การเมือง-ภาคประชาสังคมไทย... พลวัต คำถาม และข้อถกเถียง (ตอนที่ 1)

 

ประวัติศาสตร์สังคมการเมืองของไทยเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องเฝ้าศึกษาการเปลี่ยนแปลง ทำความเข้าใจอยู่ตลอดเวลา เพราะห้วงของการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมที่ตระหนักเรื่องของเสรีภาพ ความเท่าเทียม และการเคารพ ให้เกียรติในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายนั้นยังอีกยาวไกล

อนึ่งหากจะทำความเข้าใจร่องรอยการเปลี่ยนผ่านในสังคมการเมืองไทยแล้ว ปฎิเสธไม่ได้ว่าบทบาทของกลุ่มพลังทางสังคมต่างๆ อย่างกลุ่มภาคประชาสังคมมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ทั้งนี้จากการบรรยายของ ชลิตา บัณฑุวงศ์  อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในเวทีเล็กๆ ซึ่งจัดโดยปาตานี ฟอรั่ม เมื่อไม่นานมานี้ นับเป็นความรู้ที่ปูพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับภาคประชาสังคมที่ ปาตานี ฟอรั่มเห็นว่าน่าสนใจ อันจะนำไปสู่การถกเถียงเรียนรู้ร่วมกันของภาคพลเมืองในสังคมไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้

อาจารย์ชลิตา เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า ภาคประชาสังคมมีความสำคัญอย่างไร ซึ่งคำอธิบายที่เข้าใจง่ายที่สุด ภาคประชาสังคมเป็นโครงสร้างที่เชื่อมระหว่างสองส่วน คือ รัฐไทยกับปัจเจกชน มีบทบาทที่ควรจะเป็นในการเสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตยและการแสวงหาฉันทามติด้วยความสันติ โดยไม่ต้องใช้กำลังหรือความรุนแรง ขณะที่ในบริบทสังคมไทยนั้น “ประชาสังคม” เป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติเพื่อทางออกจาก “วิกฤติ” ที่เกิดจากระบอบการเมืองการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยที่มีปัญหาการผูกขาดโดยเสียงส่วนมากผ่านกระบวนการเลือกตั้งและจากระบอบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีที่มักสร้างผลกระทบแก่คนจน

ว่าด้วยเรื่องของคำเปลี่ยนไปนั้น อาจารย์ชลิตาชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมามีหลายคำที่เราคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็น “เอ็นจีโอ”  “องค์กรชาวบ้าน”  “ขบวนการภาคประชาชน”  และ “ภาคประชาสังคม” โดยคำว่า “ภาคประชาสังคม” เริ่มปรากฏชัดขึ้นตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2540 ขณะที่ในช่วงทศวรรษ 2530 คำว่า “ประชาสังคม” ยังแทบไม่ปรากฏ แต่ในเวลานั้นคนจะคุ้นเคยคำว่า “เอ็นจีโอ”  และ “องค์กรชาวบ้าน” มากกว่า ขณะที่การประสานความร่วมมือของเอ็นจีโอและชาวบ้านกับหน่วยงานภายนอก ก็จะใช้คำว่า “การทำงานแบบเบญจภาคี” ที่หมายถึงการที่เอ็นจีโอทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับชาวบ้าน หน่วยงานรัฐ สื่อมวลชน และนักวิชาการ ปัจจุบันคำว่า “ภาคประชาสังคม” มีความหมายในฐานะร่มที่ครอบคลุมองค์กรที่อยู่นอกภาคราชการ (ยกเว้นองค์กรอิสระหรือหน่วยงานกึ่งรัฐอย่าง สสส. พอช. สกว.) และนอกภาคธุรกิจเอกชน แต่ก็จะพบว่ามีการใช้คำสลับไปมาระหว่าง “เอ็นจีโอ” กับ “ประชาสังคม” ในบางครั้ง ทั้งนี้ น่าสนใจว่าแม้คำว่า “ภาคประชาสังคม” จะหมายถึงกลุ่มองค์กรนอกภาครัฐ แต่นัยยะสำคัญที่เพิ่มมากของคำนี้ในสังคมไทยกลับเป็นผลมาจากการที่ภาคประชาสังคมมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัฐไทยมากขึ้นทุกที

ที่ผ่านมามีงานศึกษาหลายชิ้นที่ปูภาพให้เห็นถึงการก่อเกิดและพัฒนาการของภาคประชาสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในที่นี้ได้ยกมาจากศึกษาของอัจฉรา รักยุติธรรม (2557)* ดังนี้

ช่วงที่ 1 ก่อนทศวรรษ 2510 รูปแบบการทำงานจะเป็นแบบองค์กรสาธารณกุศล เน้นการสงเคราะห์ การบริจาคตามความเชื่อทางศาสนา ดำเนินการหรือสนับสนุนโดยชนชั้นสูง  อาทิ เช่น สภากาชาดไทย สถานสงเคราะห์เด็ก สมาคมการกุศล มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง  เป็นต้น

ช่วงที่ 2 ช่วงทศวรรษ 2510 เป็นช่วงสงครามเย็น ถือได้ว่าเป็นยุคแรกเริ่มของการพัฒนาชนบท ที่การพัฒนามีเป้าหมายเพื่อสกัดกั้นอุดมการณ์คอมมิวนิสต์หรือเพื่อความมั่นคงของชาติ การพัฒนาของชาติในยุคนี้สนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกาและองค์กรต่างประเทศอย่างธนาคารโลกเป็นหลัก การพัฒนาในช่วงนี้มีข้ออ่อนตรงที่ยังไม่สามารถกระจายการพัฒนาได้ทั่วถึง ไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและความด้อยโอกาส ได้ยุคนี้ได้ก่อเกิดมูลนิธิบูรณชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์  ก่อตั้งโดย อ.ป๋วย อึ้งภากรณ์ และสภาคาทอลิกแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ไขจุดอ่อนในการพัฒนาของรัฐข้างต้น นอกจากนั้นในยุคนี้ได้มีการเกิดขึ้นของกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมือง เน้นการปัญหาผ่านกรอบการกดขี่ทางชนชั้น และเกิดองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนแห่งแรกเกิดขึ้น นั่นคือ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)  แต่ทั้งนี้ บทบาทขององค์กรต่างๆ ได้หยุดชะงักเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

ช่วงที่ 3 ประมาณทศวรรษ 2520  หลังจากที่รัฐบาลใช้นโยบาย  66/2523  ได้มีนักกิจกรรมที่ออกจากป่าหันมาทำงาน NGOs อีกทั้งในช่วงนั้นรัฐได้ส่งเสริมการเกษตรเชิงพาณิชย์ที่นำมาสู่ความยากจนและการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรรายย่อย ในระยะต้นงานพัฒนาของ NGOs เน้นการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของชาวบ้าน เช่น การตั้งธนาคารข้าว ธนาคารโค-กระบือ ในชุมชน ต่อมาก็เริ่มมีการพัฒนาตามแนวทาง “วัฒนธรรมชุมชน” ที่มีการผลิตวาทกรรมอย่าง “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” เน้นแนวคิดอนาธิปไตย การอยู่ห่างจากรัฐ และเน้นการพึ่งตนเองของชุมชนชนบท

ช่วงที่ 4 ช่วงปลายทศวรรษ 2520 ถึงต้นทศวรรษ 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลพยายามทำประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ หรือ Newly Industrialized Country (NIC) มีนโยบายเศรษฐกิจนำการเมือง มีการดึงทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานจากชนบทอย่างหนัก มีการขยายเขตอนุรักษ์พื้นที่ป่าของรัฐ มีการสร้างเขื่อน นำมาสู่ความเดือดร้อนของประชาชนจำนวนมาก การเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอและองค์กรภาคประชาชนในช่วงนี้พบได้ใน 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 การชุมนุมประท้วงรัฐเพื่อคัดค้านต่อต้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่  แนวทางที่ 2 การสร้างพื้นที่ภายในรัฐเพื่อผลักดันนโยบาย ซึ่งที่สำคัญคือ การเข้าร่วมไปมีส่วนร่วมในการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่  8 และการมีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยองค์กรที่มีบทบาทหลักๆ ก็เช่น คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)  สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) นอกจากนั้นในช่วงเวลานี้ได้เกิดแนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อสร้างทางเลือกการพัฒนา และ “สิทธิชุมชน” เพื่อตอบโต้และช่วงชิงความรู้ในการจัดการทรัพยากรที่ถูกผูกขาดโดยรัฐ

ช่วงที่ 5 ช่วงต้นทศวรรษ 2540 จนถึงปัจจุบัน อาจเรียกได้ว่าเป็นยุคที่มีการนำเอาอุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียงมาต่อต้านทุนนิยมเสรียุคโลกาภิวัฒน์ น่าสังเกตว่าในช่วงนี้เอ็นจีโอหรือองค์กรในภาคสังคมได้เปลี่ยนจากการหาพื้นที่ในภาครัฐเพื่อการต่อรองหรือผลักดันนโยบาย/กฎหมาย มาสู่การร่วมอุดมการณ์เดียวกันกับรัฐ อันได้ อุดมการณ์ชุมชน-ชาตินิยม ทั้งนี้ เอ็นจีโอและองค์กรในภาคสังคมมีความวิตกกังวลกับผลกระทบของกลไกตลาดเสรี เช่น ข้อตกลงเขตการค้าเสรี  ที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนและสร้างผลกระทบต่อคนจน ความกังวลนี้มีมาตั้งแต่การใช้แนวทางของ IMF แก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจภายหลังปี พ.ศ. 2540 แล้ว โดยเอ็นจีโอได้เรียกร้องให้ประเทศไทยพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจให้ได้ อนึ่ง จากวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตการเมืองร่วมสมัย ฝ่ายรัฐไทยเองก็หันมาชูแนวทางวัฒนธรรมชุมชนผ่านทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง โดยพยายามบอกว่าระบบทุนนิยมเสรีหรือ  “ทุนนิยมสามานย์” ได้ทำให้คนเห็นแก่ตัว ทำลายความเข้มแข็งของชุมชน จนสร้างปัญหาให้ประเทศ สิ่งนี้นำมาสู่ข้อเสนอการพัฒนาที่คล้ายคลึงกันของภาครัฐกับของเอ็นจีโอ/ภาคสังคมที่มีลักษณะโน้มเอียงไปในทางชุมชน-ชาตินิยมแบบจารีตและเป็นปฏิปักษ์กับภายนอก

จากการก่อเกิดและพัฒนาการของภาคประชาสังคมดังกล่าว อาจารย์ชลิตาตั้งข้อสังเกตว่าแนวคิดและปฏิบัติการภาคประชาสังคมได้เข้ามาครอบ  NGOs  องค์กรชาวบ้าน และขบวนการภาคประชาชน ผ่านบทบาทของชนชั้นนำในภาคสังคมของไทย ชนชั้นนำเหล่านี้นอกจากจะเป็นผู้มีการศึกษาสูง เป็นนักวิชาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้ชำนาญการทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่พยายามผันตัวเองมาเป็นวิศวกรทางสังคม พวกเขายังเป็นผู้ที่ได้รับการนับถือยกย่องในสังคมกระแสหลักในฐานะผู้มี “คุณธรรมสูง”  และอาจเป็น “ราษฎรอาวุโส” ด้วย ความสำคัญของภาคประชาสังคมที่มีมากขึ้นยังเป็นผลมาจากการเกิดขึ้นขององค์กรอิสระหรือหน่วยงานกึ่งรัฐ  อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) องค์กรเหล่านี้ได้รับการผลักดันในการก่อตั้งโดยชนชั้นนำในภาคสังคม และถูกบริหารจัดการโดยบุคคลในเครือข่ายอำนาจของชนชั้นนำกลุ่มนี้ บนฐานของความเชื่อที่ว่าองค์กรอิสระเหล่านี้มีประสิทธิภาพมากกว่าหน่วยงานในระบบราชการในการทำงานพัฒนาสังคมและสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนได้มากกว่า

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่าองค์กรอิสระหรือหน่วยงานกึ่งรัฐเหล่านี้ได้กลายมาเป็นแหล่งจ้างงานและแหล่งทุนหลักของ NGOs และแกนนำองค์กรชุมชน ท่ามกลางการลดน้อยลงไปทุกทีของแหล่งทุนจากต่างประเทศ ที่สำคัญความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งทุนที่เป็นองค์กรอิสระหรือหน่วยงานกึ่งรัฐกับผู้รับทุนเป็นความสัมพันธ์แบบไม่เท่าเทียม การทำงานของแหล่งทุนมีอํานาจเหนือกว่าในการกําหนดทิศทางการดําเนินงานของผู้รับทุน ในหลายกรณีผู้รับทุนไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นทางเมืองที่แตกต่างไปจากจุดยืนทางการเมืองของแหล่งทุน ตลอดจนไม่สามารถท้าทายสถาบันอำนาจรัฐแบบจารีตได้ ความสัมพันธ์แบบไม่เท่าเทียมกันเช่นนี้มีความเด่นชัดมากขึ้นในรอบทศวรรษที่ผ่านมาที่ความขัดแย้งทางการเมืองในระดับประเทศมีความแหลมคม

อาจารย์ชลิตาได้ชี้ว่า ภาคประชาสังคมได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐสถาปนา ที่เกิดจากสายสัมพันธ์ทั้งในทางอุดมการณ์และในเชิงอุปถัมภ์ที่ชนชั้นนำในภาคประชาสังคมมีต่อบุคคล/สถาบันที่อยู่ในศูนย์กลางอำนาจของรัฐไทย และสภาพการณ์เช่นนี้ก็ยิ่งเด่นชัดขึ้นในห้วงของรัฐประหาร

ตรงนี้นำมาสู่คำถามต่อเนื่องที่ว่าแล้วประชาสังคมไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ควรจะเป็นในการเสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตยและการเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนได้จริงหรือไม่....

---------------

*อัจฉรา รักยุติธรรม (2557). การเมืองของการลดทอนความเป็นการเมือง: การปรับความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชน รัฐ และประชาชน. รายงานวิจัยเสนอต่อ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร. (ดาวโหลดรายงานวิจัยได้จากเว็บไซต์ สกว.)

ภาพประกอบจาก
news.mthai.com