ชุมชนบางปูกับย่างก้าวของการพัฒนา Bangpu Walk

 

สุกรี มะดากะกุล ในบทความเดิมเยื้องย่างที่บางปู
ในโครงการสำรวจ มลายูปริทัศน์

 

ระบบนิเวศน์ป่าชายเลนของชาวชุมชนตำบลบางปู อ ยะหริ่ง จ ปัตตานี หลังจากถูกผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ตามนโยบายเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของภาครัฐมาเป็นระยะหนึ่ง ชาวบ้านในพื้นที่ของชุมชนตำบลบางปูจึงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง และขยับตัวไปตาม สภาวการณ์ ที่ขานรับกับการท่องเที่ยวไม่แตกต่างจากที่อื่นๆ พื้นถิ่นชุมชนบางปูมีองค์ประกอบการท่องเที่ยวที่มีทั้ง ทรัพยากรทางธรรมชาติ และทรัพยากรทางโบราณสถาน และยังมีความน่าสนใจในด้านอื่นๆอีกด้วย จากการเดินทางเข้าสำรวจพื้นที่หลายครั้ง ผู้เขียนเห็นว่าในพื้นที่แห่งนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจด้านอื่นๆอีกหลายแง่มุม และอาจจะเป็นการต่อยอดให้กับชุมชนในพื้นที่อื่นๆได้ 

นอกจากแหล่งเรียนรู้ป่าชายเลนแล้วในพื้นที่แห่งนี้มีสิ่งที่น่าสนใจและน่าผลักดันให้เกิดการพัฒนาไปควบคู่กัน เพื่อความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลตามมา ความมีเสน่ห์ของสภาพความเป็นประชากร ชาวเล การตั้งถิ่นฐานอาศัย การเพิ่มขยายตัวของประชากร การดำเนินชีวิตที่ต้องปรับตัว รวมไปถึงการต่อสู้ของประชากรในชุมชนนั้น  เป็นอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งต้องดิ้นรนต่อสู้ท่ามกลางความขัดแย้งและสถานการณ์ไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้

ตำบลบางปู  อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี อยู่ติดทะเลอ่าวปัตตานี ประชากรในอำเภอยะหริ่งมีการเชื่อมต่อปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับประชากรอำเภอเมืองปัตตานีมาอย่างช้านาน สถานที่นี้อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรมากมายมหาศาล และแหล่งทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งที่เป็นเสบียงป้อนเข้าสู่ อำเภอเมืองปัตตานีมานานหลายชั่วอายุ

ทางด้านประวัติศาสตร์ มีร่องรอยอารยธรรมที่หลงเหลือมาจากโบราณจวบจนถึงปัจจุบัน ตามบันทึกการสัมภาษณ์ผู้อาวุโส เล่าว่า บรรพบุรุษของพวกเขาอพยพถิ่นฐานมาจาก ปากน้ำ ตรังกานู  ประเทศมาเลเซีย เดินทางมาด้วยเรือสำเภาขนาดใหญ่ ผู้ที่อพยพมานั้นมีหลายสาขาอาชีพ มีทั้ง ปราชญ์ผู้รู้ ชาวประมง พ่อค้าชั้นสูง และช่างไม้ที่มีฝีมือ และอื่นๆ  สังเกตได้อย่างแรกจากพาหนะเครื่องมือสำคัญของชาวประมงพื้นบ้านที่นี้ พวกเขา มีเรือ หัวแหลม ซึ่งแตกต่างจากเรือในท้องที่อื่นในจังหวัดปัตตานีที่ส่วนใหญ่จะเป็นเรือกอและ  

มีอะไรบ้างที่บางปู ซึ่งผู้เขียนได้มาพบและอยากนำเสนอ คือ การพัฒนาเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศสำคัญของปัตตานีกับการเปลี่ยนแปลงของชุมชน  การสร้างมัสยิดใหม่เป็นจุดศูนย์รวมใจชุมชน ที่ยาวนานที่สุดในประเทศไทยที่ใช้เวลากว่า 28 ปี สุเหร่าเก่าหรือมัสยิดโบราณดั้งเดิมแห่งแรกมีอายุไม่ต่ำกว่า 200 ปี ซึ่งบอกถึงรากฐานชุมชนที่มีอารยธรรมมาแต่โบราณ จากการสอบถามผู้อาวุโสในชุมชนตำบลบางปู กล่าวว่า บรรพบุรุษของชุมชนที่นี่มีการอพยพถิ่นฐานมาจากตรังกานู ประเทศมาเลเซีย ปรากฏเป็นหลักฐานที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือร่องรอยทางด้านสถาปัตยกรรม สุเหร่าเก่า และบ้านเก่าแก่ต่างๆมากมายที่กระจายอยู่ในชุมชน เป็นการสร้างรูปแบบสกุลช่าง ตรังกานู  หรือการจัดการตนเองของชาวบ้านในชุมชน ด้วยการส่งเสริมจาก หน่วยงานพัฒนาชุมชนต่าง ๆ 

จากการที่ได้ลงพื้นที่บางปูอยู่หลายครั้ง ได้พบกับคณะเครือข่ายกลุ่มพัฒนาชุมชนกลุ่มสตรีสหกรณ์ชุมชนหมู่ 2 ได้พัฒนาศักยภาพชีวิตของพวกเขาด้วยการตั้งกลุ่มและพัฒนาตนเองจัดการตนเองในด้านต่างๆ พัฒนาที่อยู่อาศัย ปรับปรุงชุมชนในด้านต่างๆด้วยการร่วมมือและการมาส่งเสริมของ หน่วยงาน/องค์พัฒนาชุมชน  การจัดการและพัฒนาชุมชน ประกอบไปด้วยการพัฒนาระบบระบบสาธารณูปโภคโดย มีการสร้างทางเดิน จัดการเรื่องปรับปรุงทัศนียภาพ การจัดการขยะ อบรมจัดการด้านการเงิน ตั้งระบบธนาคารชุมชน มีสนามเด็กเล่น และโครงการสร้างบ้านมั่นคง 3 วันสร้าง 7 วันอยู่ ทำให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้นและชาวบ้านในชุมชนสามารถมีรายได้เพียงพอให้กับตัวเอง 

นางวะหยะ ไชยสุวรรณ ประธานกลุ่มเครือข่ายพัฒนาเมืองบางปู เล่าว่า

 " ความเป็นอยู่ของชุมชนเมื่อก่อนนี้ ที่นี่มีการทำมาหากินแบบตามมีตามเกิด ความเป็นอยู่แออัด ลักษณะสาธารณูปโภคไม่ดี เพราะชุมชนย้ายมาเป็นส่วนของขยายมาจากชุมชนบางปูเก่า ชาวบ้านไม่มีที่ทางเป็นของตัวเอง ที่เราอยู่ ณ ตอนนี้ เป็นที่ ผืนป่าชายเลนของกรมป่าไม้ อาชีพของชาวบ้านในชุมชนได้แก่ การประมงเรือเล็ก อาชีพเลี้ยง เลี้ยงปู กุ้ง ปลา  เลี้ยงไก่ เป็ด แพะ อื่นๆ สภาพชาวบ้านเมื่อก่อนนี้อยู่แบบแออัด ไม่มีความรู้ในการพัฒนาเพื่อหาเลี้ยงชีพอย่างดีพอ  7 ชุมชน  จากการที่พวกเราตั้งกลุ่มขึ้นมาเป็นกลุ่มทำงานเครือข่ายเพื่อพัฒนาชุมชน ในชื่อว่า เครือข่ายทำงานพัฒนาเมืองบางปู "

แบ่งการทำงานได้หลากหลาย โดยเริ่มจากกลุ่มเล็กๆที่ แบ่งเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มต่าง ๆ   เช่น กลุ่มการจัดการเงินคืนทุน กลุ่มออมทรัพย์ชุมชน กลุ่มกองทุนความเสี่ยง กลุ่มสร้างเสริมรายได้สร้างอาชีพ  กลุ่มสหกรณ์ชุมชน กลุ่มต่อเติมซ่อมแซมสร้างบ้านให้ผู้ยากไร้ในชุมชน รวมไปถึงงานพัฒนาระบบสาธารณูประโภค ท่าจอดเรือ  ทางเดินในชุมชน กลุ่มธนาคารขยะ มีสมาชิกทั้งหมดในพื้นที่ป่าชายเลน ตอนนี้ 387 คน เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2557 เริ่มทำงานกันมาเรื่อยๆ ปัจจุบัน เรามีอาคารเอนกประสงค์ มีทางเดินในชุมชน ทำการจัดการขยะ ชาวบ้านมีความรู้พัฒนาตัวเองมากขึ้น มีอาชีพ และสามารถจัดการการเรื่องลดหนี้สิน ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น กลุ่มของชุมชนมีการจัดการได้ดีมากๆ เช่นสามารถปลดหนี้นอกระบบให้กับชาวบ้าน สามารถเลี้ยงลูก ส่งลูกเรียน ไม่ต้องไปยืมเงินหรือกู้เงินนอกระบบ เมื่อเรามีกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ภายในชุมชนเองมีการบริหารจัดการที่ดี ต่อไปหลังจากนี้ คาดหวังว่า จะเริ่มพัฒนาเพื่อกระจายรายได้ไห้กับชาวบ้านมากขึ้น เป็นการขยายต่อของโครงการ เช่น ในขณะนี้ทางเรามีความต้องการแปรรูปสินค้าเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แปลกๆ มี packing ที่สวยงาม ของที่ระลึกต่างๆ ในแบบแบรนดิงของตนเอง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังชุมชน

เมื่อจังหวัดผลักดันให้บางปูเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ชุมชนจะต้องได้รับความรู้ ที่ทันสมัย ทันยุค ทันเหตุการณ์ ต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ สอดคล้องกับนโยบาย กระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต” นางวะหยะ ไชยสุวรรณ กล่าวต่อว่า ในอนาคต คิดว่าชุมชนบางปู จะเดินไปข้างหน้าได้ มีอาชีพมั่นคง พัฒนาบุคลากรให้ต่อยอดไปเรื่อยๆจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป ต้องคิดระยะยาว และหากมีการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ก็จะยินดีอย่างมาก เพราะทางกลุ่มเอง กำลังมีสมาชิก ขยายเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ การจัดการเรื่องการเงิน เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีเล็กน้อยที่จะขับเคลื่อนโครงการใหม่ๆที่ขยายตามมา เพราะแนวโน้มกลุ่มต่างๆที่เกิดมาใน นามเครือข่ายพัฒนาชุมชนมีการขยับขยายขึ้นเรื่อยๆ เมื่อทุกคนเห็นผลจากการทำงาน จึงมองเห็นภาพและโอกาสอื่นๆตามมาด้วยทุกคนมองเห็นอนาคต และคิดวางแผนอะไรต่อมิอะไร เพื่อลูกหลานของพวกเขาอีกหลายๆด้าน เช่นด้านการศึกษาจะมีโอกาสให้ลูกหลานได้เรียนสูงขึ้น อาชีพที่มีรายได้มากขึ้น เป็นต้น

อีกโครงการหนึ่งที่น่าสนใจคือโครงการสร้างสิ่งสาธารณูปโภค ภายในชุมชน เช่น ท่าจอดเรือเพื่อรองรับการท่องเที่ยว การสร้างบ้านเล็กเพื่อความเป็นอยู่ของคนในชุมชนในนาม 3 วันสร้าง 7 วันอยู่ 

นาย มะอายือมิง  สาแล๊ะ รองประธานกลุ่มกลุ่มเครือข่ายพัฒนาเมืองบางปูหัวหน้าฝ่ายช่าง  เล่าว่า " ที่มาของโครงการคือ ชาวบ้านที่มาอยู่ในที่นี้ส่วนมากเป็นชุมชนที่ย้ายขยายมาจากที่เดิม เพราะที่เดิมชุมชนเริ่มขยาย แออัดจึงต้องขยาย ย้ายบ้านมาหาที่อยู่ใหม่และย้ายตามๆกันมาอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนที่นี่ จึงเกิดเป็นชุมชนใหม่ เมื่อย้ายมาก็ปลูกบ้านแบบตามมีตามเกิดตามกำลังที่ตนเองมี ปลูกบ้านกันเองเหมือนกับสร้างได้ไม่มั่นคงมากนัก อยู่ไม่กี่ปีก็เริ่มทรุดโทรม ต้องซ่อมแซมเพราะชาวบ้านบริเวณป่าชายเลน ต้องพบกับสภาวะแวดล้อมที่หนักหน่วงเช่น ลมทะเล มรสุม ในฤดูฝนก็ตกหนักมาก น้ำขึ้นน้ำลง บริเวณนี้จะมีน้ำท่วมขังมีน้ำเอ่อล้นตลิ่ง อยู่เป็นประจำ เมื่อถึงเวลาช่วงฤดูหน้าฝนพวกชาวบ้านลำบากมากต้องเดินลุยน้ำ เด็กๆกลับจากโรงเรียนก็ต้องลุยน้ำเปียกปอน เด็กๆไม่มีที่วิ่งเล่น เกิดปัญหาขยะ น้ำเน่าเสีย เราจึงคิดถึงและมองไปที่การพัฒนา สร้างระบบทางเดิน ปรับทัศนียภาพ การปรับพื้นที่ ปรับดิน ถมดิน จัดการระบบประปา จัดการขยะ และที่น่าภูมิใจคือการสร้างบ้านและซ่อมแซมบ้านให้แก่พวกเขา การสร้างบ้าน 3 วันสร้าง 7 วันอยู่ เราทำได้จริง และใช้งบประมาณถูกแสนถูก ชุมชนสามารถทำได้อยู่ในกำลังที่เหมาะสม สร้างความแปลกใจให้แก่ชมชนเป็นอย่างมาก ซึ่งจากการทำงานในเพียงไม่ถึง 3 ปี เราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมาก ชาวบ้านและชุมชนเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยครับ "

พวกเขาทำงานกันอย่างไรมาฟังการทำงานของพวกเขาดู นายมะอายือมิง กล่าวต่อว่า การสร้างบ้านหรือสาธารณูปโภคนี้ เป็นการประชุมร่วมกันก่อน และโชคดีที่คนในชุมชนเองมีพื้นฐานทางด้านงานช่าง มีช่างเฉพาะของเราเองตั้งเป็นกลุ่ม มีการปรึกษากับผู้รู้ ประเมินราคา มีวิศวกรอยู่ด้วย การสร้างบ้านของเราตั้งสโลแกนไว้ว่า 3 วันสร้าง 7 วันอยู่ สามารถทำได้จริง แต่ชาวบ้านต้องช่วยเหลือตัวเองได้ด้วย เช่นว่า เขาต้องการสร้างบ้านในราคา 1แสน บาท กลุ่มสมทบช่วยเหลือในงบประมาณ 7 หมื่น บาท ฉะนั้นเจ้าของบ้านต้องช่วยตัวเองอีก 3 หมื่น บาท เค้าตอบตกลงกลุ่มก็จะสร้างเลย โดยมีการทำสัญญาในระบบสมาชิก และในเงิน 7 หมื่น บาทนี้ เจ้าของบ้านต้องคืนเงิน 7 ร้อย บาทต่อเดือน โดยไม่เสียดอกเบี้ยเลย เพื่อนำเงินมาเข้าโครงการและไปต่อยอดช่วยเหลือคนอื่นต่อไป โครงการจึงเกิดขึ้นได้จริง เมื่อเราได้ตกลงสร้างบ้านแล้ว เราต้องเริ่มทำงานอย่างจริงจังให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน เราสร้างบ้านแบบพื้นฐาน แต่แข็งแรง เป็นบ้านขนาดเล็ก สร้างแบบง่ายๆให้ชาวบ้านได้อยู่ นอนได้สบาย มีหลังคาแข็งแรงกว่าเดิม สามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัย และเป็นไปตามมาตนฐานที่วิศวกรออกแบบและรับรอง ส่วนท่าจอดเรือ อันนี้พิเศษหน่อย ท่าเทียบเรือคล้ายกับเป็นท่าเทียบเรือสาธารณะ เพราะมีไว้รองรับการท่องเที่ยว และสำหรับสมาชิกที่มีเรือ มีการดูแลโดยสมาชิกเอง สร้างความสมานสามัคคีกันในชุมชน และทำให้ชาวบ้านเริ่มเห็นประโยชน์ร่วมกันและมองเห็นการต่อยอดไปอีกในอนาคต”

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการของคนในชุมชน บางปู เพื่อเปิดประตูสู่การท่องเที่ยว ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น การรวมพลังกันของคนในชุมชน ที่มีการต่อยอดทางด้านอาชีพ มีการพัฒนาในด้านต่างๆไปพร้อมๆ กัน จึงเป็นการเติบโตของชุมชนที่เห็นพัฒนาการ และมีความหวังในอนาคต มีการปรับตัวที่สานรับกับความเจริญในด้านการท่องเที่ยว โดยรักษาไว้ซึ่งความเป็นชุมชน เสน่ห์ของบางปู การย่างก้าวอย่างช้าๆ เล็กๆของชุมชนแห่งนี้น่าจะเป็นโมเดลการศึกษาและการพัฒนาที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง สามารถเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนสำหรับชายแดนใต้