“เพียงแค่ภาพก็เปลี่ยนเลนส์สันติภาพ” โดย อ.ศรยุทธและสื่อภาคพลเมืองปาตานี

ใครจะคิดว่า “เพียงแค่ภาพ ก็เปลี่ยนเลนส์สันติภาพได้”  เป็นความสนใจสำคัญของกลุ่มคนทำงานด้านการสื่อสารภาคพลเมือง ส่งเสริมสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้ ในงานการงานอบรม “อบรมพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสื่อภาคพลเมือง” ภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพและสร้างเครือข่ายสื่อภาคพลเมือง ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ณ เทพาบีชรีสอร์ท อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา โดยมีเจ้าภาพจัดงานคือ ปาตานี ฟอรั่ม ซึ่งได้รับสนับสนุนงบประมาณจาก โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนใต้ (ชชต.) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา โดยในงานอบรมครั้งนี้มีประเด็นน่าสนใจมากมายที่ปาตานี ฟอรั่ม อยากจะเล่าให้ผู้อ่านร่วมขบคิดไปพร้อมๆกับกลุ่มคนทำงานด้านการสื่อสารภาคพลเมืองครั้งนี้ด้วย

เรื่องภาพไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิค แต่เป็นเรื่องแนวคิดที่สำคัญ

การอบรมครั้งนี้เป็นการอบรมที่ดำเนินภายใต้ข้อสรุปความต้องการของผู้เข้าร่วม คือ การอบรมเรื่องการเล่าเรื่องด้วยภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว ซึ่งการอบรมในที่นี้ไม่ได้มุ่งเรื่องของเทคนิคการถ่ายภาพ แต่มุ่งเน้นเรื่องวิธีคิด เบื้องหลังความคิดของภาพต่างๆ มีนัยยะของของการส่งเสริมเรื่องการเคารพสิทธิอย่างไร สะท้อนการเหยียดเชื้อชาติ หรือการยัดเยียดความเป็นอื่นหรือไม่ หรือแม้นกระทั่งภาพนั้นสอดแทรกอุดมการณ์ทางเมืองอย่างไร เป็นต้น  

ทั้งนี้ ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ภาควิชาสื่อ ศิลปะ และการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทำหน้าที่เป็นวิทยากรในการอบรมครั้งนี้เริ่มต้นกิจกรรม ด้วยการชวนผู้เข้าร่วมชมภาพยนตร์สารคดี เรื่อง Whose is this land แผ่นดินนี้ใครครอง ? ซึ่งเป็นภาพยนตร์สารคดีที่เคยกำกับโดยวิทยากรเอง โดยเนื้อหาพูดถึงกลุ่มชาวบ้านจนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องที่อยู่อาศัยในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่เคยเป็นอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสตร์แห่งประเทศไทย

หลังจากที่ผู้เข้าร่วมชมภาพยนตร์ กระบวนกรก็ชวนผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับภาพยนตร์ โดยประเด็นที่ผู้เข้าร่วมสนใจโดยสรุป มีการตั้งข้อสังเกตว่าการเล่าเรื่องไม่มีดนตรีประกอบซึ่งมีคำอธิบายว่าทำให้เกิดอารมณ์อีกแบบที่ไม่ถูกชักจูงโดยเสียง ทำให้ผู้ชมให้ความสนใจในเนื้อหามากว่าเพราะเสียงดนตรีประกอบ เน้นฟังเสียงของตัวละครมากกว่าเสียงดนตรี ขณะเดียวกันภาพยนตร์ก็ปล่อยให้ตัวละครใช้ภาษาพูด ภาษาที่เป็นธรรมชาติของตัวละคร ซึ่งในสารคดีส่วนใหญ่มักจะเปลี่ยนแปลงภาษาพูดเป็นภาษาเขียนทางการทำให้การเล่าเรื่องขาดความน่าสนใจ

ลดทอนอำนาจของผู้กำกับภาพลงเพื่อให้พื้นที่เรื่องราวของคนมีมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนในประเด็นการเล่าเรื่องเพิ่มเติมว่า การเล่าเรื่องค่อนข้างจะเรียบง่ายเกินไปหรือไม่ ขณะที่เรื่องราวที่เล่าค่อนข้างจะมีความซับซ้อน ซึ่งกระบวนกรก็เน้นอยู่เสมอว่า การเล่าเรื่องเรื่องนี้อย่างเล่าให้เป็นธรรมชาติ แต่ผู้เข้าร่วมสงสัยว่า หลายการแสดงเหมือนมีการจัดฉาก การเตรียมกันก่อนหรือไม่ และที่สำคัญการนำเสนอตัวละครจริง ขณะที่เรื่องที่เล่านั้นค่อนข้างจะมีความอ่อนไหวต่อภาครัฐ ทั้งนี้กระบวนกรยอมรับว่า ที่มีการกำหนดฉาก โครงเรื่องอยู่บ้างเพราะมีข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลาถ่ายทำ ขณะที่การเปิดหน้าจริงของตัวละครนั้นเป็นไปเพราะตัวละครอยากให้มีการเปิดหน้า เพราะชาวบ้านเชื่อว่า “การเปิดหน้าคือการต่อสู้อย่างสันติวิธี” ซึ่งเป็นแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ “การลดทอนอำนาจของผู้กำกับภาพลงเพื่อให้พื้นที่ของเรื่องราวที่แท้จริงมากขึ้น”

ประเด็นต่อมาผู้เข้าร่วมพบว่า บทเพลงที่ร้องโดยชาวบ้านเอง ซึ่งพบว่า เป็นเพลงค่อนข้างไปทางการเมือง ซึ่งจะเป็นการชักนำผู้ฟังไปหรือไม่ ประเด็นต่อมา คือ การมีคำบรรยายเป็นภาษาทางการนั้นซึ่งจะเป็นการไปลดทอนความเป็นท้องถิ่น เหยียดความเป็นท้องถิ่นไปหรือไม่ โดยกระบวนกรชี้แจงว่า บทเพลงที่ชาวบ้านร้องเป็นบทเพลงที่ชาวบ้านแต่งเอง เป็นบทเพลงที่ชาวบ้านอยากร้อง ซึ่งในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี ก็ต้องปล่อยให้รสนิยมของตัวละครมีพื้นที่มากกว่าผู้กำกับ ขณะเดียวกันการมีคำบรรยายเป็นภาษาทางการนั้นเป็นประเด็นที่จะมีการคุยต่อในวันถัดไป แต่ในเบื้องต้นเป็นเพราะต้องยอมรับภาษาเป็นสะพานสู่การสร้างความเข้าใจของผู้ชมบางทีจำเป็นต้องมีการบรรยายเป็นภาษาทางการแต่ก็เป็นประเด็นที่น่าถกเถียงในเรื่องสังคมการเมืองด้วยเช่นกัน

กระบวนกรแนะนำเพิ่มเติมว่า การเล่าเรื่องที่มีรายละเอียดมากมายนั้น มีจะมีการจัดวางโครง แต่ขณะที่วิธีการอีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจคือ การเล่าเรื่อง การวางโครงผ่านเรื่องราวของผู้คนในตัวละครเอง ไม่ใช่เกิดจากการที่ผู้กำกับวางโครงให้ พยายามเล่าเรื่องโดยด้วยโลก ด้วยสายตาของตัวละคร ซึ่งมันทำให้คนทำหนังได้เรียนรู้ไปด้วย หากเรากำกับมากมาย เราก็ไม่ต่างจากการทำหนังเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ  การเป็นปกครองที่เป็นเผด็จการ ซึ่งคิดว่าผู้เข้าร่วมไม่อยากเป็นแบบนั้นแน่นอน ซึ่งผู้เข้าร่วมหลายคนก็ทำเช่นนี้เหมือนกันแต่ก็พึ่งเข้าใจว่าสอดคล้องกับแนวคิดที่กระบวนกรอธิบายมา

ศรยุทธร  เอี่ยมเอื้อยุทธ   วิทยากรกระบวนการ

เล่าเรื่องภาพ ด้วยแนวคิด “เข็มฉีดยา”

การเริ่มต้นกิจกรรมในวันที่ 2 ของการอบรม กระบวนกรเริ่มด้วยประเด็น การเล่าเรื่องด้วยวิธีคิดแบบ “เข็มฉีดยา” หรือ ในความหมาย คือ การโน้มน้าว ยัดเยียดความเชื่อของคนเล่า คนทำสื่อ ซึ่งเป็นความคิดที่ว่าตนเองมีอำนาจในการกำหนดความคิด วิธีคิดของผู้รับสื่อที่ตนเองผลิตขึ้นมา มักจะพบในสื่อที่โฆษณาชวนเชื่อโดยรัฐ เป็นวิธีคิดแบบรัฐชาติก่อนสมัยใหม่ ซึ่งยังคงมีให้เห็นอยู่มากมายในประเทศไทย ทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ทั้งๆที่ในปัจจุบันโลกเข้าสู่รัฐชาติสมัยใหม่ ซึ่งดังกล่าวนี้ กระบวนกรอยากตั้งเป็นประเด็นให้เกิดการแลกเปลี่ยนว่า เราสามารถทำสื่อ เข็มฉีดยา ได้มากน้อยขนาดไหน ในปัจจุบัน และอีกประเด็นคือ การทำสื่อ การเล่าเรื่องด้วยการวางเป็นตัวกลางในการสื่อสาร ซึ่งเป็นวิธีคิดเรื่อง “ความเป็นกลาง” ทั้งนี้ก็เป็นวิธีคิดที่ถ่วงดุลวิธีคิดแบบ “เข็มฉีดยา”

กระบวนกรดำเนินกระบวนการต่อเนื่องด้วยการดูตัวอย่าง ภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อของรัฐในยุคที่ ฮิตเลอร์ อดีตผู้นำเยอรมันในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะอธิบายต่อว่า วิธีการวางโครงเรื่องเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ มักมีเรื่องของ ความเจ็บปวดของสภาพสังคม ของประชาชน หรือมีการนำเสนอศักยภาพของผู้นำที่คนอื่นๆทำไม่ได้ หรือ แม้นแต่ภาพยนตร์ในยุคเสรีปัจจุบันก็ยังมีการเล่าเรื่องเช่นนี้ เช่น เรื่องกัปตันอเมริกา ซึ่งมีวิธีคิดเข็มฉีดยา เพื่อหวังสร้างความคิด ความรู้สึกรวมหมู่ เล่าเรื่องด้วยการอ้างความเจ็บปวด ความตายของประชาชน เล่าเรื่องการเสียสละเพื่อชาติ ซึ่งเป็นวิธีคิดของรัฐต่างๆในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็ยังตกทอดมาถึงทุกวันนี้ หากย้อนมาดูในสังคมไทยการเป็นสื่อ โฆษณาชวนเชื่อ เริ่มต้นเข้มข้นเมื่อปี 2500 เป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อ ผ่านตัวผู้นำ ผ่านตัวบุคคล โดยมีเบื้องหลังคือชนชั้นนำสมัยนั้นซึ่งมีโครงเรื่องที่ถูกจัดวางไว้อย่างเข้มข้นชัดเจน

แนวคิด เข็มฉีดยา อดีตที่มีให้เห็น ปัจจุบันยังดำรงอยู่

ภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อของประเทศมาเลเซียในช่วงร่วมสมัย ปี 2009 ซึ่งหลังจากดูจบก็มีการแลกเปลี่ยน โดยประเด็นที่ค้นพบในภาพยนตร์ คือ ภาพกว้างๆ เป็นภาพของการรวมหมู่ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ในลึกๆแล้ว เห็นว่ามีลักษณะการเหยียดชาติพันธุ์ซ่อนอยู่เพราะภาพคนที่ให้ความช่วยเหลือ คือเป็นภาพของคนชาติพันธุ์มลายู แต่ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือคือภาพของคนหลากหลายชาติพันธุ์ ซึ่งหลังจากที่ผู้แลกเปลี่ยน กระบวนกรชวนให้คิดต่อว่า ซึ่งที่เราวิจารณ์แลกเปลี่ยนกันนั้นเป็นช่วงที่สอง ช่วงของคนดู แต่เราไม่ค่อยมองช่วงแรก คือ ช่วงของคนทำ เบื้องหลังความคิดของคนทำสื่อประเภทนี้ ซึ่งคนที่อยู่เบื้องหลังสื่อประเภทนี้มักมองว่าตัวเองเป็นผู้ทำงานหนัก เช่นดั่งรัฐมองว่าตัวเองทำงานหนักซึ่งต้องการให้ประชาชนยอมรับ ขณะเดียวกันถ้าเราเชื่อว่าสื่อคือการสร้างสะพานสื่อสารต่อสาธารณะชน  ซึ่งหากดูเบื้องหลังคำเหยียดต่ำ-สูงของผู้คน การจัดประเภทต่างๆของผู้คนในประเทศมาเลเซียผ่านภาพยนตร์ก็พบว่าเป็นแนวคิดการเหยียดที่มีที่มาจากแว่นการมองของประเทศอาณานิคมสมัยก่อนแล้วถูกสื่อสารต่อสาธารณะต่อมาอย่างต่อเนื่อง มีการผลิตซ้ำด้วยสื่อ ด้วยผู้คนในประเทศนั้นเอง ดังนั้นสำหรับกระบวนกรเองแล้ว หากเรามองดูภาพยนตร์ กระบวนกรเลือกที่จะมอง 2 ส่วนคือ มองในเชิงเนื้อหาและมองไปยังฐานคิดของคนทำสื่อ ทำภาพยนตร์ นั้นๆ

แนวคิดเข็มฉีดยาไม่ได้มีแต่ในสื่อของรัฐ แต่ภาคธุรกิจก็มีพัฒนาอย่างชินชา

กระบวนกรให้ผู้เข้าร่วมรับชมภาพยนตร์โฆษณาเชิงธุรกิจในประเทศไทยชิ้นหนึ่ง ก่อนจะชวนผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนในเรื่องเบื้องหลังความคิดโฆษณาและ การลดทอนอำนาจของผู้กำกับภาพลงเพื่อให้พื้นที่ของเรื่องราวที่แท้จริงมากขึ้นและประเด็นภาพตัวแทนความจริงในโฆษณา ซึ่งประเด็นที่ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยน คือ โฆษณาชิ้นนี้มีความไม่สมเหตุสมผลระหว่างเนื้อหาและตัวโฆษณา และขณะที่โฆษณาพยายามจะสะท้อนเนื้อหาที่สอดคล้องของชีวิตจริงในปัจจุบัน ซึ่งมีความคิดเห็นอีกมากมาย ก่อนที่กระบวนกรจะร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นวิธีคิดของโฆษณาที่พยายามเล่นกับความซับซ้อน เช่น อุดมการณ์ทางการเมืองของคนที่เป็นอุดมการณ์เดียวกัน อย่างอุดมการณ์ความเป็นชาติ ซึ่งแม้นใช้การเดินเนื้อหากระโดด ไม่สมเหตุสมผลแล้วใช้การฉากดราม่าประกอบชี้นำ ก็สามารถชี้นำคนได้แต่สำหรับคนดูแล้ว คนไม่ได้อุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกันเสมอไป ทำให้เกิดข้อถกเถียงเยอะแยะมากมาย ทำให้เห็นการขาดความประณีต เพราะโฆษณาชิ้นนี้ไปเล่นประเด็นที่ซับซ้อนและใหญ่เกินไป ทั้งๆที่ตัวเองเป็นโฆษณาเชิงธุรกิจ ไม่ใช่โฆษณาของความเป็นรัฐ

ขณะเดียวกันภาพยนตร์โฆษณาธุรกิจอีกชิ้นซึ่งเป็นเรื่องที่เล่นกับความรู้สึกของคน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างความหมายใหม่ให้กับคนดูเกี่ยวกับธุรกิจของตัวเอง หวังให้คนดูเปลี่ยนทัศนคติ ซึ่งหากจะวิจารณ์ประเด็นการสื่อสารแล้ว สำหรับกระบวนกร สนใจจะวิจารณ์สิ่งที่อยู่ในความคิดของคนทำสื่อ ซึ่งจะทำให้คนทำสื่อได้รับความท้าทาย ความรู้ ความคิด มุมมองใหม่ๆเพิ่มขึ้น

สื่อโฆษณาชวนเชื่ออาจมี 2 แบบ คือ คนถูกฉีดยาในแบบที่ถูกบังคับขณะที่อีกแบบที่คนดูยอมให้ถูกฉีดยา ซึ่งในแบบที่ 2 นั้นเป็นวิธีการแฝงความคิดการสร้างภาพตัวแทนในโลกยุคสมัยใหม่ได้อย่างแนบเนียน ซึ่งในฐานะคนทำสื่อภาคพลเมืองเราจะต้องมาถกเถียงกันให้มากขึ้นด้วยเช่นกันในเรื่องนี้ว่าเรารับแนวคิดการทำสื่อแบบฉีดยา หรือไม่ ฉีดยาผู้ชม มากน้อยแค่ไหน เป้าหมายเพื่ออะไร

ต่อเนื่องด้วยประเด็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้ถือกล้องกับผู้ที่ถูกถ่ายภาพ ซึ่งมักจะถูกทำให้ผู้ถูกถ่ายเป็นวัตถุ อันที่จริงที่มีวิธีการที่ดีกว่านี้คือการให้พื้นที่ของผู้ถูกถ่าย ซึ่งมักใช้ในงานถ่ายทำภาพประเด็นชาติพันธ์ ซึ่งเป็นวิธีการทำให้อำนาจของผู้ถือกล้องลดลง แล้วทำให้เสียงเรื่องราวของผู้ถูกถ่ายทำเพิ่มมากขึ้น ในทางเทคนิคแล้ว คือการถ่ายทำที่ไม่มีการเดินเรื่องโดยคนถ่ายทำ แต่เดินเรื่องโดยผู้ถูกถ่ายทำ

เดินเรื่องด้วยตัวละครแทนโครงจากผู้กำกับ สะท้อนการเคารพเรื่องเล่า

ทั้งนี้กระบวนกรเริ่มกิจกรรมต่อเนื่องในประเด็นที่กล่าวถึงด้วยการให้กลุ่มเป้าหมายรับชมตัวอย่างภาพยนตร์สารคดีชิ้นหนึ่งซึ่งเคยถูกฉายในเทศกาลหนังระดับอาเซียน ซึ่งเกือบจะไม่ได้ไปฉายเพราะถูกสะท้อนว่าเป็นภาพยนตร์สารคดี ไม่มีพล๊อต ไม่มีการแปลภาษาที่ทำให้เข้าใจ ดูแล้วงง แต่ก็มีการอธิบายว่า หนังเรื่องนี้ทำไมต้องใช้สายตาดู ทำไมไม่ใช้หูและใจในการดูหนัง แล้วตีความกัน ซึ่งกระบวนกรอธิบายว่า หนังพยายามให้ผู้ชมฟังเสียง การเล่าเรื่องที่ไม่คุ้นเคยบ้าง แต่ก็สร้างความเข้าใจด้วยการเรียงลำดับเรื่องด้วยเนื้อหา ไม่ใช่โครงเรื่อง  เป็นไอเดียของหนังเรื่องนี้ ที่อยากเปิดประสบการณ์หู การฟังใหม่ๆ ให้ผู้ชม มุ่งหวังให้คนดูตั้งคำถาม สงสัย ที่ก้าวข้ามหู ความคิดความเป็นอุดมการณ์ชาตินิยม

ขณะที่ผู้เข้าร่วมสะท้อนเพิ่มเติมว่า หนังเรื่องนี้ก้าวข้ามการเล่าเรื่องในแบบที่กระแสเป็นอยู่ ทำให้ไม่เข้าใจ แต่เป็นเพิ่มประสบการณ์การรับชมแบบใหม่ คนทำหนังแบบนี้กล้าก้าวข้ามความกลัวการวิพากษ์วิจารณ์ว่าห่วยแตกจากกระแสได้อย่างไร แล้วการเล่าเรื่องเช่นนี้จะมีประโยชน์อย่างไร ซึ่งที่จับได้ตอนนี้คือเพียงแค่ การมีวิถีอยู่ของคนในภาพเท่านั้น

กระบวนกรอธิบายต่อว่า หนังเรื่องนี้ผ่านการประเมินกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ชอบความท้าทายความคิด มีความตั้งใจดู มีคนมางานนี้เป็นร้อยซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเมืองในประเทศไทย ซึ่งคนทำต้องการท้าทายคนดู ท้าทายเรื่องการทำความเข้าใจประเด็น มากกว่ากฎระเบียบของการถ่ายทำ เพราะบางครั้งกฎระเบียบของการถ่ายทำมักจะไปบดบังประเด็นเนื้อหา ท้าทายความคิดการให้ความสำคัญต่อผู้ที่อยู่ในภาพมากกว่าผู้ชม ชวนให้ผู้ชมให้พื้นที่ต่อคนและ เรื่องราวในภาพมากกว่าตัวเองและผู้ถ่ายทำ และการทำหนังเช่นนี้ มีเบื้องหลังสำคัญคือ การเป็นผู้ถ่ายทำที่ต้องเรียนรู้การทำงาน มองเห็นคนในภาพเท่ากัน ให้ความสำคัญให้เกียรติกับคนที่แตกต่าง คนที่เป็นชายขอบจากการมองของสังคมส่วนใหญ่

ความท้าทาย วิเคราะห์เชื่อมโยงการเล่าเรื่องของชายแดนใต้

ขณะเดียวกันหากจะมองมาที่การทำสื่อชายแดนใต้แล้ว นอกจากสาระที่เป็นอยู่ค่อนข้างจะซับซ้อนแล้ว และหากมีการเล่าเรื่องที่ซับซ้อน จะยิ่งทำให้เข้าใจยากอีกหรือไม่ ซึ่งเข้าใจร่วมกันว่าไม่เหมาะสมที่จะเล่าเรื่องเช่นนี้ เท่าที่เห็นหนัง 3 จชต. ประมวลได้เป็น 3 หมวดใหญ่

1.หนังที่เล่าอยู่บนเรื่องของการถูกทำร้าย ของคนตกเป็นเหยื่อ  

2.หนังที่ทำขึ้นบนพื้นฐานของการกระทำของรัฐไทยทั้งในมิติวัฒนธรรมและความรุนแรง

3.หนังที่มีพล๊อตเรื่องเชื่อมโยงแนวคิดก่อการร้ายระดับสากล เป็นการมองระดับต่างๆ

กระบวนกรชวนผู้เข้าร่วมคิดว่าเราสามารถที่จะทำหนังที่ออกจากกับดักทั้ง 3 หมวดใหญ่ได้อย่างไร หรือคนทำสื่อชายแดนใต้สามารถพูด สื่อสารจากความคิดของตัวเอง ไม่ใช่สื่อสารมาจากความคิดที่คนอื่นอยากได้ยิน ได้หรือไม่ หรือการกล้าที่ก้าวข้ามความกลัวในการสื่อสารเรื่องวิพากษ์ความเชื่อ วัฒนธรรมตนเอง หรือไม่

ทั้งหมดนี้เป็นบางส่วนของงานอบรมที่ท้าทายความคิดของคนทำงานด้านการสื่อสารภาคพลเมือง ที่ชวนให้กล้าก้าวข้าม ตั้งคำถาม และปรับเลนส์ความคิด สะท้อนสันติภาพในมุมที่ต่างไปจากเดิม