มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เรียกร้องรัฐบาลไทยให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศ

มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพเรียกร้องรัฐบาลไทยป้องกันการบงคับบุคคลสูญหายและสร้างหลักประกันการให้การเยียวยาผู้สูญหายในอดีต


 
วันนี้ ( 28 พฤษภาคม 2555) มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เรียกร้องรัฐบาลไทยให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ในรายงานซึ่งบันทึกการบังคับบุคคลสูญหาย 59 รายทั่วประเทศ
 

“มูลนิธิฯพบว่าการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นปรากฏการณ์ของการใช้ความรุนแรงของรัฐไทยเพื่อปราบปรามความเห็นต่าง หรือเพื่อกำจัดผู้ต้องสงสัย ซึ่งเป็นการกระทำนอกเหนือหลักนิติธรรม” อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิฯฃยุติธรรมเพื่อสันติภาพกล่าว
 
มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพได้เก็บรวบรวมข้อมูลการบังคับบุคคลให้สูญหาย 40 กรณี ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชน 59 คน ผู้ที่เป็นเหยื่อ 12 คนมาจากภาคเหนือ ห้าคนมาจากภาคตะวันตก เจ็ดคนมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 33 คนมาจากภาคใต้ มูลนิธิฯพบว่า ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหายมักจะเป็นผู้ชายที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อย อย่างเช่น ชาวมาเลย์หรือชุมชนชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ประมาณ 94% ของผู้เสียหายเป็นผู้ชาย และ 86% เป็นผู้ที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อย
 
มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพพบว่า นโยบายของรัฐอย่างน้อยสองประการส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของปัญหาการบังคับบุคคลให้สูญหาย ประการแรกได้แก่ การต่อต้านการก่อความไม่สงบด้วยกำลังทหารในภาคใต้ของไทยในหลายรัฐบาลที่ผ่านมา และนโยบายสงครามปราบปรามยาเสพติดซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2546 นอกเหนือจากนั้นมูลนิธิฯยังพบว่ามีกลุ่มบุคคลอย่างน้อยสี่กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการถูกบังคับให้สูญหายทั่วประเทศไทยอันได้แก่ (i) คนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่/ตำรวจ/ทหารและ/หรือคนที่มีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่เหล่านี้ (ii) นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน การเมือง หรือต่อต้านการทุจริต (iii) ประจักษ์พยานต่ออาชญากรรมหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน (iv) คนต่างด้าว
 
“การบังคับบุคคลสูญหายมิใช่เป็นเพียงปัญหาที่พบในภาคใต้ของประเทศไทย เรายังพบกรณีการสูญหายในทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งนี่มิใช่ปัญหาใหม่ เรามีข้อมูลการบังคับบุคคลสูญหายนับแต่ปี 2495 และอีกหลายกรณีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในต้นปี 2513 กรณีชาวนาในภาคเหนือหลังปี 2513 และเหยื่อของเหตุการณ์พฤษทมิฬในปี 2535” อังคณา นีละไพจิตร กล่าว
 
วิธีการทำให้บุคคลสูญหายมีรูปแบบสำคัญสามประการ วิธีการแรกซึ่งแพร่หลายมากที่สุดเกิดขึ้นในลักษณะที่เจ้าหน้าที่ซึ่งบางครั้งใส่เครื่องแบบหรืออาจเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ จับตัวผู้เสียหายจากกลางถนนและบังคับนำตัวเขา(พร้อมกับพาหนะ) ให้เข้าไปในรถยนต์หรือรถบรรทุกและขับหนีไป สอง สองได้แก่ การจับกุมผู้เสียหายจากบ้านหรือสถานที่อื่น ๆที่เขามักจะเดินทางไป และสาม ผู้เสียหายมักได้รับเชิญตัวให้มาพบเจ้าหน้าที่ในสถานที่บางแห่งและหายตัวไป ซึ่งญาติมักได้รับการปฏิเสธเมื่อสอบถามถึงสถานที่ควบคุมตัวหรือข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูญหาย
 
“มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพเชื่อว่าผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหายมักจะเผชิญการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ด้วย อย่างเช่น การควบคุมตัวโดยพลการ การทรมานและการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย” อังคณา นีละไพจิตร กล่าว “เราได้บันทึกหลักฐานในภาคใต้ และภาคเหนือซึ่งชี้ให้เห็นรูปแบบของการละเมิดนี้” อังคณา กล่าวเสริม
 
รัฐไทยยังคงขัดขวางการเข้าถึงการเยียวยาด้านตุลาการ สิทธิที่จะได้ทราบความจริง และสิทธิที่จะได้รับการชดเชยจากการบังคับบุคคลให้สูญหาย การที่ประเทศไทยไม่กำหนดให้ “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” เป็นความผิดทางอาญากลายเป็นอุปสรรคต่อการฟ้องคดี ปัญหาอื่น ๆ ยังเกิดขึ้นจากหน่วยงานสืบสวนสอบสวนและฟ้องคดีที่ขาดความเป็นอิสระและอ่อนแอ ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการฟ้องคดีอย่างเป็นผลต่อกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทยเลย สิทธิที่จะได้ทราบความจริงมักถูกปฏิเสธอย่างเป็นระบบ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐพยายามปกปิดความจริง มากกว่าจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหาย
 
“การงดเว้นโทษในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้สร้างบริบทที่ทำให้ผู้บริหารและหน่วยงานความมั่นคงรู้ว่าการกระทำนอกกฎหมายของพวกเขาจะไม่ต้องรับโทษเนื่องจากกฎหมายที่ใช้อยู่อ่อนแอเกินกว่าที่นำผู้กระทำผิดมาลงโทษ”  อังคณา นีละไพจิตร กล่าว “บรรดาครอบครัวของผู้สูญหาย รวมถึงตัวดิฉันเองยังคงถูกปฏิเสธสิทธิในการทราบความจริงเกี่ยวกับบุคคลซึ่งเป็นที่รักของเรา”
 
วันนี้ มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย คือ
 
รัฐบาลควรให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ(International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance)
รัฐบาลควรกำหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา กำหนดกลไกสืบสวนสอบสวนที่เหมาะสม และประกันสิทธิอย่างเต็มที่ของผู้เสียหายและญาติ
 
รัฐบาลควรแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่เกี่ยวกับการคุ้มครองพยาน การควบคุมตัว ข้อกำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ “โดยสุจริต” และการทำลายพยานหลักฐาน
 
ควรมีการปรับปรุงขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนและการฟ้องคดี รวมทั้งขั้นตอนการแจ้งความ การสืบสวนสอบสวนในเบื้องต้น การส่งต่อคดีอย่างรวดเร็วให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ บทบาทของผู้ชำนาญการด้านนิติเวชที่เป็นอิสระ การกำหนดให้มีการคุ้มครองพยาน และการเคารพสิทธิของญาติ
หากจำเป็น ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการไต่สวนสำหรับปัญหาการบังคับบุคคลให้สูญหายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ

(i)การสูญหายอย่างต่อเนื่องของผู้ที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

(ii) การละเมิดสิทธิมนุษยชนในค่ายทหารพรานที่จังหวัดทางภาคเหนือเมื่อปี 2546 และ

(iii) การสังหารและการหายตัวไปของนักกิจกรรม
 
ควรมีการกำหนดกลไกชดเชยระดับประเทศ แต่ระหว่างรอให้มีกลไกดังกล่าว ควรดูแลให้ญาติของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายได้รับค่าชดเชยเป็นการชั่วคราว  
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรมีบทบาทเข้มแข็งเพื่อสนับสนุนให้มีการค้นหาความจริงและประกันความยุติธรรมและการชดใช้
 
สำหรับกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายซึ่งเป็นที่ทราบกัน ควรมีการสืบสวนสอบสวนที่เป็นอิสระและครอบคลุมเพื่อหาทางฟ้องร้องดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิด