พลวัตความคิดทางการเมืองในโลกมุสลิมกับแนวความคิดการต่อสู้ของขบวนการมลายูมุสลิมปาตานี ตอนที่ 1

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ

ขอความสันติสุขจงประสบแด่ทุกท่าน

หากจะทำความเข้าใจเรื่อง “พลวัตรความคิดทางการเมืองในโลกมุสลิมกับแนวความคิดการต่อสู้ของขบวนการมลายูมุสลิมปาตานี” สำหรับ ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง ชี้ว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเห็น Timeline ซึ่งอธิบายเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นในโลกมุสลิมอันจะทำให้เราได้เข้าใจภูมิหลัง (background) บางประการ เกี่ยวกับข้อถกเถียงทางการเมืองในโลกมุสลิม ก่อนที่จะขมวดลงมาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความคิดอิสลามซึ่งมีอิทธิพลโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการต่อสู้ในปาตานี

ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม. รามคำแหง จบปริญญาโททางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิ่งแฮมประเทศอังกฤษ และปริญญาเอกที่ สถาบันทางความคิดและอารยะธรรมอิสลาม กรุงกัวลาลัมเปอร์ประเทศมาเลเซีย โดยทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่องขบวนการฟื้นฟูอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศึกษาขบวนการที่เรียกตัวเองว่า “ซาลาฟีย์” ที่มีอาจารย์ดร.อิสมาแอล ลุตฟี จะปะกียา เป็นผู้นำคนสำคัญ ซึ่งความสนใจของวิทยานิพนธ์ศึกษาว่าซาลาฟีย์เป็นขบวนการ หรือ movement ที่ต้องการกลับไปสู่ความเป็นซาลาฟีย์ (AI-Salaf al-Salih:กลุ่มชนรุ่นก่อนในยุคสามรุ่นแรกของศักราชอิสลาม ในจารีตทางความคิดอิสลามถือว่าความเชื่อและการปฏิบัติศาสนาของกลุ่ม Al-Salaf al-Salihมีความบริสุทธิ์ ปราศจากการต่อเติม) ผู้ที่เรียกร้องไปสู่ซาลาฟีย์มีหลายกลุ่มในประเทศไทย แต่ ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส โฟกัสเฉพาะกลุ่มอาจารย์ ดร.ลุตฟี เนื่องจากกลุ่มนี้มีความเป็นกลุ่มก้อน เป็นขบวนการหลวมๆ มีการบริหารจัดการค่อนข้างดี มีโรงเรียน มีมหาวิทยาลัย มีเครือข่ายการจัดการทางด้านธุรกิจ และตัวอาจารย์ ดร.ลุตฟี ท่านเป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดอย่างกว้างขวางทั้งในและนอกประเทศ 

กลับมาสู่งานเขียนชิ้นนี้ ด้วยเนื้อหาซึ่งเต็มไปด้วยสารัตถะสำคัญมากมายอีกทั้งมีความยืดยาว งานเขียนชิ้นนี้จึงจะนำเสนอเป็นตอนๆเพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจ ดังนี้...

คำถามหลักๆสองประการที่ก่อตัวขึ้นในรอบอย่างน้อยหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นคำถามสำคัญของปาตานีนั่นก็คือ ปัญหาของสังคมปาตานีคืออะไร รากเหง้าของปัญหาซึ่งส่งผลให้ปาตานีมีสภาพดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ (อยู่ภายใต้การปกครองของสยาม/ชาวปาตานีกระจัดกระจาย/ปัญหาสังคม-เศรษฐกิจ/สูญเสียความเป็นแหล่งความรู้ทางศาสนาฯลฯ)คืออะไร? ประการที่สองถ้าปาตานีได้รับเอกราช ปาตานีจะปกครองอย่างไรด้วยระบอบอะไร? มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่มีการต่อสู้สูญเสียเลือดเนื้อเป็นจำนวนมากแต่ไม่มีคำถามในลักษณะนี้ ในบรรดาหมู่ผู้นำย่อมต้องตั้งคำถามนี้อย่างแน่นอนว่า ถ้าเราได้รับชัยชนะ ได้รับMerdeka(อิสรภาพ)แล้ว เราจะปกครองด้วยรูปแบบอะไร นี่คือสองปัญหาหลักที่ก่อให้เกิดการถกเถียงกันขึ้นภายในสังคมปาตานีอันส่งผลให้กลุ่มขบวนการต่างๆแตกหน่อออกไปตามผลสรุปที่มีต่อปัญหาดังกล่าว 

กล่าวสำหรับคำถามประการที่สอง ถ้าปาตานีได้รับเอกราชจะปกครองอย่างไร ด้วยระบอบอะไร สมมติว่าปาตานีได้รับเอกราชบรรดาผู้นำและบรรดาผู้ที่ทำการต่อสู้จะหันไปหาอังกฤษหรือ? คงจะเป็นไปไม่ได้เพราะชาวปาตานีถูกอังกฤษหลอกมาแล้วครั้งหนึ่ง ตวนกูมาไฮญิดดีนถูกอังกฤษหลอกว่าถ้าร่วมกับอังกฤษต่อสู้ญี่ปุ่นแล้วจะให้เอกราชแก่ปาตานีแต่อังกฤษก็พลิกลิ้นเมื่อสงครามจบลง ยิ่งในปัจจุบันอังกฤษไม่ได้มีอิทธิพลอะไรมากยิ่งยากที่จะพึ่งอังกฤษ ถ้าเช่นนั้นก็ต้องพึ่งพิงสหรัฐอเมริกา แต่จะพึ่งพิงอเมริกาได้อย่างไรเมื่ออเมริกาบอมบ์พี่น้องมุสลิม ในอิรัก ซีเรีย ลิเบีย อัฟกานิสถานฯลฯ อเมริกาเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการจัดตั้งและสนับสนุนรัฐอิสราเอลที่ทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พี่น้องปาเลสไตน์ตลอดมา? คำถามที่ว่า สมมติว่าได้รับเอกราชแล้วปาตานีจะปกครองอย่างไรจึงเป็นปัญหาสำคัญ ชาวปาตานีอาจคิดค้นระบบการปกครองของตนเองขึ้นใหม่ อาจจะเป็นระบบสุลต่าน รายอ หรืออาจจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งมันคงจะไม่ง่ายนัก เพราะฉะนั้นปัญหาต่างๆเหล่านี้มันก็ต้องมีการถกเถียงว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่สิ่งสำคัญก็คือข้อถกเถียงดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากการถกเถียงในโลกมุสลิมเนื่องจากปาตานีมีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของอุมมะฮฺ ปาตานีไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว แต่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติอิสลามหรืออุมมะฮฺ คำว่าอุมมะฮฺมันมีความหมายลึกซึ้งและมีนัยยะทางเทววิทยาเนื่องจากมโนทัศน์ (concept) เรื่องอุมมะฮฺมีปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกรุอ่าน ปาตานีเป็นส่วนหนึ่งของอุมมะฮฺ เพราะฉะนั้นปัญหาของปาตานีแยกไม่ออกจากปัญหาของอุมมะฮฺ วันนี้เราก็เลยมาดูว่าอุมมะฮฺหรือประชาชาติอิสลามมันมีพลวัตรทางความคิดอย่างไรบ้างและพลวัตรดังกล่าวส่งผลต่อปาตานีอย่างไร ข้อเขียนและคำบรรยายในวันนี้ มาจากแหล่งหนังสือสำคัญ ซึ่งได้อ้างอิงไว้ในช่วงท้าย

 อันดับแรก ในการทำความเข้าใจพลวัตทางความคิดของมุสลิมเราควรเข้าใจสภาพสังคมมุสลิมในช่วงเปลี่ยนผ่านเสียก่อน กล่าวคือช่วงที่อาณาจักรออตโตมานเริ่มเสื่อมถอยและล่มสลายกลายเป็นรัฐชาติสมัยใหม่(ตุรกี)ในที่สุด ข้อความข้างล่างอาจพอที่จะสะท้อนสถานะของออตโตมานในช่วงรุ่งโรจน์ก่อนจะล่มสลายได้ไม่มากก็น้อย

OgierGhiselin de Busbecq (1552-1592) ราชทูต อาณาจักร Habsburg ประจำอาณาจักรออตโตมาน กล่าวเปรียบเทียบสถานะของ Ottoman และ Habsburg ในการคาดการสงครามของทั้งสองอาณาจักรซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจของออตโตมานในขณะนั้นว่า:

“มันทำให้ข้าพเจ้าตัวสั่นด้วยความครั่นคร้ามเมื่อคิดถึงผลที่จะตามมาจากการต่อสู้กันระหว่างสองระบอบ (Ottoman กับ Habsburg) ซึ่งไม่ว่าเราก็เขาที่จะต้องถูกทำลายให้ย่อยยับไป ทั้งเราและเขาไม่อาจดำรงอยู่ร่วมกันอย่างแน่นอน ขณะที่ฝ่ายเขาคือมหาอาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาล ร่ำรวย ทรัพยากรล้นเหลือ กองทัพเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์และฝึกฝนอยู่เสมอ เรื่องราวของพวกเขาเป็นเรื่องราวแห่งชัยชนะอย่างต่อเนื่อง พวกเขาพร้อมที่จะเผชิญกับความยากลำบาก เป็นหนึ่งเดียว มีระเบียบวินัย อดทน และเตรียมพร้อมอยู่เสมอ ขณะที่ฝ่ายเรามีท้องพระคลังอันว่างเปล่า คนของเราฟุ่มเฟือยไร้ระเบียบ (อาณาจักรของเรา)ขาดทรัพยากร จิตวิญญาณ (ของการต่อสู้) แตกสลาย กองทัพของเรา ละโมบ หยาบ ไร้ระเบียบ มึนเมาตลอดเวลาและพร้อมที่จะแตกทัพ ยิ่งไปกว่านั้นคือ ฝ่ายศัตรูคุ้นเคยกับชัยชนะ แต่ฝ่ายเราคุ้นเคยกับความพ่ายแพ้ แล้วเรายังสงสัยว่าผลของการต่อสู้จะออกมาเป็นเช่นไรหรือ?”

ในช่วงที่ออตโตมานเจริญสูงสุด พระราชอิสริยยศเต็มของกษัตริย์ สุไลมาน (r.1520-1566) ในขณะนั้นคือ

His imperial Majesty the Sultan Suleyman I, Sovereign of the Imperial House of Osman, Sultan of Sultans, Khan of Khans, Commander of the Faithful and Successor of the Prophet of the Lord of the Universe, Protector of the Holy Cities of Mecca, Medina and Jerusalem, Emperor of the Three Cities of Constantinople, Adrianople, and Bursa, and of the Cities of Damascus and Cairo, of all Armenia, of the Magris, of Barka, of Kairuan, of Aleppo, of Arabic Iraq and of Ajim, of Basra, of El Hasa, of Dilen, of Raka, of Mosul, of Parthia, of Diyarbakir, of Cilicia, of the Vilayets of Erzurum, of Sivas, of Adana, of Karaman, of Van, of Barbary, of Abyssinia, of Tunisia, of Tripoli, of Damascus, of Cyprus, of Rhodes, of Candia, of the Vilayet of the Morea, of the Mamara Sea, the Black Sea and also its coasts, of Anatolia, of Rumelia, Baghdad, Kurdistan, Greece, Turkistan, Tatary, Circassia, of the two regions of Kabarda, of Georgia, of the plain of Kypsshak, of the whole country of the Tatars, of Kefa and of all the neighboring countries, of Bosnia, and its dependencies, of the City and Fort of Belgrade, of the Vilayet of Serbia, with all the castles, forts and cities, of all Albania, of all Iflak and Bogdania…’

 จากข้อความข้างบน เราคงพอที่จะเห็นถึงภาพความกว้างใหญ่ไพศาลและความรู้สึกเชื่อมั่นและมั่นใจของอาณาจักรฯซึ่งก็คือความมั่นอกมั่นใจของมุสลิม สำนึกของมุสลิมที่เชื่อว่า “อัลเลาะห์สัญญาว่าในท้ายที่สุดแล้วพวกเขาจะเป็นผู้ชนะถ้าหากพวกเขาดำเนินรอยตามแนวทางศาสนาของพระองค์” ด้วยเหตุนี้ข้อความดังเช่น “ผู้ชนะที่แท้จริงคืออัลเลาะห์ (la ghalibailla’Llah)”ซึ่งประดับประดากำแพงมัสยิดอัลฮัมรา (Alhambra) ในกรานาดา (ประเทศสเปน) ยังประดับประดาจิตใจและวิญญาณของมุสลิมทุกคนอีกด้วย สถานะของโลกมุสลิมในขณะนั้นเป็นโลกที่มุสลิมเป็นผู้ set standardและเป็นผู้ที่ครอบงำทางความคิด (hegemonic power) ในโลกเก่า ถ้าเราเข้าใจสภาพดังกล่าวของสังคมมุสลิมในขณะนั้น เราคงพอเข้าใจว่าทำไมมุสลิมปัจจุบันและในอดีต พยายามที่จะหันกลับไปสู่อาณาจักรออตโตมาน ซึ่งแตกต่างจากมหาอำนาจในอดีตเช่นอังกฤษ ที่เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นในอังกฤษเรามักไม่ได้ยินว่าคนอังกฤษเรียกร้องให้กลับไปสู่ความเป็นอาณาจักรอังกฤษที่ยิ่งใหญ่ หรือกรณีของโปรตุเกส โปรตุเกสเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่เข้ามายึดมะลากาในปีค.ศ. 1511 แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันโปรตุเกสเป็นชาติที่ยากจนที่สุดชาติหนึ่งในยุโรป ทำไมคนโปรตุเกสไม่บอกว่าเราต้องกลับไปสู่ความเป็นโปรตุเกสที่ยิ่งใหญ่ในอดีตเพื่อนำโปรตุเกสให้กลับมาทัดเทียมกับเยอรมันอีกครั้ง หรือในกรณีของสเปน หลังจากเหตุการณ์รีคอนเควสต้า (Reconquista) ในปีค.ศ.1429 สเปนก็ครอบครองดินแดนไปทั่วทั้งแม็กซิโก อเมริกาใต้ เมดิเตอรเรเนี่ยน ตลอดจนเอเชีย ปัจจุบันสเปนเป็นชาติที่ยากจนที่สุดชาติหนึ่งในยุโรปเช่นเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใดชาวสเปนไม่มีสภาวะทางจิตใจ (mentality) ที่เรียกร้องกลับไปสู่อดีตอาณาจักรสเปนอันยิ่งใหญ่ ทำไมมีเพียงประเทศมุสลิมหรือชาติมุสลิมหรือมุสลิมเท่านั้นที่มีภาวะทางจิตใจในลักษณะ โหยหาอดีต (nostalgia) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็นได้ชัดยิ่งขึ้นในปัจจุบันที่ตุรกีพยายามที่จะกลับไปสู่ความยิ่งใหญ่แบบออตโตมัน มีแนวความคิดเรื่อง Neo-Ottomanและมีมุสลิมจำนวนมากทั้งภายในและภายนอกตุรกีสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว เกิดอะไรขึ้นกับสังคมของมุสลิม? ซึ่งเราจะค่อยๆตอบปัญหาดังกล่าว ในชั้นนี้เพียงต้องการชี้ให้เห็นว่า ภาวะทางจิตใจของมุสลิมนั้นมีความคิดว่า ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรออตโตมานอันมีอิสลามเป็นรากฐานในอดีตนั้นเป็นผลจากคำสัญญาที่อัลเลาะห์ได้ให้ไว้แก่มุสลิมและเป็นข้อพิสูจน์ถึงความจริงแท้ของอิสลามว่า หากมุสลิมดำเนินตามคำสอนของอิสลามอย่างเคร่งครัด อัลเลาะห์จะประทานประสบความสำเร็จในกิจการงานในโลกนี้ (และโลกหน้า) ดังที่ออตโตมานได้ประสบมาแล้ว สะท้อนออกมาดังข้อความซึ่งสลักอยู่บนกำแพงมัสยิดที่กรานาดาประเทศสเปนดังที่ยกมาข้างต้น ด้วยสภาวะทางความคิดเช่นนี้นี่เอง ทำให้โลกมุสลิม ชาวมุสลิมมิอาจจะตัดขาดความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในอดีต อย่างเช่น ออตโตมานและอาณาจักรมุสลิมก่อนหน้านั้น

 ในช่วงออตโตมานมีความเจริญสูงสุดคือประมาณช่วงกษัตริย์ สุไลมาน แล้วก็เริ่มค่อยๆเสื่อมถอยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่17 ออตโตมานเริ่มพ่ายแพ้แก่ยุโรปครั้งแรกในปี 1669โดยออตโตมานถูกบังคับให้เซ็นสนธิสัญญา คาร์โลวิซ (Treaty of Karlowitz) อันนำไปสู่การพ่ายแพ้อีกหลายครั้งตามมา แต่เหตุการณ์สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความเสื่อมถอยและล้าหลังของมุสลิมเมื่อเปรียบเทียบกับตะวันตกคือ เหตุการณ์ที่นโปเลียนเข้ามายึดอียิปต์ในปีค.ศ. 1798 ขณะที่กองทัพนโปเลียนเข้ายึดอียิปต์ ในขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออตโตมานและเป็นส่วนที่แข็งแกร่งที่สุดของอาณาจักรฯ นโปเลียนได้นำเอานักวิทยาศาสตร์มาด้วย 150 คน ใน150 คนนั้นประกอบไปด้วยนักวิทยาศาสตร์ นักมานุษยวิทยา นักสังคมศาสตร์ และอื่นๆประเด็นก็คือนโปเลียนใช้เวลาไม่ถึง 1 วัน ยึดอียิปต์เอาไว้ได้ทั้งหมดโดยที่กองทัพอียิปต์เป็นกองทัพที่ดีที่สุดของอาณาจักรฯในขณะนั้น ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อนโปเลียนสั่งให้นักวิทยาศาสตร์ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นการโชว์ให้เห็นว่าฝรั่งเศสมีความรู้ความก้าวหน้าที่สูงส่งกว่าชาวอียิปต์ กาลกลับปรากฏว่าผู้คนชาวอียิปต์หัวเราะเยาะกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนโปเลียน นักประวัติศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่ออับดุลเราะฮฺมาน อัลญาบัรตี (Abd al-Rahman al-Jabarti: 1753-1825) ได้บันทึกเอาไว้ว่า ชาวไคโรเห็นว่า “ไอ้พวกนี้ไม่ใช่อะไรมากหรอก มันเป็นเพียงแค่มายากล พวกเขาหัวเราะเยาะนโปเลียนและบรรดาข้าราชการที่มาพร้อมกับนโปเลียนใน พฤติกรรมการเข้าห้องน้ำ และอื่นๆ” ประเด็นจากเหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ามุสลิมในขณะนั้น ยังไม่ตระหนักว่าตะวันตกได้พัฒนาไปไกลมาก โดยยังคงคิดว่าอาณาจักรมุสลิมเป็นผู้สร้างอารยธรรมอันยิ่งใหญ่และยังคิดว่าอารยธรรมอื่นๆอยู่ต่ำหรือไม่อาจที่จะมาทัดทาน เท่าเทียมหรือไม่อาจที่จะมาเสมอเหมือนอาณาจักรอิสลามได้ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 17จนถึงประมาณปี 1920 เป็นช่วงที่ออตโตมานค่อยๆถูกตะวันตกเข้ามายึดครองทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การเงิน การศึกษา และการทหาร การรบของกองทัพออตโตมานไม่เคยชนะแม้แต่ครั้งเดียว ยกเว้นกองทัพของเติร์กที่ยังไปรบกับกรีซ ในปี 1920

 เกิดอะไรขึ้นกับโลกมุสลิม? อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกมุสลิมที่เคยเจริญรุ่งเรืองกลับต้องตกเป็นทาสของตะวันตก? นี่คือคำถามหลักที่ครอบงำมุสลิมมาเกือบสองศตวรรษและยังคงเป็นคำถามที่ต่อเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน คำถามนี้ได้ถูกย่อส่วนลงในอาณาบริเวณอื่นๆของโลกมุสลิมที่ถูกตะวันตกยึดครอง เช่นใน อินโดนีเซีย คำถามก็จะเป็นไปในลักษณะว่า ทำไมชาวมุสลิมชวาจึงตกต่ำและถูกดัทช์ยึดครอง เกิดอะไรขึ้นกับอุมมะฮ? ในปาตานีก็เช่นเดียวกันเกิดคำถามดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ทุกพื้นที่ของมุสลิมบนพื้นโลกถูกยึดครองโดยตะวันตกหมดยกเว้นตอนกลางของซาอุดิอารเบียในปัจจุบัน สาเหตุก็เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นทะเลทรายยากแก่การเข้าถึงและไม่มีประโยชน์ที่จะไปยึดครองด้วย (ในขณะนั้น)

ผู้ที่พยายามตอบคำถามดังกล่าวคือ ญามาลุดดีนอัลอัฟฆอนีย์(Jamal al-Din al-Afghani: 1839-1897)นักการศาสนา-นักกิจกรรม คนสำคัญของโลกมุสลิม ในตอนที่มิเชล ฟูโกต์ ไปอิหร่านเพื่อบรรยาย เขากล่าวถึงญามาลุดดีนอัลอัฟฆอนีย์ว่า “เป็นผู้ที่ยิงใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ผู้ซึ่งลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบบโลกที่ครอบงำโดยจักรวรรดินิยมตะวันตก”อัฟฆอนีย์ได้สะท้อนสภาพของอุมมะฮในขณะนั้นไว้อย่างน่าหดหู่:

“รัฐอิสลามในปัจจุบันอยู่ในภาวะถูกปล้นสะดม ทรัพย์สินของพวกเขาถูกโจรกรรม แผ่นดินถูกยึดครองโดยต่างชาติ ความมั่งคั่งของพวกเขาตกอยู่ในการครอบครองของผู้อื่น ไม่มีวันใดผ่านไปโดยที่แผ่นดินของมุสลิมไม่ถูกยึดครอง และไม่มีค่ำคืนใดผ่านไปโดยที่ชาวมุสลิมจะไม่ถูกบังคับให้ยอมตามการปกครองของชาวต่างชาติ พวกเขาเหยียดหยามและทำลายศักดิ์ศรีและความภูมิใจของมุสลิม เสียงและความสำคัญของมุสลิมไม่ได้รับความสนใจจากพวกเขา มุสลิมถูกพวกเขาใส่โซ่ตรวนเพื่อรับคำสั่ง มุสลิมถูกลดทอนความเป็นมนุษย์และหยามเหยียด ชื่อของมุสลิมไม่ได้ถูกเรียกอย่างให้เกียรติ เมื่อจำเป็นต้องกล่าวถึงมุสลิมพวกเขากล่าวด้วยความดูถูกเหยียดหยาม พวกเขาเรียกมุสลิมว่าเป็นพวกป่าเถื่อน หยาบช้า และถึงกับเห็นว่ามุสลิมไม่มีสถานะเป็นมนุษย์ (เช่น พวกโมโรในฟิลิปปินส์: ผู้แปล) มันเกิดอะไรขึ้นกับพวกเรา? อะไรที่นำความวิบัติเช่นนี้มาสู่เราและเรามาอยู่ตรงจุดนี้ได้อย่างไร? อังกฤษเข้ายึดครองอียิปต์ ซูดาน และพื้นที่ส่วนใหญ่ของอินเดียซึ่งปกครองโดยมุสลิม ฝรั่งเศสครอบครองโมรอคโค ตูนีเซียอัลจีเรีย เนเธอร์แลนด์เป็นผู้ปกครองที่กดขี่ชาวชวา และหมู่เกาะอันกว้างขวางในมหาสมุทรแห่งนั้น รัสเซียยึดเตอร์กิสถาน และส่วนใหญ่ของพื้นที่ Transoxiana, Caucasia, และ Daghestanจีนเข้ายึด East Turkistan รัฐของอิสลามที่เหลืออยู่ไม่มีที่ใดเลยที่ดำรงอยู่โดยปราศจากการคุกคาม

ด้วยความกลัวต่ออำนาจของยุโรปและตะวันตก มุสลิมมิอาจข่มตาหลับในเวลากลางคืนและใช้ชีวิตอย่างปกติสุขในเวลากลางวัน อิทธิพลของต่างชาติแทรกซึมลึกลงไปในสายเลือดสร้างความกลัวแก่ชาวมุสลิมถึงขนาดที่เมื่อพวกเขาได้ยินเสียงของรัสเซียและอังกฤษทำให้พวกเขาตัวสั่นเทาเช่นเดียวกับที่พวกเขาได้ยินเสียงของฝรั่งเศสและเยอรมัน นี่คือสภาพของประชาชาติอิสลาม ประชาชาติที่รัฐของพวกเขาเคยเก็บภาษีจากมหากษัตริย์อันยิ่งใหญ่ รัฐที่บรรดาผู้นำในโลกต่างยอมรับและให้เกียรติด้วยความนอบน้อมอย่างที่สุด แต่อนิจจา… ในปัจจุบันประชาชาติมุสลิมได้มาถึงจุดที่โลกทั้งโลกได้สูญเสียความคาดหวังต่อการดำรงอยู่ของพวกเขา พวกเขาถูกกดขี่ข่มเหงแม้กระทั่งในแผ่นดินของตนเอง ต่างชาติไม่เคยหยุดหย่อนในการสร้างความกลัวด้วยกลยุทธ์ต่างๆ กลเม็ดทั้งหลายถูกนำมาใช้เพื่อสร้างภาพลวง และทำลายวิถีชีวิตของผู้คนให้เป็นไปตามแนวทางที่พวกเขาต้องการ ในขณะที่มุสลิมไม่มีแม้แต่ขาที่จะวิ่งหนีและไม่มีแม้แต่มือที่จะทำการต่อสู้ กษัตริย์ของพวกเขา (มุสลิม) โค้งคำนับต่อกษัตริย์ที่ไม่ใช่มุสลิมเพื่อที่จะมีโอกาสอยู่ในอำนาจต่ออีกแม้เพียงสองหรือสามวัน พสกนิกรของพระองค์ต่างอพยพหนีตายไปกันไปคนละทิศคนละทางเพียงเพื่อหาสถานที่ที่พอจะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ.. โอ้…โอ้.. ช่างเป็นโศกนาฏกรรมที่สุดจะทนทานเหลือเกิน…

อำนาจและความมีเกียรติของเราได้ถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ เกิดอะไรขึ้นกับประชาชาติของเรา พลังที่เคยแข็งแกร่งและยิ่งใหญ่หายไปไหน?ความงดงามตระการตาและความรุ่งโรจน์ของเราไปอยู่ที่ใด? อะไรที่เป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมถอยอันน่าตระหนกนี้? อะไรคือเหตุผลที่มาอธิบายสภาพของความทุกยากและภาวะไร้ความสามารถนี้? เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะตั้งข้อสงสัยต่อคำสัญญาของพระเจ้า (ที่สัญญาว่าจะให้ความสำเร็จแก่มุสลิมผู้ดำเนินรอยตามคำสั่งของพระองค์) แน่นอนพระองค์ทรงห้ามในการคิดเช่นนั้น! เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะสูญเสียความหวังจากความเมตตาของพระองค์ (ย่อมเป็นไปไม่ได้แน่นอน) ขอพระองค์ทรงปกป้องเราด้วยเถิด! ถ้าเช่นนั้น เราจะดำเนินต่อไปอย่างไร? เราจะหาสาเหตุ (แห่งความเสื่อมถอยนี้) ได้จากไหน? ด้วยเหตุผลอะไรที่จะสามารถอธิบายความตกต่ำของเราและเราควรจะถามใคร? ไม่มีคำตอบสำหรับคำถามดังกล่าวข้างต้นได้ดีนอกจากบทสะท้อนจากอัลกรุอ่านที่ว่า: พระองค์อัลลอฮจะไม่เปลี่ยนแปลงประชาชาติใด นอกจากพวกเขาจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงจากภายในของตัวของพวกเขาเอง"

อัฟฆอนีย์ เดินทางเรียกร้องให้มุสลิมลุกขึ้นเพื่อต่อสู้กับจักรวรรดินิยม ความสนใจของญามาลุดดีนอัลอัฟฆอนีย์ เป็นความสนใจที่มุ่งโค่นล้มจักรวรรดิตินิยม โดยเห็นว่ามุสลิมจะต้องปฏิรูปสังคมตนเอง มุสลิมจะต้องศึกษาศาสตร์เทคโนโลยี จะต้องอธิบายอิสลามไปในทิศทางที่เข้ากันได้กับศาสตร์สมัยใหม่ เราต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าในยุคนั้นสภาพความเขลาของมุสลิมอยู่ในระดับที่แม้นโปเลียนยึดครองอียิปต์ได้ภายในหนึ่งวัน และให้นักวิทยาศาสตร์มาทำการทดลองเพื่อแสดงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ชาวอียิปต์ยังคิดว่า นโปเลียนเพียงมาสร้างมายากลให้ดูแค่นั้นซ้ำยังหัวเราะเยาะอีกด้วย กล่าวคือทุกคนยังไม่ตระหนักว่าตะวันตกได้ไปไกลมากแล้วในแง่ของความรู้และความก้าวหน้า ด้วยเหตุนี้ภาระหน้าที่ของญามาลุดดีนอัลอัฟฆอนีย์ คือการปลุกสังคมมุสลิมจากการหลับใหลโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการหลับใหลทางปัญญาซึ่งอัฟฆอนีย์ชี้ว่ามีสาเหตุมาจากการอธิบายอิสลามของผู้รู้ทางศาสนาไปในเชิงของความเร้นลับและการมุ่งสู่โลกหน้า อัฟฆอนีย์กระตุ้นให้มีการปฏิรูปอิสลามให้เป็นอิสลามที่เข้ากันได้กับโลกสมัยใหม่ อิสลามที่เข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์ ความคิดอิสลามของอัฟฆอนีย์ มีลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์กับประเพณีทางความคิดดั้งเดิมของอุลามาอ์ (ผู้รู้ทางศาสนาอิสลาม) ในทัศนะของอัฟฆอนีย์ สาเหตุของความตกต่ำของมุสลิมเกิดจากสังคมมุสลิมมีความเฉื่อยชาทางปัญญาเนื่องจากระบบความเข้าใจอิสลามของมุสลิมจ่อจมอยู่กับข้อถกเถียงทางเทววิทยาอันไม่จบสิ้น ขาดพลวัตรด้านการเปลี่ยนแปลงต่อความก้าวหน้าของศาสตร์สมัยใหม่ (modern science) อัฟฆอนีย์เป็นผู้บุกเบิกและปูทางไปสู่ขบวนการฟื้นฟูอิสลามและสังคมมุสลิมให้เกิดความทันสมัย เป็นผู้สร้างแรงจูงใจให้มุสลิมต่อสู้กับจักรวรรดินิยมขณะเดียวกันเปิดกว้างต่อการปฏิรูปทางความคิดโดยใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของจักรวรรดินิยมตะวันตก

อัฟฆอนีย์มีชิวิตอยู่ในช่วงเดียวกับสุลต่านอับดุลฮามิดที่ 2 (r. 1876-1909)สุลต่านผู้ครองอำนาจในช่วงเวลาวิกฤติและอาณาจักรฯกำลังจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ อุมมะฮกำลังระส่ำระส่าย ในฐานะที่เป็นสุลต่านซึ่งถือเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของโลกมุสลิม สุลต่านอับดุลฮามิดฯจึงใช้สถานการณ์ดังกล่าวฟื้นฟูระบอบการปกครองแบบคิลาฟะฮขึ้น โดยถือพระองค์ว่าเป็นคอลีฟะฮของอุมมะฮ เป็นผู้นำของผู้ศรัทธา (อามีรุ้ล มุมีนีน) สุลต่านอับดุลฮามิดเป็นผู้นำทางความคิดในเชิงการปกครองภายใต้ผู้นำคือคอลีฟะฮ พระองค์ชี้ว่าสาเหตุที่มุสลิมตกต่ำเพราะไม่มีผู้นำในลักษณะคอลีฟะฮซึ่งถือเป็นหน้าที่ของมุสลิมที่จะต้องเชื่อฟังและตามคอลีฟะฮ (โดยอ้างอิงคำสอนในคัมภีร์) มุสลิมจะฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้งก็ด้วยการปกครองแบบคอลีฟะฮดังเช่นในอดีต  ความคิดในลักษณะเช่นนี้ยังคงทรงอิทธิพลอย่างมากในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าความคิดของ อัลซาวาฮีรี(ผู้นำอัลกออีดะฮ) อัลบักดาดีย์ (ผู้นำไอซิส) ล้วนแล้วแต่เป็นแนวความคิดให้ตามผู้นำ จารีตทางความคิดของโลกมุสลิมในเรื่องระบอบการปกครองเป็นการปกครองโดยคนคนเดียว ตามผู้นำ จนถึงกับมีคำพูดบอกว่า “การอยู่ภายใต้ทรราช 70 ปีดีกว่า การอยู่ภายใต้ความวุ่นวายเพียง 1 วัน” คำพูดประโยคนี้สะท้อนให้เห็นจารีตทางการเมืองการปกครองในโลกมุสลิมได้เป็นอย่างดี แม้กระทั่งคนที่มีความก้าวหน้าอย่าง อัลมาวัรดี (al-Mawardi: 972-1058)ที่เขียนหนังสือชื่อ อะฮกาม อัลศุลฏอนียะฮฺ คือชื่อหนังสือก็พอบอกได้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ปกครองที่ดี อะห์กามแปลว่ากฎเกณฑ์ กฎระเบียบ อัลศุลฏอนียะฮ์ เกี่ยวกับสุลต่าน เกี่ยวกับผู้ปกครอง คือให้ความสำคัญกับสุลต่านให้ความสำคัญกับผู้ปกครอง แล้วเน้นความเป็นผู้ทรงธรรมของผู้ปกครอง ในแง่นี้ถ้าได้คอลีฟะฮฺผู้ทรงธรรมก็ถือเป็นความโชคดี แต่ถ้าได้คอลีฟะฮฺที่ไม่ทรงธรรมซึ่งประวัติศาสตร์ของมุสลิมมีคอลีฟะฮฺที่ไม่ทรงธรรมอยู่จำนวนมาก แม้กษัตริย์สุไลมานยังฆ่าลูกตัวเอง เพราะกลัวว่าลูกตนเองจะแย่งชิงอำนาจ ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์คอลีฟะฮฺ เราจะพบว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่มีหลายด้าน ด้านที่มืดเช่นมีการฆ่ากันระหว่างพี่ชายกับ น้องชาย พ่อกับลูก ไม่ใช่เฉพาะประวัติศาสตร์ของระบอบการปกครองแบบคอลีฟะฮฺเท่านั้น เกือบทุกที่ที่มีการปกครองแบบสุลต่านจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ ด้วยปัญหานี้ พวกนักคิดสายปฏิรูปออตโตมานในช่วงปลายศตวรรษที่ 17ก็เลยมีความต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองในลักษณะรัฐธรรมนูญนิยม (constitutionalism)  กล่าวคือปกครองโดยรัฐธรรมนูญแทนที่จะเป็นการปกครองโดยสุลต่าน แน่นอนว่าความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงนี้ได้รับแนวความคิดและแรงบัลดาลใจมาจากตะวันตก ซึ่งต่อมาการปกครองด้วยรัฐธรรมนูญเป็นแนวความคิดที่ปูทางไปสู่ระบอบโลกวิสัย (secularism)ในตุรกีในที่สุด

กล่าวโดยสรุป ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและช่วงระหว่างสงครามฯ โลกมุสลิมมีแนวความคิดหลักทางการเมืองอยู่สามแนวทางหลัก โดยทั้งสามเป็นแนวความคิดเพื่อมาตอบโจทย์ว่าจะฉุดโลกมุสลิมออกมาจากภาวะแห่งความตกต่ำได้อย่างไร (ภาวะตกต่ำดังกล่าวแสดงออกมาในรูปของการตกเป็นเมืองขึ้นของชนต่างศาสนา)  แนวคิดแรก เป็นความคิดในเชิงคีลาฟะฮ การปกครองแบบคีลาฟะฮ คือการกลับไปสู่การปกครองแบบดั้งเดิมโดยผู้ปกครองผู้ทรงธรรม ประชาชนมีหน้าที่ภักดี (ตออัต)ปฏิบัติตามผู้มีอำนาจ (UlilAmri) แนวคิดที่สอง ความพยายามให้เกิดการแยกการเมืองออกจากศาสนาหรือการเมืองการปกครองแบบโลกวิสัย (secularism) เนื่องจากผู้รู้ทางศาสนาล้าหลัง ศาสนาเป็นต้นเหตุแห่งความล้าหลัง ควรให้ศาสนาเป็นพื้นที่ทางความเชื่อส่วนตัวเท่านั้น แนวคิดนี้ต่อมาได้รับความนิยมในซีเรีย อิรัก และถึงจุดสูงสุดในตุรกี และแนวคิดที่สาม ความคิดเชิงการปฏิรูปสังคมและการรวมกลุ่มอิสลาม (pan-Islamism)  นำโดย ญามาลุดดีนอัฟฆอนี

โดยนักปราชญ์ชาวปาตานี เชคอะหมัด อัลฟาตอนี (1856-1908 : ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงสุลต่าน อับดุลฮามิด) ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากแนวคิดแนวที่สามเห็นได้จากข้อเขียนของท่านใน หนังสือชื่อ ฮาดีกอตุ้ลอัซฮาร์ และ ตัยญิบุลเอี้ยะซาน โดย เชคอะหมัด ได้เรียกร้องให้โลกมลายูตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงของศาสตร์สมัยใหม่ และยังได้สอดแทรกคำวิพากษ์วิจารณ์สุลต่านอับดุลฮามีดไว้ในข้อเขียนดังกล่าวด้วย นอกจากนั้นท่านยังได้จัดตั้ง สมาคมฟาตอนี (JamiyatulFataniyah) “เพื่อต่อสู้ปลดปล่อยชาติมลายูให้เป็นอิสระจากจักรวรรดินิยม และเป็นสถานที่เปิดอบรม เยาวชน นักศึกษา มลายูในนครมักกะฮให้ “ลุกขึ้นต่อสู้ภัยแห่งลัทธิอาณานิคม” (อ่านต่อตอนที่ 2)

ภาพจาก:teachernew.wordpress.com