชาการ เพื่อไม่ให้เอียงไปแบบใด แบบหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนทำงานด้านสันติภาพ การเปิดพื้นที่วิชาการแบบนี้นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง


กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว งานประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ อาจจะช่วยให้ขยายขอบเขตความคิดและจินตนาการของสังคมการเมืองไทยและแน่นอนสำหรับเรื่องปัญหาปาตานี อาจจะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบใหม่ๆ ก็อาจจะเป็นได้
 


 

สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติ “การเปลี่ยนผ่านการเมือง การไม่ใช้ความรุนแรง และการสื่อสารในการแปลงเปลี่ยนขับเคลื่อนความขัดแย้ง” นับว่าเป็นการเปิดศักราชต้อนรับปีใหม่ 2560 ที่น่าติดตามอย่างยิ่ง เพราะงานครั้งนี้ได้จัดขึ้นในดินแดนที่มีคนตายทุกวันตลอด 12 ปี คือ ปาตานี/ชายแดนใต้ สามารถติดตามข้อมูลได้ที่ www.pnc2017.com การประชุมวิชาการนานาชาติ “การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง, การไม่ใช้ความรุนแรง และการสื่อสาร ในการแปลงเปลี่ยนขับเคลื่อนความขัดแย้ง” Political Transition, Non-violence and Communication in Conflict Transformation (PNC2017) วันที่ 24-26 มกราคม 2560 ณ. คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

องค์กรร่วมจัด คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

สำหรับวารสารฉบับนี้ เราเปิดด้วยข้อถกเถียงเรื่อง“พื้นที่ปลอดภัย” เรื่องนิยาม ความคิด ที่จะไม่มีข้อสรุป โดยบทความที่ชื่อว่า “พื้นที่ปลอดภัย” นิยาม-ความคิด ที่กะเทาะ(ยัง)ไม่แตก โดยปรัชญา โต๊ะอิแต ประเด็นเรื่องนี้เป็นผลมาจากงานวิจัยเรื่อง“พื้นที่ปลอดภัยในปาตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดย อาทิตย์ ทองอินทร์ หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิเอเชีย ที่พยายามรวบรวมข้อมูลความเห็นจากฝ่ายต่างๆอย่างรอบด้าน ในวารสารเล่มนี้ก็ได้รับเกียรติจาก อาจารย์อาทิตย์ ทองอินทร์ ที่เสนอบทความชื่อ “บันทึกการเดินทางแกะรอยความหมายของ พื้นที่ปลอดภัยในปาตานี”
 

คุณูปการที่สำคัญของการศึกษาเรื่องนี้คือ ช่วยให้ยกระดับการถกเถียงสู่พื้นที่สาธารณะและไปสู่เวทีการพูดคุยของฝ่ายมาราปาตานีและตัวแทนรัฐบาลไทย

สำหรับงานชุมชนที่กำลังพัฒนาแม้ว่าประสบกับความรุนแรงอย่างเช่น ชุมชนบางปูกับย่าง ก้าวของการพัฒนาBangpu Walk เสนอบทความโดย สุกรี มะดากะกุล นับว่าเป็นเรื่องที่มี ความสำคัญยิ่ง เพื่อทำความเข้าใจต่อการทำงานชุมชนที่เกาะเกี่ยวอยู่ในพื้นที่ กล่าวให้ถึงที่ สุดไม่ว่าชายแดนใต้/ปาตานี จะสงบหรือไม่ แต่สิ่งที่ทุกคนต้องเจอไมว่าฝ่ายใดคือ “ระบบ ทุนนิยม” ที่จะทะลุทะลวงไปในทุกอณูพื้นที่ของโลกใบนี้ แน่นอนวาทกรรมการพัฒนาก็จะ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเป็นข้อถกเถียงในระดับชุมชน จากสองฝ่ายคือ ฝ่ายอนุรักษ์และ ฝ่ายนายทุนท้องถิ่น เรื่องนี้ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ถกเถียงนานหลายทศวรรษและยังคงมีต่อไป

บทความที่ชื่อว่า หนังสือ “นบีไม่กินหมาก” ของอนุสรณ์ อุณโณ โดยศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ กำลังศึกษาปริญญาเอก ณ ประเทศเยอรมัน ได้เขียนแนะนำหนังสือเล่มนี้ให้แก่ผู้อ่าน เพื่อจะได้ควักกระเป๋าซื้อหนังสือเล่มนี้ กล่าวอย่างไม่เขินอาย ทางสำนักพิมพ์ปาตานีฟอรั่ม อยากขายหนังสือและอยากผลิตหนังสือต่อไป ศรยุทธ จึงทำหน้าที่ในการแนะนำให้แก่ผู้อ่าน ทางปาตานีฟอรั่มขอขอบคุณมาใน ณ โอกาสนี้

สำหรับบทความ ความตายของฑูตรัสเซีย : กระสุนแห่งความเจ็บปวด ? โดยเอกรินทร์ ต่วนศิริ เป็นบทความที่สะท้อนสามัญสำนึกของตัวผู้เขียนต่อเหตุการณ์การยิงนักการฑูตรัสเซีย โดยตำรวจหนุ่มตุรกี ที่เกิดขึ้นในกรุงอังการา ณ ประเทศตุรกี นั้นเป็นผลมาจากสงครามใน ซีเรีย เอาจริงๆแล้ว อาจจะเรียกว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 ก็ได้ เพราะสงครามในซีเรียครั้งนี้ได้ มีผลกระทบทั่วโลกและค่อยๆซึมลึกสู่ภายในจิตใจของมนุษย์ทุกคน อาจจะเป็นความ รุนแรงทางวัฒนธรรมทีเกาะกุมหัวใจผู้คนอย่างไม่รู้ตัว แต่แน่ล่ะโลกไม่ได้รกร้างทางด้าน มนุษยธรรมเพราะผู้คนจำนวนไม่น้อยได้ออกมาช่วยเหลือสงครามในซีเรีย ทั้งทางตรงและ ทางอ้อม


วงเสวนาเล็กๆที่ชื่อว่า Think Tank Forum เป็นกิจกรรมของปาตานีฟอรั่ม ที่จัดพูดคุย เสวนากับผู้คนในพื้นที่ ในทุก ๆ เล่ม เราก็จะมีการถอดสรุปเรื่องราวให้ผู้อ่านได้ติดตาม “สำหรับฉบับนี้เสนอบทความจากวงเสวนาเรื่อง” หากจะเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง 5 เรื่อง สำคัญที่ภาคประชาสังคมต้องทราบ

ด้วยมิตรภาพ

เอกรินทร์ ต่วนศิริ