ศึกชิงบัลลังก์ (สมาชิกไม่ถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ)

 

ศึกชิงบัลลังก์ (สมาชิกไม่ถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ) World Federation of United Nations Association ได้จัดเวทีวิวาทะให้กับประเทศที่สมัครชิงตำแหน่งสมาชิกแบบไม่ถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ระหว่างวันที่ 23-24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ กรุงนิวยอร์ค

 

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สหประชาชาติที่มีการเปิดให้ประเทศต่างๆที่สมัครชิงเก้าอี้สมาชิกไม่ถาวรคณะมนตรีความมั่นคงวิวาทะกันเพื่อชิงเก้าอี้ที่ว่าง 5 ตำแหน่งสำหรับปี 2017-18 สหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 28 มิถุนายน เป็นวันลงคะแนน 

 

ใน 5 ตำแหน่งที่ว่างนั้นแบ่งเป็นโซนๆดังนี้

ยุโรป 2 ตำแหน่งมี 3 ประเทศแข่งขันกันคือ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สวีเดน 

เอเชีย-แปซิฟิก ว่าง 1 ตำแหน่งมี 2 ประเทศแข่งขันกันคือ ไทยและคาซัคสถาน 

แอฟริกาว่าง 1 ตำแหน่ง ผู้สมัครรายเดียวคือ เอธิโอเปีย 

ลาตินอเมริกาและแคริเบียน 1 ตำแหน่ง ผู้สมัครรายเดียวคือโบลิเวีย

 

ประเทศที่จะได้รับเลือกจะต้องได้รับคะแนนสนับสนุนอย่างน้อย 129 เสียงจากประเทศสมาชิก

 

ขอผ่านยุโรปไปเพราะไม่เกี่ยวกับเรา ว่าแต่เฉพาะโซนเอเชีย ในวงการให้คาซัคสถานเป็นต่อประเทศไทย เพราะว่าเวลานี้ไม่มีตัวแทนเอเชียกลางอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเลยและคาซัคฯได้เสนอประเด็นที่แหลมคมมากคือ ขอเป็นกำลังหลักที่จะผลักดันให้เอเชียกลางเป็นเขตปลอดนิวเคลียร์

 

ส่วนไทยนั้นมีปัญหาภายในมากเกินไป ตอนที่สมัครและเริ่มหาเสียงนั้นประเทศไทยดูดีมาก เคยเป็นประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน มีรัฐบาลมาจาการเลือกตั้ง มีนายกรัฐมนตรีเป็นสตรี เป็นประเทศขนาดกลางที่สามารถเชื่อมโยงประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนาได้ มีบทบาทสูงในภูมิภาคเอเชีย

 

แต่หลังจากรัฐประหารในปี 2014 สถานะทางการเมืองระหว่างประเทศของไทยด้อยลง รัฐบาลทหารละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง บทบาทในเวทีระหว่างประเทศลดลงอย่างมาก บทวิเคราะห์ต่างๆที่ออกมาตามสื่อมวลชนที่ติดตามเรื่องสหประชาชาติอย่างต่อเนื่อง เช่น UN Tribune ชี้ว่า ประเทศไทยขณะนี้ปกครองโดยทหารและกำหนดการเลือกตั้งก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีก

 

ข้อเสียเปรียบอีกอย่างหนึ่งของไทยคือ เคยเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 1985-1986 ในขณะที่คาซัคสถาน เพิ่งได้รับเอกราชในปี 1991 และไม่เคยได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงเลย 

 

นอกจากนี้การที่ไทยเสนอตัวในนามกลุ่มอาเซียนก็เป็นข้อด้อยเพราะประเทศในกลุ่มอาเซียนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าไปเป็นสมาชิกแบบไม่ถาวรนี้อยู่เนืองๆ ตำแหน่งที่ว่างลงนี้ก็เพราะมาเลเซียหมดวาระ และตอนนี้ประเทศแถบเอเชียตะวันออกที่นั่งอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงอยู่อีกประเทศหนึ่งคือญี่ปุ่น (จะหมดวาระในปี 2017)

 

การเป็นประธานกลุ่ม 77 ซึ่งมีสมาชิก 134 ประเทศนั้นอาจจะไม่ได้เป็นหลักประกันว่าสมาชิกทั้งหมดจะต้องลงคะแนนให้ประเทศไทย 

 

ประเทศสมาชิกถาวรอย่างสหรัฐและจีนนั้น แหล่งข่าวในวงการบอกว่า ไม่ได้แสดงการขัดขวางไทย แต่ไม่มีประเทศใดแสดงการสนับสนุนอย่างชัดแจ้ง