บทสนทนา 12 ปี ปัญหาปาตานี

 

 

 

อำนาจที่ผูกขาดของรัฐบาลทหารจะคุมสถานการณ์และอีกหลายอย่างในพื้นที่ได้มากน้อยแค่ไหน

 

มีคนเชื่อจำนวนไม่น้อยว่าเมื่อได้รัฐบาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จจะสามารถคุมสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นได้ แต่ทุกวันนี้ก็ไมเห็นเป็นอย่างที่ว่าหรือเชื่อกัน ซึ่งต้องไม่ลืมว่า ตั้งแต่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา ทหารก็คุมพื้นที่มาโดยตลอดด้วยอำนาจเต็มผ่านกฎอัยการศึก ซึ่งประกาศหลังจากมีการปล้นปืนที่ค่ายสุคิริน อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส และในทุกรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นพรรคใดเข้ามาบริหารประเทศ ทุกรัฐบาลก็มอบเรื่องชายแดนใต้ให้กองทัพดูแลเป็นหลักมาโดยตลอด อาจจะมีบ้างที่บางนโยบายรัฐบาลพลเรือนได้เข้ามามีบทบาทเยอะและชี้นำ เช่น การพูดคุยกับกลุ่มคนที่เห็นต่างในพื้นที่สาธารณะ จำได้ว่าแรกๆ อดีต ผบ.ทบ.พลเอก ประยุทธ์ ก็แสดงความไม่พอใจต่อนโยบายการพูดคุย แต่ตอนนี้ก็มีการพูดคุยอีกครั้งกับกลุ่ม Mara Patani แสดงว่ารัฐบาลทหารภายใต้นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ ก็มีการเปลี่ยนแปลงบ้าง สังเกตได้ว่าตลอดที่นายกรัฐมนตรีปัจจุบันมาบริหารประเทศ ได้คุยเรื่องปัญหาชายแดนภาคใต้น้อยมาก ในระดับนโยบายก็เหมือนว่าได้มอบให้ทางผู้รับผิดชอบในพื้นที่เป็นหลัก ตั้งแต่ระดับแม่ทัพ และ ผอ.ศอ.บต ก็ไม่ได้ดูแลอะไรเป็นพิเศษ  

 

 

ในสภาวะปัจจุบันทั้งสถานการณ์และเศรษฐกิจรุมเร้า คนในพื้นที่ควรทำอย่างไรให้อยู่รอด

 

เรื่องเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ได้เกิดแต่เฉพาะในพื้นที่ มันเกิดขึ้นทั่วประเทศและเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐ ตอนนี้เศรษฐกิจที่เป็นอยู่ก็เป็นผลมาจากนโยบายมหภาคของรัฐบาล ประเด็นคือว่า เราจะแยกปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในพื้นที่ออกมาวิเคราะห์ต่างหากไม่ได้ เช่น ตอนนี้ราคายางพาราตกต่ำ ก็แน่นอนก็ย่อมส่งผลกระทบต่อชาวสวนยาง และกิจการทุกระบบที่เกี่ยวข้องกับราคายาง ฉะนั้นการที่เศรษฐกิจแย่ มันไม่ได้แย่แต่ในพื้นที่ แต่มันเป็นผลของการเลือกนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล

 

 

มองอนาคตชายแดนใต้อย่างไรหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้

 

กล่าวถึงที่สุดแล้ว ปัญหาชายแดนใต้ไม่สามารถคิดและแยกออกจากสังคมไทยได้ คือ ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นดอกผลของวัฒนธรรมการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หรือเศรษฐกิจ มันอยู่ในวงจรเดียวกันทั้งหมด เวลามีคนมาบอกว่าตอนนี้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น เช่น สถิติการเสียชีวิตลดลง การพูดคุยกับคนที่เห็นต่างในพื้นที่สาธารณะ แต่ในทางกลับกันก็มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวบ้าน เช่นการเสียชีวิตของชาวบ้านในค่ายทหาร ที่ยังเป็นความคับข้องใจชาวบ้าน การมีกฎอัยการศึก พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน,พ.ร.บ.ความมั่นคง สิ่งเหล่านี้มันกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ ในเรื่องของการลุกขึ้นมาตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางของระบบกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปี 47 จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่ และมีรูปแบบการละเมิดสิทธิมนุษยชนลักษณะใหม่ๆเกิดขึ้นตามมา

 

 

สำหรับอนาคตข้างหน้าชายแดนภาคใต้จะเป็นอย่างไร?

 

(1) กองทัพและหน่วยงานความมั่นคงว่าจะมีนโยบายต่อเรื่องชายแดนใต้อย่างไร หากมองและปฏิบัติเหมือน 12 ปีที่ผ่านมา ก็ต้องบอกว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะกองทัพมีเวลาตั้ง 12 ปีที่มีห้วงเวลา 2 ช่วงใหญ่ๆ การรัฐประหารปี 49 และ 55 ที่ได้ยึดครองรัฏฐาธิปัตย์อย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ฉะนั้นเอง การปฏิรูปกองทัพ ให้เป็นมืออาชีพต่อการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ก็จะเป็นเรื่องที่มีความหมายต่อกองทัพได้

 

(2) กลุ่มขบวนการต่อสู้ติดอาวุธ การจับอาวุธลุกขึ้นสู้แต่เพียงอย่างเดียว อาจจะไม่พอและไม่ได้รับการตอบรับจากสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้และสังคมภายนอก เพราะในโลกสมัยใหม่ การใช้ความรุนแรงแสดงออกถึงความคับแค้นและอธิบายให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมของรัฐที่มีต่อสังคมมลายูมุสลิม ก็พอเป็นที่เข้าใจได้ แต่อาจจะไม่ได้รับการยอมรับอย่างสนิทใจหรืออาจจะถูกปฏิเสธ ฉะนั้นตลอดเวลาที่มีการพูดคุยระหว่างรัฐและกลุ่ม BRN หรือ Mara Patani อาจจะต้องมีการบอกถึงความคืบหน้าและประเมินผลของการพูดคุย ในเอเชียใต้มีประสบการณ์การจัดทำเรื่อง "การตรวจบัญชีสันติภาพ" (peace audit) สำหรับการพูดคุยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจจะเริ่มทำด้วยเรื่องลักษณะนี้ เช่น การตัดสินของศาลปกครองล่าสุด เกี่ยวกับคดีซ้อมทรมาน ก็เป็นสัญญาณแง่บวก แม้มันไม่เกี่ยวกับการพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับกลุ่ม Mara Patani แต่ต่อไปเงื่อนไขการซ้อมทรมานอาจจะลดน้อยลงและหวังว่าจะไม่เกิดขึ้น 

 

อนาคตชายแดนภาคใต้จะชัดเจนมากขึ้น  จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการสื่อสารออกมาจากกลุ่มขบวนการต่อสู้ เพราะหากไม่สื่อสารออกมา ก็จะทำให้คำอธิบายร้อยแปดพันเก้าจากนักวิชาการ เหล่าทหาร และผู้ใกล้ชิด ที่ออกมาพูดและสื่อสารที่ผิดเพี้ยนไป อันนี้ผลจากการอ่านเอกสารที่ผ่านมา ในช่วงปีแรกๆ จะมีนักวิชาการเชื่อมโยงปัญหาชายแดนใต้กับกลุ่มขบวนการก่อการร้ายนานาชาติอย่างไร้หลักฐานแต่กลับเป็นหนังสือที่พิมพ์หลายครั้ง ทำให้การรับรู้ของสังคมไทยก็เพี้ยนไปด้วย เช่น สมมุติฐานเรื่องการก่อการร้ายสากล ซึ่งตลอดที่ผ่านมาก็ไม่ปรากฎว่ามีการเชื่อมโยงใดๆ 

 

(3) เรื่องแนวคิด ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เป็นรากฐานสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ กล่าวให้ถึงที่สุด หากประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่มีคุณภาพมากเพียงพอ ก็ไม่สามารถตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานของรัฐไทย เพราะระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง จะสามารถเปิดพื้นที่และโอกาสให้แก่ชาวมลายูมุสลิมและชาวพุทธที่เป็นคนกลุ่มน้อยในพื้นที่ให้มีโอกาสใช้พื้นที่ทางการเมืองในระบบที่ไม่ต้องจับอาวุธ ได้มีโอกาสเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหา

 

จากงานวิจัยเล็กของนักศึกษาที่ได้ลงพื้นที่ในหมู่บ้าน เรื่องการเลือกตั้ง อบต. แห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี ได้สะท้อนให้เห็นประการหนึ่งที่สำคัญมากคือ ไม่เสมอไปในเขตพื้นที่มีประชากรมลายูมุสลิมจำนวนมาก ผู้นำมุสลิมจะได้รับเลือก อันนี้น่าสนใจมากคือ ระบอบประชาธิปไตยจะช่วยให้เกิดการแข่งขันทางการเมืองที่ไม่ใช้ความรุนแรงและสามารถตรวจสอบได้อย่างเข้มข้น และประเด็นสิทธิมนุษยชนก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องความเป็นธรรม เพราะตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ความรู้สึกและความเป็นจริงของชาวบ้านก็คือ การไม่ได้รับความยุติธรรม ที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ปัญหาอื่นๆก็จะไม่คลี่คลาย แม้ว่าจะยังไม่มีผลงานวิจัยชิ้นใดบอกว่า เมื่อเศรษฐกิจดี แล้วความสงบจะเกิดขึ้น แต่สิ่งที่พบอย่างชัดเจนก็คือ เมื่อที่ใดไม่มีความยุติธรรม ที่นั้นก็จะไม่มีความสงบ ฉะนั้นเรื่องความเป็นธรรมจึงยังคงเป็นปัญหาใจกลางที่สำคัญ และเป็นตัวชี้ขาดต่ออนาคตชายแดนใต้ 

 

 

 

 

ปัญหาชายแดนใต้ต่อประชาคมนานาชาติ

 

ในบริบทของอาเซียน ปัญหาชายแดนภาคใต้ ไม่ได้เป็นปัญหาของอาเซียนอย่างแน่นอน หากมองจากสภาพความเป็นจริงที่เหล่าประเทศสมาชิกของอาเซียนต้องเผชิญ ถึงแม้ว่าจะมีการเปิดอาเซียนอย่างเป็นทางการ แต่ก็ไม่มีผลระยะใกล้นี้ต่อการประชุมอาเซียน เพราะเสาหลักของอาเซียนก็ยังคงเป็นเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก สำหรับเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยหรือความขัดแย้งภายในประเทศ ก็เป็นที่รับทราบว่าเรามีกฎบัตรอาเซียน ที่ได้ระบุไว้ไม่ให้ประเทศสมาชิกเข้าไปก้าวล้ำ ซึ่งที่กล่าวเช่นนี้เพราะสภาพความเป็นจริงเป็นแบบนี้ แต่หากจะมีการผลักดันต่อไปอนาคตข้างหน้า เพื่อให้ประเทศสมาชิกเข้ามาช่วยเหลือ ก็คงจะเป็นได้ยาก เพราะประโยชน์ของระหว่างรัฐกับรัฐย่อมสำคัญเสมอ โดยเฉพาะการเมืองระหว่างประเทศ แต่อาจจะมีภาคประชาชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและศึกษาเรื่องความรุนแรง จะได้มีโอกาสเดินทางเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างกันมากขึ้น อันนี้อาจจะเป็นจุดที่ดีสำหรับการเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ๆ จากเพื่อนประเทศสมาชิก โดยเฉพาะระหว่างประชาชนกับประชาชน

 

ประเด็นที่สำคัญก็คือ เรื่องชายแดนใต้ก็อยู่ในความสนใจขององค์กรทางด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมาโดยตลอด ซึ่งตลอด 12 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายกลุ่มขบวนการต่อสู้ และมาตราการ ข้อตกลงการสู้รบก็ยังไม่ได้รับความสนใจและตระหนักกันทั้งสองฝ่าย เช่น กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือ "กฎของสงคราม" ที่ได้ตราบัญญัติใว้เพื่อจำกัดขอบเขตของสงคราม ป้องกันไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ เช่น เด็กและสตรี ที่ทั้งสองฝ่ายต้องให้การเคารพและเป็นข้อยกเว้นสำหรับการห้ำหั่นกัน และการปฏิบัติการโจมตีของทั้งสองฝ่ายก็ต้องคำนึงถึงเรื่องมนุษยธรรม อันนี้เราเห็นว่าตลอดที่ผ่านมา ยังไม่ได้รับการตอบรับจากทั้งสองฝ่าย แม้ว่าจะเป็นการผลักดันจากนักสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคม ทำให้ปัญหาชายแดนใต้ก็ยังได้รับการจับตาจากองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ

 

สำหรับองค์กรทางการเมืองระหว่างประเทศที่เป็นองค์กรใหญ่คือ องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ตลอดที่ผ่านมาทางด้านโอไอซีได้ให้ความสนใจเรื่องปัญหาชายแดนใต้มาโดยตลอดและได้ลงพื้นที่เกือบทุกปี  โดยให้ความสนใจเรื่องปัญหาชายแดนใต้เพราะมีความรุนแรงและเป็นชุมชนมุสลิมกลุ่มน้อย (Minority) ที่อยู่ในรัฐไทย และประเทศไทยก็ได้เป็นสมาชิกผู้สังเกตการณ์ของโอไอซี ฉะนั้นเรื่องพื้นที่การพูดคุยในระดับต่างประเทศโดยเฉพาะกับโอไอซี จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งกลุ่มขบวนการต่อสู้ เจ้าหน้าที่การฑูตของไทย และกลุ่มภาคประชาชนที่ทำงานเรื่องชายแดนใต้ ก็ต้องการชี้แจ้งและรายงานแก่โอไอซีให้ทราบเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนใต้ เพราะบทบาทและท่าทางของโอไอซีก็ย่อมมีผลต่อการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ สังเกตได้ว่าตลอดที่ผ่านมา โดยเฉพาะอดีตเลขาธิการคนก่อน คือ ศ.ดร.เอ็กเมเล็ดดิน อิห์ซาโนกลู (Prof.Dr.Ekmeleddin Ihsanoglu) ชาวตุรกี ก็จะลงพื้นที่เอง และได้พูดคุยกับเจ้าที่รัฐที่ทางรัฐบาลได้จัดโปรแกรมให้พบ นอกจากนั้น ท่านก็ได้เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมที่ได้เข้าพบปะและรับฟังความเห็น แต่ทว่าปีนี้ได้เปลี่ยนเลขาธิการใหม่เป็นชาวซาอุดิอาระเบีย ก็ยังไม่สามารถคาดเดาอะไรได้มาก เพราะปัญหาความรุนแรงในโลกมุสลิมเอง เป็นเรื่องที่หนักกว่าพื้นที่ชายแดนใต้อย่างมาก เช่น ปัญหาสงครามในซีเรีย และความขัดแย้งระหว่างโลกมุสลิมด้วยกันเอง 

 

สำหรับองค์กรระหว่างประเทศจะมีมาตราการใดๆที่จะกดดันรัฐบาลไทย ก็ยังไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดสันติภาพ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ สถาบันทางการเมือและบทบาทองค์กรอิสระ เช่น รัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน องค์กรต่างๆในสังคมไทยต่างหากที่มีส่วนสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้รวมถึงประชาสังคมในและนอกพื้นที่ ฉะนั้นเงื่อนไขภายในประเทศจึงมีความสำคัญอย่างมาก